ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ครั้งที่ 12 – รับเศรษฐกิจมีแนวโน้มโตต่ำลง รอประเมินใหม่

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ครั้งที่ 12 – รับเศรษฐกิจมีแนวโน้มโตต่ำลง รอประเมินใหม่

9 พฤศจิกายน 2016


%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b9%8c-%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%a92
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่า กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 12 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) เพราะระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

ในด้านความเสี่ยงทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่องใกล้เคียงที่ประเมินไว้ แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และ กนง. ให้น้ำหนักค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้นใน 2 เดือนหลังจากการเป็นห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ของ smartphone และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การลงทุนของเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตการส่งออก และสุดท้าย การบริโภคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ แม้ว่าในบางประเภทสินค้าจะชะลอลง

อนึ่ง ผลกระทบต่างๆ จะต้องรอการปรับประมาณการณ์ในการประชุม กนง. ครั้งถัดไป เนื่องจากต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเศรษฐกิจทั้งหมดพร้อมกันและไม่สามารถให้ความเห็นทีละปัจจัยได้ นอกจากนี้ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2559 ซึ่งจะช่วยประเมินภาวะเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าได้ดีขึ้น

สำหรับด้านต่างประเทศมีแนวโน้มเสี่ยงมากขึ้น แนวนโยบายใหม่ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นความไม่แน่นอนในระยะต่อไป เนื่องจากต้องรอติดตามการออกนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ในยุโรปในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งใหญ่อีกหลายประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี ขณะที่อิตาลีจะออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ นอกจากนี้ ภาคการเงินที่เปราะบางของจีนและยุโรปยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ

ทั้งนี้ ตลาดการเงินตอบรับผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่งผลให้ตลาดโลกมีความผันผวนมากขึ้นและกระทบกับไทยในภาพรวมด้วย แต่ในระยะข้างหน้าคาดว่าจะปรับตัวได้ ทั้งนี้ ในการดูแลตลาดการเงินของ ธปท. กนง. ระบุว่าเอกชนไทยควรเตรียมตัวรับมือและมองโลกข้างหน้าว่าจะมีความผันผวนมากขึ้น

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และมีความเสี่ยงที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยขึ้นอยู่กับราคาอาหารสดและพัฒนาการของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่โดยรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย

สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้าง เทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ กนง. เห็นว่าเสถียรภาพการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถรองรับปัจจัยลบและความผันผวนในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด เช่น คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจบางกลุ่มที่ด้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน

อ่านเพิ่มเติมบทวิเคราะห์EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ “กนง. คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% มองความเสี่ยงภายนอกมีผลต่อเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น”