ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 20 ชี้ “เงินเฟ้อ” กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 20 ชี้ “เงินเฟ้อ” กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ

8 พฤศจิกายน 2017


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวหลังการประชุม กนง. ครั้งที่ 7/2560 ว่า กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% โดยให้เหตุผลว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่ไปกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจากปัจจัยโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป กนง.ได้คงดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 20 ครั้ง ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 3/2558 ในเดือนเมษายน ปี 2558 โดยเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่รายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี อาจยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจแม้ชะลอลงบ้างตามการเบิกจ่าย แต่เม็ดเงินลงทุนยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด เช่น ผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐอเมริกา และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

“ในประเด็นคำถามว่าที่ผ่านมา กนง. ได้ใช้เครื่องมืออย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ก็นับว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ ดังจะเห็นว่าจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและสภาพคล่องของระบบการเงินที่สูง ได้ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและช่วยให้เงินเฟ้อค่อยๆ สูงขึ้น แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกดดันอยู่บ้าง โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นและเข้ากรอบเป้าหมายที่ 1-4% ได้ในกลางปีหน้า แต่อาจจะต้องรอดูผลทางด้านอุปทาน คือ ราคาน้ำมันว่าจะปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือทรงตัว ซึ่งปัจจัยนี้ กนง. ยังไม่ได้นำมาประเมินในการประชุมครั้งนี้” นายจาตุรงค์กล่าว

สำหรับมาตรการช้อปช่วยชาติที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ กนง. ต้องขอรอผลของมาตรการในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม ซึ่งจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ทั้งนี้ในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ส่วนผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจมีต่อค่าจ้างแรงงานในระยะข้างหน้า และส่งผลต่อเนื่องถึงเงินเฟ้อนั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำและภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่องทั้งจากสินเชื่อสถาบันการเงินและตลาดทุน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐยังทรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน ส่วนเงินบาทเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีแนวโน้มผันผวนสูงทั้งจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศและจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

กนง. เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้าง และรูปแบบการทำธุรกิจ กนง. เห็นว่ามีการเปลี่ยนวิธีการลงทุนจากที่ปลอดภัยไปเสี่ยงมากขึ้นซึ่งเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบการเงิน อย่าง สหกรณ์ออมทรัพย์มีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ สถาบันในระบบการเงินหลายแห่งมีออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นของการแสวงหาผลตอบแทนในภาวะที่สภาพคล่องสูง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการประเมินความเสี่ยงให้ถูกต้อง

อนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้ มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ 2 คนคือนายคณิศ แสงสุพรรณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และนายสุภัค ศิวะรักษ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขณะที่ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย,กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย ขณะที่กรรมการคนอื่นๆ ได้แก่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. และประธาน กนง.,นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. และรองประธาน กนง.,นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท.,นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์,นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