เมื่อมองประเทศไทยย้อนกลับไปยุคสมัยที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต คนไทยส่วนใหญ่ใช้การสื่อสารผ่านเครื่องโทรศัพท์พื้นฐานจากบ้านเป็นหลัก ถ้าใครที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น คงจะยังจำกันได้ดีถึงภาพของการต่อคิวรอใช้โทรศัพท์สาธารณะกันยาวเหยียด หรือไม่ก็ต้องไปขอใช้โทรศัพท์ตามออฟฟิศ เนื่องจากในยุคนั้นมีเฉพาะบ้านกับออฟฟิศเท่านั้นที่มีโทรศัพท์พื้นฐานไว้ใช้งาน และส่วนใหญ่จะจำกัดพื้นที่เฉพาะที่อยู่ใกล้เขตตัวเมือง ที่มีชุมสายโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์เท่านั้น ในยุคนั้นเรียกว่า จะขอเบอร์โทรศัพท์ทั้งที ต้องรอคิวกันนานข้ามปี ทำให้เกิดนายหน้าหัวใส ใช้เส้นสายเรียกรับเงินเพื่อทำเรื่องของโทรศัพท์พื้นฐานโดยไม่ต้องต่อคิว หรือมีกลุ่มธุรกิจที่ได้เบอร์โทรศัพท์มาหลายเบอร์ ก็เอาไปขายเก็งกำไรต่อเป็นจำนวนมาก
จนกระทั่งรัฐบาลในยุคนั้น ภายใต้การนำของ “พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ” เห็นถึงปัญหาและมองว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของไทยนั้น จำเป็นจะต้องมีการวางรากฐานด้านโทรคมนาคม ที่เพียงพอต่อความต้องการ และต้องมีการขยายจำนวนหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรู้ดีว่านั่นเป็นเรื่องที่เกินศักยภาพขององค์การโทรศัพท์ จึงได้มีพิจารณาแนวทางใหม่ ในการขยายเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน โดยดึงเอกชนเข้ามาร่วมทุน แบ่งผลประโยชน์กันตามความเหมาะสม และเป็นธรรม ปลดล็อกการผูกขาดโดยภาครัฐ จนเป็นที่มาของโครงการ “การลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย”
เส้นทาง “ซีพี” จากเกษตรสู่โทรคมนาคม
เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพยายามดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของภาครัฐ เพื่อผ่าทางตันความก้าวหน้าของประเทศ ที่ต้องมาสะดุดลงเพราะความล่าช้าของโทรศัพท์พื้นฐาน และเพื่อให้แน่ใจได้ว่า โครงการ “การลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย” จะไม่ตกไปอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติ รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้บริษัทในประเทศเข้ามาลงทุน แต่ด้วยความที่เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงไม่มีบริษัทไทยรายใดเสนอตัวเข้าร่วม
ขณะที่ทางซีพี ถึงแม้มือขวาของเจ้าสัว “เฉลียว สุวรรณกิตติ” ซึ่งเคยได้รับมอบหมายจาก ธนินท์ เจียรวนนท์ ให้ไปศึกษาลู่ทางและการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศให้แก่ซีพี ได้เป็นคนเข้ามาเสนอกับธนินท์ว่า ธุรกิจการลงทุนในด้านโทรศัพท์พื้นฐานนี้ มีความน่าสนใจ แต่ในช่วงแรกๆธนินท์เองเลือกที่จะปฏิเสธไป และตัดสินใจไม่เอาถึง 3 ครั้ง เพราะมองว่าเป็นโครงการระดับชาติ มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งไม่ใช่ธุรกิจสายถนัดของซีพีและปกติซีพีจะเป็นเอกชนที่ลงทุนทำธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาล หรือเข้าไปพัวพันเรื่องการเมืองมาก่อน
แต่ในท้ายที่สุดธนินท์ก็เปลี่ยนใจ หันกลับมามองมุมใหม่ว่า เป็นการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะสอดคล้องกับหลักการ 3 ประโยชน์ที่ธนินท์ยึดถือ ในการตัดสินใจทำโครงการใดๆ คือ ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ และบริษัทได้ประโยชน์
ธนินท์กล่าวว่า “ความจำเป็นของสังคมไทย คือ จุดที่ทำให้ผมตัดสินใจครั้งนั้น แม้ว่าจะมีความยุ่งยากมากมายรออยู่”
เวลานั้นถ้าเทียบกับไต้หวัน และเกาหลี ประชาชน 3 คนจะมีโทรศัพท์ใช้ 1 เลขหมาย หรือแม้แต่มาเลเซียประชาชน 10 คนมีโทรศัพท์ใช้ 1 เลขหมาย ในขณะที่คนไทย 33 คน มีโทรศัพท์ใช้ 1 เลขหมาย ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นอีกมาก
ถึงแม้ซีพีจะไม่มีประสบการณ์ในเทคโนโลยี และโทรศัพท์พื้นฐานมายาวนานเหมือนองค์การโทรศัพท์ แต่ธนินท์ก็มองว่า การนำเทคโนโลยีเรื่องโทรศัพท์เข้ามาในไทยนั้น ง่ายกว่าการเอาเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น การเลี้ยงไก่ หมู หรือกุ้งเข้ามาเสียอีก เพราะธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต้องมาดูแล ต้องใช้การตลาดต่างๆ อีกมาก แต่เทคโนโลยีโทรศัพท์ เป็นของเปิดเผยไม่มีตัวแปรเหมือนการเกษตรที่เป็นสิ่งมีชีวิต สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องใช้เวลายาวนาน ซีพีจึงได้เชิญ บริษัท บริติช เทเลคอม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี และเป็นผู้ถือหุ้นร่วมในการทำโครงการนี้
ซีพี เทเลคอม จุดเริ่มต้นบนเส้นทางอันยาวไกล
15 มีนาคม 2533 ทางซีพี จึงยื่นเสนอขอเป็นผู้ดำเนินการโครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย แก่ทางคณะกรรมการพิจารณา ผลปรากฏว่า ข้อเสนอของทางซีพี คือข้อเสนอที่ดีที่สุด ผ่านทั้งด้านเทคนิค ข้อเสนออัตราส่วนแบ่งรายได้ และการบริหารโครงการ แต่เนื่องจากภาครัฐยังกลัวที่จะเกิดการผูกขาด จึงเสนอให้ทางซีพีต้องใช้ผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เป็นซัพพลายเออร์มากกว่า 1 ราย ซึ่งทางซีพีก็ยินดี ในเวลาต่อมาซีพีเลือกใช้ซัพพลายเออร์มากถึง 3 ราย
โดยภายหลังการเจรจาต่อรองได้ข้อยุติว่า ทางซีพีจะได้รับสัมปทานการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 25 ปี และให้ทางซีพีเป็นผู้ลงทุนขยายโครงข่าย 3 ล้านเลขหมายแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือแสดงความเจตนามายังซีพี ซึ่งในทางกฎหมายถือเป็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการร่างรายละเอียดข้อสัญญาร่วมลงทุนเท่านั้น
13 พฤศจิกายน 2533 ซีพี จึงได้จัดตั้งบริษัทจดทะเบียนในชื่อ บริษัท ซี พี เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือเรียกย่อๆ ว่า “ซีพี เทเลคอม” เพื่อเข้าร่วมลงทุนโครงการขยายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายนี้โดยเฉพาะ
ในช่วงนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การดูแลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โครงการ “การลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย” ซึ่งยังไม่ได้ลงนามเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ จึงจำเป็นต้องหารือกันในรายละเอียดอีกรอบ
เดินหน้าโครงการ เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ
ธนินท์ยังคงเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และการพัฒนาประเทศ ซีพีจึงตกลงใจเจรจากับรัฐบาลชุดใหม่ บนเงื่อนไขใหม่ บนหลักการที่ยึดถือเอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ซึ่งทางซีพีขอสละสิทธิ์ในการดำเนินโครงการในเขตภูมิภาค และเสนอทำโครงการเฉพาะในเขตนครหลวงเท่านั้น ด้วยความที่ธนินท์มองว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล
หลังจากเจรจาตกลงกันได้แล้ว ในวันที่ 2 สิงหาคม 2534 รัฐบาลก็ได้ให้มีการจัดงานเซ็นสัญญาทันที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งส่งผลทำให้ซีพีจะเป็นผู้ดำเนินโครงการขยายโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายในเขตนครหลวง โดยตามข้อกำหนดให้บริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือชื่อย่อ ทีเอ (เปลี่ยนชื่อมาจากซีพี เทเลคอม) จะต้องดำเนินการติดตั้งโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายให้แล้วเสร็จภายในปี 2539 ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของทางซีพี ว่าจะสามารถดำเนินงานได้ตามสัญญา และทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่
การทำให้หมายเลขโทรศัพท์ไปสู่มือของผู้ใช้บริการให้เร็วที่สุด จากเดิมที่ผู้ขอเลขหมายโทรศัพท์ต้องต่อคิว รอคอยนานแรมปี เป็นการขอแล้วติดตั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ ด้วยราคาที่ถูก และไม่ต้องใช้เส้นสาย หรือจ่ายใต้โต๊ะ
ปฏิวัติการให้บริการ ดึงเคเบิลใยแก้วมาใช้ในไทยรายแรก
เมื่อเริ่มต้นเดินหน้าโครงการนี้ สิ่งที่ธนินท์ต้องการมากที่สุดคือ การทำให้หมายเลขโทรศัพท์ไปสู่มือของผู้ใช้บริการให้เร็วที่สุด จากเดิมที่ผู้ขอเลขหมายโทรศัพท์ต้องต่อคิว รอคอยนานแรมปี เป็นการขอแล้วติดตั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ ด้วยราคาที่ถูก และไม่ต้องใช้เส้นสาย หรือจ่ายใต้โต๊ะ
การที่เครือซีพีจะเข้ามาบุกเบิกธุรกิจให้สำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เพราะอาศัยความเก่งของซีพี แต่เพราะอาศัยพลังของคนอื่นมาร่วมด้วย ซึ่งทางทีเอได้คัดเลือกพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบโทรคมนาคมจาก 4 ประเทศยักษ์ใหญ่ เข้ามาร่วมทุนด้วย ประกอบด้วย บริติช เทเลคอม จากอังกฤษ ซีเมนต์ จากเยอรมัน เอทีแอนด์ที จากสหรัฐอเมริกา และเอ็นอีซี จากญี่ปุ่น ภายหลัง บริติช เทเลคอม ขอสละสิทธิ์การร่วมทุน ขอทำหน้าที่แค่ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีเอจึงได้ทาบทามบริษัท ไนเน็กซ์ เข้ามาร่วมทุนแทน ซึ่งไนเน็กช์เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์บริหารโครงข่ายโทรศัพท์ในนิวยอร์กและบอสตัน ที่มีจำนวน 16 ล้านเลขหมาย และมีผู้ใช้บริการกว่า 30 ล้านคน
จากการวางแผน และปรึกษาการวางโครงข่ายร่วมกับพันธมิตร ทางทีเอจึงตัดสินใจใช้การวางโครงข่ายแบบกระจายศูนย์ ที่ไม่ต้องพึ่งพาชุมสายหลัก และสามารถแตกลูกข่ายย่อยเป็นชุมสายย่อย เพื่อเชื่อมต่อไปยังบ้าน หรือสำนักงานตามที่ต่างๆ ผ่านตู้ CAB ที่ติดตั้งริมถนน เป็นวิธีการที่สะดวก ทำได้ง่าย และทำให้การวางโครงข่ายส่งตรงถึงมือผู้ใช้บริการได้รวดเร็วมากขึ้น
ส่วนเทคโนโลยีที่ใช้ในการเชื่อมต่อโยง และส่งต่อข้อมูลในยุคนั้น มีทั้งเป็นเส้นลวดทองแดง และเคเบิลใยแก้ว ซึ่งในข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน TOR ทางทีเอสามารถใช้ลวดทองแดงได้ แต่ทางบริษัทเลือกจะใช้เคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่สามารถส่งข้อมูลได้มหาศาล ทั้งภาพ และเสียง และมีช่องสัญญาณที่ใหญ่แทน เนื่องจากมองว่าเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนั้นเป็นเครือข่ายมาตรฐานระดับโลก และเป็นโครงข่ายที่สามารถรองรับความต้องการในอนาคตได้ นอกจากนี้ทางทีเอ ยังได้ใช้อุปกรณ์การวางโครงข่าย ที่มาจากซัพลายเออร์ระดับโลก 3 ราย คือ ซีเมนต์ เอทีแอนด์ที และเอ็นอีซี ซึ่งทำให้ระบบโทรคมนาคมของประเทศไทยนั้น ได้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาใช้งาน
ในปีต่อๆ มา ทางบริษัททีเอได้ดำเนินการจัดโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และมีความรวดเร็ว จนสามารถส่งมอบเลขหมายให้กับองค์การโทรศัพท์ ได้สำเร็จล่วงหน้าก่อนกำหนดเวลาทุกครั้ง รวมเบ็ดเสร็จเครือซีพีใช้เงินลงทุนไปกับธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานไปกว่าแสนล้านบาท ในช่วงที่ธุรกิจโทรศัพท์โครงสร้างพื้นฐานอยู่ในช่วงขาลง เพราะโทรศัพท์มือถือมีราคาถูกแล้ว และมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาลงทุนในธุรกิจโทรศัพท์มือถือแล้ว 2 ราย มีซีพีตัดสินใจลงทุนเป็นรายที่ 3
อย่างไรก็ตาม จากสิ่งที่ซีพีลงทุนไปในธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน ได้กระตุ้นให้การบริการประชาชนในเรื่องการขอจดทะเบียนเลขหมายโทรศัพท์นั้น สามารถทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ช่วยร่นระยะเวลาการขอเบอร์โทรศัพท์จาก 1 ปีเหลือแค่ 1 สัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้นยังกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมใหม่ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น ทำให้เกิดธุรกิจโทรศัพท์มือถือ มีการแข่งขันลดค่าบริการ และราคาเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ก็ถูกลง
จุดกำเนิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
จากความพร้อมในด้านโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน ที่วางรากฐานไว้ดีตั้งแต่ต้นจากการวางโครงข่ายด้วยเคเบิลใยแก้ว ทำให้ในปี 2542 บริษัท เทเลคอมเอเชีย สามารถเปิดให้บริการโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ซึ่งประกอบด้วยบริการ ADSL และบริการ Cable Modem ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเจ้าแรกๆ ในไทย ในยุคที่คนทั่วไปยังคงใช้ อินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน ที่เป็นแบบ Dial-up ผ่านโมเด็มที่ ความเร็วค่อนข้างต่ำ และไม่มีความเสถียรในการส่งข้อมูล การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบ ADSL จึงถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่มีราคาค่าบริการค่อนข้างสูง
แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของธนินท์ ทำให้เทเลคอมเอเชีย สามารถรองรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้เป็นเจ้าแรกๆ โดยไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนโครงข่ายโทรศัพท์ ทำให้สามารถเปิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในราคาที่สมเหตุสมผล คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดการตื่นตัวในหมู่ ISP รายอื่น และมีการแข่งขันสร้างโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงค่ายอื่นๆ ของไทยในเวลาต่อมา
การลงทุนโครงการวางเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานจากยุคเริ่มต้นภายใต้วิสัยทัศน์ของธนินท์ จึงไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ตั้งแต่การปฏิรูปการสื่อสาร และสร้างคุณูปการให้กับกิจการโทรคมนาคมของประเทศ และการทำธุรกิจโทรคมนาคมของทีเอนั้น กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของเครือซีพีในปัจจุบัน ภายใต้การบริหารของ True Corporation หรือ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในปัจจุบันนั่นเอง