ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลงานกรมบังคดีปี’60 ขายทรัพย์สินทะลุเป้า 129,043.9 ล้านบาท พร้อมรุกไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งในชั้นบังคับคดีและนอกระบบทั่วประเทศ

ผลงานกรมบังคดีปี’60 ขายทรัพย์สินทะลุเป้า 129,043.9 ล้านบาท พร้อมรุกไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งในชั้นบังคับคดีและนอกระบบทั่วประเทศ

12 ตุลาคม 2017


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี (กลาง) แถลงผลการดำเนินงานของกรมบังคดี ปีงบประมาณ 2560

วันที่ 12 ตุลาคม 2560 นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกรมบังคับคดีในปีงบประมาณ 2560 และแผนการดำเนินงานของกรมบังคับคดีในปีงบประมาณ 2561 ว่า

1. ผลการผลักดันทรัพย์สินรอการขายของกรมบังคับคดี ซึ่งเป็นการกระตุ้นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2560 กรมบังคับคดีได้ใช้นโยบาย 4 ร ได้แก่ เร่งรัดติดตามคำสั่งศาล เร่งรัดประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ เร่งรัดการประกาศขายทอดตลาด และเร่งรัดการผลักดันทรัพย์สินมาใช้ในการผลักดันทรัพย์สินของกรมบังคับคดี ตลอดจนจัดให้มีการขายทอดตลาดในวันเสาร์ การจัดมหกรรมขายทอดตลาด ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2560 สามารถขายทอดตลาดได้ 129,043.9 ล้านบาท สูงกว่าเป้าร้อยละ 29.04 (เป้าหมาย 100,000 ล้านบาท)

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการผลักดันทรัพย์สินในรอบ 7 ปี (พ.ศ. 2554-2560) ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2560 สามารถผลักดันทรัพย์สินได้สูงที่สุดโดยสูงกว่าปีงบประมาณ 2559 ร้อยละ 19.79 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 6 ปี (พ.ศ. 2554-2559) ร้อยละ 46.45

ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2560 มีทรัพย์สินรอการขายทอดตลาดรวมจำนวน 137,642 คดี รวมราคาประเมินเป็นจำนวน 241,122.86 ล้านบาท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คิดเป็นร้อยละ 41.04 ที่ดินว่างเปล่า คิดเป็นร้อยละ 40.49 ห้องชุด คิดเป็นร้อยละ 18.47 ของทรัพย์รอการขาย

2. ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ภายใต้กลยุทธ์ “เชิงรุก เชิงลึก และครอบคลุม”

กรมบังคับคดีดำเนินการ โดยเน้นกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) หนี้ SME หนี้เกษตรกร หนี้รายย่อย ประสานเจ้าหนี้กลุ่มใหม่ ทำงานลงพื้นที่เชิงรุกทั่วประเทศ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกหนี้ โดยมีผลการดำเนินการดังนี้

ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – เดือนกันยายน 2560 ปีงบประมาณ 2560 มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ยจำนวน 24,690 เรื่อง ทุนทรัพย์จำนวน 7,872.98 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จจำนวน 22,500 เรื่อง ทุนทรัพย์จำนวน 6,380.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.13 ของเรื่องที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลการไกล่เกลี่ยสำเร็จของปีงบประมาณ 2560 สูงกว่าปีงบประมาณ 2559 คิดเป็นร้อยละ 58.58 ของเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย

ผลการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีทั่วประเทศในปีงบประมาณ 2560 มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ยจำนวน 17,791 เรื่อง ทุนทรัพย์จำนวน 4,179.09 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จจำนวน 16,376 เรื่อง ทุนทรัพย์จำนวน 3,436.29 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.05 ของเรื่องที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ย

ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีหนี้นอกระบบ

กรมบังคับคดีใช้กลไกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตั้งแต่ 20 คดีขึ้นไป โดยการรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขา พบว่ามีพื้นที่จังหวัดที่มีเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา รวม 12 จังหวัด มีเจ้าหนี้รวม 1 ราย มีลูกหนี้ 135 คดี ดังนี้

    1. กลุ่มลูกหนี้พื้นที่ภาคกลาง มีลูกหนี้จำนวน 2 คดี ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ 1 คดี และกำแพงเพชร 1 คดี
    2. กลุ่มลูกหนี้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลูกหนี้จำนวน 133 คดี ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น 40 คดี จังหวัดชัยภูมิ 65 คดี จังหวัดนครราชสีมา 3 คดี จังหวัดบุรีรัมย์ 3 คดี จังหวัดกาฬสินธุ์ 1 คดี จังหวัดมหาสารคาม 10 คดี จังหวัดร้อยเอ็ด 1 คดี จังหวัดเลย 4 คดี จังหวัดหนองบัวลำภู 2 คดี และจังหวัดอุดรธานี 4 คดี
    3. การบริหารจัดการคดี (Case Management) กรมบังคับคดีได้เร่งรัดการดำเนินการสำนวนคดีค้างดำเนินการเกิน 10 ปีที่มีอยู่จำนวน 12,900 เรื่อง ทุนทรัพย์ 40,780.35 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สามารถดำเนินการสำเร็จจำนวน 3,331 เรื่อง ทุนทรัพย์ 13,434.23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.82 ของเรื่องที่ค้างดำเนินการ

นอกจากนี้ กรมบังคับคดีมีการนโยบายในการกำหนดระยะเวลาในการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในคดีแพ่ง ตั้งแต่วันรับเงินถึงวันออกหนังสือแจ้งให้มาตรวจรับรองบัญชี ในกรณีที่ยึดและขายทอดตลาดทรัพย์ไม่เกิน 45 วัน กรณีอายัดทรัพย์ไม่เกิน 30 วัน และการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธุรการปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีเกี่ยวกับสำนวนอายัด โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

ดูเอกสารเพิ่มเติม

แผนงานปีงบประมาณ 2561

ส่วนแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 มุ่งสู่การให้บริการด้านการบังคับคดีที่เป็นธรรม ง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยกรมบังคับคดีมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง โดยนำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์กรมบังคับคดี และแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

วิสัยทัศน์กรมบังคับคดี ปี 2560-2564

“บังคับคดีด้วยความเป็นธรรม มุ่งสู่องค์กรชั้นนำในระดับสากล บริการประชาชนอย่างมีคุณภาพ” แผนการดำเนินการ “เน้นเป็นธรรม ง่าย สะดวก และรวดเร็ว”

1. การเสริมสร้างความเติบโตและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ผลักดันทรัพย์สินโดยใช้นโยบาย 2 เร่ง ได้แก่ เร่งรัดการปะชุมคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ และเร่งรัดประกาศขายทอดตลาด

กำหนดเป้าหมายการผลักดันทรัพย์สินทั้งปี จำนวน 110,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ของเป้าหมายในปีที่ผ่านมา

2. ด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี กรมบังคับคดียังคงใช้กลยุทธ์ “เชิงรุก เชิงลึก และครอบคลุม” อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาลต่อไป โดยประสานเจ้าหนี้กลุ่มใหม่ทำงานลงพื้นที่เชิงรุก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกหนี้เพื่อให้มีวินัยทางการเงิน และช่วยลดปริมาณคดีที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ลดการถูกยึดทรัพย์ การขายทอดตลาด และการอายัดทรัพย์สินต่างๆ ของลูกหนี้ เพิ่มโอกาสในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ คุณภาพชีวิตของลูกหนี้ดีขึ้น รวมทั้งก่อทำให้เกิดความสมานฉันท์สามัคคีในสังคมไทย

3. ด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการคดี (Case Management) เร่งรัดดำเนินคดีค้าง 10 ปีและคดียุ่งยากให้เสร็จ ร้อยละ 30 มุ่งเน้นความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็ว

4. บูรณาการการทำงานร่วมกันในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เป็นฐานข้อมูลกลางในคดีเพื่อการสืบค้นข้อมูลและติดตามทรัพย์สินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย และสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนพัฒนาระบบการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในทุกด้าน

5. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการบังคับคดีและภารกิจที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างศักยภาพและความรู้ (Empowerment) ให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) เช่น เกษตรกร กลุ่ม SMEs กลุ่มหนี้รายย่อย

6. พัฒนานวัตกรรมและระบบการทำงานโดยนำเทคโนโลยีมาใช้และลดขั้นตอนการให้บริการในการบังคับคดี พัฒนาการจัดเก็บสถิติและ Big Data เพื่อใช้วิเคราะห์และพัฒนา Business Intelligence (BI) พัฒนา Application Debt Info เพื่อการตรวจสอบข้อมูลเงินอายัดในสำนวนคดีแพ่งสำหรับคู่ความหรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดี พัฒนาระบบ Application ตรวจสอบสถานะบุคคลล้มลาย พัฒนาระบบการจองคิวนัดล่วงหน้าผ่าน Mobile Application พัฒนาระบบศูนย์กลางทรัพย์สินของลูกหนี้ (Debtor Data Center) การจัดตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน และการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (SDU)

7. พัฒนาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย และมีมาตรฐานสากลและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

8. เป็นศูนย์กลางทางวิชาการด้านการบังคับคดีของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และการพัฒนาการดำเนินงานของกรมบังคับคดีให้มีมาตรฐานสากล และเกิดความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด ตลอดจนมีกฎหมายที่ทันสมัย ตามกรอบความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก รวมทั้งการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดี และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน

9. พัฒนาศักยภาพของบุคลากร เน้นความเป็นสหวิชาชีพ ความเป็นมืออาชีพ และการบริหารจัดการ เสริมสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นในการทำงาน ตลอดจนการสร้างความเป็นมืออาชีพให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมบังคับคดีอย่างต่อเนื่อง