ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 5 (ตอนจบ) “Digital Economy…เริ่มที่ไหน จึงจะไปถึง?” : วิธีคิดของคนในรัฐบาล – ข้าราชการต้อง disrupt ตัวเอง

เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 5 (ตอนจบ) “Digital Economy…เริ่มที่ไหน จึงจะไปถึง?” : วิธีคิดของคนในรัฐบาล – ข้าราชการต้อง disrupt ตัวเอง

24 กุมภาพันธ์ 2018


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดเวทีปัญญาสาธารณะ หัวข้อ “Digital Economy…เริ่มที่ไหน จึงจะไปถึง?” ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจว่าการก้าวสู่ Digital Economy จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานอะไรมารองรับ แล้วจะเริ่มที่ไหน/อย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Digital Economy ได้อย่างแท้จริง วิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ 1. นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงานช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 2. นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด 3. นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักเศรษฐศาสตร์/คอลัมนิสต์ไทยพับลิก้า ดำเนินรายการโดย นายธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสที่ 21 ธันวาคม 2560 ณ SEAC ชั้น 4

ต่อจากตอนที่ 2

ธีรวุฒิ: ในช่วงสุดท้ายเราจะมาคุยกันว่าการที่เราจะก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐภาคเอกชนได้ทำอะไรไปแล้วบ้างและต้องทำอะไรเพิ่ม

ณภัทร: คือมันต้องไปพร้อมๆ กัน ขอพูดภาพรวมก่อนว่าตอนนี้ World Economic Forum ทำรายงานทุกปีว่าทุกประเทศมี network readiness index เท่าไหร่ ประเทศไทยดีขึ้นมานิดหน่อย ตอนนี้อยู่ที่ 62 จากทั้งโลก เรื่องความพร้อมที่จะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแค่ไหน ซึ่งในแต่ละด้านเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอะไรพวกนี้ไม่เลว ที่ไม่พร้อมที่สุดคือเรื่องคน คนที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังไม่ค่อยมี อีกเรื่องคือเรื่องสภาพแวดล้อมที่รัฐบาลควรจะทำให้เอื้อต่อการคิดค้นอะไรใหม่ๆ หรือกำกับดูแลให้แข่งขันที่พอดี ไม่ใช่แข่งกันจนไม่มีใครได้ ดังนั้น ในด้านรัฐบาล ผมมี 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ทำสภาพแวดล้อมให้ดี แต่อีกประเด็นที่จับต้องได้มากกว่า คือ ควรเป็นคนที่เอาเทคโนโลยีพวกนี้มาทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลให้ดียิ่งขึ้น เพราะที่เราคุยกันมาทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลังคือมันทำให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แล้วถามว่าประสิทธภาพของรัฐบาลคืออะไร คือหน้าที่ต้องรับใช้ประชาชน ซึ่งเราคุยกันได้ว่าเป็นทัศนคติในรัฐไทยหรือไม่ เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมคนที่รับราชการไม่เชิงเป็นข้ารับใช้ประชาชน ซึ่งค่อนข้างต่างพอสมควรกับต่างประเทศ อย่างผมไปอยู่สหรัฐอเมริกา 10 กว่าปี มันมีคำว่า public servant คือคนใช้สาธารณะเลย อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ผมว่าเป็นส่วนหนึ่งในจิตใจของคนที่เข้ารับราชการของที่นั้น

เพราะฉะนั้นเขาจะมีความอยากใช้เทคโนโลยีพวกนี้อยู่แล้ว อย่างซ่อมถนนที่นิวยอร์ก 5 วันต้องเสร็จ ถามว่ายากหรือไม่ ผมว่ายากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มันเป็นเมืองที่ว้าวุ่นเต็มไปหมด แต่เขาทำได้เพราะเขาเก็บข้อมูลว่ามีอะไรเสียอยู่ตรงไหน แล้วทุกเช้าเขาไม่ส่งคนออกไปหาหรอก วิธีแบบนั้นมันเก่ามาก เขาจะเปิดดูเลยว่ามีตรงไหนบ้าง แล้วให้ขับรถแบบนี้ดีกว่า ให้รบกวนการจราจรน้อยที่สุด อันนี้คือภาครัฐ 4.0 คือวิวัฒนาการแล้ว อย่างเมืองไทยการทำหนังสือเดินทาง บัตรประชาชน ผมว่าทำได้ดีกว่าสมัยก่อนเยอะ ผมไปที่แจ้งวัฒนะถ้าจองไว้แทบไม่รอ แต่อย่างอื่นยังมีโอกาสอีกเยอะที่จะใช้ดิจิทัลทำให้ทำงานได้ดีขึ้น

ส่วนภาคเอกชนผมไม่เป็นห่วงเท่าภาครัฐเลย โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินพอสมควร จะห่วงคือไม่มีคนพอ อย่าง data scientist นับคนได้เลยในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ เคยทำโครงการจริงๆ มีน้อยมาก แล้วมันมีไม่พอ เอกชนที่ตัวใหญ่หน่อยเขาก็จ้างคนนอก ถามว่าเขาเสียประโยชน์หรือไม่ ไม่ขนาดนั้นเพราะเขามีเงิน แต่คนที่เสียประโยชน์คือสังคมไทย เพราะว่ามันควรจะมีคนไทยที่ทำอะไรพวกนี้ได้มากขึ้น

ธีรวุฒิ: ถาม ดร.อนุชิตว่าภาครัฐภาคเอกชนที่ว่าต้องปรับตัวหรือให้การบริการ มีความเห็นอย่างไรบ้าง

อนุชิต: ถ้าคุยเรื่องนี้คุยได้ยาวมากอีกหลายชั่วโมง โดยความเห็นผมคิดว่าภาคเอกชน โดยเฉพาะในสังคมไทย เป็นมาทั้งแต่ไหนแต่ไรคือปรับตัวต่อสู้ แต่ก็จะเป็นรายใหญ่ๆ ยิ่งตอนนี้ เพื่อความอยู่รอด การแข่งขันจะบังคับให้ปรับตัวเอง แต่ตอนนี้แข่งขันไม่ได้ด้วยทุนอย่างเดียว ตอนนี้ทุนอีกอย่างเป็นทุนความรู้ ไม่ใช่ทุนเงิน ปัญหาของประเทศที่ขาดอะไรกันคือทุนความรู้ ทุนมนุษย์ ไม่ใช่ทุนเงิน แต่อย่างไรเอกชนคนเคลื่อนไปได้

แล้วภาครัฐจะมีบทบาทอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญคืออย่าไปดึงให้เขาเดินไม่ได้ ผมว่าการปลดกฎเกณฑ์เรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่ามีกฎอะไรมาบอกว่าจะสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลแต่ยิ่งทำให้มันช้าลงทำยากขึ้น เดี๋ยวมี sandbox ใหม่ เข้าไปแล้วออกไม่ได้ พวกแบบนี้เป็นอุปสรรค ต้องเอาอุปสรรคออกให้หมด วิธีคิดของคนในรัฐบาลต้องเปลี่ยน ประเทศเดี๋ยวนี้มันไร้พรมแดน บทบาทรัฐบาลมันลดลงน้อยกว่าบริษัทใหญ่ๆ ข้ามชาติ ภาคเอกชนแบบนี้มันมีเยอะขึ้น คนกลายเป็นประชาชนของโลกมากขึ้นแล้ว เราต้องเริ่มคิดว่าเดิมทีคนในราชการจะคิดว่าจะมองว่าเอกชนเป็นผู้ร้าย ต้องควบคุม ไม่ให้โกง แต่กลับกันรัฐบาลของสิงคโปร์ วิธีคิดเขาเปลี่ยน เขาชัดเจนว่าหน้าที่รัฐบาลคือจะส่งเสริมอย่างไรเพื่อให้เอกชนแข่งขันได้

แต่ถ้าคนภาครัฐยังคิดว่าทำอันนี้เดี๋ยวเอกชนได้ประโยชน์ก็จะไม่ได้ อันนี้คิดผิดเลย ต้องทำที่เอกชนได้ประโยชน์ ยิ่งต้องรีบทำ มันกลับกัน

แต่ระบบราชการเรากับกระบวนการมันมักออกมาว่าถ้าคนภาครัฐทำอะไรให้เอกชนได้ประโยชน์เราไปมองว่ามีประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ผมเห็นว่าสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐภาคเอกชน

ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับภาครัฐคือการ regulation ผมว่ามันปรับตัวไม่ทัน เพราะว่าภาครัฐไม่ได้เตรียมองค์กรและบุคคลากรรองรับ คือตอนนี้เอกชนถูก disrupt แต่จริงๆ ภาครัฐก็ต้องโดนด้วย แต่เนื่องจากอยู่ได้โดยไม่ได้ต้องปรับตัว ไม่มีคู่แข่ง มันไม่เกิด disruption ในองค์กรกำกับดูแล้ว บางทีที่ผมเห็นการแก้ปัญหากลายเป็นตั้งหน่วยงานใหม่และเอาคนเดิมใส่เข้าไป แล้วคิดว่าทุกอย่างมันจะเปลี่ยนได้อย่างไร ก็คนเดิมชื่อใหม่แล้วส่งไปดูงานเยอะๆ มันไม่ใช่วิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐจะรับกับความท้าทายได้ ยกตัวอย่างสิงคโปร์ ผมว่าเขาเข้าใจเรื่องนี้ เขาก็ไปดูว่าในเอกชนใครเป็นคนที่ดีที่สุด แล้วก็ไปดึงมาให้ผลักดันงานต่างๆ อันนั้นคือแนวความคิดที่เปลี่ยนไป ต้อง disrupt ตัวเอง ผมถามว่ามี regulator แล้วใคร regulate regulator มันไม่มีใครไปกดดันให้เปลี่ยนแปลง

แล้วกลับมาอีกอันที่ผมบอกว่าเป็นปัญหาทางวัฒนธรรมที่บอกว่าไทยเราจะมีปัญหาพอเป็นปัญหาสาธารณะ ของหลวง ไม่ใช่ปัญหาฉันแล้ว เราได้แต่บ่นอย่างเดียว แล้วหวังว่าวันหนึ่งจะมีใครสักคน แล้วจะมีมือวิเศษจากไหนที่แก้ปัญหาให้เรา คนไทยต้องคิดใหม่ เราต้องหาวิธีช่วยกันแก้ แต่ ณ เริ่มต้นเลยเราไม่มีทางเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามคืน ดังนั้น ภาครัฐกลับต้องมีบทบาทว่าของไหนเป็นของสาธารณะ ต้องทำก่อน เพราะว่าเรายังเปลี่ยนคนไทยไม่ได้ แน่นอนว่าเอกชนแต่ละรายก็จะไม่แก้ แต่งานของรัฐบาลต้องลงไปทำ

จริงๆ ผมคิดว่าพื้นฐานของดิจิทัลมีชิ้นพื้นฐาน 4-5 อย่าง อย่างแรก เรื่องการชำระเงินมันต้องมีระบบชำระเงินเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ทำไปแล้ว ก็ไม่ 100% แต่อย่างน้อยก็เดินไปได้ มีทางให้พัฒนาต่อ อย่างที่ 2 คือแก้เรื่อง digital ID แล้วถ้าตรวจสอบไม่ได้ว่าเราเป็นใคร สมมติไปทำธุรกรรมอันหนึ่ง เราจ่ายเงินได้แต่ตรวจสอบไม่ได้ว่าเราเป็นใคร ต้องเอาหน้าเอาตัวตนไปแสดงอีก เอาบัตรไปเสียบ มันจะเดินหน้าอย่างไร เศรษฐกิจดิจิทัลก็ไปไม่ได้

อย่างที่ 3 คือเรื่องความปลอดภัยของระบบ พูดแล้วก็ยาว แต่เราเป็นประเทศที่ไม่เป็นรั้ว เรากลัวว่าจะเป็นคุก ตอนนี้เราก็ตัดสินใจไม่เอาเลย เปิดอิสระเลย มันกลายเป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง ผมยกตัวอย่างว่าไปก็เหมือนเราสูญเสียอธิปไตยทางดิจิทัลไปแล้ว ขนาดโปเกม่อนมาปล่อยในสถานที่ราชการได้ เราทำอะไรไม่ได้ ต้องไปขอร้องเขา เพราะเราไม่มีรั้วที่จะจัดการได้แปลว่าก้าวตามไม่ทันหรือไม่ ผมคิดว่าคนไทยไม่เข้าใจ แล้วไม่มีหน่วยงานจัดการวางแผน ถามจริงๆ ว่าไทยแลนด์ 4.0 แล้วอะไรเป็นรูปธรรม ถ้าไม่ทำโครงสร้างพื้นฐาน 4-5 อย่างนี้

อย่างที่ 4 คือข้อมูล เรามีข้อมูลบูโรสักกี่อัน เศรษฐกิจเราจะไปอย่างไรถ้าไม่มีข้อมูลสักอย่าง เรามีเครดิตบูโรอย่างเดียว ลองนึกอย่างอื่นที่เป็นฐานข้อมูลใหญ่ๆ ที่ใช้ทำอะไรอย่างอื่นได้ มันไม่มีนะ อย่างสมัยก่อนจะทำนโยบายต่างๆ จะช่วยเหลือคนมีรายได้น้อย เรายังไม่รู้เลยว่าเป็นใคร ข้อมูลไม่มี เพิ่งจะ 2-3 ปีมานี้ถึงจะเริ่มสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่และเริ่มออกนโบบายตรงเป้าหมายได้ มันต้องมีข้อมูล ยังต้องทำอีกเยอะ เรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพ อะไรต่างๆ  เราชอบยกตัวอย่างอาลีบาบา มีนั่นมีนี่ แต่เขาวางแผนได้ว่าตรงไหนต้องมีร้าน การขายเป็นอย่างไร เพราะมันมีข้อมูล เราไม่มีสักอย่าง ใน national e-payment เราอยากเปลี่ยนการค้าขายของเราให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ส่งใบกำกับภาษีเป็นอิเล็ทรอนิกส์ ถ้าไม่มีข้อมูลให้เริ่มต้นแล้วจะพัฒนาอย่างไร คนไทยก็กลัวอีก ไม่อยากจ่ายไม่อยากให้ข้อมูลจริงเดี๋ยวสรรพากรจะรู้ พยายามเท็จๆ ลวงๆ กันไว้แล้วเราจะหวังให้ประเทศมีข้อมูลที่ดีไปพัฒนา มันก็เป็นไปไม่ได้

เรื่องสุดท้ายเรื่องกายภาพแล้ว คือ location & logistic ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนนี้ลองดูแผนที่กูเกิลอะไรที่เราใช้ บางทีเรายังกระโดดไปอีกที่หนึ่ง แล้วถามว่าไปผิดที่และวันหนึ่งอยากจะให้มีรถที่ขับเองได้ แต่เราไม่ได้จัดการเรื่อง location เลย ไม่ออกแบบเลยว่ารถจะต้องอ่านสิ่งแวดล้อมอย่างไร ตรงไหน ให้ขับไปได้ มันก็ติดไปหมด นี่ของพื้นฐาน นี่ที่ควรจะอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ พูดตามตรงผมไม่เห็นแล้วก็ไม่รู้ว่าใครทำด้วย เป็นปัญหาที่ผมประสบ ถ้าไม่วางเศรษฐกิจดิจิทัลไปไม่ได้ พอไปไม่ได้ ปัญหาความท้าทาย 6 อย่างที่เราจะเจอจะแก้ไขอย่างไร

นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์(ขวา)นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ (ซ้าย)

ณภัทร: ขอเสริมเรื่องข้อมูลมันเป็นหน้าที่รัฐ ที่สหรัฐอเมริกาตอนแรกก็มีปัญหา เกี่ยงกัน ไม่มีใครทำ แต่ตอนหลังพอทำก็เป็นเหมือนกระดูกสันของทุกอย่าง คือเขาคิดว่าการที่มีข้อมูลและการที่เอาข้อมูลออกมาให้เป็นสาธารณะมันก็เหมือนเป็นสินค้าสาธารณะอย่างหนึ่ง เหมือนเป็นถนน เขามองว่าข้อมูลมันเป็นสินทรัพย์ มันต้องต่อกันติด ไม่ใช่ว่าเป็นข้อมูลออกมาหักๆ ของเรายังคุยอยู่เลยว่ารถไฟจะต่อกันถูกไหม ของเขามองว่าข้อมูลต้องต่อกันติด เปิดให้คนใช้งานได้ มันจะได้ก่อประโยชน์

อนุชิต: ผมขอเสริมนิดหน่อยว่าที่พูดไปว่าข้อมูลจะต้องเกี่ยวข้องกับปัญหา 6 อย่าง มันจะเป็นความท้าทายของประเทศ ประเทศไทยในอีก 10 กว่าปีจะเข้าสู่วิกฤติที่ประกอบด้วย 6 อย่าง คือ แก่ เจ็บ จน คนน้อย ด้อยการศึกษา ความเหลื่อมล้ำสูง ฉะนั้น 6 อย่างเราจะประสบใน 10 ปีที่เดินไปข้างหน้า ถ้าเกิดเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปเพื่อตอบโจทย์อันนี้ได้ ยกระดับประเทศเราไปไม่ได้ เราจะมีปัญหา 6 อย่างนี้ ตอนนี้เราไม่มีฐานข้อมูลเรื่องสาธารณสุข แล้วเราจะบริหารสุขภาพของคนอย่างไร เราไม่มีข้อมูลเรื่องการศึกษา เราจะบริหารทรัพยาการมนุษย์อย่างไร ต่างกับสิงคโปร์ประวัติการศึกษามีหมด รู้เลยว่าไปอีก 2-3 ปีเราจะมีนักวิทยาศาสตร์อีกกี่คน ของเราไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับประชากรของตัวเอง มันบริหารไม่ได้

จรัล: สุดท้ายมันก็จบที่ว่าปัญหาของบทบาทภาครัฐคือการบริหารทรัพยากร อย่างที่เราคุยกันมาสุดท้ายคือความรู้ ทำอย่างไรให้เกิดว่าคนรู้ ทำงานได้มีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้ในส่วนของภาครัฐ ยกตัวอย่าง หนังสือเดินทางทำได้เร็ว คือคนรู้จักใช้เทคโนโลยีที่จะให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ ตรงนี้บางทีเหมือนว่าพออยู่ในส่วนราชการมันโดนโยงใยจนทำงานอะไรกันไม่ได้ มันก็เลยเป็นเรื่องว่าจะทำอย่างไรให้ปลดล็อกตรงนั้นได้ อย่างองค์กรที่สหรัฐอเมริกา เขาจะมีหน่วยงานที่เหมือนนินจาที่รายงานตรงกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะระดับประธานาธิบดีหรืออะไร ซึ่งทีมงานลักษณะนี้จะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่มันเป็นต้นตอได้

อนุชิต: ผมขอเสริมว่าไทยแลนด์ 4.0 จะเกิดขึ้นได้อย่างไรจากทีมงาน 0.1 ทีมงานก็ต้อง 4.0 ไม่เช่นนั้นมันจะได้งาน 0.1 ผมยกตัวอย่างว่าบางครั้งผมต้องไปอยู่ในที่ประชุมที่เกี่ยวข้องกับอะไรที่ต้องมองไปในอนาคต แต่ผมมองไปทางซ้ายผมอายุ 78 มองไปทางขวาอายุ 70 กว่า มองทั้งห้องอายุต่ำสุด 65 ปี ยกเว้นผม ผมก็นึกว่าอนาคตจะวางได้อย่างไรจากคนที่จะไม่ได้อยู่ใช้ชีวิตในอนาคตนั้น อันนี้คือปัญหาของเรา อย่างตอนทำ national e-payment เราผลักดันให้เปลี่ยนกฎหมายให้ใบกำกับภาษี หรือของทุกอย่างไม่ต้องใช้กระดาษเลย อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด นี่ 2-3 ปีแล้วขึ้นไปก็อยู่ในระบบ เพราะว่าคนบางหน่วยงานบอกว่า ประเทศไทยไม่พร้อม เราไม่ควรจะมี มันก็ค้างอยู่ ผมต้องชื่นชมอย่างกรมสรรพากร ผู้บริหารก็ผลักดันเต็มที่

