ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > เมื่อเทคโนโลยีเขย่าภาคการเงิน

เมื่อเทคโนโลยีเขย่าภาคการเงิน

19 พฤษภาคม 2018


โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมากเพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนา ขณะเดียวกันองค์ประกอบอื่นๆ ก็สุกงอมขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ เครือข่าย เครื่องมืออุปกรณ์ ความพร้อมของทุน และความรู้ความเข้าใจของผู้คน สิ่งเหล่านี้ทำให้เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าต่อเนื่อง

การพัฒนาของเทคโนโลยีเกิดขึ้นเป็นระลอก ทุกครั้งที่เกิดคลื่นเทคโนโลยี ทำให้จินตนาการกันไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เช่น การค้นพบกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม บางครั้งคลื่นเทคโนโลยีก็สร้างความคาดหวังที่เกินจริง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือยุคดอทคอมของสหรัฐฯ ในช่วงปี 1995-2000 ช่วงนั้นธุรกิจอินเทอร์เน็ตเติบโตรวดเร็วมาก มีเว็บไซต์ธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้นหลายแสนเว็บไซต์ ธุรกิจสตาร์ทอัปหลายประเภทก็เกิดขึ้นในยุคนี้ ทั้งอีคอมเมิร์ซ เซิร์ชเอ็นจิน เช่น Amazon, Yahoo, eBay หรือ Google นักลงทุนตอนนั้นล้วนตื่นเต้นพร้อมที่จะลงทุน บางรายประสบความสำเร็จจนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq แต่ในภายหลัง เกิดภาวะฟองสบู่แตกในตลาด Nasdaq ปรากฏว่าบริษัทหลายรายที่เข้าตลาดไปแล้วต้องล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน

Fintech สร้างปรากฏการณ์ใหม่

คลื่นเทคโนโลยีล่าสุด Fintech หรือ Financial Technology เทคโนโลยีทางการเงิน เป็นการประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ มาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเพื่อให้บริการด้านการเงินดีขึ้น ก็เช่นเดียวกับคลื่นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ได้สร้างความคาดหวังว่า จะเขย่าภาคการเงินของโลกและของไทยให้เปลี่ยนโฉมไปอย่างมหาศาล แต่โดยสาระ Fintech ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจมีสภาพที่ไม่แตกต่างจากยุคดอทคอมมากนัก คือมีการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัปจำนวนมาก มีนักลงทุนมาร่วมลงทุน มีการพัฒนาแอปพลิเคชันทางการเงินมากมายให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ สิ่งที่ต่างคือการเกิดขึ้นของ Fintech รวดเร็วกว่ายุคดอทคอม เนื่องจากจากความรู้ทางเทคโนโลยีที่สะสมติดต่อกันนับสิบปี และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ คลื่นเทคโนโลยีแต่ละระลอกจะมีผลเขย่าโลกการเงินให้เปลี่ยนไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเร็วในการยอมรับและใช้เทคโนโลยีของแต่ละสังคม เทคโนโลยีบางด้านสังคมรับได้ช้า แต่บางด้านก็รับได้เร็ว ดังจะเห็นได้จากสังคมไทยที่รับและใช้เทคโนโลยีด้านโซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิงได้เร็วมากกว่าเทคโนโลยีของการประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย การเกิดขึ้นของคลื่นเทคโนโลยี Fintech ไม่น่ามีผลให้ภาคการเงินเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นพลิกโฉม เนื่องจากการพัฒนาการของเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับเรื่องการเงินมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบการซื้อขายหุ้นที่พัฒนาจากการเคาะกระดานมาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งรองรับปริมาณธุรกรรมได้มหาศาล หรือระบบบริการธนาคารที่หันมาสู่ออนไลน์ ไม่ใช่การเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดดเหมือนการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนจากรถน้ำมันมาเป็นรถไฟฟ้า

ปัจจัยหนุนกระแส Fintech

  • ขีดความสามารถที่สูงขึ้น

  • Fintech ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ที่สร้างความท้าทายต่อผู้เล่นหรือผู้ให้บริการรายเดิม และกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจและรู้จักกับแอปพลิเคชันทางการเงินที่พัฒนามากขึ้น เช่น เดิมเมื่อพูดถึงเงินและบริการทางการเงิน คนก็จะนึกถึงธนาคาร แต่ปัจจุบันเมื่อพูดถึงเงิน บริการทางการเงิน ผู้บริโภคก็อาจจะนึกถึงบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่พัฒนาโปรแกรมการเงินหรือ Banking Service ให้บริการทางการเงินขึ้นมาก็ได้ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ อาจเป็นบริษัทเล็กก็ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กระแส Fintech ที่เริ่มขึ้นในต่างประเทศมีความแรงมากขึ้น เพราะมีความรู้สึกว่าบริษัทเล็กก็สามารถท้าทายธนาคารหรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ได้

  • ความพร้อมของข้อมูล

  • อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้กระแส Fintech ขยายวงกว้างไปทั่วโลก คือ ความพร้อมของข้อมูล เพราะปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้สามารถนำข้อมูลที่มีมาใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่หลากหลาย เห็นได้ชัดจากแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ใช้กันแพร่หลายทุกวันนี้ เช่น Google Map ที่ใช้ดูสภาพจราจรนั้น ประมวลผลจากข้อมูลสถานที่ที่เจ้าของสมาร์ทโฟนทุกเครื่องบนถนนเส้นหนึ่งๆ ส่งไป หรือแม้แต่แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ของ Alibaba เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดังจากจีน โดยเนื้อแท้ไม่ใช่โปรแกรมที่ซับซ้อน แต่ด้วยเครือข่ายข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้สามารถรู้ได้ว่า เมืองไหนมีความต้องการซื้อสินค้าประเภทใดมาก จึงสามารถเปิดศูนย์กระจายสินค้าตามพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างตอบโจทย์และรวดเร็ว

    โอกาสของ Fintech ไทย

    แอปพลิเคชันที่พัฒนาโดย Fintech ไม่นับว่าเป็น การพัฒนาเทคโนโลยีครั้งสำคัญ (Breakthrough Technology) เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเพียงการต่อยอดจากระบบปฏิบัติการที่มีอยู่ จัดว่าเป็นแขนงหนึ่งบนระบบปฏิบัติการ จึงไม่มีผลให้โลกการเงินพลิกโฉม การที่จะเขย่าโลกการเงินได้อย่างแท้จริงระบบปฏิบัติต้องพัฒนาขึ้นใหม่ จึงจะเป็นการยกตัวครั้งใหญ่ของเทคโนโลยี

    การพัฒนา Fintech ไม่ใช่เรื่องยากในเชิงเทคโนโลยี เพราะโปรแกรมสามารถพัฒนาได้ง่ายไม่ซับซ้อน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือข้อมูล เพื่อที่จะสามารถสร้าง Network Effect ยิ่งมีการใช้ข้อมูลมากขึ้น ก็จะยิ่งมีเครือข่ายข้อมูลที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ดังนั้น พื้นฐานของการพัฒนา Fintech คือ ข้อมูล และต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องด้วย เนื่องจากระบบจะทำงานประมวลผลได้ดีก็ต่อเมื่อข้อมูลถูกต้อง ข้อมูลได้มาตรฐาน หากข้อมูลไม่ถูกต้อง ต่อให้มีระบบดีแพลตฟอร์มดี ก็ไม่มีประโยชน์

  • Fintech ด้านการชำระเงิน
  • Fintech ที่กล่าวได้ว่าพัฒนาไปมากที่สุด คือ แอปพลิเคชันการชำระเงิน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ระบบเดิมไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สะดวกต่อการใช้ และมีค่าใช้จ่ายสูงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา Fintech ด้านการชำระเงินของไทยยังพัฒนาได้อย่างไม่ก้าวหน้านัก เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐาน แต่หลังจากภาครัฐได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของไทยให้ก้าวเข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผน National e-Payment ก็ได้ช่วยให้การพัฒนา Fintech ด้านการชำระเงินทำได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น และยังทำให้มีอัตราค่าบริการที่ต่ำลงอีกด้วย

