ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. เสียงแตก 6:1 คงดอกเบี้ย 1.5% 23 ครั้งติดต่อกัน เริ่มกังวลเสถียรภาพการเงิน – ชี้โครงสร้าง “แรงงาน-อุตสาหรรม” ปรับ แต่เศรษฐกิจไม่กระจายลงรากหญ้า

กนง. เสียงแตก 6:1 คงดอกเบี้ย 1.5% 23 ครั้งติดต่อกัน เริ่มกังวลเสถียรภาพการเงิน – ชี้โครงสร้าง “แรงงาน-อุตสาหรรม” ปรับ แต่เศรษฐกิจไม่กระจายลงรากหญ้า

29 มีนาคม 2018


เมื่อวัน 26 มีนาคม 2561 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวหลังการประชุมครั้งที่ 2 ของปี 2561 ว่า กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 23 นับจากลดดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อปีเดือนเมษายน 2558 โดยให้เหตุผลสำคัญว่าแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวมากกว่าที่คาดอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยต่างประเทศที่กลับมาฟื้นตัว แต่การส่งผ่านลงไปยังครัวเรือนยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำ

ขณะที่นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐอเมริกาและการตอบโต้ของจีน ซึ่งอาจจะกระทบกับการค้าและภาคส่งออกของไทย กนง. ยังไม่นำมาประเมินในการประชุมครั้งนี้ แต่ให้ติดตามศึกษาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยปัจจุบันมองว่าเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

กนง. จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ อย่างไรก็ดี กรรมการ 1 ท่าน ให้เหตุผลว่าภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร ในขณะที่การลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงบ้างในภาวะปัจจุบันไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

“ตอนนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่การส่งผ่านไปยังครัวเรือนยังไม่ทั่วถึง อันนี้เป็นประเด็นสำคัญในการคงดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตอนนี้กลุ่มคนรายได้ปานกลางถึงสูงเห็นการใช้จ่ายมากขึ้น แต่แรงงานรายได้ต่ำกลับไม่เพิ่ม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพสูงเริ่มปรับประสิทธิภาพการผลิตหันมาใช้หุ่นยนต์ ใช้ automation แทน ก็ใช้แรงงานคนลดลง แรงงานก็เริ่มย้ายไปภาคบริการที่ผลิตภาพต่ำกว่า ซึ่งทำให้ได้ผลตอบแทนลดลงรวมไปถึงมีการจ้างงานแบบรายวันด้วย ซึ่งกระบวนการนี้ยังเกิดขึ้นต่อไปช้าๆ และยังไม่หยุด ภาพใหญ่จึงเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ลงมาถึงการอุปโภคบริโภค และต่อไปการปรับโครงสร้างก็ต้องเกิดขึ้น ส่วนช่องทางการส่งผ่านทางเศรษฐกิจลงไปยังแรงงานกลุ่มนี้ จริงๆ แล้วหุ่นยนต์หรือ automation ก็ยังต้องการแรงงาน แต่เป็นแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นมาควบคุม ตรงนี้การแก้ปัญหาต้องใช้นโยบายเชิงโครงสร้างมาดูแลแทน” นายจาตุรงค์กล่าว

ในรายละเอียด เศรษฐกิจไทยภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่ง กนง. เห็นว่าปัญหาดังกล่าวต้องแก้ไขด้วยนโยบายเชิงโครงสร้าง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจและยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ มาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ด้านเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ลดลงมากกว่าคาด แม้ว่าทิศทางราคาน้ำมันและเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลของราคาอาหารสดได้ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำทำให้ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มผันผวนในระยะต่อไปโดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน การคลัง และการค้าระหว่างประเทศ ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

กนง. เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการท่าธุรกิจ

ทั้งนี้ กนง. ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2561 เพิ่มขึ้นจากการปรับครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เกือบทุกด้าน โดยจีดีพีเพิ่มจาก 3.9% เป็น 4.1% และมีเพียงการใช้จ่ายของรัฐที่ปรับประมาณการณ์ลดลงจาก 3.2% เป็น 2.9% ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเบิกจ่ายที่ล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ แต่ในอนาคตคิดว่าจะทยอยเบิกจ่ายออกมาตามลำดับ (ดูกราฟิก)

