ThaiPublica > คนในข่าว > “วิษณุ เครืองาม” Meet the Press เล่า “ความในใจ-ความคืบหน้า” กฎหมายหลายรส อนาคตประเทศไทย

“วิษณุ เครืองาม” Meet the Press เล่า “ความในใจ-ความคืบหน้า” กฎหมายหลายรส อนาคตประเทศไทย

28 มกราคม 2018


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมายได้ร่วมงาน “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า – ตอน กฎหมายหลายรส กับอนาคตประเทศไทย” ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการจัดตามข้อสั่งการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีงานสื่อสารเชิงรุกให้รัฐมนตรีลงมาพบปะและตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความใกล้ชิดและความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน

นายวิษณุกล่าวว่า “เรื่องที่ผมเล่าอยู่ในความรับผิดชอบที่ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายคือเรื่องกฎหมาย เรารู้และเราพูดกันหลายครั้ง และผมใช้หากินมาหลายหนแล้วว่ารัฐบาลได้อยู่มาจนถึงบัดนี้ ถ้าพูดกันแล้ว เราได้ออกเป็นพระราชบัญญัติใช้บังคับแล้ว 280 ฉบับภายในเวลากี่ปี นับเองก็แล้วกัน แต่สิ่งนี้ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอามาคุยหรอก รัฐบาลมาคุยว่าออกกฎหมายได้ 280 ฉบับ เก่งกว่ารัฐบาลก่อน ออกได้ 100 ฉบับ มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาคุยโวโอ้อวดแบบนั้น เพราะว่าการมีกฎหมายมากก็ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องดี เพราะแสดงว่าประชาชนก็มีอะไรมาบีบคั้นเยอะขึ้น

แต่ว่าที่ต้องเอาตัวเลขนี้มาพูดเพราะว่า กฎหมาย 280 ฉบับที่ได้ออกมาแล้ว ไม่ใช่ที่นึกจะออกก็ออก ไม่ใช่เรื่องว่างๆ อยู่ไม่มีอะไรทำก็ออก มันเป็นกฎบัตรกฎหมายที่ส่วนราชการเขารออยู่เป็นเวลานานแล้วก็ออกไม่ได้เสียที เขาก็ทำงานไม่ได้ ติดขัด ทำไปก็เสี่ยงติดคุกติดตารางไป เขาก็เกียร์ว่าง อย่าทำดีกว่า

อีกประเภทคือประชาชนเขารอคอย ต้องการกฎหมายมาเสียทีว่า อุ้มบุญที่พูดกันทำได้หรือไม่ เพราะที่แล้วมาทำไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่รู้ใครพ่อใครแม่ ออกมาเสียทีได้หรือไม่ หรือว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีอากร ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีสรรพากร ศุลกากร สรรพสามิต เป็นสิ่งที่เขาต้องการ เขากำลังอึดอัดขัดข้องมาเป็นเวลานานแล้วกับเรื่องที่เขาติดต่อราชการแล้วไม่ได้รับความสะดวกสบาย แล้วเขาจะต้องเสียเงินเบี้ยบ้ายรายทาง หรือมิฉะนั้นก็ต้องเสียใต้โต๊ะ เพราะถ้าทำตามปกติใช้เวลา 5 ปี 10 ปีกว่าจะเสร็จ ถ้าอยากจะได้เร็วปี 2 ปี ต้องจ่ายเงิน เขาก็อยากจะได้เร็ว ไม่เช่นนั้นที่เขากู้คนมาลงทุน มาทำโรงงานอะไรก็ตาม ใบอนุญาตยังไม่ออก เขาก็เสียเวลา เสียดอกเบี้ย ก็ยอมจ่าย แต่ถ้าเป็นไปได้เขาก็อยากจ่าย ถ้าสามารถทำทุกอย่างให้เร็วได้

และอันสุดท้าย มันก็มีเหมือนกันจนต้องเอามาพูด คือ ต่างประเทศอยากได้กฎหมาย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายแบบนี้เขาก็ไม่มาลงทุน หรือบางทีไม่ใช่ลงทุนแต่เป็นองค์การหรือประเทศต่างๆ ที่เราไปลงนามสัญญาไว้แล้ว สัญญา 5 ปี 7 ปีที่แล้ว บางเรื่องสัญญากัน 20 กว่าปีมาแล้วว่าเราจะทำอย่างนี้อย่างนั้นให้เขา จนประเทศอื่นๆ ที่ลงนามสัญญาด้วยเขาทำหมดแล้ว กฎหมายออกมาตามสัญญา เราก็ยังไม่มีกฎหมายออกมา นี่คือแสดงว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมาย แล้วมันไม่มีออกมาไม่ได้

ดังนั้น การใช้เวลา 3 ปีเศษเร่งรัดออกมาได้ 280 ฉบับ มันเท่ากับไปสนองความต้องการของส่วนราชการต่างๆ ไล่ไปทุกกระทรวง ทบวง กรม  20 กระทรวง 140 กรม เขาอยากได้กฎหมาย เราได้ออกให้ สนองความต้องการของประชาชน และสนองความต้องการหรือพันธะที่เรามีกับต่างประเทศ มันก็เลยออกมา 280 ฉบับ ซึ่งก็จำเป็นต้องออกมาพูด พูดได้อย่างไรว่าเป็นผลงานหรือโดดเด่นดีเด่น ผมไม่ได้บอกว่าโดดเด่นดีเด่น แต่ว่าเมื่อเทียบกับก่อนที่ คสช. จะเข้ามา ถอยไป 7 ปีก่อนหน้านั้น ประเทศไทยมีสภาหรือไม่ มี มีรัฐบาลหรือไม่ มี มี ส.ส. หรือไม่ มี แล้วสภาออกกฎหมายหรือไม่ ออก ออกได้กี่ฉบับ 7 ปีออกได้ 120 ฉบับ หารเองว่าปีหนึ่งออกได้กี่ฉบับ

ฉะนั้น กฎหมายที่มันออกมาได้ในเวลาเหล่านั้นและน้อยฉบับ มันไม่สามารถจะสนองความต้องการของกระทรวง ทบวง กรม ได้ทัน ไม่สามารถสนองความต้องการของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชน และไม่สนองพันธกรณีระหว่างประเทศ ผมไม่ตำหนิรัฐบาลเหล่านั้น เพราะบางชุดผมได้เคยทำงานด้วย แล้วเห็นจริงๆ ว่ารัฐบาลอยากออกกฎหมายเร็วมาเร่งรัด แต่โดยกระบวนการ โดยสถานการณ์บ้านเมือง เขาออกมาไม่ได้ จนกระทั่งประชุมสภาเพื่อจะออกกฎหมาย นายกรัฐมนตรีบางคนไม่สามารถเข้าไปในสภาได้ เข้าแล้วก็ออกไม่ได้ ต้องบินหนีออกไป สถานการณ์แบบนั้นมันออกกฎหมายมาไม่ได้ บัดนี้สถานการณ์อำนวยก็ขับเคลื่อนออกมา

ทีนี้ถามว่ามีอะไรโดดเด่นบ้าง 280 ฉบับเป็นตัวเลขเป็นปริมาณ คุณภาพล่ะ แน่นอนมันมีกฎหมายบางฉบับที่เป็นประโยชน์ตอบสนองพันธะระหว่างประเทศ พูดถึงเรื่องงาช้าง เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเกี่ยวกับอาเซียนหลายเรื่องออกมา แม้กระทั่งสิ่งที่บีบคอเราจะแย่อยู่แล้ว เป็นพันธะ เราก็ปลดเรื่องให้เสร็จ เพราะเราไปตกลงเอาไว้ ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่ให้เครื่องบินไทยไปลงประเทศเขา แล้วก็จะไม่ให้เครื่องบินเขามาลงประเทศไทย หรือที่เรียกว่าปัญหา ICAO ของการบินพลเรือน เราก็ปลดให้ ธงแดง ธงเหลือง ชักธงขึ้นลง หมดแล้ว เรื่องประมง เราไปทำประมงไปจับปลาไปขายต่างประเทศ เขาบอกไม่ซื้อ อย่าส่งมา เพราะเราไปใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กดขี่ข่มเหงอย่างนั้น เขาไม่สนับสนุนเรื่องนี้ เราก็มีพันธะที่ต้องจัดการให้เขา พันธะนี้มีมานาน แก้ไม่ได้ วันนี้ก็แก้ไป ซึ่งก็ยังแก้ไปไม่หมด ออกมาตั้ง 2-3 ฉบับ ถ้าพูดกันตรงๆ ออกมาเสร็จก็ให้เขาดูว่าพอใจหรือไม่ เขาพอใจเราก็รอดไป ถ้าไม่พอใจเขาก็ว่ามา มีบางครั้งเขาบอกว่าพอใจแล้วอยู่ๆ ไปก็บอกว่าไม่พอใจ

ถ้าเราไม่สนใจก็ไม่เป็นไรก็ทำไป แต่เมื่อเราจะต้องทำมาค้าขายกับเขา เราจับกุ้งหอยปูปลาส่งไปขาย เขาก็บอกว่าถ้าไม่จัดการเขาไม่ซื้อ พอไม่ซื้อก็อย่าซื้อ เราก็บอกไปขายประเทศอื่นก็ได้ ไม่ต้องยุ่งกับเขา แต่เพราะเราต้องการปกป้องอาชีพ ปกป้องธุรกิจในด้านนี้ เศรษฐกิจประเทศ แล้วดูไปที่เขาท้วงมันก็มีเหตุผล ไม่ใช่เอาแต่ใจเขา มันเรื่องมนุษยธรรม เรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็จัดการแก้ไขให้ กลุ่มนี้มันก็เสร็จไป

กลุ่มเรื่องกฎหมายเศรษฐกิจก็ได้ออกมาหลายฉบับ เรารอคอยมานาน กฎหมายซึ่งชาวบ้านอาจจะไม่รู้เรื่องไม่สนใจ ชื่อว่ากฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ผมเป็นเลขาคณะรัฐมนตรีอยู่ 10 กว่าปี เจอต่างประเทศมาถามทุกปีทุกรัฐบาลว่าเมื่อไหร่จะออกให้เขา บัดนี้ออกมาแล้ว แล้วผมจำได้ว่าหลังจากออกประกาศใช้ไม่นาน ผู้แทนธนาคารโลกมาเยี่ยมท่านนายกรัฐมนตรีและผมด้วย เขาก็มาแสดงความยินดีขอบคุณที่มีกฎหมาย ธนาคารโลกนะ เขาแสดงความยินดีที่มีกฎหมายนี้ออกมา เพราะอย่างน้อยจะยกระดับของประเทศไทยในวงการธุรกิจการค้าโลก อันนี้อันหนึ่งที่รอคอยอยู่ หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนเรื่องหนึ่งคือได้แก้กฎหมายส่งเสริมการลงทุน มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าที่ไม่เป็นธรรม แก้ไขกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นการแก้ ไม่ใช่ออกใหม่

แต่ผมจำเป็นต้องพูดประเด็นหนึ่งเพราะถูกถามเรื่องปราบทุจริต ในวงการนักลงทุนนักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ใครๆ ก็อยากมาลงทุนในไทย แต่ที่เขาไม่มากันเพราะเขาเบื่อหน่ายเรื่องการทุจริต การรีดไถ การเรียกรับใต้โต๊ะ การส่งส่วย การอะไรก็ตาม เพราะมันไม่สะดวกไปเสียหมด เราต้องยอมรับความจริง แค่เราขึ้นอำเภอหรือเขตขอคัดสำเนาอะไรก็ตาม เราก็รู้แล้วว่าคิวยาวขนาดไหน ใช้เวลาเท่าไหร่

เพราะฉะนั้นมันก็มีกฎหมายบางอันที่เกี่ยวกับธุรกิจตรงๆ ไม่ได้ แต่มันมีผลในทางอ้อม เราได้ออกกฎหมายสำคัญเป็นชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลนี้ คือพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการอนุญาตอนุมัติของทางราชการ ซึ่งได้กำหนดไว้ว่าเวลาไปติดต่อขออนุญาตกับทางราชการ

ก่อนอื่นต้องรู้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดให้ใครก็ตามที่ไปติดต่อของอนุญาต อนุมัติ ขึ้นทะเบียน จดทะเบียน ลงทะเบียน กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลายพันฉบับ มันมากเหลือเกิน จนไม่รู้ว่าตื่นเช้าเปิดหน้าต่างจะผิด พ.ร.บ. หรือไม่ เพราะไม่ได้ขออนุญาตอะไร ทำนองนี้ มันมีหลายพันฉบับ

แล้วการไปขออนุญาตอะไรก็ตาม ถ้ามันได้รับเร็วมันก็ไม่มีอะไร แต่เพราะมันต้องใช้เวลาเป็นปีหรือหลายเดือน ก็จำเป็นต้องหยอดน้ำมัน อย่างที่ผมเกริ่นว่าเขาต้องไปกู้เงินมาลงทุน แต่ขออนุญาตใบเดียวไม่ได้ 2 ปีแล้วยังไม่ออก ดอกเบี้ยมันกินมันเดินตลอดเวลา เขาก็ไม่อยากลงทุน กฎหมายอำนวยความสะดวกคลี่คลายประเด็นเหล่านี้ให้ ด้วยการบอกว่าส่วนราชการทั้งหมดในประเทศ แม้ไปถึงตำบล อำเภอ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ต้องทำคู่มือมาเลยว่าใครจะมาติดต่ออะไรก็ตามจะใช้เวลาเท่าไหร่ คุณอยากให้เวลาเท่าไหร่บอกไป ไม่มีใครว่าอะไร แต่เมื่อคุณตกลงแล้ว สัญญาเป็นสัญญา ถ้าบอกว่า 7 เดือนก็ 7 เดือน ชาวบ้านจะได้รู้เช่นเห็นชาติว่า 7 เดือนจะได้ใบอนุญาต ไม่ว่ากัน จะได้รู้อนาคต แต่ถ้าครบ 7 เดือนแล้วยังไม่ได้ กฎหมายเปิดทางให้ฟ้องร้องเรียนได้

นอกจากนั้น บ่อยครั้งที่เราไปติดต่อราชการไปถึงเจ้าหน้าที่บอกว่าต้องเอาหลักฐานนั่นนี่มา เราก็กลับบ้านไปเอามา เจ้าหน้าที่มาบอกอีกว่าไม่ใช่ต้องมีอีกใบ สุดท้ายกลับไปกลับมาไม่ได้ทำงานกัน กฎหมายอำนวยความสะดวกบังคับอีกว่าต้องบอกด้วยว่าต้องเอาเอกสารอะไรมาและห้ามเรียกเพิ่ม เอามากี่อย่างบอกให้หมดไม่มีใครว่า คนรู้มาติดต่อแล้วไปขอเพิ่มแม้แต่ใบเดียวเขาฟ้องคุณได้

อย่างนี้ที่คิดว่ามันจะอำนวยความสะดวกและลดตัดทอนการทุจริตไปได้เยอะพอสมควร กฎหมายนี้ใช้มา 2 ปีแล้ว แน่นอนยังไม่ได้ 100% ผมเองได้คนบอกเล่ามาว่าก็คุยไป ยังเสียเวลาอยู่ ยังนานอยู่ ไม่ได้เป็นไปตามนั้น มันก็แหม จากไม่เคยมี แล้วมันเริ่มมี 2 ปีมันต้องช่วยกันปรับตัว ผมเล่าให้ฟังว่าหน่วยงานหนึ่งมาติดต่อกับเขา เมื่อก่อนใช้เวลา 14 วัน บัดนี้ใช้ 7 นาที ผมอ่านในคู่มือ 7 นาที ผมคิดในใจได้ติดคุกแน่เลย เพราะว่าคงไม่สามารถทำได้ แต่เขาก็ทำได้ มีประชาชนมาร้องเรียนว่าอาจารย์วิษณุ ผมบอกให้ว่าเขาทำไม่ได้หรอก ผมลองไปดูมัน 3 ชั่วโมง ผมก็บอกว่าเขาฟ้องได้เลยนะ พอสอบถามไปถามมาได้ความว่าเวลามาติดต่อ คุณต้องรอคิว มันยาวก็นั่งรอกันไป 3 ชั่วโมง พอครบเรียกชื่อไปที่โต๊ะ 7 นาทีออกมาเลย คืออะไรรู้หรือไม่ ทำบัตรประชาชน แต่ที่คิว 3 ชั่วโมง ไม่นับกัน เพราะไม่รู้ว่าคิวสั้นคิวยาว เขาไม่สัญญาเรื่องนี้ เขาสัญญา 7 นาทีคือต้องแต่เริ่มเรียก ตรงนี้มันเคย 14 วัน แบบนี้เป็นต้นที่ก็ต้องช่วยปรับแก้ไข ผมก็บอกแล้วว่าต่อไปปรับว่าให้บอกว่าใช้เวลารอกี่ชั่วโมงไม่รู้บวกอีก 7 นาที มา 7 นาทีเฉยๆ คนเขาคิดว่าออกจากบ้าน 7 นาทีได้บัตรประชาชน มันไม่ใช่

นายวิษณุกล่าวต่อไปถึงความคืบหน้าของการแก้ไขชำระกฎหมายต่างๆ หรือ regulatory guillotine ว่ากฎหมายในประเทศไทยที่ใช้บังคับอยูมีหลายหมื่นฉบับ เป็นพระราชบัญญัติบ้าง เป็นกฎกระทรวง กฎหมายลูกบ้าง เป็นหมื่นฉบับ จะแสนด้วยซ้ำ ขนาดรัฐธรรมนูญยังซัดไปหลายฉบับ ทั้งหมดที่มีอยู่มันเป็นภาระของประชาชนและเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะไปบังคับการ และแน่นอนว่าในจำนวนนี้มีหลายกฎหมายที่ไร้สาระ เป็นกฎหมายที่เชย ล้าสมัย อาจจะออกเมื่อปี 2489 วันนี้ 2560 มันยังดันบังคับใช้อยู่ แล้วมันก็มีกฎหมายบางฉบับและหลายฉบับด้วยที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะที่ออกมันไม่ขัดฉบับเดิม และมีอีกหลายฉบับที่อ่านแล้วไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องด้วยภาษาถ้อยคำที่เก่า เพราะฉะนั้นมาคิดกันว่าจะทำอะไรกับพวกนี้ดี ต้องสังคายนา

มีตัวอย่างตลกๆ เรื่องจริงเล่าให้ฟัง มันมีกฎหมายฉบับหนึ่งว่าด้วยเรื่องการควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งออกมาตั้งแต่ทุกคนในห้องยังไม่เกิด ขณะที่ออกเขาก็เจตนาดีว่าต้องการจะควบคุมการใช้ไมโครโฟนการใช้เครื่องขยายเสียงของเอกชน ไม่ใช้กับราชการ ใครจะใช้เครื่องขยายเสียงต่อไปนี้ต้องไปขออนุญาตและจะต้องใช้ภาษาไทย ถ้าใช้ภาษาต่างประเทศเขาห้าม มีมาตั้งแต่ 2493 วันนี้ยังใช้บังคับอยู่ เพียงแต่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ได้สนใจกัน แต่ถ้าวันหนึ่งมีใครจะงัดขึ้นมาเล่นงาน ใครต่อใครก็ดีที่ใช้ไมโครโฟนกันอยู่ผิดนะ แล้วที่ใช้ภาษาอังกฤษหรือจีน มีโทษอีก

อีกฉบับหนึ่งพระราชบัญญัติควบคุมการค้าของเก่า ใครจะค้าของเก่าต้องไปขออนุญาต ไม่เช่นนั้นทำไม่ได้ ถ้าของเก่าคือโบราณวัตถุ เราเข้าใจได้ แต่นิยามของกฎหมายรวมไปถึงเปิดท้ายขายของเอากางเกงยีนส์ กล้องถ่ายรูป ใช้งานแล้วมาขาย เข้านิยามของเก่าด้วย แล้ววันนี้ทำไมทำกันได้ เพราะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ถ้าวันหนึ่งเราบอกว่าเจ้าหน้าที่ต้องเคร่งครัด งัดกฎหมายขึ้นมาก็ผิดทั้งนั้น

บางทีการไม่เคร่งครัดกับกฎหมายมันก็ดีไปอย่าง แต่เราก็ไม่อยากเห็นสภาพแบบนั้น วิธีที่ถูกต้องมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ที่ถูกต้องคือควรยกเลิกมันเสีย หรือถ้ามันจำเป็นต้องใช้ มีความต้องการ ช่วยแก้ไขมันใหม่ นี่คือที่มาของแนวคิด แล้วคิดแบบนี้มันก็ต้องมีการจัดการปรับปรุง พอคิดจะปรับปรุงหรือปฏิรูปแก้ไขกฎหมายเก่า ล้าสมัย มันมีมานานแล้วทุกรัฐบาลทุกสมัย แต่ว่ามันก็ทำยาก แล้วรัฐบาลไหนอยู่ไม่นานแค่คิดก็ไปแล้ว สุดท้ายรัฐบาลใหม่มาก็เริ่มคิด 

ย้อนไป 10 กว่าปี รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ก็คิดจะทำ ทำจนถึงขนาดว่า ตอนนั้นผมเป็นประธานด้วย คือให้กระทรวงไหนกรมไหน คิดออกว่าจะเลิกกฎหมายอะไรให้มาบอกรัฐบาล รัฐบาลจะให้คะแนนและถ้าสะสมจนถึงเหมือนสะสมแต้ม คุณได้โบนัสไปแจกข้าราชการในกระทรวง เราได้ทำมาแล้วเพื่อจูงใจ

ผมยังจำได้และจำจนวันนี้ ปลัดกระทรวงยุติธรรมทำหนังสือมาถึงรัฐบาลว่าขอแก้ระเบียบว่าห้ามนักโทษในเรือนจำห้ามกินหมาก ขอ 1 คะแนนครับ ผมบอกว่าให้ 1 คะแนนและจะแถมอีก 1 คะแนนถ้าบอกได้ว่าทำไมเขาถึงห้ามกินหมาก ปลัดบอกคะแนนเดียวพอแล้ว แล้วทำไมถึงห้ามจนวันนี้ยังไม่รู้เลย ที่คิดก็ไม่รู้ว่าจริงไม่จริง

วันนี้ก็คิดกันต่อว่าจะทำอย่างไรดี มันก็มีคนมาแนะนำ เขาไปทำที่เกาหลีใต้และเรียกว่า regulatory guillotine ตัว guillotine คือเครื่องประหารในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส สมัยก่อนเวลาจะประหารต้องยิงหรือตัดหัว เครื่องนี้คือเหมือนเขียงหมู เอามาตั้ง มีมีดอีโต้ข้างบน มีคน 10 คนนอนอยู่ข้างล่าง แล้วกระตุกเชือกลงมาคอ 10 คนขาดพร้อมกัน เร็วดี ทารุณมาก ฝรั่งคิดเรื่อง regulatory guillotine ก็คือว่าเอากฎหมายขึ้นวางบนเขียง สับทีเดียวไปหมด 200 ฉบับ เขาก็คุยกับรัฐบาลไทยว่าที่เกาหลีใต้ใช้เวลา 6-7 เดือน ตัดหัวกฎหมายไปแล้ว 7,000 ฉบับ อยากเลิกกฎหมายวิธีนี้ไหมล่ะ

ถามว่าตอนนี้ทำไปหรือยัง มันเริ่มต้นตรงที่เขาบอกว่าถ้าสนใจต้องจ้างเขา เราก็เริ่มคิดหนัก จ้างเขายังไม่เป็นไร ผมถามว่าเท่าไหร่ หลายร้อยล้านบาท ยิ่งคิดหนักหน่อย แต่เอกชนเขาเดือดร้อน เขาบอกว่ารัฐบาลอยู่นิ่งๆ พี่ไม่ต้องน้องทำเอง แล้วเอกชนลงขันออกเงินให้ ตัดคอ อุปมานะ ก็คือเลิกกฎหมายทีเดียว แต่พอรู้ว่ามันแพงมากก็บอกว่ามาคนละครึ่ง แต่จริงๆ ก็หน้าที่รัฐบาล เขาไม่ควรออกสักบาทเดียว แต่เขาบอกว่าได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ รัฐบาลก็ยังลังเล

ผมก็ส่งกฤษฎีกาไปดูงานที่เกาหลีใต้ว่าตัดคอกฎหมายที 7,000 ฉบับจริงไหม แล้วไปสัมภาษณ์รัฐบาลว่าปลาบปลื้มชื่นชมหรือไม่ ทำกันอย่างไรข้าราชการไม่เดินขบวนประท้วง เพราะเวลาเราคิดปฏิรูปกฎหมายแก้ไขกฎหมาย คนที่ออกมาต่อต้านก่อนเพื่อนคือข้าราชการ เขาบอกว่าดีอยู่แล้วใช้มา 40 ปีไม่มีปัญหา อยู่แบบนี้มันถึงไม่ได้ปฏิรูป ไปดูเสร็จกลับมาก็ได้ความว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง

ก็ตกลงเอาแบบนี้ ทำ แต่แทนที่จะทำทีเดียวกวาดไปหมดทุกประเภท เอาเฉพาะกฎหมายที่มีผลทางธุรกิจ การค้า การลงทุน เศรษฐกิจก่อน แล้วค่อยขยับไปกฎหมายประเภทอื่นๆ เราตัดสินใจตกลง เอกชนช่วยลงขันให้ส่วนหนึ่งแล้ว รัฐบาลก็จะจัดการลงทุนให้อีกส่วนหนึ่ง

วันนี้ก็มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ผมก็โยนไปให้ดู เขาก็เตรียมจะคิดเรื่องนี้จัดการต่อ คงไม่ถึงกับครั้งเดียวไป 7,000 ฉบับ เพราะจะลดขอบเขตเหลือเฉพาะกฎหมายธุรกิจเศรษฐกิจ ซึ่งคงจะมีไม่กี่ฉบับมากนัก แต่จะไล่ตั้งแต่พระราชบัญญัติลงไปจนถึงประกาศกระทรวง ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ไล่ลงมาหมด เขาจะมีวิธีออกแบบ ใช้คอมพิวเตอร์อะไรดำเนินการไป ผมเห็นแล้วในแผนปฏิรูป อาจจะต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาเป็นสำนักงาน guillotine นี่

นายวิษณุกล่าวต่อไปถึงการออกหรือปรับปรุงกฎหมายการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันให้สามารถบังคับได้จริงจัง จากประเด็นในกระแสสังคมช่วงที่ผ่านมาว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทย มีหลายหน่วยงานตั้งแต่ ป.ป.ช. อันนี้ใหญ่สุดเลย อันที่สองคือ ป.ป.ท. อันที่สามคือ ปปง. เรื่องฟอกเงิน อันที่สี่คือ สตง. ซึ่งดูแลการใช้เงินของส่วนราชการ และอันที่ห้าคือดีเอสไอ ซึ่งตรวจสอบคดีทุจริตที่จัดเป็นคดีพิเศษ และวันนี้ก็มีการตั้งหน่วยงานบูรณาการที่เรียกว่า ศอตช. ย่อมาจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม เขาเอาหน่วยงานทั้งหมดมาบูรณาการทำงานร่วมกันและก็ตรวจสอบดูแล

วันนี้ที่ออกคำสั่ง คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไปพักงาน แขวนงาน นายกเทศมนตรี นายก อบต. นายก อบจ. เป็นผลงานที่ออกจาก ศอตช. ที่เขารับเรื่องจากทุกหน่วยงานและรายงานมา ในอนาคตก็ยังมีหน่วยงานตรวจสอบทุจริตต่างๆ อยู่ แต่มีแนวคิดว่า ศอตช. อาจจะต้องยกระดับฐานะให้ถูกกฎหมายชัดเจน

แต่ประเด็นที่ถามว่าจะมีกฎหมายอะไรหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ จริงๆ หน่วยงานที่พูดมาก่อนหน้านี้เขามีกฎหมายของเขา แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะว่าการทุจริตจะมีโจทย์ว่ามันมักจะมีช่องว่างเล็ดลอดไปได้อยู่เรื่อย สิ่งที่เราคิดในปี 2557 ซึ่งสวยหรูและรัดกุม พอมาปี 2560 มันก็เชยไปแล้ว คนก็จะเล็ดลอดออกไปได้ ก็ต้องพยายามออกกฎหมายแก้ไขไล่ตาม ตอนนี้ผมต้องกลับมาคุยเรื่องเดิมว่ากฎหมายอำนวยความสะดวกช่วยบรรเทาลงไปได้มากในทุกหน่วยงาน เพราะถ้าไปติดต่อกับราชการและมีเวลาที่ตายตัวได้ โอกาสที่ส่วนราชการจะเรียกรับเงินมันไม่ค่อยจะมี หรือเรียกก็จะไม่มีใครให้ เพราะเขารู้ว่ามันเดินตามเวลาในคู่มือ และถ้าทำไม่ทันฉันก็จะฟ้องเอา เพราะฉะนั้นอย่าไปจ่ายเงิน

แต่มันยังมีกฎหมายอีกฉบับในสภา คือร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากผลประโยชน์ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ Conflict of Interest อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กำลังพิจารณาปรับแก้ ซึ่งผมไม่ได้ขัดข้องที่จะให้เขาตรวจสอบให้รอบคอบ เพราะมันอาจจะกว้างเกินไปจนมีปัญหาการตีความ ทุกคำต้องแน่ใจว่าแปลแบบนี้ๆ ตรงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็อยู่ในระหว่างจัดทำ ซึ่งก็มีกำหนดเวลากฎเกณฑ์อยู่

กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งใจมาปราบทุจริต แต่ก็มาช่วยปราบปรามคือพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการจัดหาพัสดุภาครัฐ เดิมมันคือระเบียนพัสดุ เดิมใครฝ่าผืนระเบียบก็ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ ถ้าจะต้องมีโทษต้องไปยืมจากกฎหมายอื่นมา บัดนี้เรายกเลิกระเบียบนี้แล้วและออกมาเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งมีความผิดและมีโทษ รวมทั้งครอบคลุมส่วนราชการหมด เดิมรัฐวิสาหกิจไม่อยู่ใต้ระเบียบ วันนี้เราดึงมาอยู่ องค์การมหาชนเข้ามาแล้ว ส่วนราชการ ส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น จนองค์กรอิสระ จะประมูล จัดซื้อจัดจ้าง รับเหมาก่อสร้าง เข้ามาอยู่หมด ระบบ e-auction ระบบ e-biding เข้ามาอยู่ในกฎหมายหมด มันจะช่วยลดการทุจริตไปได้

อย่างไรก็ตาม อย่าหวังว่าจะปราบปรามได้ 100% แต่มันก็ยังดีกว่าไม่มี หรือมีแล้วไม่มีคุณภาพ ช่วยไปได้เยอะเหมือนกัน กฎหมายอ้อมๆ แบบนี้จะมีมาก

นายวิษณุกล่าวต่อถึงเรื่องผู้มีอำนาจจนกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้ว่า กฎหมายไม่ได้ยกเว้นกับผู้ใด ถ้าจะยกเว้นเขาจะเขียนไว้ให้ ซึ่งมีว่าสำหรับพฤติกรรมแบบนั้นจะยกเว้น แต่ไม่ได้บอกว่าคนนั้นคนนี้ผู้มีอำนาจวาสนาบารมี ไม่มีทั้งสิ้น ถ้ามันจะเล็ดลอดไปเพราะเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ได้ผล ฉะนั้นมันเป็นเรื่องของการใช้กฎหมาย กฎหมายทั้งหมดก็คือกระดาษ วางอยู่ก็คือกระดาษ กฎหมายก็คือดาบ วางอยู่ก็คือดาบ ถ้าไม่มีคนชักมันออกมาจากฝักและเงื้อ มันก็ไม่สามารถฟันใครได้ทั้งนั้น มันอยู่ที่เจ้าหน้าที่และการบังคับ

แต่ของแบบนี้อายุความมันจะไม่มีหรือมีก็ยาว ดังนั้น รอดในเวลาหนึ่ง สุดท้ายมันจะไม่รอดตลอดไปหรอก วันหนึ่งมันจะต้องโดน หลายเรื่องที่เป็นคดีความวันนี้ ไม่ได้เกิดเมื่อวานซืน แต่เกิดมาเรื่อง 5-10 ปีที่แล้ว เกิดเมื่อรัฐบาลนั้นรัฐบาลนี้ จนกระทั่งรัฐบาลนั้นพ้นไป วันนี้หยิบกฎหมายขึ้นมา มันถึงได้มีเรื่องราว

แล้ววันนี้มีศาลอาญาคดีทุจริตซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในรัฐบาลนี้ ก่อนหน้านี้ไม่มี เมื่อก่อนมีคดีทุจริตทั้งหลายก็ต้องไปฟ้องศาลแขวง ศาลจังหวัด ศาลอาญา แล้วถ้าศาลนั้นมีคดีรกโรงรกศาลอยู่ 300 คดี คดีทุจริตก็ไปต่อที่คดี 301 แล้วเมื่อไหร่จะถึง กรรมมันก็ไม่ตามทัน กรรมมันไม่ติดจรวจ ฉะนั้นคนเลิกไปไม่สนใจ

วันนี้เราตั้งศาลอาญาคดีทุจริตแยกออกมาทั้งหมด แปลว่าคดีตีหัวหมาด่าแม่เจ๊กไม่ได้ขึ้นศาลนี้ คดีล้มละลาย คดีอะไร ไม่ได้มาขึ้นศาลนี้ คดีทุจริตเท่านั้นเข้ามาก็เป็นคดีที่ 1 มันก็พิจารณาไปได้รวดเร็ว ผมได้ติดตามและรับทราบว่าตั้งแต่ตั้งศาลมา 1 ปี มีคดีที่ดำเนินการจนกระทั่งตัดสินไปได้ใช้เวลา 3-6 เดือนก็เสร็จ ถ้าคดีเหล่านี้ไปอยู่ในศาลธรรมดา ผมว่าตอนนี้ยังไม่ได้สืบพยานปากที่ 1 เลยนะ แล้วศาลรวมทุกเรื่อง เรื่องจงใจปกปิดทรัพย์สินด้วย ถ้า ป.ป.ช. เป็นโจทก์ส่งให้อัยการฟ้อง

นายวิษณุกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งว่า “ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แล้วกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างขึ้นแล้วเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาลไม่ได้เข้าไปมีส่วนใดๆ ในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอื่นๆ 10 ฉบับ อยากจะมีส่วนก็มีไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการร่างฯ เมื่อเขาร่างเสร็จส่งไป เอาเฉพาะกฎหมายเลือกตั้งแล้วกัน วันนี้มีอยู่ 2 ฉบับสำคัญที่จะตัดสินว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ คือกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และกฎหมายสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งฉบับแรกกำลังเข้าสภาในวันที่ 25 มกราคม 2561 นี้ ส่วนกฎหมายที่ 2 จะเข้าไปในวันถัดไป”

กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เขากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าจะเลือกกันอย่างไร มันก็มีหลายประเด็นที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากรัฐธรรมนูญและเนื่องจากตัวกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏว่ามีการคัดค้านไม่เห็นด้วยกันในคณะกรรมาธิการของ สนช. และมีการไปแก้ไขหลายมาตรา พูดถึงเรื่อง primary vote มีพูดถึงเรื่องของการอนุญาตหรือไม่อนญาตให้แสดงมหรสพในเวลาหาเสียง ซึ่งเราไม่เคยมาก่อน และมีการพูดถึงเรื่องถ้าหากราชการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะตัดสิทธิหรือได้รับผลกระทบบางอย่าง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชั้นคณะกรรมาธิการของ สนช.

แล้วในที่สุดก็มีขึ้นมาอีกประเด็นที่ฟังจากคณะกรรมาธิการนะว่า เมื่อคำนึงถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่มันจะต้องมี primary vote ซึ่งยุ่งยากซับซ้อนและไม่เคยมี ขณะเดียวกันการนับคะแนนมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คราวนี้เหลือใบเดียวแต่คะแนนจะออกเป็น 2 ประเภท คือ ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อ มันก็อาจจะซับซ้อน นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่าได้มีคำสั่ง คสช. ที่ห้ามทำกิจกรรมของพรรคการเมือง วันนี้ก็ยังไม่ได้ผ่อนคลายหรือปลดล็อก มีแต่กำหนดยื่นเวลา มีมาตรการอื่นเข้ามา ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2560 ซึ่งมันทำให้ยุ่งยากซับซ้อนต่อการเตรียมจัดการเลือกตั้ง ก็มีความคิดในหมู่ของเขาเองว่ากฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 2 จะบังคับใช้เมื่อไร ซึ่งแตกเป็นหลายแขนง

ปกติการบังคับใช้กฎหมายจะใช้หลายสูตร เช่นว่าพระราชบัญญัติบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปคือประกาศแล้วใช้ทันที ถ้าไปดูคำสั่ง คสช. จะเป็นแบบนี้ ประกาศสี่ทุ่มวันนี้ก็ใช้ทันที นาทีถัดไปไล่จับคนที่ทำผิดได้เลย สูตรที่ 2 ประกาศวันนี้ให้เตรียมตัวหน่อย ให้มีผลในวันรุ่งขึ้นถัดไปจะได้เตรียมตัว 24 ชั่วโมง และสูตรสุดท้ายคือประกาศวันนี้แต่ให้มีผลอีกกี่วันก็ไม่รู้ รอไป ซึ่งเคยมีบอกตั้งแต่ 30 วัน 60 วัน 90 วัน 6 เดือน ถึง 2 ปีก็เคยมี เขาทิ้งเวลาเพื่อว่าถ้ากฎหมายใดต้องออกกฎกระทรวง ต้องตั้งหน่วยงาน ต้องมีข้าราชการ ต้องฝึกคน พะรุงพะรังมากก็ไม่ทันหรอก พอประกาศกฎหมายก็ต้องให้เวลาไปเตรียมตัวทำตาม

ถ้าจำไม่ผิดพระราชบัญญัติธุรกิจความปลอดภัยเอกชน ที่ให้เอกชนเป็น รปภ. เฝ้าร้านทอง เฝ้าธนาคาร กฎหมายให้เวลาไปตั้งนาน เพราะกฎหมายเล่นบอกว่า รปภ. ถ้าไม่จบการศึกษาภาคบังคับเป็นยามไม่ได้ ป.4 ป.6 เป็นไม่ได้ แต่ที่เป็นกันอยู่ก็จบ ป.4 ป.6 ทั้งนั้น แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องให้เวลาไปฝึกไปสอบเทียบกันใหม่ ก็ให้เวลาไป 6 เดือน 1 ปี

กลับมากฎหมายเลือกตั้ง โฆษกคณะกรรมาธิการเขาแถลงว่าคณะกรรมาธิการฝ่ายข้างมาก ขีดเส้นใต้ฝ่ายข้างมาก แปลว่ามีฝ่ายข้างน้อย คณะกรรมาธิการฝ่ายข้างมากเห็นว่าถ้าออกกฎหมายวันนี้แล้วมีผลทันทีวันรุ่งขึ้นมันจะไม่ทันและปฏิบัติหลายอย่างไม่ถูกกฎหาย จริงไม่จริงผมไม่รู้ มิหนำซ้ำคนที่จะมาใช้กฎหมายเลือกตั้งคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่วันนี้อยู่ไหนไม่รู้เลย เถียงกันอยู่เลยว่าที่เลือกมาผิดไม่ผิด หรือว่าถ้ากฎหมายออกไปใช้ทันทีแล้ว กกต. จะใช้ กกต. เก่าหรือใหม่ ถ้าเก่าแล้วอยู่ๆ ใหม่มาเห็นว่า กกต. เก่าออกอะไรผิด มันจะยุ่งยาก เหตุผลเหล่านี้เป็นเหตุผลของเขา ให้ผมติก็ติได้ แต่เมื่อบอกว่าคือเหตุผล คณะกรรมาธิการฝ่ายข้างมาก ขีดเส้นใต้ ก็เห็นว่ายืดเวลาออกไป 90 วันแล้วมีผลใช้บังคับ ส่วนคณะกรรมธิการเสียงข้างน้อย ใครไม่เห็นด้วยก็ข้างน้อยทั้งนั้น ประเภทหนึ่งบอกว่าเอามันรุ่งขึ้นเลย ดีแล้ว อีกประเภทบอกว่าไหนๆ ก็จะเลื่อนแล้ว เดี๋ยวไม่ทันเอามัน 120 วันเลย วันนี้จะออกมาเป็น 3 สูตร แบบนี้และลงมติกันวันนี้(25 มกราคม 2561)

ถ้าผลออกมาว่าเอาแบบเดิม มีผลรุ่งขึ้น ก็จบ ถ้ามีผล 90 วันก็ 90 มีผล 120 วันก็ 120 แต่ใครจะมาเหนือเมฆบอก 2 ปีไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในการแปรญัตติ แต่สมมติว่าเสร็จออกมาสูตรไหนก็ตาม มันต้องส่งไปถามคณะกรรมการร่างฯ อีกครั้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าหากว่ามีข้อสังเกตให้ตั้งคณะกรรมการร่วม สนช. และคณะกรรมการร่างฯ มาดูอีกที แก้ไขได้ แต่ถ้าออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องกลับมาที่ สนช. อีกเป็นขั้นที่ 3 แต่ตอนนี้ยังอยู่ที่ขั้นแรกที่ สนช. มันก็มีกระบวนการอยู่

ทีนี้ย้อนกลับไปเมื่อ คสช. ไปล็อกเรื่องกิจกรรมพรรคการเมือง พรรคเขาก็อยากจะให้ปลดล็อก คสช. ก็มีคำสั่งที่ 53/2560 ออกมาแล้ว ในนั้นก็บอกว่าตั้งแต่ 1 มีนาคม 2561 คนที่จะตั้งพรรคใหม่ให้ไปดำเนินการก่อน พอถึง 1 เมษายน 2561 ทุกพรรคสามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้ และพอประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งเมื่อไรให้ คสช. เชิญพรรคการเมืองทุกพรรค กกต. คณะกรรมการร่างฯ แล้วมาคุยวางแนวทางร่วมกันว่า บัดนี้ เหตุการณ์เป็นแบบนี้ ท่านคิดว่าจะควรเลือกตั้งเมื่อไหร่ ตกลงกันวันนั้นตรงนี้ต้องไปดูคำสั่งข้อ 8 หลายคนไม่เคยดู ตรงนี้คือาวระสำคัญของชาติที่จะกำหนดโรดแมปของชาติอย่างชัดเจนที่สุดในวันที่กฎหมายเลือกตั้งประกาศใช้ คนละวันกับวันบังคับใช้ วันประกาศจะมาก่อน

ตอนนี้กลับมาเรื่องกระแสเลื่อนเลือกตั้งว่า ถ้าสมมติ สนช. มีมติเลื่อนวันบังคับใช้กฎหมายไป 90 วัน มันก็ไม่ได้กระทบกับการเลือกตั้งยาวนานมากนัก เพราะว่าถ้านับนิ้วกัน เขาระบุว่าถ้ากฎหมายเลือกตั้งเข้า สนช. เมื่อไหร่ให้ทำให้เสร็จใน 2 เดือน เข้ามาเมื่อไหร่ เข้ามาธันวาคม 2 เดือนก็มกราคม ซึ่งวันนี้เสร็จแล้ว แต่ถ้ามีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมแก้ไขในขั้นที่ 2 เขาก็กำหนดไว้อีก 1 เดือน ก็กุมภาพันธ์ เสร็จแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ผมตีว่าให้เวลาเตรียมการพิมพ์อะไรเป็นเดือนมีนาคม พระมหากษัตริย์ทรงมีระยะเวลาทรงพิจารณา 90 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างช้าจะพระราชทานกลับลงมาเดือนมิถุนายน และหลังจากนั้นถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที สมมติ รัฐธรรมนูญกำหนดต่อไปว่าให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน คือนับหลังมีผลบังคับใช้ ไม่ใช่ประกาศนะ แล้วขีดเส้นใต้ภายในไว้ ขีดหลายๆ เส้น ภายใน 5 เดือนก็คือ “ภายใน” เดือนพฤศจิกายน คสช. ก็คิดแบบนี้ว่าการเลือกตั้งจะไม่เกินพฤศจิกายน เพราะคำนวณแบบนี้

แต่ทีนี้ เมื่อมีการสมมติว่าถ้าจะแก้การบังคับใช้ออกไป 90 วัน มันไม่ใช่ “ภายใน” มันตายตัว 90 วัน เร็วกว่านี้ ช้ากว่านี้ ไม่ได้ แต่การจัดเลือกตั้ง “ภายใน” 150 วัน แปลว่าจัดในอีก 1 เดือนก็ได้ 2 เดือนก็ได้ 3 เดือนก็ได้ เกิน 5 เดือนไม่ได้ นี่ทำให้มีคำสั่ง คสช. ฉบับ 53/2560 ข้อ 8 ว่าให้วันที่กฎหมายเลือกตั้ง “ประกาศ” ให้เชิญทุกพรรค กกต. คณะกรรมการร่างฯ มาประชุมกำหนดโรดแมปซึ่งจะเป็นโรดแมปสุดท้ายของประเทศและชัดเจนที่สุดว่าท่านพร้อมเลือกตั้งเมื่อไร กกต. พร้อมเมื่อไร เขาให้เวลา “ภายใน” 150 วัน พร้อมไหม 2 เดือน 3 เดือน พร้อมไหม ว่าไม่ได้นะคนที่ทำนั่นนี่อยู่อาจจะตกขบวนถ้าจัดเร็วขึ้นมา ผมถึงให้ขีดเส้นใต้ภายในหลายเส้น เร็วก็ได้

ที่จริงเดิมทีร่างของคำสั่ง คสช. เขาไม่ได้ให้มาประชุมหรอก ให้ คสช. ฟันธงเปรี้ยงเลย แต่มาคุยกันว่าเมื่อมันเป็นส่วนได้เสียของพรรคการเมืองก็ตามซะหน่อย เลยเขียนว่า “อาจ” เชิญพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็โวยว่าอาจจะไม่เชิญ ทำไมไม่ต้องเชิญ เราก็บอกว่าถ้าต้องเชิญแล้วดันไม่มา การประชุมเป็นโมฆะเลยนะ ก็ตั้งใจเชิญแน่อยู่แล้ว ความในใจมีแค่นี้ แล้วกฎหมายเลือกตั้ง ส.ว. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการที่จะขยายไม่ขยายอะไร เพราะรัฐธรรมนูญบอกไว้แล้วว่าต้องสรรหา ส.ว. ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.

“เพราะฉะนั้น จะพยายามคาดคั้นถามผมว่าวันไหน ผมตอบไม่ถูกนะ ถ้าให้เจาะลงไปถึงข้อ 8 ที่ต้องเอาหัวหน้าพรรคมาประชุมอะไรกัน เพราะปัญหาที่ยกตัวอย่างไป ไม่รู้ว่ามี กกต. หรือยัง ฯลฯ ก็มาเถียงกันว่าอำนาจเป็นของ กกต. นะ ในยามปกติ กกต. ฟันธงได้ แต่วันนี้ไม่ปกติ เราก็มาเลื่อนกันจนพรรคเรรวนเตรียมตัวไม่ทันแล้ว ก็ต้องฟังเขา”

“ผมเล่านิทานให้ คสช. ฟังว่าสมัยของนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 แล้วเขาเข้ามาด้วยภารกิจคือยุบสภา ท่านเข้ามารุ่งนี้ก็ยุบได้ กำหนดวันเลือกตั้งเลยก็ได้ แต่ท่านเชิญทุกพรรคมาประชุมร่วมกัน ท่านถาม 2 ข้อ คุณจะให้ผมยุบสภาวันไหนและคุณพร้อมจะเลือกตั้งวันไหน ผมเอาตามนั้น ผมจำได้ มีหัวหน้าพรรคใหญ่พรรคหนึ่งบอกว่าข้อ 3 ได้หรือไม่คือมีทางไหนจะไม่ยุบสภา ท่านบอกว่าถ้าไม่ยุบสภาผมจะมาทำไม ผมมาเพื่อยุบสภา แต่คุณจะให้ยุบวันนี้ พรุ่งนี้ เดือนนี้ คุณขอเวลาเท่าไหร่ ถ้าอีกเดือนยุบสภา ให้มีเวลาทำอะไร สภาทำงานอื่นๆ ไปพลาง ผมก็รอ วันนั้นที่ประชุมบอกว่ายุบไปเลยครับอีก 3 วันและกำหนดวันเลือกตั้ง ก็เป็นไปตามนั้น ซึ่งประชุมที่ห้องประชุมประธานสภาผู้แทนราษฎร ผมก็นั่งอยู่ด้วย”

“ผมจึงเล่าให้ คสช. ว่าเชิญพรรคมาถาม เพราะเป็นความเป็นความตายของเขา มันเป็นความเป็นความตายประเทศ ไม่ใช่ของพรรค เพราะถ้าเขาไม่พร้อมแล้วลงเลือกตั้งไม่ได้ ตัดสิทธิเขาหมด ถ้ามันเป็นเหตุการณ์ปกติไม่ต้องถาม เพราะทุกคนต้องพร้อม แต่วันนี้ทุกคนอยู่ในภาวะไม่รู้อะไรคืออะไรสักอย่าง มาบอกเลยว่าพี่น้องทั้งหลายวันนี้ประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งแล้ว มีผลบังคับใช้อีกกี่วันไม่รู้ ท่านคิดว่าควรจะเลือกเมื่อไร เรามีเวลา 150 วัน พร้อมไหมใน 30 วัน 50 วัน 100 วัน หรือเอายัน 148 วัน หรือเอาไป 150 วัน แต่เกิน 150 วันไม่ได้นะ พูดกันและบอกมา”

ส่วนปัจจัยเหนือความคาดหมาย มีครับ ที่จริงพูดได้ไม่ลึกลับอะไร แต่ถ้าพูดมันก็เหมือนชี้นำ ผมไม่อยากพูดเพราะเวลามันเกิดขึ้นจริง ก็ย้อนมาอาจารย์วิษณุ คนที่ไม่คิดจะทำก็ทำ ผมไม่พูดส่วนนี้ แต่มันไม่ได้ลึกลับอะไร ผมรู้คุณคิดอะไรอยู่ แต่ไม่ใช่อย่างที่คุณคิด แต่ถ้าพูดออกไปคนที่ไม่คิดก็เอาวะทำซะเลย ถ้าผมถอยไปพูดแล้วเกิดเป็นขึ้นมา ผมตายเลยตอนนี้ จะเซียนไหนไม่เซียนไหน ตายแน่ เซียนตายก่อน

ผมจะไปพูดได้อย่างไรว่าการันตี ไม่มีปัจจัย ผมไม่อยากพูดออกไป แต่ที่เยอะไปหมด ไม่ใช่ที่คุณคิด ผมพูดได้แค่อย่างที่พูด อย่าพยายามมาคาดคั้น ความจริงไม่ว่าใครก็ตามในประเทศไทยไม่ควรบังอาจพูดเรื่องโรดแมปวันเลือกตั้งด้วยซ้ำ ท่านนายกฯ ก็ไม่ควรจะพูด แต่เพราะถูกถามและคาดคั้นให้ตอบให้ได้ก็ต้องตอบจากความน่าจะเป็นไปได้ที่สุด ซึ่งก็ไม่ผิด ใครนับนิ้วมือนิ้วตีนก็ได้แบบนั้นจริงๆ ถ้าเอาตัดปัจจัยที่เพิ่งโผล่ขึ้นมาก็ต้องตามนั้น แต่พอมีเรื่อง 90 วันก็ขยับแล้วไง แล้วใครจะบอกว่านี่ไงไม่มีสัจจะ มันไม่ใช่สัจจะอะไร มาบีบคอผมให้พูดผมก็ต้องพูดแบบนี้ เมื่อกี้พยายามจะบีบคอผมอีก ผมจะไปพูดอะไร ผมก็กลัวเหมือนกันนะ