ThaiPublica > คอลัมน์ > หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

7 มีนาคม 2018


นายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง

บทนำ

ทุกคนไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวย อยากมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่จำเป็นต้องไปรับบริการที่สถานพยาบาล สามารถไปไหนมาไหนได้ และทำงานได้ตามความต้องการ เมื่อคนมีสุขภาพที่ดีเขาย่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความพึงพอใจในชีวิตและความเป็นอยู่ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป เมื่อคนอยากมีสุขภาพที่ดี เขาจะนึกถึงสถานบริการสุขภาพต่างๆ เช่น โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย เขาจะนึกถึงแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ โดยคิดว่า สถานบริการเหล่านี้และบุคคลากรทั้งหลายเหล่านั้น จะสามารถทำให้เขามีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีความสุข มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งก็เป็นความจริงอยู่มาก

โรงพยาบาล สถานบริการสุขภาพต่างๆ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ สามารถช่วยประชาชนได้มากในเวลาที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วย โดยให้การรักษาพยาบาลให้หายจากโรค และทำการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในกรณีที่มีความพิกลพิการเกิดขึ้นจากความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นๆ

ดังนั้น โรงพยาบาลระดับต่างๆ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพทั้งหลาย จึงเป็นด่านหน้าที่ประชาชนจะต้องไปขอความช่วยเหลือในเวลาที่เขามีปัญหาด้านสุขภาพ มีความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือในเวลาที่เขาต้องการที่จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น

รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็คิดเช่นเดียวกัน เมื่อต้องการให้ประชาชนของเขามีสุขภาพที่ดี ก็จะนึกถึงความสำคัญและบทบาทของโรงพยาบาล สถานีอนามัย และสถานบริการสุขภาพอื่นๆ นึกถึงแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต่างๆ ดังนั้น การลงทุนของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ในการผลักดันให้ประชาชนของเขามี “สุขภาพที่ดี” จึงเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อการรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยเป็นเบื้องแรก และการพัฒนานี้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งมุ่งไปที่การสร้างโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ศูนย์การแพทย์ ผลิตแพทย์ พยาบาล ผลิตผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทางการแพทย์ ที่เน้นและให้ความสำคัญแก่งานรักษาพยาบาลเฉพาะทาง และการฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนที่ป่วย และมีความพิกลพิการ ในขณะที่การส่งเสริมโดยตรงให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ก่อนที่จะเจ็บป่วยหรือเป็นโรค เป็นวัตถุประสงค์รองของการพัฒนาสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองไปที่ประชาชนในชุมชนโดยส่วนรวมจะเห็นว่ามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. ประชาชนที่เจ็บป่วยหรือพิกลพิการแล้ว และต้องการการรักษาพยาบาล ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพเมื่อจำเป็น บริการเหล่านี้โดยทั่วไปเป็นบริการเฉพาะทางที่มีอยู่ในสถานบริการต่างๆ ทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ และศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ต้องมีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อการให้บริการดังกล่าว แม้จะเน้นการให้บริการเฉพาะทาง แต่ก็มีบริการสุขภาพเบื้องต้น (ระดับปฐมภูมิ) ด้วย

2. ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งของประชากรในชุมชน คือ ผู้ที่อาจจะมีโรคอยู่แล้วบ้าง แต่ยังไม่แสดงอาการของการเป็นโรค หรืออาการยังไม่หนักหนา ยังไม่รู้สึกว่าเขาเป็นโรค หรือเป็นโรคที่ต้องการการรักษาพยาบาลแล้ว ประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่รู้สึกแม้กระทั่งว่าเขาเป็นโรคหรือมีโรค เพราะเขายังไปไหนมาไหนได้ ไม่ล้มหมอนนอนเสื่อ นี่เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

