ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 25-31 ส.ค. 2561: “กังขา พ.ร.บ.ยาใหม่ เอื้อนายทุน-จ่ายยาแทนเภสัชฯ?” และ “คกก.โนเบล ยัน ไม่ริบรางวัลซูจี”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 25-31 ส.ค. 2561: “กังขา พ.ร.บ.ยาใหม่ เอื้อนายทุน-จ่ายยาแทนเภสัชฯ?” และ “คกก.โนเบล ยัน ไม่ริบรางวัลซูจี”

1 กันยายน 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 25-31 ส.ค. 2561

  • กังขา พ.ร.บ.ยาใหม่ เอื้อนายทุน-จ่ายยาแทนเภสัชฯ?
  • รองนายกฯ จัดให้ “น้องแบม” เตรียมเข้าทำงาน ปปท.
  • รัฐหนุนย้ายบ้านป่าแหว่ง ประยุทธ์ “เตือนสติ”ถ้าค้นแต่แรกก็ไม่ยืดยาว-เปลืองงบ
  • ป.ป.ช. แจง “จีที200” ชี้ถูก-ผิดยาก คนใช้รู้สึกคุ้ม – ยัน ไม่ขาดอายุความแน่
  • คกก.โนเบล ยัน ไม่ริบรางวัลซูจี
  • กังขา พ.ร.บ.ยาใหม่ เอื้อนายทุน-จ่ายยาแทนเภสัชฯ?

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/content/1364173)

    จากกรณีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติยา (พ.ร.บ.ยา) จนเกิดความวิตกว่าจะทำให้ผู้ที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้ รวมถึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับร้านสะดวกซื้อ

    ต่อกรณีดังกล่าว เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีการแถลงข่าวในโอกาสครบ 1 ปี อย. ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้สื่อข่าวได้ตั้งคำถามว่า ในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ มีข้อไหนที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าจะไปเอื้อร้านสะดวกซื้อ หรือนายทุนหรือไม่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ยาฉบับปัจจุบัน รวมถึงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ระบุชัดเจนว่า การเปิดร้านขายยา ไม่ว่าจะเป็นร้านเฉพาะ หรือเป็นชั้นวาง เขียนไว้ชัดว่า ต้องมีเภสัชกรเท่านั้น และในการแก้ไข พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ไม่ได้ไปแก้ไข หรือไปทำอะไรเรื่องนี้เลย ยังคงกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรไว้เหมือนเดิม ขอยืนยัน ซึ่งไม่มีตรงไหนไปแก้ไข หรือเอื้อให้เกิดช่องในการเปิดร้านขายยาใหม่โดยไม่มีเภสัชกร ไม่มีจริงๆ ประเด็นที่เป็นปัญหาเป็นเรื่องระหว่างวิชาชีพตามที่เห็นในข่าว เพราะพยาบาลที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เขาต้องจ่ายยาตามแพทย์สั่ง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเภสัชกรใน รพ.สต. อยู่เลย จึงต้องให้พยาบาลจ่ายยา ซึ่งก็ถามหาว่า ไม่มีกฎหมายรองรับหน้าที่พวกเขา จึงอยากให้ อย.มีกฎหมายรองรับการจ่ายยาของพวกเขาใน รพ.สต.

    “ประเด็นมีแค่นี้ แต่กลับมีการขยายความว่า จะไปเปิดช่องให้ร้านขายยา เอาคนที่ไม่ใช่เภสัชกรมาขาย ซึ่งไปกันใหญ่แล้ว เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันเข้มมาก ร้านที่เปิดใหม่ๆ ถูกบังคับหมดต้องมีเภสัชกรเท่านั้น และในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ร้านเดิมๆ ที่ไม่มีเภสัชกร ก็มีการควบคุม โดยหากเปลี่ยนเจ้าของร้านขายยาเมื่อไหร่ ก็ต้องมีเภสัชกร หากหาไม่ได้ก็ต้องปิดร้าน ดังนั้นในอนาคตหมายความว่า ร้านขายยาเดิมที่ยังคงเปิดโดยไม่มีเภสัชกร ซึ่งอาจเปิดตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ร้านพวกนี้จะค่อยๆหมดไป เพราะกฎหมายจะควบคุมหมด” เลขาธิการ อย. กล่าว

    อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ PPTVHD36 รายงานว่า ใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มีข้อกำหนดชัดเจนว่า “เภสัชกร ต้องอยู่ประจำร้านขายยาตลอดเวลาทำการ” แต่ข้อความนี้ถูกตัดออกไปจากร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ที่กำลังปรับปรุงแก้ไข เหลือเพียงการระบุว่า หาก “ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการ” ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ สามารถจัดหา “ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการ” มาทำงานแทนได้  ซึ่งนิยามของ “ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการ” ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไร รวมถึงตัดข้อความว่า “เภสัชกรหนึ่งคนสามารถอยู่ประจำร้านยาได้เพียงแห่งเดียว” ออกด้วย

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ PPTVHD36 (https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/88371)

    ซึ่งเว็บไซต์ PPTVHD36 รายงานด้วยว่า ประเด็นเหล่านี้ทำให้ถูกตีความไปหลายแง่มุม โดยเฉพาะการมองว่า “ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการ” อาจรวมถึง บุคลากรสายสุขภาพอื่นๆ นอกเหนือจาก เภสัชกร ด้วย เช่น ในช่วงการขออนุญาตตั้งร้ายขายยา มี “เภสัชกร A” ซึ่งมีใบประกอบวิชาชีพ ลงชื่อเป็น “ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการ” ในร้านขายยาแห่งหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาปฎิบัติงาน “เภสัชกร A” อาจไม่ได้ปฎิบัติงานจริง เพราะ เจ้าของร้านจ้าง “พยาบาล B” มาปฎิบัติงานแทน รวมถึง “เภสัชกร A” อาจกระทำการแบบเดียวกันนี้กับร้านขายยาหลายแห่ง เนื่องจาก กฎหมายไม่ได้ระบุว่าเภสัชกรต้องอยู่ร้านขายยาตลอดเวลาทำการ และ ไม่ได้ห้ามประจำร้านยาเพียงแห่งเดียว นี่ทำให้ถูกมองว่าอาจเกิดปัญหาเภสัชกรแขวนป้ายเหมือนในอดีตที่เคยเกิดปัญหาขึ้น

    อย่างไรก็ดี นพ.วันชัย ระบุว่า ทุกข้อความในร่างกฎหมายใหม่ยังเป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุป จึงยังสามารถปรับแก้ไขได้ และยืนยันว่า การจัดทำร่างกฎหมายนี้ ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชน  เช่นเดียวกับ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่าไม่ใช่การแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน

    รองนายกฯ จัดให้ “น้องแบม” เตรียมเข้าทำงาน ปปท.

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสด (https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1514205)

    จากกรณีที่ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือน้องแบม ผู้เคยออกมาเปิดเผยข้อมูลการทุจริตโครงการสงเคราะห์ผู้ป่วยยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จนนำไปสู่การตรวจสอบทั่วประเทศ ได้ออกมาแสดงความน้อยใจผู้ใหญ่ใน พม. เนื่องจากไม่ได้รับเข้าทำงานตามที่เคยให้สัญญาไว้

    “ได้ประสานไปยังผู้ใหญ่ในกระทรวง พม. ตามที่เคยรับปากไว้ต่อหน้า พล.อ. ประยุทธ์ ว่า เมื่อเรียนจบจะรับเข้าทำงานและถ้าพร้อมทำงานให้โทรศัพท์แจ้งได้ ซึ่งผู้ใหญ่ในกระทรวง พม. ได้ให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ เมื่อเคลียร์ทุกอย่างลงตัว จึงโทรศัพท์ไปหา พร้อมแจ้งความประสงค์ว่า อยากทำงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น แต่คำตอบที่ได้คือถ้ามีประกาศรับสมัครคนเข้าทำงานให้สมัครเข้ามาตามขั้นตอน และสอบตามขั้นตอน แต่ยังไม่ทราบว่าจะประกาศรับสมัครเมื่อใด คำตอบที่ได้ทั้งทางโทรศัพท์และทางไลน์ ทำให้รู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ เพราะเมื่อเปรียบกับผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษรายอื่นๆ ตัวเองเหมือนถูกทอดทิ้ง ทำให้รู้สึกน้อยใจเหมือนกันที่ไม่เป็นไปตามที่หวังและที่ได้ยินจากปากของผู้ใหญ่ที่ได้กล่าวไว้ต่อหน้าผู้นำประเทศ” น.ส.ปณิดากล่าว (ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า)

    ล่าสุด เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1514205 เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 31 ส.ค.2561 น.ส.ปณิดากล่าวว่า หลังจากที่ข่าวนำเสนอไป ได้มีคณะทำงานของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเรื่องงานว่าอยากทำงานอะไรถ้า พม. ไม่มีตำแหน่ง จะทำงานราชการส่วนอื่นได้หรือไม่ โดยยกตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 4 ขอนแก่น ซึ่งวินาทีแรกที่ได้ยินชื่อของ ป.ป.ท. ก็รู้สึกดีใจ และตื่นเต้นและได้รับปากทันที

    “เมื่อคณะทำงานกล่าวถึง ป.ป.ท. หนูดีใจมากเพราะคิดว่าตัวเองและครอบครัวจะปลอดภัย โดยคณะทำงานของรองนายกรัฐมนตรีได้ทำการสอบถามประวัติต่างๆ แล้ววางสายไปเพื่อทำการประสานกับหน่วยงานของ ป.ป.ท. จากนั้นไม่นานก็โทรศัพท์กลับมาอีกครั้งว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีจะทำเรื่องบรรจุให้เป็นข้าราชการ ในสังกัด ป.ป.ท. เขต 4 ขอนแก่น”

    น.ส.ปณิดากล่าวต่ออีกว่า ขั้นตอนต่อไปคือการที่ ป.ป.ท. จะแจ้งรายละเอียดในการทำเอกสารต่างๆเพื่อส่งมาที่ ป.ป.ท. จากนั้น ป.ป.ท. จะยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ให้อนุมัติและบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวและครอบครัวดีใจและตื่นเต้นไม่หายที่จะได้เป็นข้าราชการ ที่ทำงานเพื่อชุมชนและสังคมตามที่ตั้งใจเอาไว้ ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและผู้ใหญ่ทุกท่านที่ให้โอกาสเข้าทำงานเป็นข้าราชการ โดยขอสัญญาว่าจะทำงานอย่างเต็มที่ และยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมเพื่อสังคมต่อไป

    ป.ป.ช. แจง “จีที200” ชี้ถูก-ผิดยาก คนใช้รู้สึกคุ้ม – ยัน ไม่ขาดอายุความแน่

    เจ้าหน้าที่กำลังใช้ GT200 ตรวจหาวัตถุต้องสงสัย ที่มาภาพ: http://www.oknation.net
    เจ้าหน้าที่กำลังใช้ GT200 ตรวจหาวัตถุต้องสงสัย ที่มาภาพ: http://www.oknation.net

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2561 ที่โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียวฟอร์จูน นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 (GT200) และอัลฟ่า 6 (Alpha6) ว่า เรื่องดังกล่าวยังคงพิจารณาอยู่ และยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่มีการปล่อยให้ขาดอายุความแน่นอน แต่การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น อย่างไรก็คงจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม

    เมื่อถามว่า สามารถใช้กรณีการชี้มูลความผิดอดีตข้าราชการใน จ.พิษณุโลก ที่มีการจัดซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดอัลฟ่า 6 มาเป็นบรรทัดฐานพิจารณาคดีอื่นๆได้หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า เป็นคนละกรณีกัน เพราะกรณีนั้นเป็นการจัดซื้อโดยไม่มีอำนาจ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาจากตัวเครื่องเหมือนกรณี GT200

    รัฐหนุนย้ายบ้านป่าแหว่ง ประยุทธ์ “เตือนสติ”ถ้าค้นแต่แรกก็ไม่ยืดยาว-เปลืองงบ

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่า วันที่ 27 สิงหาคม 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมทวงสัญญาให้รื้อบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ของตัวแทนเครือข่ายด้านอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม ว่า
     
    “เรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนก่อนหน้านี้แล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีมติมอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรม ทำความตกลงขอใช้ที่ดินจากกรมวิชาการเกษตร บริเวณศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จ.เชียงราย เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัย และทำเรื่องของบประมาณจากรัฐบาลต่อไป”
     
    ในส่วนของรัฐบาลไม่ขัดข้องในการให้พื้นที่สร้างอาคารและที่พักอาศัยใหม่ และพร้อมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตามที่ขอมาอย่างสมเหตุสมผล โดยให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็ว
     
    “นายกฯ เน้นย้ำว่า บุคลากรของศาลยุติธรรมที่เข้าพักอาศัยในพื้นที่เดิมแล้ว อาจให้อยู่ไปก่อน เพราะจำเป็นต้องทำงานและมีที่พักในบริเวณใกล้เคียง และเมื่ออาคารและที่พักอาศัย ณ สถานที่แห่งใหม่เสร็จเรียบร้อย ทุกคนก็จะต้องย้ายออกตามที่ทุกฝ่ายได้หารือตกลงกันไว้”
     
    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ผู้ชุมนุมคิดทบทวน โดยควรมองทุกสิ่งอย่างรอบด้านและมีเหตุมีผล ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าที่ผ่านมาได้รับฟังเสียงของทุกคนและพยายามแก้ไขปัญหาอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องบางอย่างจะต้องใช้เวลาจึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ พร้อมกับเตือนสติว่าทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ ทั้งนี้หากการออกมาคัดค้านได้ดำเนินการตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นโครงการก่อสร้าง ก็จะไม่ทำให้เรื่องยืดยาวหรือต้องสูญเสียงบประมาณของรัฐเช่นนี้

    คกก.โนเบล ยัน ไม่ริบรางวัลซูจี

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://www.dailynews.co.th/foreign/663347)

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 ว่า คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาตั้งแต่ปี 2443 ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธว่า กฎระเบียบของการพิจารณาและมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานแห่งใดบนโลก “ยังไม่เปลี่ยนแปลง” หมายความว่าคณะกรรมการไม่มีนโยบายเพิกถอนรางวัลคืนจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เคยได้รับรางวัลไปแล้ว โดยในส่วนของนางออง ซาน ซูจี เธอได้รับรางวัลดนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2534 จากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมืองในเมียนมา

    อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์เคยมีแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว “แสดงความวิตกกังวล” ต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงและสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ของเมียนมา  พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มความร่วมมือในการยุติการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และการกดขี่กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

    ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เผยแพร่รายงานว่าด้วย “การสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ โดยมีการระบุชื่อทหารระดับสูงของเมียนมา 6 นาย หนึ่งในนั้นคือ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ โดยเรียกร้องให้ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ลาออกและเข้ารับการไต่สวน ขณะเดียวกัน เนื้อหาของรายงานยังมีการวิจารณ์นางซูจีอย่างหนักด้วย