ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 19 ครั้ง ชี้เศรษฐกิจเร่งตัว รอครัวเรือนฟื้นตัว – กังวลความสามารถชำระหนี้ “ครัวเรือน-เอสเอ็มอี”

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 19 ครั้ง ชี้เศรษฐกิจเร่งตัว รอครัวเรือนฟื้นตัว – กังวลความสามารถชำระหนี้ “ครัวเรือน-เอสเอ็มอี”

27 กันยายน 2017


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวหลังการประชุม กนง. ครั้งที่ 6/2560 (กรรมการ 1 ท่านลาประชุม) ว่า กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ติดต่อกัน 19 ครั้ง ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 3/2558 ในเดือนเมษายน โดยให้เหตุผลหลักว่าต้องติดตามการฟื้นตัวของครัวเรือนและอุปสงค์ภายในประเทศ แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้จะเร่งตัวชัดเจนขึ้นจากกระประชุมครั้งก่อนหน้าที่เริ่มฟื้นตัว

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการส่งออกที่ปรับประมาณการขึ้นจาก 5% ในการประเมินในเดือนมิถุนายน 2560 เป็น 8% ขณะที่การลงทุนในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่นเดียวกับภาคก่อสร้างที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกหลังจากแผ่วลงไปบ้างในระยะก่อนหน้า ส่วนการลงทุนภาครัฐแม้ว่าจะชะลอตัวลงแต่เป็นการเลื่อนการเบิกจ่ายไปในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนเท่าเดิม หรือบางโครงการเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงต้นปีงบประมาณแล้ว

สำหรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในอนาคต นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีความสมดุลมากขึ้นในระยะสั้น แม้ว่าจะยังโน้มไปในด้านต่ำ แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น และมีส่วนช่วยปรับประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่มีความเสี่ยงระยะยาวกว่าอย่างความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐอเมริกา ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

“เราปรับการส่งออก 8% มองว่าสอดคล้องกับความต้องการของโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ส่งผลให้การค้าขายของโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งเร่งตัวขึ้นมาเร็วมาก รวมไปถึงปีนี้มีการย้ายฐานการผลิตของล้อรถยนต์กับฮาร์ดดิสก์ ก็ช่วยให้การส่งออกเร่งตัว ส่วนที่คาดการณ์ว่าจะโตได้เพียง 3.2% เพราะประมาณการว่าการค้าโลกจะชะลอลง รวมไปถึงผลจากการย้ายฐานการผลิตต่างๆ จะเริ่มหมดไป แต่การค้าโลกยังฟื้นตัวอยู่ แค่ชะลอตัวลงจากปีนี้ ส่วนที่การลงทุนจะเริ่มส่งผ่านไปยังครัวเรือนเมื่อไร ต้องดูที่การจ้างงานเป็นตัวกำหนด ซึ่ง กนง. มองว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังไม่ฟื้นตัว จากเรื่องจำนวนการทำงานล่วงเวลา รวมไปถึงการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน หรือ Automation” นายจาตุรงค์ กล่าว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจมีต่อค่าจ้างแรงงานในระยะข้างหน้า อย่างเช่นแรงงานขอขึ้นค่าแรงหลังจากกลับเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย หรือหากแรงงานกลับมาไม่ทั้งหมดอาจจะเกิดการแย่งตัวแรงงานจนทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการได้ ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่คิดว่าส่งผลมากนัก เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งมีค่าแรงมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะกลับสู่เป้าหมายในกลางปี 2561 ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย

สำหรับภาวะการเงินภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำและภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้นทั้งจากสินเชื่อสถาบันการเงินและตลาดทุน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นบ้างจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ  สำหรับในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนคิดว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกน้อยกว่าเรื่องอุปสงค์ของสินค้า ซึ่งประเทศไทยอยู่ในสายพานการผลิตของโลกที่ต้องมีทั้งการส่งออกและนำเข้าสินค้าต่างๆ และถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเราก็จะฟื้นตัวตามไปด้วย โดยปัจจุบันค่าความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ที่ 2.18% และเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2017 อยู่ที่ 3.45% ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 7.9% ตั้งแต่ต้นปี และแข็งค่าขึ้นเพียงกับตระกร้าเงินของคู่ค้า (REER) ประมาณ 2%

นายจาตุรงค์ กล่าวต่อไปว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

“ที่ กนง. พูดถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเป็นครั้งแรกคิดว่าไม่ได้มีสัญญาณอะไรเป็นพิเศษเพิ่มขึ้น แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่ดูอยู่แล้ว ครั้งที่แล้วอาจจะไม่ได้ใส่พิเศษ ไม่ได้มีนัยอะไรทั้งสิ้น แต่ต้องดูเป็นกลุ่มๆ ถ้ารายได้น้อยอาจจะไม่ได้มีหนี้กับสถาบันการเงินมากนัก แต่เรื่องหนี้ครัวเรือน อย่างที่เรียนสำหรับประเทศไทย เราเห็นการลดหนี้ หรือ deleverage ค่อนข้างช้า เทียบกับจีดีพีจาก 80% ต้นๆ มาเป็น 70 ปลายๆ ยังไม่ได้ลดอย่างมีนัยและต้องติดตามต่อไป” นายจาตุรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับประมาณการณ์จีดีพีในปี 2560 จาก 3.5% เป็น 3.8%, การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มจาก 3.1% เป็น 3.3%, การลงทุนภาคเอกชนจาก 1.7% เป็น 2.3%, การอุปโภคภาครัฐจาก 2.2% เป็น 2.1%, การลงทุนภาครัฐจาก 7.7% เป็น 5% และการนำเข้าจาก 10.9% เป็น 14% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปได้ปรับลดลงจาก 0.8% เป็น 0.6% ในปี 2560 และปรับจาก 1.6% เป็น 1.2% ในปี 2561

ส่วนEIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ “กนง. คงดอกเบี้ย มองเศรษฐกิจไทยเติบโตชัดเจนขึ้น พร้อมปรับคาดการณ์ทั้งปีโต 3.8%”