ThaiPublica > เกาะกระแส > “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ชี้ไทยแลนด์ 4.0 ต้องผลิตคนรับ “อาชีพที่ต้องใช้ทักษะ” ไม่ใช่ปริญญาแล้วตกงาน

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ชี้ไทยแลนด์ 4.0 ต้องผลิตคนรับ “อาชีพที่ต้องใช้ทักษะ” ไม่ใช่ปริญญาแล้วตกงาน

5 มีนาคม 2018


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)ครบรอบ 45 ปี จัดงาน “ยูนิเวอร์ซิตี้ เอกซ์โป มหกรรมอุดมศึกษา: อุดมศึกษา-พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0″ โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญมาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “ประเทศไทยกับเส้นทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน”

ดร.สมคิดได้พูดคุยถึงแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล พร้อมได้สะท้อนความคิด ความฝัน และความในใจในแต่ละห้วงเวลาของสังคมไทยทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมไปถึงเรื่องการศึกษา

“วันนี้ผมไม่ได้มาเพื่อปาฐกถา เพราะปาฐกถาไปเยอะแล้ว แต่จะมาพูดคุย มาให้กำลังใจท่าน และบอกเล่าให้ฟังว่ารัฐบาลทำอะไร และสิ่งที่เราต้องการความร่วมมือจากท่านทั้งหลายให้ช่วยกันเผยแพร่ไปทุกๆ มหาวิทยาลัย เราจะช่วยกันได้อย่างไร ในอดีตผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ที่นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เป็นอยู่ 15 ปี ในขณะนั้นผมรักอาชีพอาจารย์มาก เพราะว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีแต่ให้คุณ ไม่มีให้โทษ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย”

แต่อยู่มาได้ 15 ปี ผมก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ค่อยมีโอกาสในการทำงานวิจัยที่ผมชอบมากนัก แล้วยิ่งอยู่นานเกินไป ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ก็เริ่มจางหาย เริ่มรู้สึกว่าห่างจากโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นทุกที ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าความรู้ที่เราร่ำเรียนมานั้น น่าจะเปิดโอกาสใช้มันให้เกิดประโยชน์กับประเทศบ้างไม่มากก็น้อย

ในเวลานั้นเป็นช่วงที่ต้องมีการตัดสินใจ จนได้รับการชักชวนให้ไปอยู่ในการเมือง ผมจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ ผมไม่ทราบว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิด แต่มันเป็นช่วงรอยต่อของชีวิตที่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง เพราะผมเชื่อว่าจะมีหลายคนในที่นี้ ในอนาคตจะสามารถมาทดแทนผมได้

เมื่อผมมาสู่เส้นทางของการเมือง สิ่งแรกที่ผมเห็นก็คือ ทำไมไม่มีรอยต่อระหว่างโลกวิชาการกับโลกของการเมืองเท่าที่ควร เรารู้ว่าการเมืองนั้นต้องมีนโยบาย ต้องมีองค์ความรู้ที่จะไปพัฒนาประเทศ แต่เมื่อเข้าไปสู่การเมืองแล้วกลับกลายเป็นว่าความเชื่อมต่อระหว่างการเมืองกับมหาวิทยาลัยมันเชื่อมต่อกันด้วยบุคคล ไม่ได้เชื่อมต่อกันด้วยองค์ความรู้

ไม่มีพรรคการเมืองในขณะนั้นที่พยายามสร้างองค์ความรู้ภายในพรรคให้มาสู่การเขียนนโยบายสาธารณะที่จะไปบริหารประเทศ เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจมาก ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาในระบบพรรคการเมืองขณะนั้นก็คือ เราต้องใช้วิธีเชิญคน เชิญผู้รู้จากแต่ละแห่งที่สนใจการเมือง เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการในการทำนโยบายแห่งชาติ เพื่อเอาไปใช้เป็นนโยบายพรรค

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมสังเกตและคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยก็จะต้องตระหนักว่า “องค์ความรู้” นั้นต้องมี และต้องสามารถสื่อสารเข้าไปในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือภาคการเมืองก็ตาม

ไม่เช่นนั้นเมื่อมีพรรคการเมือง เมื่อเราตัดสินใจว่าจะบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองไม่มีองค์ความรู้เชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัย แล้วอย่างนี้อนาคตข้างหน้าเราจะบริหารประเทศได้อย่างไร นี่คือข้อที่หนึ่ง ผมมาพูดดังๆ ในวันนี้ที่มีอธิการบดีเยอะ มีอาจารย์เยอะ สิ่งเหล่านี้ต้องนำกลับไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ความเจริญอยู่ที่ส่วนกลาง ชนบทลำบาก

ข้อที่สอง ในช่วง 6 ปีแรกที่ผมอยู่ในการเมือง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประสบกับภาวะวิกฤติต้มยำกุ้ง เราใช้เวลาส่วนใหญ่ประมาณ 4-5 ปี กว่าที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดจนกระทั่งเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ แต่สิ่งที่อยู่ในใจผมตลอดเวลาก็คือ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นมา อัตราการเติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับ 5-6% แต่ลึกลงไปจริงๆ ในโครงสร้างของประเทศไทยมันมีปัญหา

หนึ่ง คือ ความเหลื่อมล้ำมีมากจริงๆ ความเจริญอยู่ที่ส่วนกลาง ชนบทลำบาก ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร เหตุผลก็คือในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เราใช้นโยบาย export-led economy มีสิ่งจูงใจให้คนมาลงทุนในประเทศในลักษณะผลิตเพื่อการส่งออก แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นภาคชนบท กลับไม่มีรอยต่อเท่าที่ควรระหว่างการผลิตอุตสาหกรรมกับการพัฒนาพื้นที่ในท้องถิ่น

