ThaiPublica > เกาะกระแส > SAM แจงปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ ปลดล็อคเอื้อลูกหนี้ถูกฟ้องร้องกลับตัวสร้างวินัยการเงิน

SAM แจงปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ ปลดล็อคเอื้อลูกหนี้ถูกฟ้องร้องกลับตัวสร้างวินัยการเงิน

3 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) กล่าวว่าถึงการปรับหลักเกณฑ์โครงการคลินิกแก้หนี้ที่จะมีผลบังคับใช้วันนี้ ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และ SAM แถลงข่าวไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ว่าปัญหาใหญ่ของการดำเนินงานที่ผ่านมาเกิดจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องแล้วจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่ในทางปฏิบัติธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าลูกหนี้รายใดจะเข้าสู่โครงการหรือมีคุณสมบัติเพียงพอ จึงต้องดำเนินการฟ้องร้องไปก่อนและทำให้ลูกหนี้ที่กลายเป็นลูกหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ลูกหนี้เอ็นพีแอลหมดคุณสมบัติทันที

การแก้เกณฑ์ใหม่จึงเพิ่มความยืดหยุ่นให้ธนาคารดำเนินการฟ้องร้องไปตามกระบวนการปกติและหากลูกหนี้สมัครเข้าร่วมโครงการได้สำเร็จภายหลัง จึงค่อยนำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มาทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อหยุดพักกระบวนการทางศาลได้จนกว่าจะปรับโครงสร้างหนี้เสร็จ ซึ่งคาดกว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะกลับมาเข้าโครงการได้

“โดยหลักการการแก้เกณฑ์ไม่ควรแก้หลายครั้ง เพราะมีเรื่องต้องระมัดระวังโดยเฉพาะพฤติกรรมที่ตั้งใจมาเป็นเอ็นพีแอล หรือ Moral Hazard แต่ความเป็นจริงด้านหนึ่งก็รอแก้พระราชกำหนดให้นอนแบงก์เข้าโครงการได้ด้วย อีกด้านลูกหนี้หลายรายก็ยังต้องการการเยียวยาจากโครงการนี้ ก็จำเป็นต้องแก้ไขไปก่อน แต่ถ้าพระราชกำหนดเสร็จแล้วก็จะเห็นภาพใหญ่ของระบบอีกครั้ง ก็คงมาคุยกันเรื่องเงื่อนไขที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นขั้นตอนไป” นางฐิติมากล่าว

นางฐิติมา กล่าวต่อไปว่าในอนาคตเรื่องเกณฑ์ปัจจุบันได้คุยกับนอนแบงก์บ้างแล้วและยังอยู่ในขั้นตอนการหารือรายละเอียด แต่โดยหลักการคิดว่าโครงการดังกล่าวควรใช้มาตรฐานเดียวกันอย่างเท่าเทียม ดังนั้นการแก้สัญญาที่ทำไปก่อนหน้าอาจจะยุ่งยาก และควรทำสัญญาใหม่ในส่วนของนอนแบงก์

ทั้งนี้ นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ SAM กล่าวถึงรายละเอียดผลดำเนินงานของโครงการช่วงที่ผ่านมาว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่เปิดโครงการก็มีผู้สมัครเข้ามา 18,052 รายและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 เดือนแรก ก่อนจะทยอยลดลงจนในเดือนมีนาคม 2561 มียอดรวม 33,736 ราย โดยในจำนวนนี้ 31,761 ไม่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น เช่นยังไม่เป็นเอ็นพีแอลหรือไม่ใช่ลูกหนี้ธนาคาร หลังจากนั้นเมื่อตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรอย่างละเอียดพบว่ามีผู้ที่เข้าใจผิดเรื่องสถานะการชำระหนี้อีก 501 คน ทำให้เหลือผู้ผ่านคุณสมบัติ 1,265 ราย ในจำนวนนี้มีกระแสเงินสดไม่เพียงพอปรับโครงสร้างหนี้ (Cash Flow) 280 ราย และอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสาร 191 ราย และมีผู้ผ่านคุณสมบัติและมีกระแสเงินสดเพียงพอปรับโครงสร้างหนี้ 794 รายที่ส่งให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณา

หลังจากธนาคารพาณิชย์พิจารณาพบว่า 131 รายอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้องทำให้ขาดคุณสมบัติ และมีเพียง 594 รายที่มาลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ รอลงนามสัญญา 7 ราย โดยมีอีก 62 รายไม่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น บางรายมีรายได้พิเศษเข้ามาชำระหนี้ได้ หรือบางรายพบว่าธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่ฟ้องร้องทำให้เข้าร่วมโครงการไม่ได้ เหลือเพียงธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้เล็กหลายรายแทนและอาจจะไม่คุ้มที่จะเข้าร่วม เป็นต้น

ในจำนวน 594 รายมียอดเงินต้นรวม 129 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 230,000 บาท และมียอดผ่อนชำระเฉลี่ย 4,400 บาทต่อเดือน มีระยะเวลาผ่อนชำระเฉลี่ย 5 ปี โดยรายที่มีหนี้มากที่สุดมีหนี้ประมาณ 1 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้ที่มีจำนวนธนาคารเจ้าหนี้สูงสุดอยู่ที่ 5-6 ธนาคาร โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนี้บัตรเครดิตมากกว่าหนี้ส่วนบุคคล ซึ่งจะเกิดกับกลุ่มนอนแบงก์มากกว่า

นายอุดม พลสมบัตินันท์ ผู้บริหารฝ่ายรับจ้างบริหารหนี้ กล่าวว่ากระบวนการภายหลังจากสมัครทางบริษัทจะติดต่อกลับไป ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาว่าลูกหนี้หลายรายหลีกเลี่ยงการรับโทรศัพท์อยู่ จึงขอประชาสัมพันธ์ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการให้เปิดรับการติดต่อกลับด้วย อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทมีมาตรการส่ง SMS แทนแล้วด้วย หลังจากนั้นจะขอเครดิตบูโรตรวจสอบรายละเอียดว่าเข้าข่ายจริงหรือไม่ ก่อนจะดูกระแสรายได้เป็นหลักฐาน โดยพนักงานเงินเดือนจะต้องใช้สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน ขณะที่ผู้มีรายได้จะต้องใช้ statement ของธนาคาร 6 เดือนย้อนหลัง หลังจากนั้นจะส่งเรื่องไปยังธนาคารพาณิชย์เพื่อดูว่ามีกระบวนการฟ้องร้องถึงขั้นตอนไหนและสามารถให้เข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ เมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จจะเชิญมาทำสัญญาปรับโครงการหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความ