ThaiPublica > คอลัมน์ > แจ็คหม่าบุกมาเลเซีย: เกมเดิมพันของใคร?

แจ็คหม่าบุกมาเลเซีย: เกมเดิมพันของใคร?

28 มีนาคม 2017


อาร์ม ตั้งนิรันดร
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แจ็คหม่า เจ้าพ่ออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ E-Commerce ของจีน ที่มาภาพ : http://cdn4.i-scmp.com/sites/default/files/styles/980×551/public/images/methode/2017/03/22/7cabaaa0-0f03-11e7-9af0-a8525e4e6af4_1280x720.JPG?itok=cVzykDCU

หลายคนสงสัย (และน่าสงสัยจริงๆ) ว่า เหตุใดแจ็คหม่าจึงข้าม “ไทยแลนด์ 4.0” ไปลงทุนที่มาเลเซีย?

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แจ็คหม่า เจ้าพ่ออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ E-Commerce ของจีน ประกาศลงทุนใหญ่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าประจำภูมิภาคอาเซียนที่มาเลเซีย และร่วมผลักดันมาเลเซียให้เป็น “ศูนย์กลาง E-Commerce” ประจำภูมิภาค!

เพื่อนผมไม่น้อยรู้สึกแปลกใจ และเสียดายแทนรัฐบาลไทย แต่ผมกลับคิดว่า รัฐบาลเราอาจไม่ได้เสียใจอะไรมากก็ได้นะครับ เนื่องจากตัวเราเองยังไม่พร้อม และยังไม่กล้าเดิมพันเหมือนกับรัฐบาลมาเลเซีย พูดอีกอย่างก็คือ เรายังไม่แน่ใจว่าถ้าแจ็คหม่าบุกเรา เราจะได้ประโยชน์จริง หรือแจ็คหม่าและสินค้าจีนจะกินรวบประเทศไทย?

ในบทความนี้ ผมเลยอยากชวนคิดครับว่า รัฐบาลมาเลเซียทำอะไรไปบ้าง (ขณะเดียวกันยอมเสียอะไรบ้าง) เพื่อดึงดูดแจ็คหม่า และที่ทำเช่นนี้ มาเลเซียกำลังเดิมพันอะไร? และแจ็คหม่ากำลังเดิมพันอะไร? (ที่พี่ไทยไม่กล้าเดิมพัน)

นโยบายเขตการค้าเสรีดิจิตัล (DFTZ) ของมาเลเซีย

สิ่งสำคัญที่มาเลเซียยอมตามข้อเสนอของแจ็คหม่า ก็คือ การจัดตั้ง “เขตการค้าเสรีดิจิตัล” (Digital Free Trade Zone: DFTZ) อันนี้เป็นไอเดียแจ็คหม่าล้วนๆ เลยครับ

แจ็คหม่าดูจะประทับใจมาเลเซียมาก เพราะข้อเสนอนี้ไม่ใช่ข้อเสนอที่ยอมกันง่ายๆ แจ็คหม่าให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเขาพยายามนำเสนอไอเดียนี้กับรัฐบาลยุโรปและรัฐบาลในประเทศเอเชียหลายประเทศ (ไม่ได้บอกว่ามีรัฐบาลไทยด้วยหรือเปล่า) แต่ทุกประเทศขอเวลาศึกษาก่อน, มีนายกฯ นาจิบของมาเลเซียนี่แหละ ที่พบกับเขาเมื่อเดือนพฤศจิกายน คุยกันไม่ถึง 10 นาที ก็ตกลงรับข้อเสนอนี้ และใช้เวลาต่อมาอีกเพียง 4 เดือน ก่อนประกาศจัดตั้งเขต DFTZ อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เขต DFTZ นับเป็นเขตการค้าเสรีดิจิตัลแห่งแรกของโลก สินค้า E-Commerce (ไม่จำกัดว่าเป็นสินค้าจากชาติไหน) ที่ส่งผ่านเข้ามาในเขตนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (ภาษีศุลกากร ภาษีอื่นๆ และค่าธรรมเนียมต่างๆ) รวมทั้งลดขั้นตอนการขออนุญาตที่ยุ่งยากลงด้วย โครงการที่เสร็จสมบูรณ์ของเขต DFTZ จะเปิดใช้งานในปี ค.ศ. 2019 โดยแบ่งเป็นสามส่วน ได้แก่

  • E-Fulfillment Hub คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า E-Commerce ณ สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ลงทุนโดยเครืออาลีบาบา, Cainiao (พันธมิตรด้านโลจิสติกส์ของอาลีบาบา), Lazada (E-Commerce ใหญ่ในเอเชีย ซึ่งอาลีบาบาซื้อไปแล้ว), และ POS Malaysia (ไปรษณีย์มาเลเซีย) โดยสินค้าจะผ่านกระบวนการจัดการด้านศุลกากรที่สะดวกและรวดเร็ว
  • Satellite Service Hub ตั้งอยู่ที่ “Internet City” ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดย Catcha Group ของมาเลเซียจะเป็นผู้ลงทุนด้วยวงเงิน 1.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ประกอบด้วยอาคารสำนักงานสำหรับ start-up, Co-Working Space, และโชว์รูม O2O (Offline to Online) เป้าหมายเพื่อเป็นที่รวมตัวของบริษัท Tech ในภูมิภาคมากกว่า 1,000 แห่ง และคนทำงานในวงการ Tech มากกว่า 25,000 คน
  • eService Platform ในโลกออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ค้า E-Commerce ที่ต้องการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าสามารถดำเนินขั้นตอนขออนุญาตต่อหน่วยงานรัฐต่างๆ ผ่านขั้นตอนออนไลน์ได้ในที่เดียว รวมทั้งติดต่อบริษัทโลจิสติกส์ต่างๆ เพื่อขนส่งสินค้า เป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทุ่มเทกำลังให้กับการพัฒนาสินค้าและทำการตลาดได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมามัวเสียเวลาหรือกำลังคนกับการเดินเรื่องติดต่อหน่วยราชการหรือเจรจากับบริษัทโลจิสติกส์เช่นในอดีต

แนวคิดของโครงการเขต DFTZ นี้ เลียนแบบจากระบบของเขตทดลอง E-Commerce ข้ามชาติ (Cross-Border E-Commerce Pilot Zone) เมืองหางโจว ประเทศจีน (ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ Alibaba) โดยเขต DFDZ ของมาเลเซีย ตั้งเป้าจะเชื่อมต่อเป็น platform เดียวกับของเมืองจีน

ผลคือ จะทำให้มาเลเซียเป็น “เมืองท่า” E-Commerce ของอาเซียน สินค้าจีน สินค้าฝรั่ง ที่จะบุกตลาด E-Commerce ของอาเซียนผ่าน platform ของอาลีบาบา จะผ่านเข้ามาที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าในมาเลเซียก่อน แล้วจึงส่งต่อไปยังตลาดผู้บริโภคสำคัญในอาเซียน เช่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ที่มาภาพ : https://cdn01.vulcanpost.com/wp-uploads/2017/03/dftz-feature-image-816×427.png

ใครได้ ใครเสีย จากเขต DFTZ?

แม้ว่าการจัดตั้งเขต DFTZ จะดูดีมากๆ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็น “การค้าเสรี” ก็ย่อมจะต้องมีทั้งคนได้และคนเสียประโยชน์ครับ

รัฐบาลมาเลเซียแถลงว่า การจัดตั้งเขต DFTZ จะสร้างตำแหน่งงานใหม่ 60,000 ตำแหน่ง จะเพิ่มมูลค่าการค้า E-Commerce ภายในประเทศอีกเท่าตัว, เพิ่มอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้า SMEs ของมาเลเซียอีกหนึ่งเท่าตัว, สินค้าที่ค้าขายผ่านเขต DFDZ จะมีมูลค่ารวม 65,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และภายในปี ค.ศ. 2020 SMEs ของมาเลเซียมากกว่าครึ่งจะค้าขายผ่าน E-commerce

รายชื่อผู้ชนะจากดีลนี้ ได้แก่ ผู้บริโภคของมาเลเซีย ที่จะได้บริโภคสินค้าราคาถูกจากเมืองจีน (สินค้านำเข้าได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี)

คนรุ่นใหม่ในมาเลเซีย ที่จะมีตำแหน่งงานใหม่ 60,000 ตำแหน่ง ในด้าน tech และ E-Commerce

SMEs ที่มีอยู่เดิม และ SMEs ใหม่ๆ ที่น่าจะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จะมีโอกาสเข้าถึงตลาดผู้บริโภคมหาศาลในจีนและทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบา

บริษัทโลจิสติกส์ของมาเลเซียได้ลูกค้า (ถ้าอาลีบาบาทำสัญญาเช่ากับสายการบินของมาเลเซีย และไม่ซื้อเครื่องบินขนส่งเอง)
รัฐบาลมาเลเซียเก็บภาษีธุรกิจจากบริษัทในเครืออาลีบาบาที่ตั้งในเขต DFTZ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอาลีบาบาจะจดทะเบียนตั้งบริษัทเหล่านี้ในมาเลเซียหรือไม่ ซึ่งถ้าอาลีบาบาจดทะเบียนที่ตั้งบริษัทในต่างประเทศ ก็จะเก็บภาษีธุรกิจไม่ได้ แถมสินค้าที่ค้าขายผ่านเขต DFDZ ซึ่งมีมูลค่ารวม 65,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็จะไม่นับรวมในตัวเลข GDP ของมาเลเซียอีกด้วย

ส่วนคนที่มีแต่ได้กับได้ ก็คือ อาลีบาบา ซึ่งจะได้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้ขายของในมาเลเซียได้ในราคาถูก และใช้มาเลเซียเป็นฐานส่งสินค้าไปยังตลาดอื่นในภูมิภาคอาเซียน

ตรงกันข้าม ผู้แพ้ที่ชัดเจน ก็คือ กิจการค้าปลีกในมาเลเซีย ปัจจุบันในมาเลเซียมีร้านค้าปลีก 200,000 แห่ง มีการจ้างงาน 1.2 ล้านคน การขยายตัวของ E-Commerce อาจกระทบกับร้านค้าปลีกเหล่านี้ ซึ่งไม่มีใครรู้แน่นอนว่าจะกระทบเพียงใด ยกเว้นแต่ว่าจะมีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจใช้ E-Commerce ส่งเสริมร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมได้ด้วย

ยังไม่นับผลกระทบต่อภาคโรงงานของมาเลเซีย ที่อาจสู้สินค้าราคาถูกที่ผลิตจากจีนไม่ได้

ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1EzTg0m4uwyaCBsPoioDEiC3Ic60e.jpg

เกมเดิมพันของมาเลเซีย ของไทย และของแจ็คหม่า

เมื่อเราเข้าใจว่าการจัดตั้งเขต DFTZ (ตามใจแจ็คหม่า) ย่อมมีทั้งผู้ได้ และผู้เสียประโยชน์ในมาเลเซีย ชวนให้เราคิดต่อถึง “เกมเดิมพัน” ของแต่ละฝ่ายครับ

ก่อนอื่นเลย ไม่ใช่ว่าแจ็คหม่าไม่เลือกเมืองไทยนะครับ แต่รัฐบาลไทยเองก็ยังไม่กล้าเลือกแจ็คหม่าเต็มตัวเช่นกัน ถ้าจะทำแบบมาเลเซีย รัฐบาลไทยย่อมจะได้รับเสียงต่อต้านจากภาคธุรกิจ (“ภาคประชารัฐ” — ศัพท์ของรัฐบาล) มากพอดู เพราะคนที่จะแพ้ ก็คือ วงการค้าปลีก ค้าส่ง โรงงานไทย (ยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น) ซึ่งคงจะกังวลการเข้ามาของ E-Commerce และแพลตฟอร์มอาลีบาบา รวมทั้งการเข้ามาของสินค้าจีน (ซึ่งเราจะสู้ราคาไม่ได้) ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าสินค้าไทยบางอย่างอาจส่งไปจีนและทำตลาดในจีนได้ง่ายขึ้น แต่ก็จะมีสินค้าไทยอีกหลายอย่างที่ไม่มีทางสู้คู่แข่งที่จีนได้ เพราะเขามีต้นทุนที่ถูกกว่าเรา

ส่วนมาเลเซียนั้น ดูจะใจถึงกว่าเรามาก ผมเองไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจการเมืองมาเลเซียมากพอที่จะอธิบายว่าเสียงต่อต้านในภาคธุรกิจเขามีมากน้อยเพียงใด แต่ผมเดาว่ากระแสกดดันอาจไม่มากเท่าเมืองไทย เพราะธุรกิจเขาอาจอยู่ในระดับอุตสาหกรรมที่สูงกว่า ซึ่งไม่ทับซ้อนหรือไม่ใช่คู่แข่งกับจีนโดยตรง และน่าจะได้ประโยชน์จากตลาดที่ใหญ่ หากสามารถส่งออกไปถึงผู้บริโภคจีน เพราะประชากรภายในเขามีแค่ 30 ล้านคน

ผมเข้าใจว่า มาเลเซียเองมีความกดดันมากพอควรที่จะต้องยกระดับประเทศ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของมาเลเซียปัจจุบันสูงกว่าไทย เขาจึงน่าจะทราบว่า แข่งกับไทยหรือจีนไม่ได้แล้วในเรื่องค่าแรงหรือสินค้าในระดับล่าง ดังนั้น ทางรอด (และทางรุ่งโรจน์) ของเขาน่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เขาจึงให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล (ธุรกิจ Tech และ E-Commerce) ซึ่งจะสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ มหาศาล แม้ว่าผู้เล่นดั้งเดิมอาจเจ็บตัวบ้างก็ตาม แต่สุดท้ายช้าเร็วผู้เล่นเหล่านี้ก็ต้องถีบตัวเองให้สูงขึ้นหรือเปลี่ยนผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจใหม่อยู่ดี

เราอาจเถียงกันให้ตายว่า การตั้งเขต DFTZ เป็นไอเดียที่ดีหรือไม่ แต่จริงๆ แล้ว ตัวเขต DFTZ (และการเปิดประตูต้อนรับแจ็คหม่า) จะเป็นเรื่องดีหรือร้าย สุดท้ายอยู่ที่นโยบายแวดล้อมและการดำเนินการขั้นต่อไปมากกว่าครับ นั่นก็คือ มาเลเซียสามารถตักตวงประโยชน์ได้แค่ไหนจากโอกาสทางธุรกิจมหาศาลที่จะเกิดขึ้น เช่น รัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายช่วยเหลือและส่งเสริม SMEs ให้บุกตลาดจีนอย่างไร มีนโยบายชักจูงให้อาลีบาบาจดทะเบียนบริษัทในมาเลเซียหรือใช้บริการบริษัทโลจิสติกส์ของมาเลเซียอย่างไร มีนโยบายสร้างหรืออบรมแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง tech อย่างไร ฯลฯ (แค่นึกถึงเรื่องเหล่านี้ ก็อาจมีคนไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าถ้าเป็นรัฐบาลไทยจะทำได้ดีนัก)

ส่วนแจ็คหม่าเอง ก็เดิมพันสูงเหมือนกันนะครับ เพราะเขากำลังขายไอเดียตั้งเขต DFTZ ไปทั่วโลก โดยบอกว่าจะเป็นประโยชน์กับ SMEs และประเทศต่างๆ ดังนั้น เขาจึงย้ำเสมอว่า มาเลเซีย (ซึ่งเป็นตัวอย่างแรก) จะต้องประสบความสำเร็จ และอาลีบาบาในมาเลเซียจะใช้คนมาเลเซีย ไม่ใช้คนจีน เขาเองก็น่าจะตระหนักว่า ถ้าไม่ win-win สุดท้ายกระแสต่อต้านก็จะเกิดขึ้น ยิ่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนเชื้อสายจีนและมาเลย์ในมาเลเซียก็น่าจะยังมีอยู่ในระดับหนึ่ง

ผมฟังท่านนายกฯ มาเลเซียและแจ็คหม่า แถลงข่าวร่วมกัน ก็รู้สึกได้ว่า ทั้งสองกำลังเดิมพันว่า E-Commerce และการค้าเสรีในโลกดิจิทัลคืออนาคต (ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้) ดังนั้น มาเลเซียจึงเดินหน้า เพื่อเป็นหัวขบวน (เพราะการสร้าง Digital Ecosystem ที่สมบูรณ์ต้องใช้เวลา) แม้รู้ว่าอาจต้องมีคนในเจ็บตัวในระยะสั้น

ส่วนไทยเราเองกำลังเดิมพันอะไรครับ? เดิมพันว่าเรายังไม่จำเป็นที่ต้องรีบปรับตัวหรอก เพราะอนาคตคงไม่มาถึงในเร็ววันนี้?