2 ปี 11 เดือน กนง. คงดอกเบี้ยต่อเนื่อง – รับมือเศรษฐกิจฟื้นไม่กระจายตัว ความเสี่ยงคงอยู่และเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การคงดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 23 และเหลือการประชุมเพียง 1 ครั้งจะครบ 3 ปีเต็ม นับตั้งแต่มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งละ 0.25% ต่อเนื่อง 2 ครั้ง จากการประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 และครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 จาก 2% เหลือ 1.5% ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งต่อๆ มาของ กนง. ได้ฉายภาพพัฒนาการเศรษฐกิจและเหตุผลที่ต้องคงดอกเบี้ยมายาวนานกว่า 3 ปี ดังนี้

ในปี 2558 เหตุผลในการคงดอกเบี้ยไปในด้านปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนและเอเชีย, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก, ความผันผวนของตลาดการเงินโลกสูง ขณะที่ปัจจัยภายในจะเป็นข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ต้องปรับตัว นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันที่ลดลง รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่ในทิศทางสอดคล้องเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 กนง. เริ่มให้น้ำหนักกับการรักษาพื้นที่นโยบาย (policy space) แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศจะมีความผันผวนมากขึ้นและส่งผลต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจที่มักจะระบุว่ามีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของทิศทางนโยบายการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก, ความเสี่ยงเชิงการเมืองจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป เช่น การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ, การรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางเช่นเดียวกับปี 2558 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทยและเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ กนง. ยังกล่าวถึงประเด็นค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง กนง. เริ่มแสดงความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพการเงิน โดยเริ่มจับตาพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงท้ายของปี 2559 กนง. ได้กล่าวถึงคุณภาพของสินเชื่อในบางภาคธุรกิจที่ด้อยลงและอาจจะกระทบต่อระบบการเงินไทย

ต่อมาในปี 2560 กนง. ยิ่งแสดงความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพของระบบการเงินไทย โดยในช่วงต้นปีเริ่มกล่าวถึงการประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำเกินไป (underpricing of risks), ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลงโดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ก่อนที่ช่วงปลายปีจนถึงต้นปี 2561 จะเริ่มกล่าวถึงการติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำและปัญหาเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังจนถึงต้นปี 2561 กนง. กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินที่แข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยตามการส่งออกที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่งยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมเน้นย้ำว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีแนวโน้มผันผวนสูงต่อไปอีกระยะและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแม้ว่าจะยืนยันว่าทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่เริ่มกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ทำให้เงินเฟ้อฟื้นตัวช้ากว่าในอดีต จากเดิมที่ช่วงจะกล่าวถึงการปรับตัวของราคาน้ำมันและอาหารสดเป็นหลัก

ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 กลับมีท่าทีฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากภาคส่งออกที่กลับมาขยายตัวชัดเจนและมีการปรับประเมินการณ์เพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ในเชิงลึกเศรษฐกิจไทยกลับเผชิญปัญหาการไม่กระจายตัวของการฟื้นตัว แม้ว่าในช่วงสิ้นปีจนถึงต้นปี 2561 จะเริ่มส่งสัญญาณการกระจายตัวลงไปในธุรกิจเอสเอ็มอีในหลายธุรกิจและพื้นที่ แต่ยังคงต้องติดตามและเป็นเหตุผลสำคัญที่ กนง. ยังคงดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ปีที่ 3

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงบ่อยครั้งในระยะหลังถึงการกลับทิศทางเป็นขาขึ้นของนโยบายการเงิน (normalization) ของสหรัฐอเมริกา อาจจะส่งผลต่อความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ ซึ่งเริ่มปรับตัวครั้งแรกในช่วงสิ้นปี 2558 และสิ้นปี 2559 ปีละครั้งมาอยู่ที่ 0.75% หลังจากลดดอกเบี้ยนโยบายจนเหลือ 0.25% มาตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่ในปี 2560 จะปรับขึ้นอีก 3 ครั้งมาอยู่ที่ 1.5% เท่ากับดอกเบี้ยนโยบายของไทย และล่าสุดในช่วงต้นปี 2561 ได้ปรับขึ้นอีกครั้งมาอยู่ที่ 1.75% และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีกตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ดร.วิรไท กล่าวไว้ว่า นโยบายการเงินจะต้องตอบโจทย์และความต้องการทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป