KKP ร่วมเปิดการประชุม APEC Voices of the Future 2022 เยาวชนไทยชูลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา และร่วมร่างปฏิญญาเสนอต่อนายกฯ
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โดยนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางกุลนันท์ ซานไทโว กรรมการผู้จัดการ ประธานกลุ่มงานลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และนายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวานิชธนกิจและตลาดทุน ร่วมพิธีเปิด APEC Voices of the Future 2022 (APEC VOTF 2022) การประชุมตัวแทนเยาวชนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการจัดประชุมและผู้ให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่ทีมเยาวชนไทย (Educators) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 ณ วชิราวุธวิทยาลัย โดยมีนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นาย James Soh, Chair of APEC VOTF, Dr. Rebecca Fatima Sta Maria, APEC Secretariat และนายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
ในปีนี้มีผู้แทนเยาวชนและผู้ให้ความรู้รวม 86 คนจาก 14 เขตเศรษฐกิจเดินทางมาเข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อนำเสนอหัวข้อที่เป็นประเด็นปัญหาและส่งผลต่ออนาคตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยผู้แทนเยาวชนไทยชูประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา พร้อมเสนอทางออกผ่านการสร้างทักษะให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งนี้ เยาวชนทั้งหมดจะดำเนินการร่างปฏิญญาเยาวชน พ.ศ. 2565 (Youth Declaration 2022) เพื่อนำไปยื่นต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพฯ เพื่อเป็นการส่งเสียงถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เยาวชนต้องการเพื่อปูทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในรุ่นต่อๆ ไป
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า “นโยบายต่างๆ ที่เราทำในวันนี้จะมีผลกระทบต่อเยาวชนรุ่นใหม่ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ในทำนองเดียวกัน ปัญหาทั้งหมดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในวันนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เยาวชนจะได้รับสิทธิและพื้นที่ในการเปล่งเสียงเหล่านั้นออกมา และแนวทางของการพัฒนาสำหรับเอเปคในปีนี้คือ Open. Connect. Balance. นั้นสอดรับกับธรรมชาติของเยาวชน หนึ่ง เยาวชนนั้นมีลักษณะ ‘เปิดกว้าง’ (open) เนื่องจากถูกผูกมัดด้วยแนวคิดต่างๆ น้อยกว่าผู้ใหญ่ สอง เยาวชนมีการ ‘เชื่อมต่อ’ (connect) กันมากขึ้นด้วยเทคโลโนยีและโซเชียล มีเดีย และสามเนื่องจากเยาวชนต้องคิดถึงกรอบเวลาที่ยาวนานกว่าผู้ใหญ่เมื่อมองหาวิธีแก้ไขปัญหาระดับโลก การเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นของเยาวชนในวันนี้จะทำให้เกิดความ ‘สมดุล’ (balance) นี่คือเหตุผลที่กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทรซึ่งเชื่อมั่นในการส่งเสริมโอกาสอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างประโยชน์ (Optimise Your Opportunities) เห็นว่าสำหรับโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและข้อจำกัดทั้งเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ วิธีเดียวที่จะเดินไปข้างหน้าคือการสนับสนุนและลงทุนกับเยาวชน ในขณะเดียวกัน โอกาสในการเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ เชื่อมต่อกับเพื่อน ๆ จากประเทศอื่น ๆ และปรับมุมมองและความเข้าใจให้สมดุลกันย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนทุกคนเช่นกัน”
สำหรับตัวแทนเยาวชนไทย นางสาวมนัสยา พลอยนำพล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสพล ตัณฑ์ประพันธ์ นิสิต ชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวนภัสสร พิศิษฏพงศ์ นิสิต ชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนทีมเยาวชนไทยจากทั้งหมด 12 คน ได้ขึ้นเวทีนำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศ แต่ในประเทศไทยนั้นทรัพยากรด้านการศึกษาไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึง การเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยี อินเทอร์เนต และแหล่งความรู้ไม่เท่ากัน อีกทั้งครูอาจารย์มีภารกิจนอกเหนือจากการสอนมากเกินจำเป็น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยตัวแทนเยาวชนไทยเห็นว่าการยกระดับการแนะแนวอาชีพ(Career Guidance) ด้วยการให้เด็กๆ เข้าถึงความรู้และการแนะแนวเหล่านี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านการประสานกับภารกิจด้านสังคมขององค์กรเอกชนและภาครัฐต่างๆ จะช่วยสร้างเส้นทางสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสให้มีอาชีพที่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้
นายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มธุรกิจฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้และที่ปรึกษาให้กับเยาวชนผู้แทนประเทศไทยตลอดระยะเวลาของโครงการ เปิดเผยว่า “การนำเสนอของเยาวชนนั้นหลายๆ ประเทศเห็นตรงกันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมาทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศของตนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข ควบคู่ไปกับความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และพลังงานทดแทน โดยใจความสำคัญของการแก้ปัญหาคือความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังต้องทำให้สมดุลและยั่งยืนด้วย ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจฯ ในฐานะผู้สนับสนุนได้จัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเน้นให้น้องเยาวชนได้ทำการศึกษาประเด็นปัญหาอย่างเจาะลึกและร่วมระดมแนวคิดกัน พร้อมจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเสริมในลักษณะ solution based เพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับสังคมในวงกว้างได้ ซึ่งการได้เป็นตัวแทนประเทศถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่เยาวชนจะได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ เป็นพื้นฐานที่ดีเพื่อการต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคต”
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมนี้คือ ‘Youth Declaration’ หรือ ปฏิญญา ซึ่งกลุ่มตัวแทนเยาวชนได้ร่วมกันร่างขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมการนำเสนอ เพื่อสะท้อนมุมมองของเยาวชนที่มีต่อปัญหา ความท้าทาย และโอกาสในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเปค พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยนำไปยื่นต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เพื่อปูทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในยุคต่อๆ ไป
…..
ส่งมอบปฏิญญาเยาวชนให้แก่นายกรัฐมนตรี
สำหรับ APEC VOTF โดยนาย James Soh, Chair of APEC VOTF และตัวแทนเยาวชนจาก 14 เขตเศรษฐกิจในโครงการ APEC Voices of the Future 2022 (APEC VOTF 2022) ส่งมอบปฏิญญาเยาวชน พ.ศ. 2565 (Youth Declaration 2022) ให้แก่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพฯ ซึ่งกลุ่มตัวแทนเยาวชนได้ร่วมกันร่างขึ้น เพื่อสะท้อนมุมมองของเยาวชนที่มีต่อปัญหา ความท้าทาย และโอกาสในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเปค พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหา โดยพิธีมอบจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565
ปฏิญญาเยาวชน พ.ศ. 2565 ที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี มีใจความสำคัญ 3 ประการ คือ Open. Connect. Balance ดังนี้
Open การเปิดโอกาสด้วยการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและทักษะที่พร้อมสำหรับอนาคตอย่างเท่าเทียมกันให้กับเยาวชนในพื้นที่ชนบทและกลุ่มด้อยโอกาส มุ่งเน้นการมีทักษะที่หลากหลายพร้อมรับมือสำหรับศตวรรษที่ 21 ปรับแก้ไขหลักสูตรการเรียน และส่งสริมความร่วมมือทางวิชาการ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพระบบเศรษฐกิจ ลดอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเปิดโอกาสเข้าสู่การค้าโลก มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านไซเบอร์ รวมถึงรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
Connect เสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานและการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยการส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศผ่านการทำการค้า เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ความรู้และบริการประเภทซอฟต์แวร์ เพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านแรงงาน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งใน Al และ blockchain นอกจากนี้ คือการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงหลักสูตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแบบสากลและให้ทุนการศึกษานานาชาติในเอเชียแปซิฟิกให้กับเยาวชนรวมไปถึงชนพื้นเมืองและกลุ่มที่ถูกมองข้าม ตลอดจนสิทธิ์ในการเข้าถึงวีซ่าต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาและทำงานในต่างประเทศ โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนช่วยให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง
Balance สนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green (BCG) Economy Model) เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการสนับสนุนการนำเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อลดของเสียจากการผลิตและการปล่อยคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด ไปจนถึงการผลักดันให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิกลายเป็นศูนย์ในเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ควรส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรม ทักษะอาชีพ เข้ากับวิชาการหลักสูตรการเรียน และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ให้บริการทางการเงินต่างๆ รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในที่ทำงานของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ด้วยการปฏิรูปกฎระเบียบงบประมาณทางการเงิน และสิทธิ์ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้หญิงจะได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน อีกทั้งส่งเสริมสตรีในบทบาทอื่นๆ เช่น ผู้หญิงในรัฐบาล ผู้ประกอบการ/ธุรกิจ และเสริมสร้างความสามารถด้านดิจิทัล ตลอดจนจัดหาเงินทุน และสร้างทักษะทางการตลาดสำหรับสตรีพื้นเมืองที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตนเองเหล่านี้
นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะสามารถรับมือกับแรงกระแทกด้านวิกฤตการณ์ โรคระบาด และเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ได้ ควรส่งเสริมให้มีนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพื่อรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การร่วมมือกันในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน ส่งเสริมการค้าสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือชุมชนในการปรับตัวเข้ากับรูปแบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงกำหนดให้มีการส่งรายงานความยั่งยืนเพื่อให้มั่นใจหน่วยงานธุรกิจมีการนำไปปฏิบัติจริง
ความมั่นคงทางอาหารจะช่วยสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชากรในเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก รัฐบาลควรมีแนวปฏิบัติด้านอาหารที่สร้างสรรค์และยั่งยืน ด้วยการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมความสามารถในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนและสร้างความมั่นคงของแหล่งอาหาร ลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท โดยการลงทุนในระบบติดตามภัยพิบัติ และบูรณาการแนวคิดที่เกี่ยวข้องเข้ากับการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงประสานความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรที่ไม่แสวงผลกับไรอย่าง NGOS ตลอดจนกระจายอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกัน รวมไปถึงการกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสมเหตุสมผลและครอบคลุมทุกภาคส่วนภายใต้กรอบการทำงานที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำประกาศข้างต้นเป็น ‘ปฏิญญา’ ที่เกิดจากความพยายามร่วมกันของตัวแทนเยาวชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในโครงการ APEC Voices of the Future 2022 โดยการระดมความคิดเพื่อสะท้อนมุมมองของเยาวชนที่มีต่อปัญหา ความท้าทาย และโอกาสในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเปค ซึ่งแต่ละประเทศล้วนมีบริบทและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีประเด็นสากลร่วมกันในระดับโลก พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อปูทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่และประชากรในเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ APEC Voices of the Future 2022 เพิ่มเติมได้ที่ https://apecvoicesofthefuture.org/