  • Fintech ด้านการปล่อยกู้
  • การพัฒนา Fintech ด้านการให้สินเชื่อในไทยยังไม่เกิดมากนัก เนื่องจากขาดองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ คือ ข้อมูล แม้จะมีการจัดเก็บข้อมูลเครดิต แต่ก็ยังขาดข้อมูลด้านรายได้รายจ่ายซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญของการพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน มีเพียงข้อมูลที่เป็นยอดหนี้ รวมทั้งการขาด Digital Identity ทำให้ไม่สามารถปล่อยกู้ผ่านคอมพิวเตอร์ประมวลผลด้วยสถิติบนระบบออน์ไลน์ได้ เอกสารหลายประเภทไม่สามารถทำเป็นระบบออนไลน์ ยังต้องใช้วิธีการถ่ายสำเนาเอกสาร พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกได้ว่าไม่รองรับโลกเทคโนโลยี เช่น การกู้ยืมยังต้องมาติดต่อด้วยตัวเองที่สาขาของธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมทั้งหมด นอกจากนั้น ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน ศูนย์ข้อมูลเครดิต และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

    หากสามารถแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลได้ พัฒนากระบวนการทุกอย่างเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่แลกเปลี่ยนข้อมูลไปจนถึงขั้นบังคับคดีกรณีฟ้องร้องจากการไม่ชำระคืนหนี้ Fintech ด้านสินเชื่อก็จะมีการพัฒนามากขึ้น การปล่อยสินเชื่อก็จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อนั้น รัฐบาลจะไม่ต้องออกมาเรียกร้องให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น เพราะธนาคารหรือสถาบันการเงินเองก็ต้องการปล่อยเงินกู้มากขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อให้เรียกเก็บหนี้ได้ โดยหากเก็บหนี้ได้ครบจากเงินกู้ที่ปล่อยไป ธนาคารก็จะยิ่งปล่อยสินเชื่อมากขึ้นอีกเองโดยธรรมชาติ

  • Fintech ด้านการลงทุน
  • ในประเทศไทยมีการพัฒนา Fintech ด้านการลงทุนบ้างแล้วและสังคมก็ยอมรับและนำไปใช้ แต่ก็ยังมีปัญหาต่อการพัฒนา 2 ด้าน หนึ่ง คือ หน่วยงานที่กำกับดูแลยังไม่มีการวางนโยบายส่งเสริมหรือดูแลที่ชัดเจน สอง คือ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการชำระราคาและส่งมอบ (Settlement) ยังต้องปรับปรุงอีก

  • Fintech ด้าน Peer to Peer Lending
  • การที่จะพัฒนา Fintech ด้านการให้กู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคลที่เรียกว่า Peer-to-Peer Lending (P2P) บนระบบออนไลน์และไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่ง P2P เป็นได้การปล่อยสินเชื่อและการระดมทุน จึงมีทั้งการให้เงินแบบทุนและให้กู้ยืมเงินแบบหนี้

    สำหรับในประเทศไทยแล้วยังมีอุปสรรคในหลายด้าน ที่สำคัญคือ ข้อมูลเครดิตของไทยยังไม่มีคุณภาพมากนัก เนื่องจากจัดเก็บข้อมูลไม่ครอบคลุม เก็บได้เพียงบางด้านเท่านั้น ข้อมูลที่เก็บได้บางส่วนก็ไม่ใช่ข้อมูลแท้ เช่น ชื่อไม่ใช่ชื่อจริง ที่อยู่ไม่ได้เป็นที่อยู่จริง รายได้ไม่จริง อาชีพไม่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อ Peer to Peer Lending

    อย่างไรก็ตาม สุดท้าย การใช้ Fintech ก็เหมือนกับการใช้สินค้าทั่วไป ที่ต้องใช้วิจารณญาณในการเลือก ผู้บริโภคไม่ควรพิจารณาเลือกใช้เพียงเพราะคุ้นชื่อหรือมีความรู้สึกว่าของต่างประเทศต้องเป็นของดี สิ่งสำคัญคือมีการศึกษาก่อนใช้ เพราะการใช้แบบไม่รู้คือความเสี่ยงเสมอ

    ซีรีส์ Financial Literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร