ThaiPublica > คอลัมน์ > เงินเเละความสุข: ตอนที่ 1

เงินเเละความสุข: ตอนที่ 1

27 กันยายน 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เงินสามารถใช้ซื้อความสุขได้จริงๆ หรือ ข้อสันนิษฐานสำคัญข้อหนึ่งในเศรษฐศาสตร์ก็คือ เราสามารถใช้เงินเเลกซื้อความสุขได้โดยตรง โดยผ่านการบริโภคต่างๆ นานาที่สามารถใช้เงินซื้อได้ เเละยิ่งการที่เรามีเงินมากขึ้นเท่าไหร่ ความสุขของเราก็จะเพิ่มขึ้นมากตามไปเท่านั้น พูดในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็คือเงินไม่มี diminishing return เพราะถ้าเราเบื่อกับการบริโภค A การที่เรามีเงินสามารถทำให้เราเปลี่ยนไปบริโภค B ได้ง่ายๆ

เศรษฐศาสตร์ความสุข

เเต่หลักฐานทางด้านสถิติเเรกๆ ที่ผมค้นพบหลังจากที่เริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขของคนได้ไม่นานนั้นก็คือ เงินเเละความสุขที่วัดได้จากความพอใจกับชีวิตของคน (life satisfaction) มีความสัมพันธ์ที่เล็กจนเล็กมาก เมื่อเทียบกันกับความสัมพันธ์ของปัจจัยต้วอื่นๆ กับความสุข อย่างเช่นการเเต่งงาน การที่เรามีงานทำ เเละช่วงอายุของคนเราเป็นต้น

ยกตัวอย่างเพื่อเป็นการเปรียบเทียบนะครับ โดยเฉลี่ยเเล้วในประเทศอังกฤษ ถ้าคุณต้องการที่จะให้เงินกับคนที่ไม่ได้เเต่งงาน เพื่อที่จะให้เขามีความสุขเท่าๆ กันกับความสุขของคนที่เพิ่งเเต่งงานใหม่ๆ นั้น คุณต้องให้เขาถึง £50,000 (ถ้าเป็นเงินไทยก็ประมาณเกือบๆ 3 ล้านบาท) ด้วยกัน

เเละถ้าคุณต้องการที่จะใช้เงินในการชดใช้ความสุขของคนคนหนึ่งที่ต้องลดไปเพราะการตกงาน คุณต้องให้เขาถึง £143,000 (ถ้าเป็นเงินไทยก็ประมาณเกือบๆ 8 ล้านบาท) เพื่อที่จะให้เขามีความสุขเท่าๆ กันกับคนที่มีงานทำ

พูดง่ายๆ ก็คือ อัตราเเลกเปลี่ยนของเงินกับความสุขนั้นมันน้อยมากจนน่าตกใจ

Would you be happy if you were richer?

สาเหตุสำคัญข้อหนี่งที่อธิบายว่าทำไมความสัมพันธ์ระหว่างเงินเเละความสุขจึงเล็กมากกว่าที่เราคิดเยอะก็คือ คนเราทั่วไปมักให้ความสำคัญกับการมีเงินมากจนเกินไป เวลาที่คนเราส่วนใหญ่คิดถึงการมีเงินนั้น คนเรามักจะคิดถึงความสุขที่เราจะได้มาจากใช้เงินในการไปเที่ยวบ่อยๆ การมีรถสวยๆ ขับ การมีบ้านหลังใหญ่ๆ เป็นของตัวเอง เเละการใช้เวลาเกือบทั้งหมดไม่ทำงานที่เราไม่ชอบเป็นต้น ซึ่งความคิดพวกนี้ทำให้คนเราส่วนใหญ่คิดว่า “ถ้าเรารวย เราคงจะมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่เยอะนะ”

เเต่ในความเป็นจริงเเล้ว การที่คนเราส่วนใหญ่จะสามารถหาเงินเพิ่มให้กับต้วเองได้นั้น เราจำเป็นทำงานหนักขึ้น ต้องเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานมากขึ้น เเละอาจจำเป็นต้องไปเที่ยวน้อยลงเพื่อการเก็บออมเงินให้มีมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต่างก็เป็นกิจกรรมที่ล้วนเเต่จะเพิ่มความเครียดให้กับเราเกือบทั้งนั้น ซึ่งยิ่งเราเครียดมากขึ้นเท่าไหร่ ความสุขของเราก็จะลดลงไปเท่านั้น

ยกตัวอย่างงานวิจัยของเเดเนียล คาห์นีเเมน (Daniel Kahneman) (อีกเเล้ว!) ที่ตีพิมพ์ใน Science เขาเเละนักวิจัยร่วมงานคนอื่นพบว่า คนที่มีเงินเยอะ เเทนที่จะใช้เวลาในการพักผ่อน (passive leisure) อย่างเช่น การดูทีวีอยู่ที่บ้าน หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เขามีความสุขเพิ่มมากขึ้น พวกเขากับต้องใช้เวลาในชีวิตประจำวันในการทำงานเเละเดินทางไปกลับจากที่ทำงานมากกว่าคนที่มีเงินน้อยกว่าเยอะมาก

รูปที่ 1: ความสัมพันธ์ระหว่างเงิน (วัดโดย household income) เเละการใช้เวลากับกิจกรรมต่างๆของผู้ชายอเมริกัน
รูปที่ 1: ความสัมพันธ์ระหว่างเงิน (วัดโดย household income) เเละการใช้เวลากับกิจกรรมต่างๆของผู้ชายอเมริกัน
รูปที่ 2: ความสัมพันธ์ระหว่างเงิน (วัดโดย household income) เเละการใช้เวลากับกิจกรรมต่างๆของผู้หญิงอเมริกัน  ที่มา : Kahneman et al. (2006).
รูปที่ 2: ความสัมพันธ์ระหว่างเงิน (วัดโดย household income) เเละการใช้เวลากับกิจกรรมต่างๆของผู้หญิงอเมริกัน
ที่มา : Kahneman et al. (2006).

บทความชิ้นนี้ไม่ได้อยากจะสื่อว่ายิ่งจนยิ่งมีความสุขนะครับ เเต่เเค่อยากจะสื่อว่าการรวยขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่าๆกันกับที่เราคิดเสมอไป ไว้ครั้งหน้าผมจะกลับมาเขียนว่าเราควรจะต้องใช้เงินของเรายังไงเพื่อที่จะซื้อความสุขให้กับตัวเรามากกว่าที่เป็นอยู่นะครับ

อ่านเพิ่มเติม
Kahneman, D., Krueger, A. B., Schkade, D., Schwarz, N., & Stone, A. A. (2006). Would you be happier if you were richer? A focusing illusion. science, 312(5782), 1908-1910.
Powdthavee, N. (2008). Putting a price tag on friends, relatives, and neighbours: Using surveys of life satisfaction to value social relationships. The Journal of Socio-Economics, 37(4), 1459-1480.