สำหรับประชาชนกลุ่มแรกคือกลุ่มที่ป่วยแล้ว รัฐบาลจะต้องมีหลักประกันว่า เขาเหล่านั้นจะได้รับการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ดีที่สุด มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ผู้ป่วยหายจากความเจ็บไข้ และสามารถกลับไปมีชีวิตอยู่ในชุมชนได้เหมือนเดิมให้มากที่สุด อย่างน้อยที่สุดสามารถทำอะไรๆ ให้แก่ตัวเองได้ ช่วยตัวเองและครอบครัวได้ ไม่เป็นภาระแก่ใคร ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับประชาชนกลุ่มที่ 2 นั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรจะต้องมีมาตรการเพื่อช่วยไม่ให้เขาต้องเจ็บป่วย ล้มหมอนนอนเสื่อ จนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็นหรือมีเหตุผลอันควร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องช่วยประเมินสถานการณ์ด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชนอยู่เสมอๆ เป็นระยะๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมของสุขภาพประชาชนในชุมชนนั้นๆ มีการตรวจเช็คร่างกายเพื่อการคัดกรองโรคอยู่เสมอๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสมตามอายุขัยของแต่ละคน ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านสุขภาพ ทั้งที่เป็นความรู้สมัยใหม่ และภูมิปัญญาพื้นบ้านในลักษณะที่ผสมผสานและสมดุลกันอย่างเหมาะสม ในการประเมิน วิเคราะห์ และในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน

จุดมุ่งหมายที่สำคัญในแง่นี้คือ การเตรียมการและการดำเนินงานป้องกัน ไม่ให้สุขภาพของประชาชนต้องเสื่อมโทรมและเลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่โดยไม่จำเป็นหรือมีเหตุผลอันควร เตรียมการและดำเนินการที่จะทำให้สุขภาพของประชาชนดียิ่งๆ ขึ้นไป หรืออย่างน้อยให้คงสภาพของการไม่เป็นโรคอยู่อย่างเดิมให้นานที่สุดที่จะนานได้ และประการสำคัญให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ มีศักยภาพของความสามารถในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว และการเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม เป็นพละกำลังที่มีประสิทธิภาพสำหรับช่วยผลักดันการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติให้มีความก้าวหน้า เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

มีความจริงว่าทุกๆ คนต้องมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และแก่ลงๆ อย่างไรก็ตาม ขอให้ความแก่นั้นเป็นเพียงตัวเลขของอายุ อย่าให้ศักยภาพหรือความสามารถของร่างกายในด้านต่างๆ ต้องแก่หรือเสื่อมโทรมไปตามอายุได้ง่ายๆ ดำเนินการทุกๆ อย่างเท่าที่ความรู้ความสามารถมีอยู่เพื่อให้ร่างกายและจิตใจมีพลกำลัง มีศักยภาพคงสภาพเหมือนเดิมให้มากที่สุด และนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

สุขภาพคืออะไร

เมื่อพูดถึงเรื่อง “สุขภาพดีถ้วนหน้า” ก็ให้นึกถึง คำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก (2491) ไว้ เป็นเบื้องต้นด้วย ที่ว่า สุขภาพคือ “สภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม และไม่เพียงแต่การไม่มีโรค หรือความพิกลพิการเท่านั้น” เป็นคำจำกัดความที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักคิดที่มีสายตายาวไกล สามารถสร้าง “ความปรารถนา” และสร้าง “จินตนาการ” ในเรื่องสุขภาพที่สมบูรณ์ในทุกรูปแบบตามคำจำกัดความ

แต่ในทางปฏิบัติ การที่จะไปให้บรรลุถึงสภาวะสุขภาพตามคำจำกัดความนี้คงเป็นไปได้ยากมาก หรือเป็นไปไม่ได้ตามที่หลายๆ คนมีความเชื่อ คำจำกัดความนี้มีไว้สำหรับผู้ที่มีความสนใจอย่างแรงกล้าในอันที่จะที่จะดำเนินการให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันเป็นคำจำกัดความเพื่อการสร้างจินตนาการและความปรารถนาเพื่อความพยายามในอนาคต เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าถึงระดับสูงสุดในการช่วยมนุษย์ในด้านการพัฒนาสุขภาพและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจจะพูดได้เต็มปากว่า ไม่มีใครที่จะไม่มีโรคหรือความพิกลพิการ ไม่มีใครที่จะสามารถหลีกเลียงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ ทุกๆ คนยังต้องเป็นไปตาม “ธรรมชาติ” ทุกๆ คนต้องประสบความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากมาย ทุกคนมีโรค มากบ้าง น้อยบ้าง รุนแรง ไม่รุนแรง ลดหลั่นกันไปตามสภาวะและสถานะการณ์

ดังนั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงได้ตกลงร่วมกันในปี 2520 ในสมัชชาอนามัยโลก ว่าการมี “สุขภาพดีถ้วนหน้า” หมายถึง ระดับสุขภาพที่จะทำให้ประชาชนทุกๆ คนในโลกสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่เป็นภาระแก่ใคร และมีความสามารถช่วยตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติได้ ทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ และมีความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองตามสมรรถนะและความสามารถของตน

ความหมายของสุขภาพในแง่นี้ ยอมรับความจริงที่ว่า ในสถานะการณ์ที่เป็นอยู่ ไม่มีใครที่จะไม่มีโรค หรือยอมรับความจริงว่าคนส่วนมากจะต้องมีชีวิตอยู่กับโรคในลักษณะที่แตกต่างกัน และการที่จะให้บรรลุถึงสุขภาพในลักษณะนี้นั้น ต้องมีการดำเนินงานบนพื้นฐานของความเสมอภาค และความยุติธรรมในสังคมด้านสุขภาพอย่างแท้จริง มีการเข้าถึงบริการการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง ทั้งด้านกายภาพและจิตวิทยาสังคม มีการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพประชาชนของทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และประการสำคัญ การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนทุกๆ คน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของสุขภาพโดยตรง

แม้ว่าการมีสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกๆ คน แต่ความรับผิดชอบต่อสุขภาพในเบื้องแรกเป็นของประชาชนเอง เพราะทุกๆ คนเป็นเจ้าของสุขภาพของตนดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น ทุกๆ คน ต้องเอาใจใส่ในสุขภาพของตนเอง ดูแลสุขภาพของตนอย่างดีที่สุด เท่าที่ความรู้ความสามารถมีอยู่

บทบาทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

เป็นที่แน่นอนว่า ประชาชนโดยทั่วไปไม่มีความรู้เพียงพอหรือเหมาะสม ไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสมสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพของตนเอง หรือของครอบครัว นี่เป็นหน้าที่ที่สำคัญของฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะต้องช่วยสร้างเนื้อหาขององค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และกำหนดกลไกตลอดจนกระบวนการสำหรับการให้การศึกษาในการสร้างสมรรถนะความสามารถของประชาชน และช่วยสร้างเครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับประชาชนใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองและของครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกระดับ ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน มีบทบาทที่สำคัญมากในการส่งเสริม สนับสนุน ให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ ความสามารถ ที่จะพึ่งตนเองได้ในการดูแลสุขภาพดังกล่าว

การพัฒนาประชากรให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนถาวร เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลักดันการพัฒนาประเทศทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งยั่งยืนที่แท้จริงเพื่อเป้าหมายนี้ การพัฒนาสุขภาพในระบบการดูแลสุขภาพแห่งชาติจะต้องเน้นการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคเป็นประการสำคัญ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเจ็บป่วย ล้มหมอนนอนเสื่อได้ง่ายๆ เน้นงานสาธารณสุขในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน เป็นพื้นฐานในหลักการของการสาธารณสุขมูลฐานเพื่อสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยมีการส่งเสริมสนับสนุนจากสถานบริการการดูแลสุขภาพต่างๆ โรงพยาบาลในระดับต่างๆ ตลอดจนสถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขในมหาวิทยาลัย และที่จะลืมไม่ได้คือการส่งเสริมสนับสนุนจากภาคส่วนและวิชาชีพต่างๆ เช่น การศึกษา เกษตร ปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม และอื่นๆ ตลอดจนองค์กรทั้งหลายในชุมชน ทั้งภาคเอกชนและอาสาสมัคร

การดูแลสุขภาพที่จะก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ต้องเป็นการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา วัยเด็กอ่อน วัยเด็กโต วัยเรียน วัยทำงาน และวัยชรา (ตั้งแต่เกิดจนตาย) เป็นการดูแลสุขภาพตลอดชีวิตที่ครอบคลุมเนื้อหา และกระบวนการที่กว้างขวาง ผสมผสาน และต่อเนื่อง เป็นการดูแลสุขภาพที่ต้องการความร่วมมือ ประสานงานที่มีประสิทธิภาพ จากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกระดับ ตั้งแต่ศูนย์การแพทย์ และโรงพยาบาลต่างๆ ระดับจังหวัดและอำเภอ จนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ตลอดจนบุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ทำงานด้านสุขภาพในชุมชน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพ

ได้มีการพูดกันเสมอว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพของประชาชน มี 2 ลักษณะ คือ

1. ยุทธศาสตร์เชิงรับ ซึ่งเป็นการสร้างระบบบริการสุขภาพเพื่อการดูแลรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ประชาชนที่เจ็บป่วยแล้วเป็นเบื้องแรก มีการสร้างศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาล และสถานบริการทางการแพทย์อื่นๆ ผลิตแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นในด้านต่างๆ ตามความต้องการ ยุทธศาสตร์เชิงรับมีความจำเป็นสำหรับการตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วน เฉียบพลัน ความต้องการเฉพาะหน้าของประชาชน ควรระลึกอยู่เสมอว่าความต้องการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมากที่สุดในทุกๆ วัน เป็นการเรียกร้องที่มีผลในทางสังคมมากที่สุด

ในหลายๆ กรณีของเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องของความเป็นและความตาย ดังที่กล่าวมาแล้ว โดยทั่วไป รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะให้ความสำคัญแก่งานในด้านนี้ และทุ่มเทการลงทุนจำนวนมาก เพื่อการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพไปในลักษณะเช่นนี้ ในหลักการที่ว่า เมื่อมีประชาชนเจ็บไข้ได้ป่วย เขาเหล่านั้นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด มีคุณภาพมากที่สุด สามารถแก้ปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วยและการเป็นโรคของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ประเทศไทยโชคดีที่มีระบบบริการทางการแพทย์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง ทันสมัยที่สุด มีศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยที่มีการผลิตแพทย์และให้บริการทางแพทย์ที่ดีที่สุดอยู่ทั่วประเทศ มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอยู่ทั่วประเทศ ที่เป็นฐานสำคัญสำหรับการให้บริการทางการแพทย์

ถึงกระนั้นก็ตาม บริการทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพเท่าที่มีอยู่ ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ประชากรของประเทศเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ มีคนเจ็บป่วยและเป็นโรคมากขึ้นเรื่อยๆ และบริการที่มีอยู่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของประชาชนจำนวนไม่น้อย

2. ในแง่ยุทธศาสตร์เชิงรุก รัฐบาลจะต้องหาทางดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง ในการยับยั้งหรือหยุดยั้งความเจ็บป่วย หรือการเป็นโรคของประชาชน โดยการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นประการสำคัญ ช่วยดูแลประชาชนไม่ให้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้ง่ายๆ ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคของประชาชน หาทางลดหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้ได้

มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอยู่มากมาย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน มลพิษในอากาศ น้ำ และดิน ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความไม่ปลอดภัยของอาหารและน้ำ พฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ การดื่มของมึนเมา และการใช้สารเสพติดทั้งหลาย ที่ยากต่อการป้องกันและควบคุม ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขของประเทศไทย

รัฐบาลได้พยายามผลักดันการพัฒนาระบบบริหารการดูแลสุขภาพ เพื่อให้บริการสุขภาพมีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอยู่เสมอ โดยจัดสรรงบประมาณจำนวนมากให้แก่ระบบการประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อ “จ่ายค่าบริการสาธารณสุขแทนประชาชน” แต่ก็ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการ และความต้องการงบประมาณเพื่อการนี้ก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสถานการณ์ยังเป็นไปในลักษณะนี้ ในอนาคตอันไม่ไกล รัฐบาลจะไม่สามารถแบกภาระงบประมาณส่วนนี้ ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนได้

รัฐบาลจึงควรต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายในด้านนี้ โดยเน้นการป้องกันและการควบคุมความเจ็บไข้ได้ป่วยและการเป็นโรคของประชาชนให้ได้ผลอย่างจริงจัง นั่นคือ รัฐบาลต้องให้ความสนใจอย่างแท้จริงและมากขึ้น และลงทุนให้มากยิ่งขึ้น ในยุทธศาสตร์สาธารณสุขเชิงรุก

ดังที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลจะต้องหาทางดำเนินการที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ในการยับยั้งหรือหยุดยั้งความเจ็บป่วย หรือการเป็นโรคของประชาชน โดย

1. การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค เป็นประการแรกและประการสำคัญ ช่วยดูแลประชาชนไม่ให้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้ง่ายๆ ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคของประชาชน หาทางลดหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้ได้ ให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นต่อการส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องอาหารและโภชนาการ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการป้องกันการเป็นโรค ต่อการมีสุขภาพที่ดี เพื่อให้ประชาชนมีศักยภาพและพละกำลังเพื่อการพัฒนาประเทศ

การส่งเสริมสุขภาพยังรวมถึง การสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ไม่เพียงแต่ด้านกายภาพเท่านั้น ยังรวมถึงสุขภาพในด้านชีวิตจิตใจและสังคมด้วย ประชาชนตระหนักในคุณค่าของศีลธรรมและจริยธรรม อันจะนำไปสู่ความสงบสุขและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชนและประเทศชาติ

ต้องเน้นอีกว่า ยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ได้ผล ต้องเป็นงานที่ทุกๆ ฝ่าย (Sectors) มีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชนร่วมกัน เช่น การศึกษา เกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และอื่นๆ อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างยั่งยืนถาวร อันนอกเหนือไปจากการทำให้เขาหายจากการเป็นโรค หรือปราศจากความพิกลพิการ

อย่างไรก็ตาม งานพัฒนาสุขภาพเชิงรุก และงานพัฒนาสุขภาพเชิงรับ เป็นงานที่ต่อเนื่องและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จะแยกจากกันไม่ได้ เป็นงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ดังนั้น ในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป งานใน 2 ด้านนี้ จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปในลักษณะที่ผสมผสานกันอย่างเหมาะสม และสมดุลกันให้มากที่สุดที่จะมากได้

สรุป

ตามที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า…

ประชาชนเป็นเจ้าของ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเอง ต้องดูแลสุขภาพของตนเองเป็นเบื้องแรก

เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญมากในการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ มีทักษะ ในการดูแลตนเอง ครอบครัว และเพื่อนบ้านในชุมชน ให้ความรู้และแนะนำวิธีการเพื่อการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมสุขภาพของตนเอง การทำให้ตนเองมีสุขภาพดีขึ้นเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกๆ คน

ประชาชนไม่ควรรอให้รัฐบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือใครก็ตาม มาทำให้ตนเองมีสุขภาพที่ดี

ในแง่ของยุทธศาสตร์เชิงรุกที่จะทำให้ได้ผลอย่างถาวรในระยะยาว ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหาร โภชนาการ การออกกำลังกาย การงดการสูบบุหรี่ การงดการดื่มเครื่องดองของเมา และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของพฤติกรรมของคนเป็นส่วนใหญ่ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เพื่อการมีสุขภาพที่ดี

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด ที่ธรรมชาติได้สร้างให้มา ร่างกายของเรามีความสามารถโดยธรรมชาติที่จะต้านทานความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการเป็นโรคได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเราทำการบำรุงรักษาทนุถนอมร่างกายของเราเป็นอย่างดี ทำการส่งเสริมสุขภาพอย่างดีตามความรู้ความสามารถที่มีอยู่ เช่น ในเรื่องอาหาร โภชนาการ การออกกำลังกาย อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีปราศจากมลพิษทั้งหลายทั้งปวง และประการสำคัญเราต้องไม่ทำร้ายร่างกายของเราเองโดยการสูบบุหรี่ กินเหล้า เสพสารเสพติด หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ไม่เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของเรา

แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้วควรจะพิจารณาเป็นเบื้องต้นว่า เราควรจะดูแลสุขภาพของเราเองในขั้นแรกอย่างไร ถ้าจะต้องขอความช่วยเหลือ จะต้องไปที่ไหน อย่างไร เพื่ออะไรในอันที่จะได้รับการแก้ปัญหาสุขภาพที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่แสวงหาการรักษาพยาบาลให้แก่ตัวเองอย่างพร่ำเพรื่อ เกินความจำเป็น ไม่กินยาฆ่าเชื้อโรคโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุผลอันควร

การตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้ของประชาชนมีความสำคัญมากทีเดียว แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างๆ สามารถให้คำแนะนำเพื่อการปฏิบัติของประชาชนที่เหมาะสมและได้ผลอย่างดีที่สุด เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้นที่จะเป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้

การดูแลสุขภาพของตนเองที่มีประสิทธิภาพ เป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า

สุขภาพดีถ้วนหน้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนถ้วนหน้าสามารถดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิผล และประชาชนถ้วนหน้าเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการพัฒนาสุขภาพในทุกระดับของระบบการสาธารณสุขแห่งชาติ