ฉะนั้น ในขณะที่ซีกหนึ่งเจริญแข็งแรง แต่อีกซีกหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศกลับจนลง และไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร หากเส้นทางอย่างนี้ยังดำเนินต่อไปประเทศจะมีปัญหา เพราะว่าความเหลื่อมล้ำนั้นยิ่งมีมากขึ้นทุกวัน

ประการที่สองที่เห็นชัดในขณะนั้น คือ ความสามารถแข่งขันของประเทศถดถอยลงทุกวัน อุตสาหกรรมแต่ละซีกของเรา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคืออุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าพื้นๆ ไม่มีเทคโนโลยี ใช้แรงงานราคาถูก รับประกอบแล้วก็ส่งออก เป็นอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศ

ทางด้านเกษตรก็เป็นการแปรูปอย่างพื้นๆ สินค้าเกษตรส่งออกส่วนใหญ่นั้นเป็นสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ ส่งออกข้าว ส่งออกมันสำปะหลัง ส่งออกยางพารา ซึ่งก็คือยางแผ่นดิบ ไม่มีมูลค่าเพิ่ม ฉะนั้น ในแต่ละปีแม้การส่งออกจะไปได้อยู่ แต่ก็เห็นแล้วว่าภายใน 5-10 ปี อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมันจะอยู่ไม่ได้ อุตสาหกรรมที่พัฒนาตามเทคโนโลยีเราก็ไม่มี เราครึ่งๆ กลางๆ ไฮเทคก็ไม่ไฮเทค โลว์เทคก็ไม่โลว์เทค ลักษณะเช่นนี้จะไปต่อได้ลำบากมาก

สองสิ่งนี้เมื่อเราเห็นกับตา ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นระบบพรรคการเมือง เห็นนักการเมือง เห็นระบบเลือกตั้งของเรา ผมรู้ทันทีว่าถ้าประเทศไทยไม่ปฏิรูป การพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศจะไม่มีทางยั่งยืน

การที่ผมอยู่ในซีกมหาวิทยาลัยมาก่อน รู้เลยว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสทำงานวิจัยที่ตนเองต้องการ งบประมาณทางวิจัยมีจำกัด อาจารย์หลายส่วนดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด สอนหนังสือ แย่งกันสอน โครงการเพื่อผู้บริหาร เพราะนั่นคือการมีรายได้สูง แต่ความก้าวหน้าทางวิชาการและความเชื่อมโยงระหว่างวิชาการกับความเป็นจริงในภาคเอกชนและภาครัฐบาลนั้นมีน้อยมาก

เราเคยมีทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) เป็นที่รวมของคนที่มีความรู้ สร้างงานวิจัย แต่ทีดีอาร์ไอก็ต้องดิ้นรนเพื่อดำรงให้ตัวเองอยู่ได้ ฉะนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่เคยมี think tank เลย สภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ก็ไม่อาจเป็น think tank ของเราได้ เพราะว่ารับโจทย์อย่างเดียวจากภาครัฐบาล งานก็ทำแทบไม่ไหวแล้ว

ในขณะนั้นเรารู้เลยว่าประเทศไทยเริ่มมีปัญหา การเมืองก็มีปัญหา เริ่มมีการประท้วงบนถนน เศรษฐกิจก็เริ่มมีปัญหา ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่ล้าสมัย ความไม่เท่าเทียมในสังคมก็มีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้พยายามไปพูดที่งานประชุมของสมาคมเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเขาจัดทุกปี เตือน 3-4 ปีต่อเนื่องว่าการปฏิรูปนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องทำให้ได้ ก่อนที่มันจะสาย

แต่ในความเป็นจริงของการเมืองนั้นลำบากมากๆ บางทีเห็นว่าสิ่งนี้ต้องทำ แต่ทำไม่ได้เลยในระบบการเมืองในอดีต เพราะว่าทุกพรรคจะเน้นอนาคตข้างหน้าอันสั้น เพราะจะมีการเลือกตั้ง หลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องทำระยะยาว กลายเป็นเรื่องที่ไม่เร่งด่วนที่จะต้องทำในขณะนั้น

ไม่มีใครกล้าลงทุนในสิ่งซึ่งเป็นระยะยาว เพราะว่าต้องสร้างสมดุลระหว่างระยะสั้นกับระยะยาว ฉะนั้นปัญหาต่างๆ ก็หมักหมมอยู่ตรงนั้น

ขอทำสิ่งที่คั่งค้างในใจกับ 2 ภารกิจ

และแล้วมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นเมื่อปี 2549 เหมือนรถยนต์ชนกันสองคัน เปรี้ยงเข้ามาจนผมกระเด็นออกนอกรถ กระเด็นออกไปเป็นเวลา 10 ปีเต็มๆ ไม่เคยคิดว่าจะต้องกลับมาอีกเลย ชีวิตปักหลักแล้วในอาชีพที่มีอยู่ ไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ไปเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ไปเป็นที่ปรึกษาภาคเอกชน

แต่แล้วจู่ๆ ก็ต้องกลับมา การกลับมาครั้งนี้ ผมตั้งใจอย่างยิ่งที่ต้องการทำในสิ่งที่ต้องทำ ทำในสิ่งซึ่งยังคั่งค้างอยู่ในใจว่าเรายังทำไม่สำเร็จ โชคดีว่าในช่วงเวลา 10 ปีนั้น การเดินทาง การติดตามข่าวสาร การศึกษาด้วยตัวเองเพิ่มเติม การดูงาน ทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่าง ซึ่งเก็บไว้ในใจว่าเป็นสิ่งที่จะมาพัฒนาประเทศของเราได้

ฉะนั้นเมื่อกลับมาอยู่ในตำแหน่งการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ภารกิจมี 2 อย่างชัดเจน หนึ่ง คือ ทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจซึ่งกำลังตกต่ำขณะนั้นทรุดต่ำลง ขณะนั้นอยู่ที่ 0.9% ของจีดีพี วันนี้เรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็นอีกแล้ว วันนี้อยู่ที่ประมาณ 4% แล้ว และปีนี้จะดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

แต่ภารกิจที่สอง เป็นภารกิจที่สำคัญกว่า คือ จะทำอย่างถึงจะ “ปฏิรูป” ประเทศได้ ฉะนั้นเมื่อเข้าไปอยู่ในตำแหน่ง แทบจะไม่ต้องคิดหรือศึกษาเลย ผมและคณะที่ทำงานด้วยกันก็ทำทีละเรื่องๆ ออกมา

เรื่องแรก คือ เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ทำไมประเทศไทยคนส่วนใหญ่ถึงยากจน เพราะ 30-40 ล้านคนเป็นเกษตรกรที่อาศัยการยังชีพในสิ่งซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ราคาต่ำ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีภัยธรรมชาติ หรือราคาโลกไม่ดี แล้วคนที่ผลิตขึ้นมาได้มีไม่ถึง 10% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ คน 30-40 ล้านคน แชร์กันอยู่แค่ไม่ถึง 10% แล้วจะไม่จนยังไงไหว

ฉะนั้น ถ้าเรายังใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเดิมๆ ข้าวราคาต่ำ เราก็จำนำ จำนำไปๆ ชักเพี้ยน เริ่มไปเป็น 15,000-16,000 บาทต่อตัน กลายเป็นจำนำเสีย ลักษณะเช่นนี้นอกจากเป็นการผัดวันประกันพรุ่ง ชาวนาดีได้เพราะราคาที่คุณประกันเอาไว้ แต่ความเสียหายมันเกิด

ขณะเดียวกันเกษตรกรชาวนาไม่เคยได้รับการพัฒนา ไม่รู้วิธีการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าทำอย่างไร ไม่รู้ว่าจะทำสินค้าเหล่านี้ขายในตลาดโลกได้อย่างไร ทุกอย่างผ่านพ่อค้าคนกลาง พ่อค้าข้าว

แล้วไม่ใช่เฉพาะข้าว แต่ยังมียางพารา คนเกือบ 20 ล้านคน เดิมทีผลิตแค่ภาคใต้แห่งเดียว แต่ต่อมาขยายไปทางภาคอีสาน ภาคเหนือ เพิ่มขึ้นมาไม่รู้กี่เท่า ผมบินไป จ.จันทบุรีกับตราด มองลงมาข้างล่างควรจะเป็นสวนผลไม้ แต่ปรากฏว่ามีแต่ต้นยาง

15 ปีที่ผ่านมาซัพพลายมหาศาล ดีมานด์มีจำกัด แต่ซัพพลายของเราเหมือนเดิม น้ำยางข้น น้ำยางดิบ ยางแผ่นดิบ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงใน 15 ปีที่ผ่านมา สินค้าแปรูปยางมีน้อยมาก ลักษณะเช่นนี้เมื่อมาเจอกับภาวะโอเวอร์ซัพพลายยางในตลาดโลก คุณจะให้ราคายางสูงขึ้นได้อย่างไร

ถ้าเรายังใช้วิธีว่าถึงเวลาแล้วก็ช่วยเหลือกันไป ไม่ได้ดูว่าจะพัฒนายางยังไง คน 20 ล้านคนจะมีชีวิตอยู่ที่การกรีดยาง การขายยาง ซึ่งไม่มีมูลค่า พอรัฐบาลไม่ประกันราคา ก็กลายเป็นว่ารัฐบาลละทิ้งชาวสวนยาง กระแทกกระทั้นอย่างนี้ ด้วยวิธีการอย่างนี้ นี่แหละการเมืองไทยที่ผ่านมาแทนที่จะแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า ไม่แก้

ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ เราไม่ได้เอาตัวสินค้าเป็นตัวตั้ง สิ่งที่อยู่ในใจก็คือว่า สินค้าเหล่านี้เราจะต้องพยายามที่จะทำให้ราคามันพอเหมาะ ซึ่งเราสนับสนุนได้ เราไม่ต้องการเห็นประชาชนลำบาก ฉะนั้นในช่วงสั้น อะไรที่ช่วยได้ เราช่วย

แต่ในการ “ปฏิรูปเกษตร” นั้น เราเอาเรื่อง “พื้นที่” เป็นตัวตั้ง แปลว่าเราเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง ชุมชนนั้นเหมาะที่จะผลิตอะไร ผลิตพอสมควร และสิ่งที่ผลิตจะต้องเพิ่มมูลค่าให้ได้ และพยายามให้เกิดความหลากหลายของการเพาะปลูก ไม่ใช่ปลูกอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้กระทรวงเกษตรฯ พยายามผลักดันให้เกิดการเพาะปลูกหลากหลายในทั่วทั้งประเทศ

ขณะนี้งบประมาณลงไปแล้ว การจูงใจให้ประชาชนปลูกในสิ่งที่ปลูกแต่พอควร ฤดูที่ไม่ควรจะปลูกก็อย่าปลูก ให้เงินสำหรับที่จะไปปลูกอย่างอื่น มีโปรแกรมที่จะสอนให้เขาทำเป็น ลักษณะเช่นนี้ก็คือ สร้างความปลอดภัย สร้างกันชนให้เกษตรกร

ที่เรียกว่าใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะต้องการสร้าง “เกษตรกรพันธุ์ใหม่” เรามองไปที่เกษตรกรซึ่งสามารถพัฒนาได้ให้เป็นผู้นำในชุมชน เป็น “สมาร์ทฟาร์เมอร์” พยายามเอาเทคโนโลยีลงไป พยายามให้เขาสามารถนำลูกน้องของเขา นำเพื่อนของเขาภายในหมู่บ้านให้ทำตามเขา เพาะปลูกในสิ่งที่มีมูลค่า เชื่อมโยงกับตลาด เป็น market driven agriculture ไม่ใช่ supply driven

ไม่ใช่ว่าปลูกข้าวอย่างเดียว แต่ต้องดูว่าตลาดต้องการอะไร และต้องพยายามเชื่อมโยงระหว่างตลาดกับผู้เพาะปลูก ขณะนี้รัฐบาลพยายามประสานงานกับบรรดาตลาด สร้างตลาดเพื่อมารองรับสินค้าเหล่านี้

แล้วคอยดูว่าถ้าทำในสิ่งเหล่านี้ได้ ผู้ประกอบการเกษตรกรสามารถพัฒนาตัวเองได้ เอานามาร่วมกันใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก พยายามสร้างแหล่งน้ำให้มากขึ้น พยายามให้สินเชื่อมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ในอนาคตข้างหน้า เราต้องการสร้าง “วิสาหกิจชุมชน” ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน

เรารู้ว่าชุมชนยังขาดความรู้ แต่มีสินค้า ถ้าเราสร้างวิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างการค้าแบบ อีคอมเมิร์ซได้ในชุมชน สามารถสร้างตลาดประชารัฐในชุมชน สินค้าเหล่านี้ก็จะเริ่มเชื่อมโยงต่อกัน ไปจำหน่ายในที่ต่างๆ ได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป

แต่หัวใจสำคัญที่สุดของวิธีการนี้ก็คือ เราไม่ได้ต้องการเฉพาะเรื่องเกษตร แต่เราต้องการเชื่อมโยง “การท่องเที่ยว” ให้เข้าไปสู่ชุมชนเหล่านั้น ปีล่าสุดประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว 35 ล้านคน แต่ไปกระจุกอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย

คนเหล่านี้กระจุกอยู่ตามเมืองใหญ่ เราต้องการให้การท่องเที่ยวไม่ใช่สักแต่โปรโมทดึงคนมาท่องเที่ยว เราต้องการให้เขาไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง รถไฟจะต้องเป็นตัวเชื่อมที่ดี ไม่ใช่มีถนนอย่างเดียว การรถไฟจะถูกชูธงให้เป็นพาหนะหลักในการพัฒนาท้องถิ่น ในอนาคตข้างหน้า รถไฟจะวิ่งเชื่อมเมืองต่อเมือง นำนักท่องเที่ยวลงไปที่ชุมชน

ถ้าเราสามารถนำนักท่องเที่ยวไปที่ชุมชนได้ โดยสามารถพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมในชุมชน ให้รองรับนักท่องเที่ยวได้ สินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่น นำมาขายนักท่องเที่ยวได้ สามารถขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซได้ ข้าวยี่ห้อต่างๆ ที่สามารถผลิตขึ้นมาได้ มีแบรนด์ดิ้ง มีแพคเกจจิ้งที่ดี มีการดีไซน์ที่ดี มันสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ ถ้าทำพื้นที่แบบนี้ให้ปรากฏทั้งประเทศไทย

Local but Global – เปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม

ความคิดอ่านอย่างนี้ ผมได้จากการไปญี่ปุ่น ไปเมืองจีน ทำไมชาวนาญี่ปุ่นถึงรวย เพราะสหกรณ์เขาเข้มแข็ง เขาปลูกพืชที่หลากหลาย เขาแปรรูปสินค้าทุกอย่าง แล้วดึงท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชนของเขา สร้างชุมชนให้งดงาม มีระเบียบ อาหารอร่อย เงินก็ไหลสะพัดจากส่วนกลาง จากเมืองใหญ่ เข้าสู่เมืองรอง เข้าสู่ชุมชน

นี่คือการที่บอกว่าจะทำให้ท้องถิ่นแข็งแรงได้อย่างไร ผมเรียนใน ครม. ว่านี่คือ local economic ไม่ใช่ export-led economy ประเทศจะเจริญได้นั้น local เหลือแล้วค่อยส่งออก ไม่ใช่ระดมส่งออก แต่ที่เหลือไม่มีจะกิน

ฉะนั้น 30 ปีที่ผ่านมาที่เราภูมิใจว่าเศรษฐกิจของเราติดจรวด ยุคนั้นเป็นยุค 30 กว่าปีที่แล้ว ผลิตเพื่อส่งออก แต่ว่าสร้างความผิดพลาดเอาไว้ก็คือ ความเจริญซีกนี้มีอานิสงส์ไปสู่อีกซีกหนึ่งน้อยมาก ฉะนั้น ลักษณะเช่นนี้คือสิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง ทำเกษตรให้ทันสมัย มีมูลค่า และเชื่อมกับโลก

เราใช้คำว่า “local but global” ผลิตในท้องถิ่นให้ดี แต่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย สามารถค้าขายไปยังโลกได้ จะทำยังไงให้เกษตรกรเห็นสิ่งเหล่านี้ มีความคิดในสิ่งเหล่านี้ แพร่ไปทั้งประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะแค่ในกรุงเทพฯ

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือ export-led economy ที่รุ่งเรืองกันมา 30 ปี มันเริ่มไม่สามารถแข่งขันกับชาวบ้านได้ สิ่งทอไปก่อน เครื่องหนังไป อิเล็กทรอนิกส์บางอย่างไปอยู่เวียดนามหมดแล้ว ของเราเหลื่อแค่เครื่องซักผ้า ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ชิ้นส่วน ที่เหลือก็คือสินค้าอุตสาหกรรมธรมดาๆ และสินค้าเกษตร โครงสร้างเศรษฐกิจเหล่านี้ ท่านคิดว่าจะทำให้เราเติบโตได้อย่างยั่งยืนจริงหรือเปล่า

เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วพบว่าเรามีเวลาไม่มาก อย่างมาก 5-7 ปี ฉะนั้น สิ่งที่ต้องการก็คือเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเสียใหม่ ดูว่าอุตสาหกรรมที่เราเคยมีสามารถยกระดับได้มั้ย อาหารที่เป็นเกษตร ทำอย่างไรที่จะสร้างอาหารในอนาคตได้ ทำอย่างไรจะแปรรูปได้

ทำอย่างไรจะไปสู่ไบโออีโคโนมีได้ เศรษฐกิจบนฐานของการเกษตร การเกษตรเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมาร์จิน 100% เป็นของคนไทย
หรือเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ปิโตรเคมีคัลชั้นสูง หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเราทำได้แน่นอน เพราะเราเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ค่อยๆ identify ทีละอย่างๆ และเริ่มใช้มาตรการทางภาษีจูงใจให้คนมาลงทุนในสิ่งเหล่านี้

อุตสาหกรรมที่เราเลือกมาเหล่านี้เรามั่นใจ แต่ปัญหาก็คือใครจะมาลงทุน เรามีแค่แหลมฉบัง มาบตาพุด ถ้าไม่ทำอะไรเลย เขาไปที่อื่นแน่นอน ฉะนั้น โครงการอีอีซี (พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) มันจึงเกิด ต่อยอดสิ่งที่มี กันพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเหล่านี้

โครงการคมนาคม รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ก็เกิดขึ้นตาม ประเทศไทยมีคนมาเที่ยวปีละ 35 ล้านคน กลายเป็นฮับของการบินโดยปริยาย เมื่อสายการบินผ่านสถานที่เหล่านี้บ่อยๆ ก็มีการซ่อมบำรุง เราจึงเอาอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางของการซ่อมทางการบิน เป็นศูนย์กลางการบินของประเทศ และอย่าคิดว่าเราคุย มีคนสนใจมากทีเดียว อยู่ที่ว่าเราจะคัดเลือกเขาให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยให้ได้มากที่สุดได้อย่างไร ฉะนั้นเราจึงต้องสร้างอีอีซีเพื่อรองรับ

แต่อีอีซีนอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว สิ่งสำคัญคือการผลิต “คน” ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปต่างประเทศ เขาถามผมว่าเรามีคนไหม ผมบอกว่ามี เขาถามว่าคุณมีมนุษย์พันธุ์ดิจิทัลไหม ผมบอกว่ามี ในใจรู้ทั้งรู้ว่าไม่มี แต่ถ้าผมบอกไม่มี เขาก็ไม่มา พอเราบอกว่ามี ก็ต้องกลับมาพยายามบอกอธิการบดีทั้งหลายว่าช่วยกันหน่อย แต่คิดไปคิดมามันไม่ทัน เมื่อไม่ทันก็เสนอว่ามหาวิทยาลัยต่างประเทศมาลงได้เลยที่อีอีซี

แต่เดิมไม่ให้เขามา เพราะมองว่าจะมาแย่งอาชีพคนไทย คิดแบบนี้ได้ยังไง ผลิตคนยังไม่ทันเลย เรารู้ว่าปีหนึ่งเราต้องการมนุษย์พันธุ์วิศวะเท่าไหร่ หมอเท่าไหร่ ช่างเท่าไหร่ แต่เราไม่เคยสนใจ แต่ละมหาวิทยาลัยผลิตคนของตัวเองตามต้องการ ผลิตบุคลากรเชิงปริมาณ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขณะนั้นมีน้อยมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะผลิตคนอย่างไร ท่านต้องช่วยผม

เวลาคุณไปเมืองจีนสังเกตไหม ในช่วงไม่ถึง 5 ปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวกระโดด ในอดีตเขาเติบโตได้เพราะดึงการลงทุนจากต่างประเทศมาที่เมืองใหญ่ของเขา แต่วันนี้เขาเติบโตโดยดิจิทัล ดิจิทัลกลายเป็นสิ่งที่ทำให้จีนเติบโตแบบทวีคูณ

คนจีนที่เคยมีอาชีพรับจ้างผันตัวเองมาเล่นกับมือถือ พอรัฐบาลเขาสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี เขาคิดค้น business model ใหม่บนมือถือ เขาเริ่มคิดธุรกิจ เขาไม่ได้รับจ้างตลอดกาล เขาเป็นเจ้านายตัวเอง มีสายเลือดของพ่อค้าอยู่ในตัว

วันนี้จีนเปลี่ยนคนเป็นล้าน เปลี่ยนจากแรงงานรับจ้างกลายเป็นพ่อค้าที่ออกมาเสี่ยงโชค แต่เดิมถ้ามีบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่ 50 บริษัท จ้างงานได้ปีละเท่าไหร่ ขายของอย่างเก่งปีละเท่าไหร่ แต่ถ้าหากว่าท่านสามารถขยายธุรกิจเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเอสเอ็มอี เอสเอ็มอีหนึ่งจ้างคนสิบคน สินค้าที่เคยขายไม่ออกเพราะสู้รายใหญ่ไม่ได้ สมัยนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะขึ้นอยู่กับ business model เมื่อคิดโมเดลใหม่ สินค้ามีนวัตกรรม ขายผ่านออนไลน์ สิ่งกีดขวางก็ไม่มี

ฉะนั้น หนึ่งคน แต่เดิมทำอะไรไม่ได้ แต่วันนี้สามารถสร้างสินค้าได้ แล้วขายจากจุดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง ไปอีกประเทศหนึ่ง ไปประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ เกิดการจ้างงานทวีคูณ แต่เดิมเราเจริญเพราะส่งออกเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม รัฐบาลจ่ายเงินมากขึ้น ส่งออกมีมากขึ้น มันเป็นเส้นตรงใช่มั้ย แต่วันนี้แต่ละคนแตกหน่อ คนจีนมีล้านสตาร์ทอัป เกิดธุรกิจขึ้นมาล้านแห่ง จีดีพีเพิ่มเท่าไหร่ เป็นการเติบโตเชิงทวีคูณ ฉะนั้นผมก็เก็บมาอยู่ในใจ

ฉะนั้น ถ้าเราเอาโมเดลเรามาคิดกลับกัน ระบบเมืองไทยที่เป็นอย่างนี้ถูกต้องหรือ มีบริษัทใหญ่นับนิ้วได้ ไปไหนมาไหนก็เห็นแต่ซีพี สยามซีเมนต์ ปตท. ไทยเบฟฯ หุ้นมีอยู่กี่ตัวในตลาดหุ้น ประเทศอย่างนี้จะเติบโตไปได้อย่างไร มันไม่ได้

รายใหญ่เหล่านี้ดี ให้เขาไปแข่งกับตลาดโลก แต่เราต้องสร้างสตาร์ทอัปให้เกิดขึ้นมาให้มากที่สุดในประเทศไทย ยิ่งมากเท่าไหร่ก็เติบโตได้มากเท่านั้น ประเทศยิ่งเจริญเท่านั้น แต่สตาร์ทอัปจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

แน่นอนว่าสตาร์ทอัปเกิดจากครีเอทีฟ เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ แต่ในอนาคตข้างหน้ามันเกิดจาก “เทคโนโลยี” แน่นอน แล้วมันก็มาจากมหาวิทยาลัย มาจากเอกชน มาจากรัฐบาล สามขานี้ต้องเชื่อมต่อกัน รัฐบาลต้องให้ทุน เอกชนต้องให้ทุน ชี้เป้าว่าคุณผลิตอะไรมา มหาวิทยาลัย อาจารย์ทั้งหลายก็ต้องรู้เลยว่าคุณต้องทำอะไร วิจัยอะไร เกิดนวัตกรรมอะไร ออกมาแล้วตลาดรองรับทันที

ที่ผ่านมาในอดีต ผลิตงานวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง เป็นนวัตกรรมแห่งชาติ รอให้คนมาประมูล คนละเรื่องคนละราวกัน ซึ่งทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เมืองจีนทำ เกาหลีใต้ก็ทำอย่างนี้ หนึ่งอุตสาหกรรมก็จะมีเอกชนรายใหญ่เป็นเจ้าภาพ เอกชนรายนี้จะลงขันกันให้เงินกับนักวิจัยใหม่ๆ อาจจะเป็นอาจารย์หรือนักศึกษา คิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา

เมื่อได้สิ่งใหม่แล้ว เอาสิ่งนั้นทำให้เกิดเป็นธุรกิจขึ้นมา เกิดเป็นสตาร์ทอัปขึ้นมา ประเทศของเราจึงเต็มไปด้วยสตาร์ทอัป ประเทศอย่างนี้เหมือนกับปลูกป่าเต็มประเทศ ความชุ่มชื้นมันก็เกิด ไม่ใช่มีอยู่ไม่กี่แท่ง ยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย ทั้งป่ามีแต่เขาหัวโล้น แล้วก็มีต้นไม้ไม่กี่ต้น

นี่คือความฝันที่เราฝันว่า เราอยากจะให้ประเทศไทยเป็นสตาร์ทอัป ดิจิทัลต้องเกิด เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราจึงจัดงานไทยแลนด์สตาร์ทอัป ดิจิทัลไทยแลนด์ขึ้นมา เอาหัวเหว่ยมาช่วยเรา เพราะต้องการสร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นให้มากที่สุด

ผมเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยมาประชุมร่วมกันว่าเรามารวมหัวกันมั้ย มหาวิทยาลัยตกลงกันเลยว่ามหาวิทยาลัยไหนเก่งเรื่องอะไร ทำเป็น consortium เรื่องงานวิจัย รัฐบาลสนับสนุนให้ เช่น เรื่องไบโอเทค กี่มหาวิทยาลัยทำร่วมกัน มีอาจารย์ใครบ้างมาร่วมกัน พัฒนามันขึ้นมา เพราะการวิจัยสิ่งเหล่านี้มันจะเกิดสตาร์ทอัป เกิดนวัตกรรม เกิดเป็นธุรกิจในอนาคตข้างหน้า มันจะเกิดพลัง
ครั้งหนึ่งอเมริกาถูกญี่ปุ่นตีแตก เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นรุกตีตลาดอเมริกาเรียบวุธ อิเล็กทรอนิกส์เป็นของญี่ปุ่นหมด แต่อเมริกาตีตื้นด้วยการสร้าง consortium เชิงเทคโนโลยี เริ่มที่ซิลิคอนวัลเลย์ จนสามารถพัฒนานวัตกรรมก้าวกระโดดข้ามญี่ปุ่น ส่วนญี่ปุ่นไปถึงจุดพีคแล้ว หายไปเลย

ฉะนั้นคำว่า 4.0 หมายถึงในส่วนเหล่านี้ เราต้องสร้างดิจิทัลขึ้นมา เอาเทคโนโลยีเป็นตัวหลัก ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ ธนาคารขณะนี้ไม่ว่าจะธนาคารรัฐหรือเอกชนก็พยายามให้การสนับสนุน แต่เรายังขาดแองเจิลฟันด์ คือทุนที่ลงมาแล้วไม่หวังผลระยะสั้น ทิ้งไว้เพื่อระยะยาว นี่คือความฝันของผม

อนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับนวัตกรรม ซึ่งจะพัฒนาเชิงการค้าได้ต้องมีผู้ประกอบการ ฉะนั้น ขอให้มหาวิทยาลัยเปิดโปรแกรมผู้ประกอบการ แต่ที่ผ่านมาสาขาใหม่ๆ ไม่เคยมีในเมืองไทย นี่คือข้อจำกัดที่มหาวิทยาลัยต้องลุกขึ้นมาตื่นตัว อาจารย์เป็นกลุ่มคนเสียงดัง มีดอกเตอร์เป็นพันเป็นหมื่นคน แต่เสียงดังแต่เฉพาะในมหาวิทยาลัย ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องแก้

ผลิต “คน” คุณภาพ รับการเปลี่ยนแปลง

ผมไม่ได้รับการมอบหมายให้ดูเรื่องการศึกษา แต่ผมขอเข้ามายุ่ง เพราะการศึกษาคือหัวใจของชาติ ผมเล่าสิ่งนี้ให้ฟังเพื่อให้เห็นความเชื่อมต่อว่า ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าเป็นช่วงพลิกผันสำคัญของประเทศไทย เราจะเห็นว่าของเก่ากำลังเสื่อม ถ้าไม่สามารถสร้างสิ่งใหม่ ความเสื่อมนั้นจะทำให้ทั้งประเทศเสื่อมตามลงไป

ผมหมดเวลาไปแล้ว 3 ปี เหลือเวลาอีก 1 ปี แต่อยากเล่าให้ฟังและนำไปพัฒนาต่อ ซึ่งก็สบายใจมากขึ้นที่สิ่งที่ผมเคยพูดและอยากเห็นขณะนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยบ้างแล้ว นักศึกษารับโจทย์ไปแล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรที่จะขยายผลให้มากมายทั้งประเทศให้ได้

ฉะนั้น เมื่อแผนของประเทศไทยเป็นอย่างนี้ มหาวิทยาลัยจะผลิตคนประเภทไหน สาขาที่มีอยู่แล้วก็เป็นสาขาที่ดี ก็ผลิตไป แต่ผลิตแต่พอเหมาะพอควร แล้วดูว่าประเทศจะเดินไปสู่ทางไหน ก็ผลิตให้มากขึ้น

ผมจะใช้งบประมาณเป็นตัวตัดสินว่าแต่ละมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตเหล่านี้เพียงพอหรือไม่ ด้านไหนที่จะช่วยกันส่งเสริมก็ช่วยกันผลิตให้มากขึ้น วันนี้ประเทศไทยจะไม่มีการพัฒนาถ้าขาดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม

แต่สิ่งหนึ่งที่เราเก่งคือเรื่อง creativity ครีเอทีฟอีโคโนมีคือจุดแข็งของไทย แต่น่าเสียดายที่ไม่มีกระทรวงที่ดูแลรับผิดชอบครีเอทีฟอีโคโนมีอย่างจริงจัง ผมอยากเห็นมหาวิทยาลัยให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น

แต่เมื่อดูความเป็นจริงในสังคมวันนี้ เราต้องการปริญญาตรีเยอะจริงหรือ ทุกประเทศในเอเชียตอนนี้เขาเน้นผลิตอาชีวะ เน้นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะ เช่น ช่างฝีมือ ประเทศไทยก็มีอาชีวะ แต่เป็นไปได้ไหม เราอยากให้ช่างเหล่านี้ไม่ใช่จบออกไปแล้วไปเป็นแรงงานรับจ้าง แต่ให้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีก 2 ปีได้ไหม แล้วมหาวิทยาลัยก็ให้ความรู้เรื่องบัญชี เรื่องธุรกิจ เรื่องการตลาด เพื่อให้เขามีทักษะในเป็นสตาร์ทอัปขึ้นมา แล้วให้ปริญญาตรีไป ถ้าทำอย่างนี้ได้ จะแก้โจทย์ใหญ่ของประเทศได้

ในวันข้างหน้าอุตสาหกรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้หุ่นยนต์ เพราะมันลดต้นทุน ภาวะอย่างนี้คุณจะเอาคนล็อตเก่ามาให้ความรู้เป็นไปไม่ได้เลย ก็เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยผลิตคนล็อตใหม่เข้ามาเสริม ส่วนล็อตเก่าจะไปทำอะไร ก็ต้องถามตัวเองก่อน

ผมก็กลับไปสู่พื้นฐานว่า ภาคบริการของประเทศไทยวันนี้ใหญ่มาก 60% ของจีดีพีมาจากภาคบริการ และส่วนใหญ่อยู่ในภาคก่อสร้าง ช่าง ท่องเที่ยว แล้วทักษะของการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่โรงแรม แต่มีตั้งแต่ร้านอาหาร สปา ไกด์ ทัวร์ จิปาถะ ถ้าท่านสามารถสร้างบุคลากรให้มีอาชีพเหล่านี้ได้ จะกลายเป็นภาคที่ใหญ่มากในการรองรับอนาคตแรงงานไทย แต่ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้

หรือในมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในหลวงรัชกาลที่ 10 เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าคือมหาวิทยาลัยที่พัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง นั่นคือภาคแรกที่ผมพูดเมื่อสักครู่นี้ คุณจะลงไปช่วยเขาทำอะไรได้บ้างในด้านเกษตร ช่วยสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้อย่างไร ช่วยพัฒนาสินค้าชุมชนให้ดีขึ้นทำอย่างไร สอนให้ทำตลาดเป็น ให้มีการท่องเที่ยวชุมชนทำอย่างไร นั่นคือหน้าที่หลายอย่างของมหาวิทยาลัยราชภัฏ แทนที่จะไปสร้างปริญญาเอกแล้วตกงาน

ฉะนั้น อยากให้มานั่งรีวิวดูว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งประเทศจะสามารถกำหนดตัวเองได้อย่างไรว่าเราจะทำอย่างไรในอนาคต จะพัฒนาท้องถิ่นได้ยังไง ถ้าเราสามารถแบ่งงานกันได้ชัดเจน ราชภัฏผลิตครูอย่างเดียวให้มีคุณภาพบวกกับพัฒนาท้องถิ่น

ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ทำในสิ่งที่ถนัด แล้วร่วมกันเรื่องงานวิจัย จัดเป็นทีมร่วมกันทำเป็น consortium ของบฯ จากรัฐบาล แล้วร่วมมือกับภาครัฐบาล ภาคประชาชน ทำในสิ่งเหล่านี้ คุณก็จะสามารถผลิตบัณฑิตที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

ปลูกฝังคนรุ่นใหม่รับผิดชอบสังคม-มหาวิทยาลัยเชื่อมการเมือง

ที่สำคัญคือต้องปลูกฝังจิตใจให้บัณฑิตรุ่นใหม่มี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ผมเรียนมหาวิทยาลัยช่วง 14 ตุลาคม ไปเดินขบวนกับเขา จำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง แต่รู้ว่าเรามาเรียนหนังสือ เสียค่าเทอมราคาถูกจากภาษีประชาชน วันหนึ่งข้างหน้าต้องตอบแทนบุญคุณมหาวิทยาลัย ตอบแทนบ้านเมือง ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญ

ถ้าได้บัณฑิตที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม คุณกำลังจะผลิตโจรที่ฉลาด คุณยิ่งผลิตคนเก่งแต่ไม่มีจริยธรรม บ้านเมืองก็ไปไม่ได้ เรื่องนี้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องปลูกฝังบุคลิกนอกเหนือจากการปลูกฝังทักษะ บุคลิกของความซื่อสัตย์ รับไม่ได้กับการคดโกง บุคลิกรู้จักกตัญญูกตเวที บุคลิกที่รู้จักการตอบแทนบ้านเมือง ในประเทศที่เจริญแล้ว วินัยการพัฒนาบุคลากรคือหัวใจ

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในที่รวมของคนมีสมอง ถ้าสมองถูกแยกออกจากการเมืองเลย คุณจะได้การเมืองที่ไม่ค่อยมีสมอง ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเช่นกันที่ต้องเชื่อมต่อกับภาคการเมือง แต่ไม่ใช่เชื่อมต่อให้เกิดความขัดแย้ง

แต่ไปเชื่อมต่อในด้านวิชาการ เอาองค์ความรู้ไปเป็นนโยบาย ใครสนใจพรรคการเมืองไหนไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่มีกฎหมายข้อไหนห้าม เพราะการเมืองไม่ใช่สิ่งสกปรก มันสกปรกเพราะคน เราต้องเอาคนสะอาดเข้าไปล้างสิ่งสกปรก ถ้าคุณได้คนดีเข้าไป การเมืองก็ดี

แต่ถ้าคนเก่งอยู่ในเฉพาะมหาวิทยาลัย ส่วนบ้านเมืองเป็นยังไงไม่รู้ แล้วเราจะบ่นทำไม เพราะเราไม่เข้าไปเลย ฉะนั้นการที่เราต้องการประชาธิปไตย เราต้องการสิทธิ มันมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

คนที่เข้าไปในการเมืองขณะนี้ ผมถือว่าเขาเสียสละมาก ฉะนั้นผมอยากให้เผยแพร่ออกไปว่า การเมืองเป็นสิ่งที่ดี ประชาธิปไตยนั้นพรรคการเมืองต้องเข้มแข็ง อาจารย์ต้องมีส่วนร่วมเอาวิชาการเข้าไปอยู่ในการเมือง

ทุกพรรคการเมืองถ้ามีอาจารย์อยู่ มีนโยบายที่ดี แข่งขันด้วยพรรคการเมืองที่มีความรู้ ประเทศไทยถึงจะเจริญ ไม่ว่าพรรคไหนก็แล้วแต่ ขอให้เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ อย่าไปคิดว่าการเมืองย่ำแย่ อย่าไปยุ่งกับมันเลย คิดอย่างนี้ไม่ได้

ผมพูดอย่างนี้เพราะว่า อีก 1 ปีข้างหน้ากำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งสำคัญมาก ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านแบบนี้ พวกท่านทุกคนต้องมีบทบาท เพื่อตัวพวกท่านเอง

ผมอายุ 65 แล้ว อีกปีเดียวก็พ้นแล้ว อยากจะส่งไม้ต่อลงไป เข้าการเมืองนั้นมันฝึกความอดทน ฝึกความอดกลั้น แล้วรู้ว่าโลกแห่งความเป็นจริงนั้นจะดำเนินไปอย่างไร ทำอย่างไรให้บ้านเมืองเจริญ ให้มีความสามัคคีกัน ทำไมผมถึงพูดคุยกับอธิการบดีได้ทั้งประเทศ ทั้งที่ผมไม่ใช่นักการเมือง แต่เพราะเราคุยกันด้วยหลักการ

แล้วสิ่งที่รัฐบาลทำ สิ่งที่มหาวิทยาลัย สิ่งที่นักศึกษาทำวันนี้มีประโยชน์ แต่อย่ามาดูกันเอง คุยกันเอง แต่ต้องทำให้เผยแพร่ เพื่อจะทำให้ไทยแลนด์ 4.0 เป็นความจริง