ThaiPublica > คนในข่าว > “แจ็ค หม่า” (ตอน 1) : เศรษฐีใจบุญ(อีกคน)ของโลก สร้างสังคมด้วยการให้ มุ่ง 3 ด้าน “สิ่งแวดล้อม – สุขภาพ – การศึกษา”

“แจ็ค หม่า” (ตอน 1) : เศรษฐีใจบุญ(อีกคน)ของโลก สร้างสังคมด้วยการให้ มุ่ง 3 ด้าน “สิ่งแวดล้อม – สุขภาพ – การศึกษา”

24 เมษายน 2018


นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา

แจ็ค หม่า (Jack Ma) ทุกวันนี้มีชื่อเสียงเป็นรู้จักคนทั่วโลก คนไทยเองก็รู้จักมากขึ้น หลังจากที่แจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership จำนวน 4 ฉบับกับรัฐบาลไทยเพื่อลงทุนในดิจิทัลฮับ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้คนส่วนใหญ่มองแจ็ค หม่า เป็นไอดอลที่ควรเอาเป็นแบบอย่างเพราะสร้างเนื้อสร้างตัวจากครูสอนภาษาอังกฤษ มาเป็นเจ้าพ่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลกอย่าง อาลีบาบากรุ๊ป (Alibaba Group)

จากการจัดอันดับเศรษฐีโลกของ Forbes ครั้งล่าสุด แจ็ค หม่า ติดอันดับที่ 20 โดยมีความมั่งคั่ง 39 พันล้านเหรียญสหรัฐ และติดอันดับ 3 ของมหาเศรษฐีเอเชีย อันเป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาหุ้นอาลีบาบาในปี 2017 ถึง 76% ส่วนผลประกอบการของ Alibaba ในรอบ 12 เดือนสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2017 เพิ่มขึ้น 56% เป็น 23 พันล้านเหรียญหรัฐ

นิตยสารฟอร์จูนยังจัดให้แจ็ค หม่า ติดอันดับของ 2 ของ 50 ผู้นำโลก (50 Global leader) ในปี 2017 ซึ่งไม่เพียงเป็นหนึ่งในสองของชาวจีนที่ติดอันดับผู้นำครั้งนี้ แต่นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการจีนติดอันดับสูงสุดในรอบ 4 ปี>

แจ็ค หม่า นำอาลีบาบาซึ่งมีฐานธุรกิจที่เมืองหางโจวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อปี 2014 ซึ่งนับการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่เป็นดีลขนาดใหญ่ดีลหนึ่งของโลก เพราะระดมทุนได้ถึง 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นอกเหนือจากการถือหุ้นในอาลีบาบาที่ได้ร่วมก่อตั้งแล้ว แจ็ค หม่า ยังลงทุนในธุรกิจบันเทิงของจีนด้วย คือ Huayi Brothers กับ Beijing Enlight Media

แจ็ค หม่า หรือ หม่า หยุน (Yun Ma) เกิดปี ค.ศ. 1964 ในฝั่งตะวันออกของเมืองหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง ในวัยเด็กมักชอบปั่นจักรยานไปที่โรงแรมในตัวเมืองเพื่อหาโอกาสพูดภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อโตขึ้นได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฝึกหัดครูหางโจว หลังจากที่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ถึง 3 ครั้งกว่าจะผ่านเข้าไปเรียนได้ ระหว่างที่เรียนอยู่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานสโมสรนักศึกษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาปี 1988 ได้เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและการค้าระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยหางโจว เตี้ยนสี แจ็ค หม่า แต่งงานกับ จาง อิง มีบุตรสาว 1 คนและบุตรชาย 1 คน

ด้วยความที่ทำธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ ภาพของแจ็ค หม่า ในสายตาคนส่วนใหญ่คือ ผู้นำด้านเทคโนโลยี แต่ความชอบส่วนตัวของแจ็ค หม่า ที่ไม่ค่อยรู้กันมากนัก คือ มีความชื่นชอบในด้านสื่อ การทำข่าว ด้านภาพยนตร์ จึงเป็นที่มาของการเข้าไปลงทุนในสื่อยักษ์ใหญ่ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ และบริษัทในเครือรวมมูลค่า 266 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนธันวาคม 2015

ส่วนด้านภาพยนตร์นั้นได้สร้างและร่วมแสดงหนังบู๊แนวกังฟู ที่ชื่อว่า Gong Shou Dao และยังชอบเขียนนิยายกำลังภายในอีกด้วย

แจ๊ค หม่า โชว์กังฟู ที่มาภาพ:http://www.alizila.com/jack-ma-star-studded-film-promote-tai-chi-chinese-culture/
ภาพยนต์ที่แจ๊ค หม่าสร้างและแสดง ที่มาภาพ:http://www.alizila.com/jack-ma-star-studded-film-promote-tai-chi-chinese-culture/

ความเป็นมาของ Alibaba

เว็บไซต์ได้ให้ข้อมูลความเป็นมาของอาลีบาบาว่า เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี ค.ศ. 1999 ด้วยการร่วมก่อตั้งของสมาชิก 18 คน นำโดยแจ็ค หม่า หลังจากที่มาร่วมกันคิดที่อพาร์ตเมนต์ของแจ็ค หม่า ในหางโจว โดยทำเว็บไซต์ Alibaba.com ในภาษาอังกฤษเป็นเว็บไซต์แรกเพื่อเป็นตลาดขายส่งออนไลน์ทั่วโลก ต่อมาได้เปิดอีกเว็บไซต์หนึ่งซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อ 1688.com เป็นตลาดขายส่งออนไลน์ในประเทศ

พัฒนาการที่สำคัญๆ ของ อาลีบาบากรุ๊ปมีดังต่อไปนี้ คือ ต้นปี ค.ศ. 2000 มีกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย SoftBank ร่วมลงทุนมูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปลายปี ค.ศ. 2001 สมาชิกของ Alibaba.com ทะลุ 1 ล้านรายเป็นครั้งแรก

ปี ค.ศ. 2002 กระแสเงินสดเป็นบวกเป็นครั้งแรก ต่อมาปี 2003 เปิดเว็บไซต์ Taobao เพื่อเป็นตลาดชอปปิงออนไลน์ แต่ยังคงใช้อพาร์ตเมนต์ของแจ็ค หม่า เป็นที่หารือหลัก ขณะที่ในปี 2004 นอกจากจะได้รับเงินจากนักลงทุนแบบ Private Equity จำนวน 82 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ยังได้เปิดตัว Alipay แพลตฟอร์มบริการรับชำระเงินออนไลน์ในรูปแบบมีคนกลางค้ำประกัน ปี 2005 ได้ประกาศความร่วมมือเชิงพันธมิตรกับ Yahoo

ปี 2007 Alibaba.com เสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนซื้อขายในฮ่องกง ปี 2008 ก่อตั้งสถาบันวิจัย Alibaba Group R&D Institute ปี 2009 เข้าซื้อ HiChina บริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต ต่อมาปี 2010 เปิดตัว AliExpress เป็นมาร์เก็ตเพลซเพื่อให้ผู้ส่งออกจีนมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ปี 2012 ได้ซื้อหุ้นคืนจาก Yahoo และในเดือนกันยายนปี 2014 เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก

ปี 2016 เป็นปีที่มีการพัฒนาสำคัญๆ ค่อนข้างมาก เริ่มตั้งแต่ต้นปี อาลีบาบากรุ๊ปเปิดเทศกาลชอปปิงรับตรุษจีนเป็นครั้งแรก และปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ยอดการซื้อขายสินค้ารวม gross merchandise volume (GMV) ในตลาดออนไลน์รายย่อย สูงเกิน 3 ล้านล้านหยวนในรอบปี สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2016 ส่งผลให้ขึ้นแท่นเป็นตลาดรายย่อยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถัดมาเพียงเดือนเดียว อาลีบาบากรุ๊ป ได้เข้าซื้อหุ้น Lazada แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปิดปีด้วยการร่วมมือกับ SAIC Motor Corp ผลิตรถยนต์อินเทอร์เน็ต

ทีมงานอาลีบาบาทำงานในอพาร์ตเม้นท์ของแจ๊ค หม่าที่มาภาพ:http://www.alibabagroup.com

ในปี 2017 ได้ขยายความร่วมเป็นพันธมิตรกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ไปจนถึงปี 2028 ต่อมาในเดือนมีนาคมประกาศจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้านอกจีนเป็นครั้งแรกที่มาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซีย (ผ่านโครงการ ชื่อ Electronic World Trade Platform หรือ eWTP ที่อาลีบาบากรุ๊ปริเริ่มในเดือนกันยายน ปี 2016) ในช่วงกลางปี ได้เปิดตัว Tmall World แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่เพื่อเจาะกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลราว 100 ล้านคนทั่วโลกและเป็นช่วงเดียวกันทีได้เพิ่มการถือหุ้นใน Lazada จาก 51% เป็น 83% และเปิดธุรกิจน้องใหม่ที่ได้ฟูมฟักมาร่วม 2 ปี คือ เหอหม่า เฟรช (Hema Fresh) ซูเปอร์มาร์เก็ตที่จะกลายเป็นต้นแบบค้าปลีกรูปแบบใหม่ ให้บริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ธุรกิจของอาลีบาบากรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง หลักๆ ประกอบด้วย เถาเป่า (Taobao.com) เว็บขายปลีกออนไลน์ที่ใหญ่สุดในจีน, Tmall (www.tmall.com) แพลตฟอร์มที่เปิดปี 2008 สำหรับสินค้าแบรนด์เนมและร้านค้าปลีก, จูหวาส้วน (www.juhuasuan.com) ตลาดสินค้าออนไลน์แบบซื้อรวมหรือซื้อดีล, ไช่เหนี่ยว (Cainiao) บริษัทขนส่งสินค้าพัสดุในเครือข่ายอาลีบาบา, 1688.com เว็บอีคอมเมิร์ซแบบค้าส่งในประเทศ, Alibaba.com ตลาดออนไลน์ทั่วโลก, AliExpress มาร์เก็ตเพลซรายย่อยระดับโลก, alimama ดูแลด้านโฆษณา, Alibaba cloud บริการคลาวด์คอมพิวติง และ Ant Financial ช่องทางการชำระเงินออนไลน์ เป็นระบบชำระเงินผ่านบุคคลที่ 3 ที่ได้รับความนิยมมาก รวมไปถึง Alitrip (www.alitrip.com) แพลตฟอร์มจองการท่องเที่ยวออนไลน์, อาลีบาบากรุ๊ปยังได้ซื้อหุ้นบริษัทใหญ่และลงทุนบริษัทสตาร์ทอัพหลายราย โดยซื้อหุ้นเวยป๋อ หรือทวิตเตอร์ของจีน ซื้อหุ้นบริษัทวิดีโอออนไลน์ Youku Tudou, ซื้อ Alibaba Digital Media & Entertainment Group ส่วนกลุ่มสตาร์ทอัปนั้นลงทุนในบริษัททำแผนที่ Autonavi

นอกจากนี้ยังมีสำนักข่าว Alizila ที่มุ่งเป็นศูนย์รวมและเผยแพร่ข่าวของอาลีบาบา เพราะมุ่งรายงานข่าวธุรกิจของอาลีบาบาและธุรกิจในเครือ ทั้งการเจาะลึกเบื้องหลังบุคคล ธุรกิจ และนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนอาลีบาบา เพื่อที่จะให้ผ่านเข้าใจบทบาทของอาลีบาบาในจีนและที่มีต่อโลก โดยที่จะรายงานข่าวเศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และข้อมูลเชิงลึกของจีน

เศรษฐีใจบุญรายใหญ่ของจีน

แจ็ค หม่า ไม่เพียงสร้างธุรกิจให้ใหญ่โตเท่านั้น แต่สร้างสังคมด้วยการให้ ได้รับการจัดอันดับ Hurun Philanthropy ของ Hurun ว่า เป็นคนใจบุญที่สุดของจีน ประจำปี 2015 หลังจากได้บริจาคหุ้น มูลค่ารวม 2.4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อร่วมกับ โจ ไช่ ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบาอีกราย จัดตั้งทรัสต์เพื่อการกุศล

Hurun เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2014 จนถึงมีนาคม 2015 แจ็ค หม่า และครอบครัวได้บริจาคเงินไปแล้วรวม 14.65 พันล้านหยวนหรือราว 2.36 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้รั้งอันดับที่สองจาก 100 เศรษฐีใจบุญ ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับปีก่อนหน้า และ Heroes of Philanthropist ประจำปี 2017 แจ็ค หม่า จึงติดอันดับเศรษฐีที่บริจาคเงินเกินมากกว่า 10 พันล้านหยวนขึ้นไป

แจ็ค หม่า เป็นเศรษฐีใจบุญที่บริจาคเงินและทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่ตลอดเวลา โดยในช่วงแรกนั้นสนับสนุนการศึกษา การบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดจากภัยธรรมชาติ การขจัดความยากจน สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการพัฒนาชุมชน โดยแต่ละปีจัดสรรเงิน 0.3% ของรายได้ทั้งปีของอาลีบาบาให้กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งในจีนและทั่วโลก โดยเฉพาะในโครงการด้านการปรับปรุงคุณภาพน้ำและอากาศ ซึ่งเริ่มบริจาคเงินด้านนี้ตั้งแต่ปี 2010 Heroes of Philanthropist

ในปี 2008 แจ็ค หม่า ได้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนของจีน และในปี 2010 แจ็ค หม่า ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน Heroes of Philanthropist จากนิตยสารฟอร์บส เอเชีย เพราะได้บริจาคเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติและความยากจน ต่อมาในปี 2012 ได้บริจาคเงิน 8 ล้านดอลลาร์เพื่อการกุศล

แจ็ค หม่า เป็นผู้นำด้านการกุศลในจีน โดยติดอันดับ Heroes of Philanthropist ถึง 2 ครั้ง คือในปี 2012 และ 2015 และหากย้อนไปในปี 2009 เขายังนำอาลีบาบาบริจาคเงิน 5 ล้านบาท เพื่อนำมูลนิธิกรามีนเข้ามาสู่จีน รวมทั้งให้สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ในมองโกเลียและมณฑลเสฉวน

แจ็ค หม่า ยังเป็นกรรมการให้กับ The Nature Conservancy กับมูลนิธิ One ของ เจ็ท ลี

ในปี 2014 แจ็ค หม่า ร่วมกับ โจ ไช่ (Joe Tsai) ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบาอีกคนหนึ่งที่รั้งตำแหน่งประธานบริหารในปัจจุบัน ได้จัดตั้งมูลนิธิเพื่อการกุศล โดยบริจาคหุ้นจากโครงการ Stock Options ของบริษัทเข้ามูลนิธิ ซึ่งรวมๆ แล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 2% ของทุนทั้งหมดของอาลีบาบา หรือมีมูลค่าราว 3.5 พันล้านดอลลาร์ มูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นนี้มีเป้าหมายในกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และส่งเสริมการศึกษาและสุขภาพในจีน ฮ่องกงและต่างประเทศ

ทั้งแจ็ค หม่า และโจ ไช่ ตั้งใจที่จะบริจาคเงินผ่านมูลนิธิและทำงานควบคู่ไปกับมูลนิธิอาลีบาบาที่บริจาคให้กับการสร้างเสริมให้ตระหนักถึงความสำคัญและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีอาสาสมัครซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทร่วมกิจกรรมของมูลนิธิ

ในการประกาศจัดตั้งมูลนิธินี้ แจ็ค หม่า กล่าวไว้ว่า “อาลีบาบาก่อตั้งเมื่อ 15 ปีก่อน โดยมีพันธกิจคือ ทำให้การทำธุรกิจง่ายในทุกที่ และหลักการและคุณค่าที่เน้นย้ำความรับผิดชอบของเราต่อสังคม การคืนให้กับสังคมฝังรากลึก ในวัฒนธรรมอาลีบาบา และผมภาคภูมิใจอย่างมากกับความมุ่งมั่นของพนักงานของเราที่แสดงให้เห็นถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”

แจ็ค หม่า กล่าวต่อว่า “เราต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ที่ท้องฟ้าเป็นสีฟ้า มีน้ำที่สะอาด และการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ผมให้ความสำคัญอย่างสูงต่อ สิ่งแวดล้อม การรักษาสุขภาพ และการศึกษาในจีน แต่ความกังวลและการร้องเรียนไม่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันได้ ผมรักที่จะบริจาคตลอดเวลาและช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เราต้องมีความรับผิดชอบและลงมือทำเพื่อที่แก้ไขสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเพื่อเด็กๆ ของเรา และนี่เป็นเหตุผลที่ผมสนับสนุนการดำเนินการของ The Nature Conservancy (องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากสหรัฐอเมริกา) และตกลงที่รับเป็นประธานในฝั่งจีนเมื่อปีก่อน

แจ็ค หม่า เข้าร่วมโครงการในจีนของ The Nature Conservancyในปี 2009 ด้วยการรับหน้าที่ทรัสตี แต่มาในปี 2010 ได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการระดับโลก และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2013 ได้เป็นประธานกรรมการของโครงการในจีน

ส่วนโจ ไช่ กล่าวว่า “ผมหวังว่า ด้วยการดำเนินการแบบนี้และการดึงความสนใจในประเด็นเหล่านี้ เราจะเพิ่มความตระหนักให้กับผู้คนได้มากขึ้น และเราจะสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้กับคู่แข่ง พันธมิตรและผู้ประกอบการ มาร่วมกับเราในการทำงานการกุศล”

แจ๊ค หม่า พบปะและพูดคุยกับ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ที่มาภาพ:http://www.scmp.com/news/china/article/1535790/alibabas-jack-ma-and-bill-gates-discuss-charity-beijing-dinner

เดือนมิถุนายน 2014 แจ็ค หม่า ได้พบปะและพูดคุยกับ บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ที่มีชื่อเสียงด้านการกุศลอันดับหนึ่งของโลก ในงานเลี้ยงส่วนตัวที่เขาจัดขึ้น โดยมี โจ ไช่ พร้อมเศรษฐีใจบุญและนักธุรกิจรายอื่นของจีนที่ได้รับเชิญด้วย ซึ่งหลังจากงานเลี้ยงจบลง บิลล์ เกตส์ ได้ทวีตข้อความว่า “ได้พบกับแจ็ค หม่า หยุน แห่งอาลีบาบา และได้คุยกันเรื่องการกุศล เป็นการสนทนาที่ประทับใจ”

แต่ต่อมาในปี 2017 แม้จะไม่เคยมีข่าวว่าว่าแจ็ค หม่า มีมูลนิธิในนามครอบครัว แต่ได้ประกาศบริจาคเงินผ่านมูลนิธิแจ็ค หม่า จำนวน 20 ล้านดอลลาร์ให้มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ออสเตรเลีย เพื่อจัดตั้งทุนการศึกษาหม่า-มอร์เลย์(Ma-Morley) เพื่อยกย่องครอบครัวมอร์เลย์ที่มีอิทธิพลต่อเขาในวัยเด็ก

แจ็ค หม่า ในวัย 12 ปี ได้พบกับเคน มอร์เลย์ และครอบครัวที่ได้เดินทางมาจีนร่วมกับ Australia-China Friendship Society เมื่อเขาเข้าไปพูดกับเคนและขอให้เคนช่วยสอนภาษาอังกฤษ ส่งผลให้ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิท และยังเป็นสาเหตุที่ดึงให้หม่าเดินทางไปออสเตรเลียตลอด จนกระทั่งเคนเสียชีวิตในปี2004

แจ๊ค หม่ากล่าวถึงการให้ทุนแห่ University of New Castle ที่มาภาพ:https://www.theherald.com.au/story/4444710/an-extraordinary-gift/

ทุนการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้การศึกษาและบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ ในปีแรกได้ให้ทุนจำนวน 30 ทุน และตั้งเป้าหมายที่จะสนับสนุนนักศึกษา 90 คนต่อปี

เดือนมิถุนายน 2017 มูลนิธิแจ็ค หม่า ร่วมกับอาลีบาบา พันธมิตรทางธุรกิจของหม่าจำนวนหนึ่ง และ Private Equity ที่หม่าตั้งขึ้น ได้บริจาคเงินจำนวน 560 ล้านหยวนหรือประมาณ 82.4 ล้านดอลลาร์ ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง แห่งเมืองหังโจว บ้านเกิดของหม่าและที่ตั้งสำนักงานใหญ่อาลีบาบา

บริจาคเงินจำนวน 560 ล้านหยวน ให้โรงพยาบาลที่มาภาพ:https://news.cgtn.com/news/3d59544f3049444e/share_p.html

ก่อนหน้านี้ในจีนการบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในหนึ่งปีก่อนหน้า ทางการจีนได้ออกกฎหมายการกุศลมา จึงทำให้การบริจาคเงินแก่โรงพยาบาลไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

ล่าสุดเดือนธันวาคม 2017 มูลนิธิแจ็ค หม่า ประกาศแผนงานใหม่โดยใช้เงินร่วม 300 ล้านหยวนหรือ 45 ล้านดอลลาร์ เพื่อชักชวนให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทั่วไปให้หันกลับไปสอนที่โรงเรียนในชนบทในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเงิน 10 ล้านหยวนแรกจะนำไปใช้ในการคัดเลือกเด็กที่จบใหม่จากโรงเรียนในเมืองหูหนาน มณฑลเสฉวน ฉงชิ่ง และจี๋หลิน เด็กแต่ละคนจะได้รับเงิน 100,000 หยวนเพื่อใช้จ่ายเป็นเวลา 5 ปี สำหรับการสอนในชนบท

เรียบเรียงจาก
Alibabagroup,Fortune,philanthropynewsdigest.org,china.org.cn,caixinglobal,Forbes,WealthX,scmp,prnewswire,Hurun,alizila,UNCTAD,asianaward