เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยในช่วงที่ผ่านมาในทำเนียบรัฐบาลได้เกิดเหตุการณ์อ่างบัวแตก กระถางต้นข่อยแตก การเกิดไฟไหม้เล็กน้อยที่ด้านหลังธนาคารกรุงไทย ใกล้ประตู 4 จนเป็นกระแสวิจารณ์ว่าอาจเป็นลางร้ายของรัฐบาลขาลง นายกรัฐมนตรีได้ขอว่าอย่ามองว่าเป็นเรื่องโหราศาสตร์หรือฮวงจุ้ย เพราะยุคนี้คือยุค 4.0 แล้ว แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้หลบหลู่เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเรื่องกระถางบัวแตกนั้นตนมองว่าเป็นเรื่องอุบัติเหตุ ส่วนกระถางต้นข่อยแตกนั้นเป็นเพราะกระถางเก่าแล้ว ขออย่าขยายความ พร้อมปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นผู้สั่งให้จุดธูป 36 ดอก ปักบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยอยากให้คิดว่าอาจจะมีข้าราชการหวังดี ต้องการให้บ้านเมืองสงบจึงมาอธิษฐานขอพรก็เป็นได้ ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล และการแก้ไขปัญหาทุกอย่างไม่ใช่ง่าย แต่เราก็จะทำ เพราะเรา “ใจเพชร”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวได้มีการพบเห็นนกกา 2 ตัวกำลังรุมจิกนกพิราบจนตาย บริเวณข้างสนามหญ้าหน้าทางเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ที่เป็นสถานที่ทำงานนายกรัฐมนตรี จนเกิดการวิจารณ์ขึ้นอีกว่าจะเป็นลางบอกเหตุอะไรหรือไม่
รับ 4 ข้อเสนอ ม็อบต้านโรงไฟฟ้าฯ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว พร้อมระบุว่า ตนไม่ต้องการให้มีการเคลื่อนไหว เพราะจะทำให้ชาวบ้านต้องเสียเวลาในการทำมาหากิน ทั้งนี้ได้สั่งการให้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดำเนินการชี้แจงและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมฯ แล้ว โดยข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ ทางกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และฝ่ายความมั่นคง จะรับไปหารือถึงความเป็นไปได้ และจะพยายามดำเนินการให้ได้ตามที่พูดคุยกันไว้ ขออย่าขยายความขัดแย้งออกไป
“เรียกว่าต่างคนต่างขอร้อง รัฐบาลขอร้องให้หยุดชุมนุมเขาก็ทำให้ เขาขอร้องให้ทบทวนผมก็ทำให้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรไม่ให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นทั้งประเทศ หากไม่ได้ตรงนี้จะต้องไปหาจากตรงไหน ทำอย่างไรในการเพิ่มไฟฟ้าภาคใต้ในระยะยาว ซึ่งวันหน้าไฟฟ้าอาจขาด สิ่งที่ทำได้ในระยะสั้นคือการทำสายส่งเพิ่มเติม แล้วพื้นที่อื่นจะรับผลกระทบอย่างไร ทั้งประเทศก็ต้องรับด้วยในเรื่องค่าไฟที่จะเพิ่มขึ้น หรืออาจจะต้องเป็นลงทุนเฉพาะพื้นที่ก็จะลดภาระตรงนี้ได้ ส่วนที่มีการฟ้องร้องกันนั้น ต้องไปดูคดีว่าใครฟ้องร้องใคร ดูว่าตามกฎหมายจะได้ทำแค่ไหน อย่างไร รัฐบาลรับจะดูแลให้ทั้งหมด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวขอความร่วมมือไปยังกลุ่มอื่นๆ ที่จะเคลื่อนไหว โดยขอให้ฟังเหตุและผล ไม่ต้องการให้สร้างความวุ่นวายแก่ประเทศอีกต่อไป โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังทุกเรื่องอยู่แล้ว ถึงแม้ศาลปกครองจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกลุ่มผู้ชุมนุมก็ตาม แต่ก็ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับ ถ้าอะไรที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องที่ศาลฯ คุ้มครองหรือผิดกฎหมายอื่นๆ ก็ถือว่ามีความผิดทั้งหมด ทั้งนี้ตนไม่ได้ขู่ แต่อยากให้เข้าใจว่าสิ่งไหนที่ศาลให้มีการคุ้มครอง ไม่ใช่ว่าได้รับการคุ้มครองแล้วจะทำอะไรก็ได้ ตนไม่อยากให้บ้านเมืองได้รับความเสียหาย เพราะทุกคนต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย
อนึ่ง ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทั้ง 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันลงนาม 2. ให้กระทรวงพลังงานงานจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพาจังหวัดสงขลามีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 9 เดือน และมีนักวิชาการที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย หากผลออกมาว่าพื้นที่ไม่เหมาะสมทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ. จะต้องยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่ 3. หากผลรายงานออกมาว่าเหมาะสมต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขั้นตอนการทำ EHIA จะต้องจัดทำโดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน และ 4. ให้คดีระหว่างเครือข่ายผู้ชุมนุมกับ กฟผ. เลิกแล้วต่อกัน
ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเจรจาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันโดยให้จัดทำรายงาน Strategic Environmental Assessment หรือ SEA ในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของนโยบาย แผนงาน โดยเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและมีความเข้มข้นมากกว่า EIA ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย หากผล SEA ออกมาเห็นว่ามีความเหมาะสมจึงจะเริ่มดำเนินการจัดทำ EIA ใหม่ แต่หากผล SEA ออกมาเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็จำเป็นต้องยกเลิกโครงการ ทั้งนี้ การจัดทำ SEA ครั้งนี้จะนำนักวิชาการคนกลางมาดำเนินการศึกษาเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามเรื่องการฟ้องร้อง พร้อมทั้งให้ดูเรื่องรายละเอียดเรื่องคดีความ เนื่องจากในวันนี้ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจในเจตนารมณ์ร่วมกัน และยังขอให้ทุกกระทรวงดูกระทรวงพลังงานเป็นแบบอย่าง
ยัน ไม่คว่ำกม.ลูก ยื้อเลือกตั้ง
ต่อเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีคว่ำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งในชั้นกรรมาธิการ เพื่อเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งออกไปอีก พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนอยากเน้นย้ำให้ทราบ เพื่อจะเลิกขัดแย้งและสร้างความวุ่นวายกันเสียที ในเรื่องกฎหมายลูก 2 ฉบับ ในความคิดของตนและรัฐบาล ได้ให้แนวทางไปแล้วว่าให้มีการแก้ไขตามคณะกรรมาธิการของแต่ละฝ่ายที่ได้พิจารณากันขึ้นมา โดยตนจะไม่ลงไปก้าวล่วง
“สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้คือจะไม่มีการล้มกฎหมายลูกโดยเด็ดขาด เป็นเรื่องการพิจารณาหาความร่วมมือร่วมกัน จึงต้องตกลงกันให้ได้ ใครจะเรียกร้องอะไรต่างๆ น่าจะยุติได้แล้ว หากกลัวจะล้มกฎหมายอะไร ผมยืนยันแล้วว่าไม่ให้ล้ม ถ้าไม่มีเหตุผลโดยสมควรมันล้มไม่ได้อยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ต่อคำถามกลุ่มคนอยากเลือกตั้งประกาศชุมนุมเพิ่มมากขึ้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ตนไม่ได้ไปขัดแย้งกับท่าน อยากจะเลือกก็อยากเลือก แต่อย่าทำให้บ้านเมืองขัดแย้งจนเกิดความเสียหาย การประกาศชุมนุมเพิ่มขึ้นจะไปดูว่าผิดกฎหมายหรือเปล่า แล้วประชาชนจะไปร่วมหรือไม่ หลายคนไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งมีผลสำรวจพบว่ามีคนไม่รู้เรื่องรัฐธรรมนูญกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะมีอย่างอื่นอีกที่เขาไม่รู้ แล้วเราจะถูกชี้นำโดยคนไม่กี่คนนี่หรือ จึงขอให้สื่อช่วยตนในการทำความเข้าใจกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งกับประชาชน
“เรื่องการชุมนุมก็ว่ามา ถ้ามันผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ก็ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่รู้ข้อเท็จจริงไปร่วมมือกับเขา แล้ววันหน้าจะลุกลามหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ แต่เราทำไมไม่ป้องกันไว้ก่อนไม่ได้หรือ มาตรา 44 ห้ามชุมนุมอะไรนั้น ผมไม่ต้องการให้มีเรื่อง นักศึกษา นิสิต ผมคิดว่าสงสารพ่อแม่บ้างเถอะ ต้องไปดูพวกนี้เรียนมากี่ปีแล้ว จะจบเมื่อไร อะไรอย่างไร ไม่งั้นก็ไม่จบหรอก เรียนจบมาก็เป็นแบบนี้ อย่าไปคิดว่าเราจะต้องไปเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง และอย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงโดยทำให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนเดือดร้อนบาดเจ็บล้มตาย มันไม่ใช่เรื่องในวันนี้ ต่างประเทศเขาทำมา 200 กว่าปี ที่ตายเจ็บกันขนาดนั้น ของเราเพิ่งจะเริ่มมาไม่กี่ปีนี้ โดยที่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน อย่าให้มันเกิดอีกเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สั่งทุกหน่วยลุยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศว่า มลพิษทางอากาศนั้นเกิดจากปัญหาหลายอย่าง ทั้งการจราจร การใช้รถใช้ถนน โรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่เรื่องโรงไฟฟ้าอย่างเดียว ซึ่งต้องไปดูมาตรฐานของโรงงานต่างๆ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งตนได้กำชับหน่วยงานให้ลงไปตรวจสอบแล้ว ให้ลดมลภาวะเหล่านี้ให้ได้
“สำหรับโครงการก่อสร้างต่างๆ ของรัฐบาล สิ่งหนึ่งที่หลายคนบอกว่าทำไมต้องมาสร้างกันในวันนี้ 10-20 ปีที่ผ่านมาทำไม่ไม่สร้าง ก็เลยเจอปัญหาจราจร แต่หากไม่สร้างวันนี้แล้วจะไปทำเมื่อไร แล้วทุกคนก็จะบ่นว่าการจราจรติดขัด ไม่มีระบบขนส่งมวลชน ซึ่งที่ผ่านมาทำไม่ได้ไปหามาแล้วกันว่าเพราะอะไร แต่วันนี้รัฐบาลทำได้ก็มาติเรื่องสภาวะอากาศ ก็ป้องกันสิครับ แก้ปัญหาต้องแก้ทั้งระบบ ก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีสื่อสำนักหนึ่งได้เผยแพร่ว่าภัยแล้งกำลังจะเกิดขึ้นในภาคอีสานทำให้กลายเป็นประเด็น โดยยื่นยันว่าปริมาณน้ำยังคงมีเพียงพอ ปัจจุบันประเทศไทยมีระดับน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 75% ในทุกเขื่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ชลประทานจะไม่ได้รับผลกระทบต่อการเพาะปลูก ถ้ามีการเพาะปลูกพืชอย่างเหมาะสมต่อปริมาณน้ำ ส่วนนอกพื้นที่เขตชลประทานจะได้ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสม ซึ่งจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกันถึงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ด้วย
สอบวินัย ตร.เข้าคิวรับ “อั่งเปา”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสังคมจับตามองเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งเรื่องการรับอั่งเปาและกรณีตำรวจไซด์ไลน์ว่า ตำรวจนั้นสิ่งดีๆ ที่ผ่านมามีมากมาย แต่ขณะนี้มาเสียหายเพราะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั้งนี้ตนได้สั่งการไปแล้วว่าต้องลงโทษ หากไม่ผิดกฎหมายก็ให้ดำเนินคดีทางวินัย แต่ไม่ใช่จะต้องเอาให้ตายกันหมดทุกเรื่อง อย่างนี้ไม่ได้ ต้องใช้กฎหมายเป็นพื้นฐาน
“ก็ย้ำไปว่าข้าราชการทุกคนไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหารต้องประพฤติตนให้เหมาะสม อย่าทำลายชื่อเสียงขององค์กร สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายของบุคคล คนให้คนรับก็ต้องไปแก้ไขกันในส่วนนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ต่อคำถามกรณีการตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ติดเชื้อเอดส์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในหลายจังหวัด พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รายงานให้ตนรับทราบเรื่องนี้ว่ามีการตรวจสอบทุจริตตั้งแต่ปี 2560 โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน แต่ปรากฏว่าล่าช้า ตอนนี้จึงต้องไปดูว่าทำไมล่าช้าในเมื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และต้องดูว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง ตนได้สั่งการว่าต้องลงโทษทุกคนที่ถูกพบว่ามีหลักฐานเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าเป็นการทำอย่างเป็นกระบวนการ มีคนในร่วมมือ ซึ่งเมื่อสอบถามก็พบว่าเหล่านี้เกิดมาตั้งนานแล้วก่อนที่จะรัฐบาลปัจจุบันจะเข้ามา
“นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ปัญหา ทั้งรัฐบาล ส่วนราชการ หน่วยงานที่ตรวจสอบ ตัวผู้ปฏิบัติงานต้องมีจิตสำนึก ซึ่งไม่มีใครคิด ผมไม่คิดว่าจะกล้าทำขนาดนี้ ก็ลงโทษสถานหนักไปตามกลไก ตามกระบวนการที่มีอยู่ และคนที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลยให้ทุจริต ก็ต้องถูกลงโทษทางวินัย ผมเตือนทุกกระทรวง และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศในที่ประชุม ครม. ว่า หากพบว่ามีใครมาแอบอ้างชื่ออักษรย่อ ‘ป.’ ว่าให้ไปทำนั่นนี่ ขอให้แจ้งมาได้เลย หรือบอกไปที่ตัว พล.อ. ประวิตร ได้ โดยจะดูแลและรักษาความลับให้ ขออย่าไปเชื่อคนที่มาแอบอ้าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ต่อคำถามว่าควรให้ พม. ปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกจ่ายเงินหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องไปดู เพราะมีหลายส่วนร่วมกัน ทั้งข้าราชการเลวๆ และ ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่อยากได้เงินก็มี ซึ่งตนไม่อยากจะพูด สมัยก่อนมีคนจากฝ่ายการเมืองด้วย และไม่ใช่แค่กระทรวงนี้ เอาโครงการลงไปอาศัยข้ออ้างงบประมาณสำหรับดูแลคนจนแล้วไปหาคนที่อยากได้ก็เอาเข้ามาเสนองบ โดยก็มีข้าราชการที่ไม่ดีร่วมมือ
ติง “ต่อตระกูล” หยุดพูด ปมนาฬิกาหรู ปล่อยเป็นหน้าที่ศาล
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต ได้ทำหนังสือถึงประธาน คตช. แสดงความกังวลต่อบทบาทของ คตช. ในสถานการณ์วิกฤติปัจจุบันจากกรณีที่ พล.อ. ประวิตร ถูกตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรู ว่า เป็นเรื่องของ คตช. ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว เป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ ทั้งนี้ตนไม่อยากให้มาพูดจนวุ่นวาย มีปัญหา หรือ มีความสับสนอลม่าน ควรปล่อยให้กลไกในการตรวจสอบทำหน้าที่ไป และถ้าตรวจสอบมาแล้วมีการทำความผิดจริง ก็เข้าไปสู่กระบวนการของศาลยุติธรรม ศาลตัดสินออกมาก็เป็นเรื่องของศาล เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
เรียกหอการค้าแจงคอร์รัปชันพุ่ง ชี้ไม่ชัดเจน-กระทบเชื่อมั่นนักลงทุน
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยสำรวจดัชนีสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชัน พบว่าปี 2560 มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะสูงสุดในรอบ 3 ปี และสถานการณ์คอร์รัปชันในปี 2561 นี้จะรุนแรงมากขึ้น ว่า ตนตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้เรียกผู้ทำผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมาพบ ซึ่งเขาได้ชี้แจงว่าเป็นเป็นเพียงหลักวิชาการในการประมาณการณ์และประเมินสถานการณ์เท่านั้น ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจน ทั้งนี้การจะจับให้ได้ว่ามีการทุจริตจริงๆ ต้องไปหาคนให้หลักฐานมา
“ถ้าทุกคนกลัวกันหมด กลัวว่าวันหน้าจะไม่ได้ทำโครงการของรัฐ แบบนี้ก็แก้ไม่ได้ ต่อให้ 10 รัฐบาล ก็แก้ไม่ได้ หรือ นายกฯ 100 นายกฯ ประยุทธ์ ก็แก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน และต้องมีข้อมูลชัดเจน การนำเสนอลักษณะแบบนี้บางทีมันอาจจะมีผลเสียกับประเทศ เนื่องจากต่างประเทศจะมองว่าเรามีทุจริตมากขึ้น ก็จะมีผลต่อการลงทุนหรือไม่ ความจริงวันนี้เขาพร้อมลงทุนในประเทศเรา แต่พอข่าวแบบนี้ออกไปก็จะเสียหายได้แต่ผมไม่ได้หมายความว่าจะให้ปกปิดข้อเท็จจริง ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ถ้าใครทุจริต ผมไม่ละเว้นแน่ ด้วยขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะลงโทษใครก็ได้ ผมไม่เคยลงโทษแบบนั้น เรื่องนี้มีการอธิบายแล้วผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทย ขอให้ไปติดตามดูย้อนหลังได้ผ่านทางยูทูป” นายกรัฐมนตรีกล่าว
รับแก้ปัญหา “หวย” ไม่ได้ ขู่ “ยกเลิกล็อตเตอรี่”
พล.อ. ประยุทธ์ การนำเสนอเรื่องคดีเรื่องหวย 30 ล้านบาท โดยระบุเรื่องราคาล็อตเตอรี่ ว่า ได้พยายามแก้แล้ว แต่ไม่รู้จะแก้อย่างไร ดังนั้น หากแก้ไม่ได้ คงเหลือวิธีเดียวคือ ยกเลิกขายล็อตเตอรี่ เพราะทุกปัญหาอยู่ที่คน ซึ่งตัวเองเข้าใจว่าประชาชนอยากรวย หากแก้ไขมาก อาจจะโดนกล่าวหาว่ารังแกคนจนได้
“ก็ทะเลาะกันทุกวัน และสื่อก็ขยายข่าวทุกวัน จนประชาชนเอือมระอาว่าเมื่อไหร่จะเลิกขยายสักที เหมือนกับเรื่องป้ายทะเบียนรถนายกรัฐมนตรีที่สื่อขยายไปเรื่อย ดังนั้นจะให้ตัวเองไปห้ามใครได้ เรื่องเล่นหวย เพราะสื่อต้องช่วยเตือนและห้ามปรามประชาชนว่าห้ามซื้อหวยรถนายกฯ ด้วย เพราะหากไปขยายว่าซื้อป้ายทะเบียนรถนายกฯ ถูก ประชาชนก็คงไม่อยากเจอตัวเองแต่อยากเจอรถยนต์แทน ซึ่งตัวเองก็เตือนสติได้เพียงเท่านี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว
“ไทยนิยม” เปิดรับความคิดเห็น ปชช.
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่ารัฐบาลได้เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” เช่น หากบอกว่าเศรษฐกิจตกต่ำนั้นตกต่ำอย่างไร การประกอบอาชีพไม่สะดวกเพราะอะไร เพราะการจัดระเบียบใช่หรือไม่ แล้วสิ่งที่ทำอยู่ถูกกฎหมายหรือเปล่า แต่หากจะบอกว่าผลผลิตตกต่ำนั้นยากที่จะแก้เพราะต้องแก้ทั้งระบบ ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งในการทำบิ๊กเดตา (Big Data) ของรัฐบาล
“ทั้งนี้ จะเป็นการรับฟังจากราชการ จากสื่อโซเชียลมีเดีย จากการร้องทุกข์ขึ้นมา และจากกลุ่มเป้าหมายต่างๆ นำมารวมเป็นบิ๊กเดตาแล้ววิเคราะห์ข้อมูลว่าจะแก้ไขปัญหาตรงไหนอย่างไร ไม่อย่างนั้นทุกคนก็จะพูดเหมารวมว่าเศรษฐกิจมันแย่ ก็ขอให้ส่งเข้ามาแล้วกัน แต่อย่าด่า เพราะด่าก็ไม่ได้อะไรกลับไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า การลงพื้นที่ “ไทยนิยม” นั้นเป็นไปเพื่อสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจ ให้รับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนโดยตรง นำข้อมูลที่รัฐบาลดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาไปแนะนำ เพื่อให้พื้นที่เกิดความเข้มแข็งตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาประชาชนอาจไม่ทราบ และอยากให้ประชาชนรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ยืนยันว่าหากมีการทุจริตโดยส่วนราชการจะต้องถูกลงโทษ ขอให้มาแจ้งเรื่องได้เลย ตนจะไม่ยอมให้ส่วนราชการเข้าไปมีส่วนตรงนี้เด็ดขาด
มติ ครม. มีดังนี้
เคาะรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้าน ไม่เข้าข่าย “ธุรกิจขายตรง”
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
ทั้งนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ได้บัญญัตินิยามคำว่า “ตลาดแบบตรง” หมายความว่าการทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น แต่การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับการบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรงเป็นกฎกระทรวงให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ โดยกำหนดให้การขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการต่ำกว่า 1,800,000 บาทต่อปี และการขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เป็นการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง
ขณะที่กฎกระทรวงอีกฉบับมีสาระสำคัญคือกำหนดจำนวนเงินหลักประกันที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียนเพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและเป็นบุคคลธรรมดา และเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 อันจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการชดใช้ค่าเสียหายอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอกระบวนการทางศาล โดยแบ่งเป็น
-
1) การประกอบธุรกิจขายตรง หากมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปีต้องวางหลักประกัน 25,000 บาท, รายได้ฯ ตั้งแต่ 25-50 ล้านบาทต่อปี วางหลักประกัน 50,000 บาท, รายได้ฯ ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาทต่อปี วางหลักประกัน 100,000 บาท และรายได้ฯ มากกว่า 100 ล้านบาท วางหลักประกัน 200,000 บาท
2) การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง หากรายได้ฯ ไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี กรณีบุคคลธรรมดาต้องวางหลักประกัน 5,000 บาท ขณะที่กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต้องวางหลังประกัน 25,000 บาท, หากมีรายได้ตั้งแต่ 25-50 ล้านบาทต่อปี ทั้งบุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทวางหลังประกัน 50,000 บาท, รายได้ฯ ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาทต่อปี วางหลักประกัน 100,000 บาท และรายได้ฯ มากกว่า 100 ล้านบาท วางหลักประกัน 200,000 บาท
โยกเงินกู้ SAL 800 ล้าน ยกระดับบริการภาครัฐเฟส 2
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. พิจารณาแผนงานโครงการขับเคลื่อนการยกระดับการบริการภาครัฐที่จะขอใช้เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loan: SAL) สมัยที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 โดยมีมติยกเลิกโครงการบูรณาการงานบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ หรือ Thailand Gateway ซึ่งกันวงเงินกู้ SAL ไว้ 1,102 ล้านบาท เนื่องจากแต่ละหน่วยงานใช้งบประมาณขององค์กรดำเนินการแล้ว และเห็นชอบในหลักการให้กันวงเงินกู้ SAL จำนวน 800 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนการยกระดับการบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับการบริการภาครัฐใน 3 เรื่อง ได้แก่
-
1) การพัฒนาระบบการประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ (Citizen Feedback) วงเงิน 250 ล้านบาท
2) การพัฒนาระบบติดตามการให้บริการ (Tracking System) วงเงิน 400 ล้านบาท และ
3) การพัฒนาระบบการจองคิวกลาง (Queue Online) วงเงิน 150 ล้านบาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ขณะที่เงินที่เหลืออีก 300 ล้านบาทให้ส่งคืนคลัง
จัดงบกลางปีฯ 5,546 ล้าน ทำ “Big Rock” เพิ่ม 19 โครงการ
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศ หรืองบ “Big Rock” ครั้งที่ 4 เพิ่มเติม 19 โครงการ วงเงิน 5,547.344 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) 5 โครงการ วงเงิน 2,254.964 ล้านบาท และโครงการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 14 โครงการ วงเงิน 3,292.38 ล้านบาท
ในรายละเอียด กระทรวงดิจิทัลจะนำมาใช้ใน 1) โครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้แก่การขยายไฟเบอร์ออปติกไปยังโรงเรียนห่างไกล 3,198 แห่งจากทั้งหมด 4,200 แห่งภายในปีนี้ จากนั้นค่อยขยายไปยังโรงเรียนห่างไกลอื่นเพิ่ม และการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังอนามัย สถานพยาบาลในชุมชน 812 แห่ง จากเป้าหมาย 984 แห่ง เพื่อร่วมกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ปรึกษาหรือรักษาผู้ป่วยผ่านระบบออนไลน์ทางไกล (Tele-Medicine) รวมทั้งขยายความจุอินเทอร์เน็ต (Bandwidth) ด้วย 2) โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอีอีซี 788.73 ล้านบาท 3) โครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมของ Startup วงเงิน 414.157 ล้านบาท 4) โครงการ Coding Naiton วงเงิน 236,49 ล้านบาท และ 5) โครงการจัดตั้งสถาบันไอโอที เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต วงเงิน 217.3 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์จะทำโครงการ เช่น โครงการมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561 ระดับภูมิภาค โครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้สามารถสร้างนวัตกรรมจากการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างงาน สร้างเงิน ในทุกอำเภอในปี 61 และทุกตำบลในปี 623 โครงการยกระดับ OTOP ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ เป็นต้น
อนึ่ง เดิม ครม. มีมติอนุมัติงบกลางปี 2560 รายการงบกลาง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 19,924 ล้านบาท และได้อนุมัติโครงการต่างๆ ไปแล้ว 3 ครั้ง โดยมียอดเหลือ 6,352 ล้านบาท
ผ่าน กม.ตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้ามาแต่ ครม. มีมติให้ปรับปรุงหลักการในบางประเด็น เช่น การขอยกเว้นหลักเกณฑ์ในการบริหารกองทุนแบบกองทุนหมุนเวียน แต่ ครม. เห็นว่าควรอยู่ในหลักเกณฑ์เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนมีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล หรือการให้รัฐบาลจัดเงินอุดหนุน 5% ของเงินงบประมาณที่ใช้ในด้านการศึกษา แต่ ครม. เกรงว่าแผนการใช้จ่ายเงินจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และควรพิจารณาเป็นรายปีตามแผนงานที่เสนอขึ้นมาแทน ซึ่งในวันนี้สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาได้แก้ไขตามมติของ ครม. และเสนอมาอนุมัติอีกครั้ง
“นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า กฎหมายฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้รัฐบาลต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ โดยกลุ่มเป้าหมายของกองทุนนี้คือคนที่อยู่นอกระบบการศึกษาหรือครูอาจารย์ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะคนยากจน โดยอาจมีทั้งเงินให้เปล่าหรือเงินกู้ยืมขึ้นอยู่กับกรณี ดังนั้น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะมีขอบเขตการใช้จ่ายที่กว้างขวางกว่า ช่วยให้ระบบการศึกษาพัฒนาขึ้นทั้งตัวผู้เรียนและผู้สอน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางอีกว่าหลักเกณฑ์กองทุนใหม่ต้องมีความชัดเจนในรายละเอียด ไม่ทับซ้อนกับกองทุนเดิมที่มีอยู่” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
อนึ่ง จากรายงานข่าวระบุสาระสำคัญของกฎหมาย ดังนี้
-
1. สถานะและวัตถุประสงค์ของกองทุน 1) ให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคล (2) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิที่จะรับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษา วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
2. เงินและทรัพย์สินของกองทุน 1) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาจากเงินงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เฉพาะในส่วนสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน 2) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท 3) เงินรายปีที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่ ครม. กำหนด 4) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ 5) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี ตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้รัฐบาลจัดสรรให้เพียงพอตามแผนการใช้เงิน
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเช่นเดียวกับการบริจาคเพื่อการศึกษาตามประมวลรัษฎากร
4. ขอบเขตการใช้จ่ายของกองทุน ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส โดยอาจดำเนินการโดยวิธีการให้เปล่า ให้ยืม หรือให้กู้ยืมก็ได้
5. คณะกรรมการบริหารกองทุน และสำนักงานกองทุน ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานของกองทุน โดยมีสำนักงานกองทุนทำหน้าที่ในการดำเนินงานของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
6. การกำกับและดูแล นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับและดูแลการดำเนินกิจการของกองทุน ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ นโยบายรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรี
อ่าน มติครม.วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ที่นี่