ThaiPublica > คอลัมน์ > ฮอโลคอสต์ นาซี และสังคมไทย (1)

ฮอโลคอสต์ นาซี และสังคมไทย (1)

4 กุมภาพันธ์ 2019


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Nazi_Germany#/media/File:Flag_of_Germany_(1935%E2%80%931945).svg

กรณีไอดอลดังใส่เสื้อสัญลักษณ์นาซีจะไม่ใช่ครั้งแรกที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและภาพลักษณ์ของคนไทยและการศึกษาไทย ระหว่างที่สื่อต่างๆ ประณามเรื่องการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะการที่ข่าวดังกล่าวออกมาในช่วงวันรำลึกฮอโลคอสต์สากล ในวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา สังคมหันมาตั้งคำถามว่า

อะไรคือฮอโลคอสต์? เกิดอะไรขึ้น? การศึกษาไทยเป็นต้นเหตุเดียวหรือ? แล้วเราจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อีกอย่างไร?

ผู้เขียนมองว่าความล้มเหลวนี้มีสามปัจจัย เหตุแรกคงหนีไม่พ้นการที่ระบบการศึกษาไทยทั้งไม่ได้สอนเรื่องดังกล่าวหรือสอนน้อยเกินไป และการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ได้มาตรฐาน ปัจจัยที่สอง คือ โดยพื้นฐานเรื่องฮอโลคอสต์นั้นเป็นความทรงจำที่อยู่ไกลตัวคนไทยและเอเชีย

สงครามโลกครั้งที่สองในความทรงจำไทยนั้นอยู่ในจุดยืนที่กำกวม มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี แต่ “คนไทย” ไม่ได้เป็นเหยื่อโดยตรงของสงครามดังกล่าวเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยรอบ

ปัจจัยสุดท้าย คือ ปัญหาเรื่องความทรงจำของฮอโลคอสต์เองที่ตกจุดที่กำลังเสี่ยงในการถูกลืม และสื่อรอบตัวเยาวชนซึ่งมีผลกระทบต่อการนำเสนอบริบทของลัทธิฟาซสิสต์และอัตลักษณ์ของพรรคนาซีในเชิงบันเทิงมากกว่า “บทเรียน” หรือ “ความทรงจำของมวลมนุษยชาติ” ซึ่งเป็นมาตรฐานในสังคมที่ได้รับผลกระทบมากกว่าอย่างสังคมในยุโรป

ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วผู้เขียนได้นั่งข้างชายชราผู้หนึ่งบนรถไฟที่สหรัฐอเมริกา ข้อมือของเขามีรอยสักจางๆ ของตัวเลขอยู่ ชายแก่ผู้นั้นได้หันมายิ้มให้แล้วถามว่า “รู้ไหมว่านี่คืออะไร?” ผู้เขียนรู้สึกเขินทันทีเพราะมันเป็นครั้งแรกที่ได้เผชิญหน้ากับหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ต้องนั่งท่องนั่งเรียน ได้แต่ตอบไปว่ารู้ และส่งคำขอโทษที่เขาต้องผ่านเหตุการณ์แบบนั้นมา ก่อนได้ฟังชายชราผู้นั้นเล่าเรื่องที่คนปัจจุบันสัมผัสได้แค่เพียงผ่านหนังสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องราวที่เหมือนและต่างกันของผู้รอดชีวิตแต่ละคนซึ่งสามารถนำมาสร้างหนังได้หลายพันเรื่อง

ในโรงเรียนที่ผสมหลายเชื้อชาติซึ่งผู้เขียนเติบโตมามีเพื่อนที่มีปู่ย่าตายายเป็นยิวผู้รอดชีวิต และเพื่อนซึ่งปู่เป็นแกนนำของหน่วยปฎิบัติการของกำลังกองกำลังเอสเอสของพรรคนาซี ดังนั้น ทุกครั้งที่เห็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซีถูกนำไปสร้างเป็นลายเสื้อ หรือรูปฮิตเลอร์ถูกวาดขึ้นในเชิงศิลปะ ผู้เขียนมักจะพยายามชี้แจงกับผู้สร้างหรือผู้สวมใส่ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะโดนมองว่า “คิดมากไป” ตามภาษาคนไทยทำอะไรสบายๆ แต่บทความนี้ถือเป็นการระบุว่าทำไมเรื่องฮอโลคอสต์เป็นเรื่องที่ไม่คิดมากไม่ได้ และไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องน่าอับอายของประเทศ แต่ยังเป็นการล้อเลียนและทำให้เหตุการณ์อาชญากรรมต่อมวลมนุษย์เป็นเรื่องเล็กน้อยไป

ฮอโลคอสต์คืออะไร?

ฮอโลคอสต์ โดยรวมแล้วคือการฆ่าล้างชาวยิว (ยอดเสียชีวิตประมาณ 6,000,000 คน) ในยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยการฆาตกรรมนั้นมีการวางแผนและจัดระบบโดยรัฐบาลเยอรมันขณะนั้นซึ่งมีผู้นำคืออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โดยผลกระทบทำให้ประชากรยิวในยุโรปถึงสองในสามถูกฆ่าทิ้ง ทั้งนี้เหยื่อของฮอโลคอสต์ยังรวม:

  • ชาวโรมาหรือที่รู้จักกันในฐานะยิปซี: 90,000-220,000 คน
  • ชาวโปลิช: 1.8-1.9 ล้านคน พรรคนาซีต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โปลิชพอๆ กับยิว
  • ชาวสลาวิกและเซอร์เบีย: 300,000-500,000 คน
  • ประชาชนของสหภาพโซเวียตที่อาศัยอยู่ในยุโรปหรือถูกจับตัวได้: 2,000,000-3,000,000 คน
  • คนที่ต่อต้านพรรคนาซีหรือเยอรมัน: ตัวเลขไม่แน่นอนแต่มีการส่งแกนนำและสมาชิกขั้วการเมืองอื่น เช่น ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ฝ่ายสังคมนิยม ไปค่ายกักกันก่อนที่จะหันนโยบายมาที่ชาติพันธุ์และยิว
  • เพศที่สาม เช่น เกย์และเลสเบียน: ไม่มีตัวเลขที่การโดนฆ่าที่แน่นอน ยอดที่ถูกจับตกอยู่ที่ 50,000 คน และถูกส่งตัวไปค่ายกักกันราวๆ 5,000-15,000 คน นอกนั้นส่วนใหญ่จะโดนบังคับตอนหรือไม่ก็โดนบีบให้ยอมตอนตนเองเพื่อรอดพ้นจากโทษหนัก
  • ผู้นับถือศาสนาคริสต์แบบพยานพระยะโฮวา (Jehovah’s Wittness): 1,400-2,500 คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวที่หากประกาศละจากศาสนาจะถูกยกเว้นจากการจับกุม
  • บุคคลที่ถูกมองว่า “ป่วยเกินรักษา” หรือพิการ: 150,000 คน
  • คนผิวสีโดยเฉพาะคนผิวดำ: การศึกษาไม่พอทำให้ตัวเลขไม่แน่นอน แต่เด็กเยอรมันที่มีเชื้อสายผิวสีโดนบังคับจับทำหมัน 500 คน ประชากรที่อาศัยอยู่ในเยอรมันที่เป็นคนผิวสีในขณะนั้นมีราวๆ 20,000 คน คนเหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่ถูกรวมอยู่ในกลุ่มเป้าหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อภาพของค่ายกักกันและเหยื่อที่ทั้งรอดและไม่รอดออกมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในหลายๆ ประเทศในยุโรปมีการออกกฎหมายให้การพูดเหยียดชาติพันธุ์ยิวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และการล้อเลียนหรือนำเรื่องราวดังกล่าวมาใช้เพื่อความบันเทิงเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ก็มักส่งผลให้สังคมประนาม

เมื่อหลายปีก่อนเจ้าชายแฮร์รีได้ถูกสื่อในอังกฤษประนามอย่างหนักเพราะไปงานปาร์ตี้แฟนซีในเครื่องแบบเอสเอสจำลอง ทำให้ต้องออกสื่อขอโทษต่อสาธารณะ กฎเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อระบุว่าสังคมไม่มีพื้นที่สำหรับวาทกรรมเหยียดชาติพันธุ์หรือความเกลียด (racist and hate speech) โดยเฉพาะต่อชาติพันธุ์ยิว เป็นการชดเชยและทดแทนให้กับกลุ่มคนที่กลายเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ที่เกิดจากความเกลียดเหล่านั้น และที่สำคัญ เป็นหลักเพื่อไม่ให้ความคิดเชิงลดสภาวะความเป็นมนุษย์ (dehumanize) ของกลุ่มคนหรือบุคคลใดเกิดขึ้น

กลุ่มประเทศที่มีสีแดงมีการออกกฎหมายห้ามปฏิเสธเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย จะดำเนินคดีผ่านกฎหมาย hate speech ที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Holocaust_Denial_Crime_2016.gif

ในเชิงกฎหมาย หลายประเทศมีการออกกฎหมายห้ามค้านว่าเหตุการณ์ฮอโลคอสต์เกิดขึ้น (Holocaust Denial) และบางประเทศการแสดงสัญลักษณ์พรรคนาซีหรือออกความเห็นสนับสนุนพรรคนั้นถือเป็นโทษทางอาญา บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ขยายวงกว้างเรื่องฮอโลคอสต์ออกไปให้ครอบคลุมการปฏิเสธกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรืออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติในนิยามของกฎบัตรลอนดอน ปี ค.ศ 1945 ที่เขียนขึ้นในการพิจารณาคดีกลุ่มผู้นำพรรคนาซีที่ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ณ เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trails)

ปัจจุบันกฎหมายนี้ยังใช้อยู่ในหลายประเทศแม้ว่าจะมีกระแสการค้านกฎหมายดังกล่าวทั้งในแง่การขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และในเชิงประโยชน์ของกฎหมายดังกล่าวในการหยุดแนวความคิดสุดโต่งเอง เพราะว่าทำให้คนที่ถูกจับเข้าคุกกลายเป็นฮีโร่ในสายตาของผู้สนับสนุน และได้คะแนนความสงสารจากคนที่ไม่ได้รู้เรื่องฮอโลคอสต์มากมาย

อีกทั้งโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น การห้ามอะไรมักทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าท้าทายหรือน่าสนใจมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นหนังสือของฮิตเลอร์ที่เพิ่งขาย มียอดการซื้อสูงเมื่อการขายถูกทำให้ถูกกฎหมายเมื่อเร็วๆ มานี้ มีการจับนักการเมืองขวาจัดอย่าง Jean-Marie Le Pen บิดาของ Marine Le Pen เข้าคุก หรือแม้กระทั่งนักวิชาการอย่าง Robert Faurisson อาจารย์มหาวิทยาลัย Lyon ในฝรั่งเศสซึ่งออกมาปฏิเสธว่าห้องแก๊สที่ใช้ในการสังหารชาวยิวไม่ได้มีอยู่จริง ก็โดนตัดสินจำคุกสามเดือน (รอลงอาญา) และปรับเงินอีก 3,200 ยูโร โดยทำให้นักวิชาการอย่าง Noam Chomsky ที่ออกมาต่อต้านการตัดสินคดีดังกล่าวและสนับสนุน Faurisson ในแง่สิทธิในการแสดงออกเสียชื่อในประเทศฝรั่งเศสไปด้วย

ฮอโลคอสต์จึงไม่ใช่เรื่องของการฆ่าล้างชาวยิวอย่างเดียว แต่เป็นความทรงจำของความสุดโต่งทางความคิดที่เกิดขึ้นได้ในกระแสประวัติศาสตร์ และเป็นเรื่องราวที่ควรคงเอาไว้ในความทรงจำของมวลมนุษยชาติในฐานะบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สองแนวความคิดสุดโต่งจึงเริ่มเป็นวาทกรรมชายขอบและมีการควบคุมเนื้อหาที่สื่อถึงการเหยียด แบ่งแยก หรือรังเกียจบุคคลใดหรือกลุ่มคนใดด้วยปัจจัยทาง ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาวะ หรือสีผิว

นอกจากนี้ ผลกระทบของฮอโลคอสต์และสงครามโลกครั้งที่สองโดยรวมถือเป็นจุดกำเนิดของเหล่าองค์กรระหว่างประเทศ สนธิสัญญาต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ผลงานวิจัยเปื้อนเลือดของนักวิทยาศาสตร์นาซีและญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาความเข้าใจในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์มากมายบนชีวิตคนที่ถูกใช้เป็นสิ่งทดลอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวโยงกับฮอโลคอสต์ทั้งสิ้น

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Holocaust_denial#/media/

ดังนั้น เมื่อสื่อไทยหรือกรณีมหาวิทยาลัยชื่อดังสร้างป้ายงานศิลปะที่มีฮิตเลอร์สำหรับงานกีฬา เสื้อยืดรูปสัญลักษณ์นาซี ร้านขายไก่ทอดตรารูปเป็นฮิตเลอร์ หรือแม้กระทั่งการพูดเปรียบผู้นำทางการเมืองกับฮิตเลอร์ สำหรับคนที่เป็นเหยื่อและลูกหลานของเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฮอโลคอสต์ การแสดงออกเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากการล้อเลียนหรือลดความสำคัญของความทรงจำเรื่องราวความโหดร้ายที่บรรพบุรุษของเขาต้องผ่านมา

สิ่งที่สื่อไทยและคนไทยควรจะเรียนรู้จากบทเรียนไอดอลวงดังกับสัญลักษณ์นาซีคือ

1. การใช้สัญลักษณ์หรือเครื่องแต่งกายผ่านสื่อสาธารณะควรมีการศึกษาบริบทของสิ่งนั้นให้ดี

2. วาทกรรมการบางอย่าง เช่น การเปรียบเปรยการเมืองด้วยฮิตเลอร์หรือพรรคนาซี เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะทั้งพรรคนาซีและฮิตเลอร์เป็นตัวแทนของเหตุการณ์ที่ฉีกออกจากบริบทธรรมดาหรือความรุนแรงทั่วไปในกระแสประวัติศาสตร์ การเปรียบเปรยนอกจากจะเกินความเหมาะ (extreme comparison) แล้วยังแสดงว่าผู้เปรียบไม่มีความเข้าใจประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากอีกด้วย

ปัญหาคือการที่สังคมไทยผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่านี่เป็นปัญหาในเชิงการศึกษาจริงหรือมีปัจจัยอะไรมากกว่านั้น?

(ติดตามตอนที่สอง)