ThaiPublica > คอลัมน์ > “University 42” ตัวอย่างให้มหาวิทยาลัยไทย

“University 42” ตัวอย่างให้มหาวิทยาลัยไทย

3 มีนาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

วิกฤติ “ขาดนักศึกษา” ของมหาวิทยาลัยไทย และวิกฤติ “ขาดแคลนทักษะ” บางอย่างของสังคมไทย รวมกันแล้วอาจเป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยจักได้รับใช้สังคมไทยอย่างถูกกาลเทศะ ขอยกตัวอย่างความคิดริเริ่มในการเพิ่มทักษะด้านไอทีในฝรั่งเศสและสหรัฐอมเริกาเพื่อเป็นอุทาหรณ์เปลี่ยน “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส”

ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยกำลังขาดแคลนนักเขียนโปรแกรมอย่างรุนแรง (เรียกกันว่า coder หรือ programmer เมื่อก่อนไม่เรียกการเขียนโปรแกรมว่า coding แต่เรียก programming) โปรแกรมเมอร์ที่ใช้งานได้นั้นต้องมีทักษะ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ บวกความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ไขปัญหา และการทำงานเป็นทีม

มหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศสที่ร่ำรวยจากเทคโนโลยีชื่อ Xavier Niel กับ Nicolas Sardirac นักการศึกษาและเพื่อนอีก 2 คน ร่วมกันตั้งสถาบันการศึกษานอกกรอบ เพื่อพัฒนาโปรแกรมเมอร์หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ฝรั่งเศสขาดแคลน

“42” หรือ “École 42” หรือ “University 42” (École หมายถึงโรงเรียน อาจเป็นประถมหรือมัธยม หรือสถาบันการศึกษาเฉพาะทางก็ได้) เป็นสถาบันเอกชน ไม่เก็บเงินค่าเล่าเรียน กินอยู่ฟรี ไม่มีปริญญาให้ และไม่มีอาจารย์สอน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดบริจาคโดย Xavier Niel ซึ่งคาดว่าจะใช้ไปได้ประมาณ 10 ปี (ประมาณปีละ 300 ล้านบาท) หลังจากนั้นก็หวังว่าจะมีเศรษฐีคนอื่นเข้ามาช่วย (เปิดมา 3 ปี ปัจจุบันจ่ายไปทั้งหมดแล้วประมาณ 57 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,710 ล้านบาท)

“University 42” ไม่มีการเรียนการสอนสาขาอื่น มุ่งไปที่จุดเดียวคือผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นยอดปีละประมาณ 1,000 คน เรียน 3-5 ปี แล้วแต่ใครจะใช้เวลานานเท่าใด มีหอพัก มีอาหารฟรีให้นักศึกษาที่แย่งกันเข้า และประการสำคัญไม่มีการนั่งฟังเลกเชอร์และสอบโดยอาจารย์ เพราะที่นี่ไม่มีอาจารย์ เปิดเรียน 24 ชั่วโมง 7 วัน ผู้เรียนทุกคนคืออาจารย์ของกันและกัน

ในปีแรก คือ 2013 ที่เปิดรับนักศึกษา มีผู้สมัคร 80,000 คน เรียนจบระดับใดหรือสาขาใดก็ได้ทั้งนั้น มีอายุระหว่าง 18-30 ปี มีการสอบคัดเลือกอย่างเข้มข้นเพื่อหาผู้มุ่งมั่นบากบั่นและมี “แวว” จนเหลือ 3,000 คน จากนั้นก็เข้าเรียนหลักสูตรเข้มข้นเต็มเวลาด้านการเขียนโปรแกรมเป็นเวลา 4 อาทิตย์ เพื่อตัดให้เหลือ 1,000 คน ในปีต่อมาก็ไม่ลดความร้อนแรงแต่รับได้ปีละ 1,000 คนเท่านั้น

การเรียนรู้ที่ “University 42” อาศัย project-based learning และการเรียนรู้จากกันและกัน นักศึกษาต้องทำงานโปรเจกต์หนักมาก ทีมละ 5-6 คน ชนิดไม่ได้หลับไม่ได้นอนเป็นอาทิตย์ โปรเจ็คมาจากของจริง เช่น ให้พัฒนาซอฟต์แวร์โปรแกรมของโทรศัพท์บางรุ่นที่ล้าสมัยให้ทำงานได้กว้างขวางขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น “University 42” ย้ำว่านักศึกษาเป็นเจ้าของ intellectual property rights ที่เกิดขึ้น เพราะไม่ต้องการหาประโยชน์จากนักศึกษาหากต้องการสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับยอดของโลกที่ออกไปทำงานจริงๆ ได้ทันที

ไอเดียของ “University 42” ได้รับการต้อนรับดีมาก โดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรมที่ขาดโปรแกรมเมอร์รุนแรง ทดลองไปปีเดียวก็เกิดไอเดียว่าทำไมไม่ไปเปิดบ้างที่ Silicon Valley ใกล้ Stanford University ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเทคโนโลยี IT ที่ใหญ่ที่สุดของโลก

“42 Silicon Valley” คือแคมปัสในสหรัฐอเมริกาของกลุ่ม 42 ซึ่งให้การสนับสนุนทั้งทุนและรูปแบบการศึกษา โดยจัดตั้งเป็นองค์กรที่ไม่มุ่งหวังกำไรในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งอยู่ที่เมือง Fremont ในแถบ San Francisco Bay ซึ่งอยู่ไม่ห่างจาก Silicon Valley

เหตุที่ชื่อ 42 ก็เพราะในนิยายวิทยาศาสตร์ ชื่อ “The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy” เขียนโดยนักเขียนอังกฤษ Douglas Adams (ผู้ริเริ่มทำเป็นรายการวิทยุเป็นตอนๆ ประมาณปี 1978 ต่อมาเป็นทั้งละคร การ์ตูน ทีวีซีรีส์ ภาพยนตร์ เกมวิดีโอ และหนังสือ) ในเรื่องนี้มีตัวละครถามซูเปอร์คอมพิวเตอร์ว่า “อะไรคือคำตอบสุดท้ายของคำถามเกี่ยวกับชีวิต จักรวาล และทุกๆ สิ่ง” Deep Thought ซึ่งเป็นชื่อของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ใช้เวลาคิดอยู่ 7.5 ล้านปี และให้คำตอบว่า “42”

“University 42” ถึงจะไม่มีอาจารย์ประจำแต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมผู้ใช้ประโยชน์และจากมหาวิทยาลัยคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่มอบให้นักศึกษาไปทำ ตลอดจนเนื้อหาของการเรียนรู้และทักษะที่นักศึกษาต้องมี นักศึกษาจะเรียนจบหากได้แต้มสะสมครบตามที่ระบุไว้ แต้มเหล่านี้ก็ได้มาจากการตรวจสอบแก้ไขโปรเจกต์ของเพื่อนนักศึกษา

ยังไม่ทันที่นักศึกษาเรียน 3-5 ปี เพื่อจบออกมาก็มีการลาออกไปทำงานเพราะมีคนมาซื้อตัวอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้บริหาร “University 42” ก็มิได้ว่าอะไร เพราะเป็นการให้ทุนที่ไม่มีข้อผูกพัน Xavier Niel เศรษฐีใจบุญเน้นเรื่องการให้เรียนฟรีพร้อมที่อยู่และอาหาร เพราะเขาเห็นว่าในฝรั่งเศสมีเด็กที่มีคุณสมบัติที่จะเลื่อนชั้นขึ้นไปในสังคมด้วยความสามารถของตนเองได้แต่ขาดโอกาสอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ได้เรียนในโรงเรียนมัธยมและสถาบันการศึกษาขั้นสูงที่มีชื่อเสียง

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การเขียนโปรแกรมเป็นศิลป์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ขั้นสูงเป็นสิ่งไม่จำเป็น การเรียนรู้ที่มาจากประสบการณ์ที่กว้างขวางและความสามารถร่วมทำงานเป็นทีมกับผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญกว่า

การพัฒนาซอฟต์แวร์โปรแกรมเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องการความละเอียดรอบคอบ และจินตนาการที่จะทำให้เรื่องยืดยาวเป็นเรื่องกะทัดรัด ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้

    (ก) ในการผลิตแอปพลิเคชันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นฃอฟต์แวร์เพื่อสั่งให้ iPhone ทำงานโดยเฉลี่ยใช้ไม่เกิน 50,000 บรรทัดของ coding
    (ข) Google มีคำสั่งเพื่อให้บริการทั้งหมดประมาณ 2,000 ล้านบรรทัดของ coding
    (ค) ซอฟต์แวร์ Photoshop เวอร์ชันแรกใช้ประมาณ 12 ล้านบรรทัดของ coding
    (ง) Facebook ใช้ประมาณ 50.6 ล้านบรรทัดของ coding
    (จ) ซอฟต์แวร์สำหรับการบินของ เครื่องบิน Boeing 787 ใช้ประมาณกว่า 10 ล้านบรรทัดของ coding 1 ล้านบรรทัดของ coding เท่ากับกระดาษพิมพ์ข้อความ 18,000 หน้า ดังนั้น ซอฟต์แวร์ของ Facebook หากพิมพ์ออกมาจะเป็นกระดาษที่บรรจุคำสั่งที่ทำให้ Facebook ทำงานรวมประมาณ 910,800 หน้า

การเขียนซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งต้องแบ่งกันเขียน coding เป็นสิบเป็นร้อยคน และต้องเอามาต่อกันให้ทำงานได้อย่างไม่มีรอยต่อ ไม่มีจุดบกพร่อง ต้องตรวจ ต้องแก้ไข ดังนั้นจึงกินเวลาและใช้ทักษะสูง ปัจจุบันในโลกเรามีการพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่นับเป็นแสนๆ โครงการตลอดเวลา ความต้องการโปรแกรมเมอร์จึงมีมากมายอย่างไม่สิ้นสุด

ปัจจุบันโครงการแนว 42 เกิดขึ้นใน Romania, South Africa, Ukraine, Bulgaria, the Netherlands, Tunisia และกำลังคิดจะเปิดกันในอีกหลายประเทศ

ถ้ามีจำนวนนักศึกษาเรียนน้อยลงในมหาวิทยาลัยไทย เราก็ต้องปรับวิธีคิดใหม่ ลดการผลิตปริญญา หันมาเพิ่มการสอนนานาทักษะสำหรับคนรุ่นใหม่และประชาชนตามที่สังคมต้องการ สอง “วิกฤติ” ก็สามารถกลายเป็นหลาย “โอกาส” ได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 13 ก.พ. 2561