จรัล: ผมคิดว่าสุดท้ายเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับทางรัฐ ถ้าเราสามารถทำได้ 3 อย่าง ลดขั้นตอน ไม่มีกระดาษ และตรวจสอบได้ แค่นี้

อนุชิต: แต่จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ถ้าเกิดเราเปลี่ยนแปลงคนที่มีบทบาทที่ทำให้ทุกอย่างผ่านออกมาไม่ได้

ธีรวุฒิ:  ดร.ณภัทรว่าเรื่องของคนต้องทำอย่างไร

ณภัทร: เรื่องของคนมันต้องมีคนที่รู้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนนี้รู้ เป็นหนึ่งในโจทย์หลักที่ต้องแก้คือเรื่องการศึกษา อันนี้มันใช้เวลานานมาก แก้ทีใช้เวลา 20 ปี แต่ว่าต้องเริ่มสักวันหนึ่ง มันต้องรู้ต้องมีข้อมูลว่า ผู้ใหญ่อย่างพวกเรา หรือเด็กรุ่นใหม่ พอผ่านไปเขาเจออะไรบ้าง แล้วตอนหลังผลลัพธ์ออกมาเป็นคนอย่างไร รู้อะไรบ้าง มีพฤติกรรมอะไรบ้าง คือมันจะได้เห็นว่าปัญหาการศึกษา ปัญหาทุนมนุษย์ไม่พอ ทำไมมันถึงไม่พอ ทำไมเราใช้จ่ายด้านการศึกษาไปเยอะมาก แต่ผลตอบแทนกลับมาก็ไม่รู้ว่าคุ้มแค่ไหน อีกเรื่องหนึ่งคือคนที่อยู่ในภาครัฐ ซึ่งเมื่อกี้คุยกันแล้วว่ามีปัญหาว่าเขาไม่ได้อยากทำ เหมือนไม่ได้ทุกคน มีหลายท่านที่อยากทำ แต่ก็มีหลายท่านไม่อยากทำ

อนุชิต: ผมกลับเห็นใจ จากที่มีโอกาสได้ทำงานกับภาคราชการ เขาเป็นคนดีและตั้งใจ ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้หรอกประเทศไทย แต่ว่ามันถูกกฎระเบียบและทัศนคติอย่างที่ว่าใครทำอะไรเกิดประโยชน์กับเอกชนคนนั้นผิด มันก็ผิดอันแรก แล้วถ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดความเสี่ยง เสี่ยงนี่ไม่ได้ดี มีแต่เจ๊งกับเจ๊า ติดลบกับศูนย์ มันก็อยู่เฉยๆ ดูจะดีที่สุด ตามอายุงานก็เลื่อนขั้นไป ผมเคยเล่าให้ฟังว่าบางงานใช้เวลา 6 ปี 8 ปีก็มี บางทีไปคุยบางท่านในตำแหน่งก็บอกว่ากว่าจะได้ตำแหน่งมาผมรักษาตัวมาแทบแย่ ถ้าเกิดทำไปเสี่ยงขึ้นมา ปีหน้าจะเกษียณแล้ว รอก่อนแล้วค่อยทำ พอไปคนต่อไปก็รอเกษียณเหมือนกัน มันก็ทำให้ใช้เวลาเปลี่ยนแปลงเยอะ

แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าไม่เปลี่ยนแปลงพื้นฐานตรงนี้ของงานราชการก็จะติดขัดไปหมด อีกข้างหนึ่งถ้าบอกว่าจะรออย่างเดียว มันก็ไม่เกิดขึ้นเหมือนกัน ฉะนั้นคนไหนในภาคเอกชนพอมีแรงจะช่วยกันผลักดันก็ต้องอาสาออกแรงไป ถึงแม้ว่ามันไม่ใช่เรื่องของตัว แต่ถ้าไม่ทำเราก็จะอยู่แบบนี้ เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ

ธีรวุฒิ:  ถามต่อว่าได้เห็นว่าภาครัฐและเอกชนได้ทำอะไรไปบ้างแล้วเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

อนุชิต: ผมคิดว่าอย่างน้อย ข้อดีอย่างหนึ่ง ถึงแม้จะพูดไปว่าในเชิงรูปธรรมมันจะเห็นไม่มาก แต่ว่าอย่างน้อยการประกาศว่าเราจะไปมันเป็นการให้ทิศทางก็ทำให้เอกชนหันไปมองตรงนั้น ผมคิดว่าตรงนั้นมีส่วนช่วยพอสมควร

จรัล: คิดว่าส่วนหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเข้ามาในช่วงหลังๆ เหมือนกับว่าเข้ามาเยอะขึ้น ประชารัฐอะไรต่างๆ นานา เหมือนโมเดลต่างๆ ขอนแก่นโมเดล เพราะว่าพูดง่ายๆ มันเป็นความดิ้นรนที่เอกชนต้องทำ

นายอนุชิต อนุชิตานุกูล (ขวา)

อนุชิต:  เอาชีวิตรอด ผมเห็นเอกชนพยายามใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่ก็กลับมาปัญหาเดิมว่าเรานำเข้าเทคโนโลยี ซึ่งพูดไปถึงประวัติศาสตร์ สมัยอยุธยาเราเป็นประเทศที่มั่งคั่งมาก แต่ว่าเราก็ซื้อปืนใหญ่ ตอนที่กรุงศรีแตก พม่าขนปืนไป 40,000 กระบอก ตัวท็อปจากยุโรปทั้งนั้น เวลาเดียวกันตอนนั้นในญี่ปุ่นก็เป็นยุคเอโดะพร้อมกัน ตอนนั้นญี่ปุ่นเริ่มผลิตปืน มีคนเรือแตกไปขึ้นที่ภาคใต้ของญี่ปุ่น เขาตื่นเต้นมากไปแกะแบบผลิต เรายังซื้ออยู่ตั้งแต่อยุธยา ญี่ปุ่นก็พยายามผลิตตั้งแต่อยุธยา ตอนนี้เหมือนกันพอเราจะก้าวตามเทคโนโลยีอีกรอบเรายังใช้ซื้ออยู่ เป็นความท้าทายว่าถ้าเราไม่ก้าวข้ามเหมือนสมัยนั้น เราก็จะไม่ผลิตเทคโนโลยีมาก

จรัล: สิ่งที่สำคัญคือเรายังมีทัศนคติเรื่องการซื้อ แต่ที่สำคัญคือต้องทำอย่างไรให้เทคโนโลยีที่เข้ามาตรงนี้เราได้เรียนรู้ตรงนั้น มันก็เกี่ยวข้องกับคน แล้วใครจะเรียนรู้ มันจะโยงไปการศึกษาความพร้อมของคนที่จะมารับการถ่ายทอดตรงนั้น เป็นประเด็นที่สำคัญ

อนุชิต: ผมคิดว่าในระยะสั้นตอนนี้ที่เรามีปัญหา 6 ด้าน ไม่มีทางทัน การศึกษาแก้อะไรก็ไม่ทัน เหมือนอย่างที่ท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ของ CP พูดว่าต้องใช้ทรัพยากรโลก ไม่เช่นนั้นแทนที่จะนำเข้าเทคโนโลยีมา นำเข้าคนมา เขาเปิดประเทศมากขึ้นเพื่อยืมมันสมอง ยืมคนจากโลก เพื่อที่จะสร้างแกนฐานเทคโนโลยีในประเทศ ทำได้แค่นี้ รวมเข้ากับโลก

จรัล: แล้วในระยะยาวที่ทุกคนทำได้ก็คือเริ่มจากฐานครอบครัวว่าสุดท้ายแล้วคุณดูแลครอบครัวอย่างไร ลูกคุณอย่างไร ให้เป็นประชาชนที่ดีมีทัศนคติที่ถูกต้อง เพราะว่านั่นคือระยะยาว ถ้าไม่ทำตรงนี้เราก็อาจจะกลับมาในวงจรเดิมของคนที่เหมือนเดิมตอนนี้

ดร.ธีรวุฒิ: คุณณภัทรว่าเราเห็นภาครัฐภาคเอกชนไปได้ขนาดไหนแล้วเราจะไปได้หรือไม่

ณภัทร: ผมคิดว่าทางที่ถูกต้องที่ควรจะไปคือทางที่เป็นความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ควรเกี่ยงกันว่าอันนี้เป็นหน้าที่ของใคร ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นความร่วมมือบ้างแล้วเล็กน้อย ผมมีเพื่อนที่เป็น startup ใหม่ๆ ทางภาครัฐเขาประกาศชัดเจน เขาก็ต้องการผลงาน เราพูดกันง่ายๆ เรื่องแรงจูงใจเลย รัฐบาลต้องการผลงาน เพื่อนผมก็ต้องการข้อมูล ภาครัฐมีข้อมูล มันเห็นว่ามันมีทางที่จะมาร่วมมือกันได้ แต่ว่ามันจะเกิดเร็วช้าแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับกรณีไป แต่ผมหวังว่าจะเห็นมากขึ้น แล้วจะมาปล่อยให้รัฐทำเองก็ไม่ได้เหมือนกัน อย่างสหรัฐอเมริกา ปัญหาคล้ายกันเลยว่ามันเสี่ยงไม่อยากทำ 10-20 ปีที่แล้ว ไม่อยากปล่อยข้อมูลออกมา เสี่ยง ปรากฏว่ามีกฎหมายว่าถ้าปล่อยข้อมูลออกมาแล้วเอกชนเอาไปใช้แล้วข้อมูลผิดขึ้นมา คุณฟ้องรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งมันก็ช่วยปกป้องระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องสร้างสมดุลด้วย ไม่ใช่ข้อมูลผิดหมดทุกอย่างก็ไม่ได้ พอมีแบบนี้รัฐบาลก็จะปล่อยมากขึ้น คนที่เอาไปใช้ก็ควรให้เครดิตว่าควรขอบคุณองค์กรนี้ ก็เชื่อมโยงทั้ง 2 ภาคด้วยกัน

จรัล: แล้วมันจะมี feedback ที่ดี คนปล่อยข้อมูลมาก็ได้ข้อมูลกลับไปว่าข้อมูลถูกไม่ถูก หรือเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง

ธีรวุฒิ: คำถามสุดท้ายที่อยากจะถามทุกท่าน ฟังดูหลายประเด็นมาก แล้วเราจะก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หากให้เลือกปัจจัยเดียวที่สำคัญที่สุด คิดว่าคืออะไร

อนุชิต: พอบอกทำอย่างเดียว มันเยอะที่ต้องทำ แต่ผมห่วงเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน 4-5 อย่าง ทำพื้นฐานตรงนี้ แล้วการแข่งขันภาคเอกชนจะตามมาเอง ถ้า 4-5 อย่างยังไม่ได้ทำ แต่ที่เหลือยังไม่เริ่มทำ

จรัล: อยากที่บอกว่าเป็นเรื่องของชุมชนว่าเราต้องช่วยเหลือกัน เหมือนว่าตอนนี้ทั่วโลก มันก็ยังเหมือนกันคือปลาเร็วกินปลาช้า ตอนนี้เราช้าทำอย่างไรให้ไปได้เร็วๆ นั่นคือสิ่งที่ต้องทำ

ณภัทร: ผมเห็นว่าวันนี้เราคุยกันมานานปัญหามากกว่าทางออก ผมคิดว่าถ้าให้เลือกอย่างเดียวก็ต้องตื่นตัวว่าทำไมต้องปรับตัวเอง ปรับแล้วได้อะไรหรือไม่ปรับจะตายไหม ค่อนข้างชัวร์ว่าน่าจะตาย ถ้ามีความตื่นตระหนก ตื่นตัวขึ้นมาก็น่าจะดีว่าทำไมมันต้องเตรียมรับมือเศรษฐกิจดิจิทัล

สนับสนุนเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 5 โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร