ThaiPublica > คอลัมน์ > Blockchain Technology จะเปลี่ยนโลกของข้อมูลอย่างไร

Blockchain Technology จะเปลี่ยนโลกของข้อมูลอย่างไร

20 มกราคม 2018


จรัล งามวิโรจน์เจริญ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

หากพูดถึงสิ่งที่เป็นกระแสในสังคมไทย ณ เวลานี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สกุลเงินดิจิทัล (Crypto Currency) เป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin หรือ Ripple รวมทั้งสกุลเงินอื่นๆ จนตัวผมเองก็อดไม่ได้ที่จะต้องติดตามและทำความเข้าใจเพราะอาจจะมีผลกระทบกับงานที่ทำอยู่

เทคโนโลยีที่ถือได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สำหรับธุรกิจสกุลเงินดิจิทัล นั่นก็คือ Blockchain ซึ่งต้องขอชี้แจงก่อนว่า Bitcoin และ Blockchain ไม่ใช่สิ่งเดียวกันอย่างที่หลายคนเข้าใจ แรกเริ่มเดิมที Blockchain เป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับ Bitcoin เพื่อใช้สำหรับเก็บข้อมูล Transaction ที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ หลังจากนั้นจึงมีการพัฒนาความสามารถและบริการเพื่อรองรับลูกค้า ตลอดจนธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล โดยหลักการแล้ว Blockchain ทำหน้าที่เปรียบเสมือนฐานข้อมูลหรือบัญชี (Ledger) ชุดเดียวที่กระจายตามเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆโดยไม่มีตัวกลาง ซึ่ง Blockchain Network ในแต่ละเครื่อง จะทำหน้าที่บันทึก ตรวจสอบ และรับรอง Transaction ที่เกิดขึ้นในระบบบัญชี หรือพูดอีกแง่หนึ่งคือ Blockchain สามารถทำหน้าที่ในการบันทึกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตัวตน เจ้าของ สภานภาพ สิทธิ หรือเรื่องราวอื่นๆภายในองค์กรได้

มาถึงตอนนี้ หลายคนคงเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วเทคโนโลยีอย่าง Blockchain มีความเกี่ยวข้องกับสายงาน Data Science หรือ Data Analytics ของผมอย่างไร ความเป็นจริงแล้ว บริการของเทคโนโลยี Blockchain ถือได้ว่าเป็นตัวขับเคลื่อนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการ Data ได้อย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น

1.ลดปัญหาข้อมูลถูกปลอมแปลงหรือทำซ้ำ รวมถึงลดภัยที่เกิดบนโลกไซเบอร์ (Cybersecurity) หรือ การหลอกลวง (Fraud) ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต

ปัจจุบันข้อมูลอยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆในองค์กร ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดความซ้ำซ้อน ผิดพลาด หรือเกิดการปลอมแปลง ซึ่ง Blockchain จะเข้ามาช่วยให้เห็นผู้ใช้เห็นข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน (Single version of truth) เพราะในโลกของ Blockchain ข้อมูล transaction ทุกตัวจะถูกบันทึกในระบบ และกระจายสู่เครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆเครื่อง การปลอมแปลงหรือแฮกข้อมูลจึงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะจะต้องเจาะเข้าสู่ระบบของทุกเครื่องที่มีบัญชีบันทึกข้อมูล Transaction เหล่านั้น

นอกจากนี้ การเข้ารหัส (Encryption) ของข้อมูลใน Blockchain มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Data integrity) และกระบวนการรับรอง Transaction เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ด้วยประโยชน์ข้อนี้ทำให้ Blockchain ถูกนำไปใช้ในธุรกิจ Supply Chain เช่น Walmart ใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อตรวจสอบที่มาของแหล่งอาหาร จุดเก็บของและขนส่งระหว่างทาง (Traceability) เพื่อสร้างมาตรการที่รัดกุมสำหรับความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) และอีกตัวอย่างคือ e-estonia ที่นำ Blockchain มาใช้เก็บข้อมูลของประชาชนในประเทศ โดยสามารถป้องกันการปลอมแปลงตัวตน และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างปลอดภัย

2. เทคโนโลยี Blockchain จะทำให้เกิดองค์กรแบบใหม่ที่ใช้ข้อมูลได้ชาญฉลาดขึ้น

การประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความลำบากให้กับองค์กร Smart Contractเป็นอีกหนึ่งบริการบน Blockchain ซึ่งใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสร้างเงื่อนไขของสัญญา (Contract) ส่งผลให้การเซ็นสัญญามีความปลอดภัยสูง และดำเนินการได้ด้วยระบบอัตโนมัติ จึงสามารถลดขั้นตอนในการทำงาน ลดจำนวนบุคลากรด้านบัญชีและกฎหมาย และเพิ่มอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขการเผยแพร่ข้อมูลของเจ้าของสัญญา ยกตัวอย่างของ Smart Contract เช่น Decentralized Autonomous Organisations(DAOs) เป็นองค์กรสำหรับระดมทุนจากคนทั่วไป (Crowdfunding) ซึ่งใช้ Smart Contract ในการสร้างสัญญาระหว่างผู้ระดมทุนกับผู้ร่วมลงทุนโดยอัตโนมัติ ผ่านการซื้อ Token (คล้าย Token ของ Line)

3. Open data ที่กว้างขวางมากขึ้น

ข้อมูลบางอย่างที่มีอยู่ในองค์กรหรือต่างองค์กรทุกวันนี้ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด แต่การทำ Transaction โดยไม่พึ่งพาคนกลางและมีความปลอดภัย ทำให้ข้อมูลสามารถเปิดเผยได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวและโปร่งใสมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารสามารถเผยแพร่ข้อมูลภายใต้เงื่อนไขของสัญญาที่เขียนอยู่ใน Smart Contract กับธนาคารอื่น ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลของผู้ป่วยให้กับหน่วยงานที่ทำการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนของผู้ป่วย

4. เพิ่มความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) และความลับของข้อมูล (Confidentiality)

ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นอีกประเด็นที่ผู้ใช้ Blockchain เป็นห่วง ช่วงที่ผ่านมา Blockchain บางระบบได้เพิ่ม Zero Knowledge Proof (ZKP) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถพิสูจน์ข้อมูลบางอย่างโดยที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นโดยตรงแก่ผู้ขอ อ่านดูแล้วคงชวนให้หลายคนเริ่มขมวดคิ้วไปตามๆกัน ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจชัดเจนขึ้น ผมจึงขอยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ดัดแปลงมาจาก Wikipedia (ดูรูปภาพประกอบ) ซึ่งมีลำดับเหตุการณ์ดังนี้

    – ภายในอุโมงค์รูปตัวยู มีประตูบานหนึ่งที่จะต้องใช้รหัสในการเปิดติดตั้งอยู่
    – สมชาย (ผู้ทดสอบ) ยืนอยู่ภายนอกอุโมงค์ และ สมศรี (ผู้ถูกทดสอบ) ยืนอยู่ภายในอุโมงค์ที่มีประตู โดยที่สมชายไม่รู้ว่า สมศรีได้เดินเข้าไปในอุโมงค์ด้วยทางเข้า 1 หรือ 2
    – สมชายจะทำการทดสอบว่าสมศรีรู้รหัสผ่านของกลอนประตูนั้น ด้วยการบอกให้สมศรีออกมาตามทางที่เขาต้องการ ซึ่งถ้าหากสมศรีรู้รหัสประตูก็จะต้องสามารถทำได้
    – จากนั้นสมชายจะทดสอบแบบเดิมอีกหลายครั้งเพื่อความมั่นใจ หากสมศรีไม่รู้รหัสประตู เธอก็จะไม่สามารถทำตามคำสั่งของสมชายได้ตลอดการทดสอบ

นอกจากนี้ ผมขอยกตัวอย่างหน่วยงานที่นำ ZKP มาใช้ ได้แก่ ING และ JPMorgan ที่นำระบบนี้มาใช้สำหรับพิสูจน์งานทางด้านการเงิน เช่น การตรวจสอบบัญชี (Audit) ระหว่างหน่วยงาน โดยที่ยังรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเอาไว้ด้วย

ทุกท่านคงเห็นแล้วว่าเทคโนโลยี Blockchain สามารถสร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ให้แก่วงการ Data พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้การเผยแพร่และเข้าถึงข้อมูลทรงประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับคนทำงานด้านข้อมูล และความสนุกของพวกเราก็คือมีข้อมูลมาให้นำไปใช้มากขึ้น สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งองค์กร สังคม และประเทศชาติ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและควรค่าแก่การเรียนรู้

สุดท้ายผมมองว่านี่เป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่แพ้เรื่องราวของ Crypto Currency ว่าเราชาวไทยจะได้เห็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเหล่านี้ในประเทศไทยกันบ้างหรือไม่

References:
•https://bitcoin.org/bitcoin.pdf
•Block chain technology handbook
•Blockchain economy a beginners guide to institutional cryptoeconomics
•Blockchain based zero knowledge proof