ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > หนี้ครัวเรือน สำคัญไฉน?

หนี้ครัวเรือน สำคัญไฉน?

26 พฤษภาคม 2018


ย้อนกลับไปราว 6-7 ปีก่อน หนี้ครัวเรือนเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญในประเทศไทย หลังจากที่เร่งตัวขึ้นมากในปี 2554 จากระดับ 70.4% ต่อ GDP เป็น 82.3% ต่อ GDP ในปี 2556 จนสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ด้วยเกรงว่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือน และอาจจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ ธนาคารแห่งประเทศได้นำมาตรการหลายอย่างออกมาใช้เพื่อควบคุมการก่อหนี้ของครัวเรือนไม่ให้สูงเกินไป ให้เอื้อต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว

มองในด้านดี “หนี้” คือการ “ยืม” รายได้ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ช่วยให้ครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อรายได้ หรือทำให้ครัวเรือนสามารถบริโภคสินค้าคงทนที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ หรือที่อยู่อาศัย ได้โดยที่รายได้หรือเงินเก็บยังมีไม่พอ ดังนั้น “หนี้ครัวเรือน” ในระดับเหมาะสมจะช่วยหนุนการบริโภคและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม หากหนี้ครัวเรือนสูงเกินไป ก็จะมีผลต่อการบริโภคและการใช้จ่ายของครัวเรือนได้ และในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว รายได้ของครัวเรือนอาจจะได้รับผลกระทบ ความเสี่ยงของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง จนอาจกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

นิยามหนี้ของครัวเรือน

ธนาคารแห่งประเทศไทยให้คำนิยามหนี้ครัวเรือนไว้ว่า หมายถึง เงินที่สถาบันการเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ โดยบุคคลธรรมดานั้นอาจนำเงินที่กู้ยืมมาไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจก็ได้

ทั้งนี้ ข้อมูลหนี้ครัวเรือนครอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน 2 กลุ่มที่ ธปท. เก็บข้อมูลได้ กลุ่มแรก คือสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันรับฝากเงินอื่นๆ กลุ่มที่สอง คือสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน โรงรับจำนำ และสถาบันการเงินอื่นๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสถิติหนี้ครัวเรือนนี้ไม่รวมหนี้นอกระบบ

สาเหตุที่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น

หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่

หนึ่ง เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2554-2556 โดยเฉพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่างจังหวัดและภูมิภาค ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น รายได้ของภาคเกษตรสูงขึ้น จึงมีความต้องการกู้ยืมหรือนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อนเพื่อช่วยในการเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ราคา 15,000 บาทต่อเกวียน ทำให้เกษตรกรต้องการที่จะซื้อรถไถ ซื้อปุ๋ย มากขึ้น เพื่อปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ด้วยหวังว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปจำนำและได้เงินมากขึ้น

สอง ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้มากขึ้น เช่น คนเคยกู้เงินนอกระบบก็หันมากู้เงินในระบบแทน รวมทั้งสถาบันการเงินมีการแข่งขันกันนำเสนอบริการทางการเงินต่างๆ มากขึ้น

สาม นวัตกรรมทางการเงินที่มีมากขึ้น ทำให้มีทางเลือกและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่าเดิม ปัจจุบันบริการด้านการเงินมีให้เลือกหลายประเภทมากขึ้น เช่น สินเชื่อบ้านแบบเดิมที่กู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ก็พัฒนาเป็น Home Equity คือ การใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์ก็มีการพัฒนาให้ใช้ทะเบียนรถมากู้เงินได้ เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้เป็นพัฒนาการทางการเงินที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากกว่าเดิม

สี่ นโยบายภาครัฐบางด้านก็มีส่วนทำให้ครัวเรือนมีการกู้ยืมมากขึ้น ส่งผลให้ระดับหนี้ครัวเรือนโดยรวมสูงขึ้น เช่น นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของภาครัฐ

ห้า การมีข้อมูลที่มากขึ้น เดิมข้อมูลหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มาจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมีตัวเลขอยู่ในระดับ 30-40% มาตลอด ซึ่งเป็นระดับที่หลายฝ่ายมองว่าไม่น่ากังวล แต่ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำหนี้ส่วนบุคคลจากธนาคาร สถาบันการเงินของรัฐ non-bank สหกรณ์ออมทรัพย์ มารวมไว้ด้วย ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจึงโตขึ้นเร็วมาก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่น คือ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ทำให้ความต้องการเงินกู้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น

หนี้ครัวเรือนน่ากังวลหรือไม่

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสร้างความกังวลในหลายประเด็น ได้แก่

หนึ่ง ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% สร้างความวิตกให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะระดับรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม โดยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจากกรณีวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ในปี 2008 ซึ่งช่วงนั้นหนี้ครัวเรือนสูงราว 100% ของจีดีพี

ระดับของหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ที่เร่งตัวอย่างรวดเร็ว หรืออยู่ในระดับที่สูง อาจส่งสัญญาณถึงความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ที่ลดลง และอาจส่งผลถึงความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนได้เพราะภาระการจ่ายคืนหนี้อาจเพิ่มสูงขึ้น

สอง การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ครัวเรือน ระดับของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นยังน่าวิตกน้อยกว่าอัตราการเพิ่มที่เร่งตัวอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงระยะสั้นเพียง 4-5 ปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่หนี้ครัวเรือนโตเร็วมาก ก็คือการที่ระบบการเงินไทยเกิดสถาบันการเงินในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีเพียงธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ สหกรณ์ แต่ปัจจุบันมี non-bank, nano-finance, pico-finance เกิดขึ้นด้วย ซึ่งล้วนเป็นช่องทางสำหรับการเกิดขึ้นของหนี้ครัวเรือน และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของสถาบันการเงินเหล่านี้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการชำระคืนหนี้

สาม การกระจายของหนี้ ความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนอาจครอบคลุมประเด็นว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมีการกระจายหรือไม่ มีการกระจุกตัวในผู้บริโภคกลุ่มไหน เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มรายได้ปานกลาง และเป็นหนี้ประเภทไหน เป็นสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อประเภทอื่นๆ ซึ่งการกระจุกหรือกระจายของหนี้ของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มก็จะมีนัยแตกต่างกันไป

สี่ หนี้แฝง ปัจจุบันมีการทำธุรกิจในนามบุคคลมากขึ้น บางครั้งกู้เงินมาเพื่อทำธุรกิจ หนี้ธุรกิจจึงถูกซ่อนไว้ในหนี้บุคคล ทำให้การพิจารณาหนี้ครัวเรือนอาจได้ภาพพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คลาดเคลื่อนได้

ผลของหนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจ

การบริโภคและการใช้จ่ายของครัวเรือน เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเห็นได้จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่การส่งออกชะลอตัว แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดีด้วยการบริโภคของภาคครัวเรือน

แม้การกู้ยืมเงินจะเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือน แต่ก็เพิ่มภาระในการชำระหนี้ไปพร้อมกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ครัวเรือนยังมีรายได้และมีความสามารถในการชำระหนี้ แต่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ความสามารถในการใช้จ่ายก็ถูกลดทอน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศอาจจะไม่ได้ผล เนื่องจากรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจถูกนำไปใช้ชำระหนี้ก่อน ซึ่งทำให้การบริโภคไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่คาดหวังไว้

ข้อคิดสำหรับผู้ที่มีหนี้สูง

ปัจจุบันนี้คนไทยก่อหนี้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เพิ่มเริ่มทำงานในวัย 25-29 ปีก็เป็นหนี้แล้ว และยังมีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ เนื่องจากมีผลเสียตามมาอีกมาก รวมทั้งสร้างประวัติเครดิตที่ไม่ดี ในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องกู้เงินอาจจะไม่ได้รับการพิจารณาจากสถาบันการเงิน ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีหนี้สูงดังต่อไปนี้

หนึ่ง กรณีเงินขาดมือต้องการเงินฉุกเฉิน ไม่ควรก่อหนี้เพิ่มอีก โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ เพราะภาระทางการเงินจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากหนี้นอกระบบคิดดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารพาณิชย์หลายสิบเท่า

สอง กรณีที่จำเป็นต้องกู้เงิน ก็ควรกู้ในระบบ เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินมีให้เลือกมากมาย และสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีมาค้ำประกันการกู้ยืมได้ เช่น นำทะเบียนรถมาจำนำ แต่ก็ควรทำในกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น และควรมีการเปรียบเทียบต้นทุนดอกเบี้ยอย่างถูกต้อง

วิธีบริหารหนี้ที่ดี

บริหารภาระของหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้
เมื่อมีการกู้ยืมเงิน ควรบริหารหนี้ให้ดี ควรมีการวางแผนทางการเงิน ทำบัญชีครัวเรือน และบริหารรายได้และรายจ่ายอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญอย่าก่อหนี้เกินความสามารถในการจ่ายคืน เมื่อใดที่ภาระหนี้สูงเกินไป จะเกิดปัญหาเงินไม่พอใช้ และจะเข้าสู่วงจรหนี้พอกหางหมู กู้หนี้มาจ่ายหนี้วนไป

การกู้ยืมคือ การเอารายได้ในอนาคตมาชำระหนี้คืน ตัวอย่างเช่น การกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน เป็นการนำรายได้ในอนาคตไปประกันกับธนาคารเพื่อกู้เงิน ซึ่งจะได้บ้านคือสินทรัพย์มา แล้วผู้กู้ค่อยนำเงินรายได้ที่จะได้รับในอนาคตไปชำระ เพราะฉะนั้น การกู้ยืมต้องมีการบริหารความเสี่ยงด้านรายได้ด้วย เช่น มีรายได้เพิ่มขึ้น 2-3 เดือนเป็นพิเศษแล้วไปกู้เงินมาซื้อของ เพราะคิดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่ปรากฏว่าในระยะต่อมา รายได้ไม่เข้าหรือลดลงเท่าระดับปกติ หรือลดลงจากเดิม ก็จะมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ตกงานและยังมีภาระหนี้ค้างอยู่

โดยหลักง่ายๆ ภาระการชำระคืนหนี้ต่อรายได้ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 60% ของรายได้ ขึ้นอยู่กับภาระอื่นๆ เช่น ภาษีและภาระจำเป็นอื่นๆ หากภาระหนี้ต่อรายได้สูงเกินไป ตัวผู้กู้เองก็มีภาระใช้จ่ายด้านอื่นอยู่ อาจจะไม่มีเงินมาชำระหนี้ นอกจากนี้ อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้หากมีความจำเป็นหรือมีเหตุฉุกเฉิน เพราะธนาคารตรวจสอบข้อมูลประวัติเครดิตจากเครดิตบูโร ก็จะมีข้อมูลที่บ่งบอกความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ได้จากภาระหนี้เดิมที่มีอยู่ ถ้ามีภาระหนี้สูงอยู่แล้ว ก็เป็นการยากที่ธนาคารจะปล่อยกู้เพิ่มเติม

สุดท้ายนี้ หนี้ถ้าใช้ให้ดีก็มีประโยชน์ต่อตัวเอง แต่หากใช้ไม่ดี เช่น กู้เกินตัว กู้เกินรายได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวผู้กู้ ธนาคารที่ให้กู้ กลายเป็นหนี้เสียในระบบ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้กู้รายอื่นๆ ไปด้วย ทางที่ดีต้องบริหารหนี้ให้สมดุลกับรายได้ เพื่อไม่ให้การเป็นหนี้กระทบต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจต่อไป

ซีรีส์ Financial Literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร