ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ย้ำข้อมูลชัด-ศก.เข้มแข็ง ขึ้นค่าแรงแน่! – ครม. ปลื้มยื่นขอ “BOI” ทะลุเป้า – “วิษณุ” แจงปฏิรูป กม. 25 ม.ค. นี้

“บิ๊กตู่” ย้ำข้อมูลชัด-ศก.เข้มแข็ง ขึ้นค่าแรงแน่! – ครม. ปลื้มยื่นขอ “BOI” ทะลุเป้า – “วิษณุ” แจงปฏิรูป กม. 25 ม.ค. นี้

23 มกราคม 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน

ร.10 รับสั่งต่อยอดเศรษฐกิจพอเพียง ชูโครงการ “จิตอาสาพระราชทาน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ได้ทรงรับสั่งให้สืบสานต่อยอด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดตามประสานงานกับหน่วยงานส่วนพระองค์อยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โครงการจิตอาสาพระราชทานเป็นพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ได้ทรงจัดตั้งขึ้นมา ว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ใน 2 ประเด็น คือ 1) เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ในรูปแบบของคณะกรรมการ ผู้ประสานงานโครงการ การจัดทำแผนงาน เรื่องการพัฒนา การช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ และกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย และ 2) การบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ อย่างที่ได้เห็นกันอยู่แล้ว คือ การที่ทรงให้ขุดลอกคูคลองต่างๆ ซึ่งมีประชาชนเข้ามาให้ความร่วมมือ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งได้มีการติดตามความคืบหน้าโครงการมาโดยตลอด

ย้ำข้อมูลชัด – เศรษฐกิจเข้มแข็ง ปรับขึ้นค่าแรงแน่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้ขึ้นค่าแรงมา 3 ปีแล้ว ซึ่งทุกปีต้องขึ้น ปีละ 1% เป็นเกณฑ์เฉลี่ยออกมา ถึงแม้จะเป็นตัวเลขไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามจะทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น ตนอยากขอให้บรรดาพี่น้องแรงงานต่างๆ เข้าใจว่ารัฐบาลต้องทำโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งการลงทุนต่างๆ จะทำให้รายได้ของประเทศมากขึ้น ภาษีก็มากขึ้น ภาคเศรษฐกิจเราเข้มแข็งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

“เป็นสิ่งที่อยากจะทำความเข้าใจกับทุกคน ถ้าเราจะใช้เงิน ก็ต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน ทั้งผู้ประกอบการทั้งแรงงานทั้งรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเดินหน้าไปได้ ไม่เช่นนั้นจะล่มสลายไปทั้งหมดก็จะพังกว่าเดิมนะครับ ขอบคุณคณะกรรมการทั้ง 3 ฝ่ายด้วยที่ร่วมหารือกันมา แต่ก็ขอให้ทุกคนได้ร่วมมือกันก่อนในระยะแรกตรงนี้นะครับ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากใครอยู่ในห่วงโซ่เหล่านี้ก็จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่หากใครที่ยังไม่ได้รวมกลุ่ม ยังไม่ได้เข้ามาในกระบวนการ ไม่ว่าจะต้นทาง กลางทาง หรือปลายทาง ก็จะเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งตนเข้าใจเรื่องนี้ดี และไม่ได้ไปขัดแย้งกับใคร ฉะนั้นต้องดูว่าส่วนไหนได้ประโยชน์แล้วส่วนไหนยังไม่ได้ รัฐบาลก็จะไปขับเคลื่อนในแผนงานการลดความยากจนต่อไป

โยน ป.ป.ช. แจงปมนาฬิกา “บิ๊กป้อม” – ปัดตอบข้อสงสัย ตปท.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าปัญหาเรื่องนาฬิกาของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องดังกล่าวตนขอให้ฟังจากทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งจะมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่าการดำเนินการไปถึงไหน อย่างไร ซึ่งตนขอแยกให้ออกว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวของ พล.อ. ประวิตร และเรื่องดังกล่าวจะมีขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว มีข้อกล่าวอ้างว่านาฬิกาได้มาจากการทุจริต ก็ต้องรอได้ข้อสรุปจากการสอบสวนก่อน จึงค่อยสรุปแหล่งที่มาของนาฬิกา

“อยากทำความเข้าใจว่าหลายท่านอยากให้ผมใช้คำสั่งมาตรา 44 ก็ต้องอธิบายว่าที่ผ่านมาผมใช้ในเรื่องของการลงโทษ เรื่องมาตรา 44 ที่ทำก็เพราะมีหน่วยงานเสนอขึ้นมา เช่น ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแจ้งขึ้นมาว่ามีการสอบสวนแล้วและมีผลออกมาเช่นนี้เห็นควรให้เอาออกก่อนผมจึงใช้มาตรา 44 ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปใช้กับใครก็ได้ ผมก็ต้องระวังตัวเองเช่นกัน กรณีนี้ก็เช่นกัน ก็ต้องรอฟัง ป.ป.ช. จะเสนอเรื่องขึ้นมา อย่าเอามาพันกันว่าทำไมผมไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ตรงนี้แล้วไปใช้กับตรงนั้น อีกประการ ทุกคนอาจจะลืมไปแล้วว่าเรื่องนี้อะไรเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความบกพร่องส่วนตัว ก็ว่ากันไปตามกฎหมายซึ่งมีอยู่แล้ว เรื่องไหนเป็นเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่านำสองเรื่องมาปนกัน ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินแล้วทำให้เกิดความเสียหาย มีหลักฐานชัดเจนก็ว่าไปอีกแบบ ขอให้แยกแยะให้ออก ผมคิดว่าเรื่งนี้ควรจะยุติได้แล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามว่าจะต้องชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อต่างประเทศหรือไม่ เนื่องจากสื่อต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจและนำไปเปรียบเทียบในเรื่องมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้นำหรือนักการเมืองในต่างประเทศ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า เรื่องนี้ขอชี้แจงกับคนไทยก็แล้วกัน คงไม่ต้องชี้แจงกับต่างประเทศ เพราะทุกอย่างก็มาจากคนไทยที่ขับเคลื่อนออกไป และที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตร ก็ได้ชี้แจงด้วยตัวเองไปแล้ว

“เรื่องนี้ผมไม่ได้ปกป้อง ปิดบังอะไรเลย เป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ ขอให้ฟังจากทาง ป.ป.ช. ก็แล้วกัน ผมก็ได้แต่ทำความเข้าใจเท่านั้น ถ้าผิดก็คือผิด ท่านก็รับอยู่แล้วว่าถ้าผิดก็ต้องออกอยู่ดี ก็ไปว่ากันตามกฎหมาย แต่ขอให้แยกแยะให้ออกว่าอันไหนใช้งบประมาณของรัฐ อันไหนเป็นเรื่องส่วนตัว ท่านก็ต้องไปแก้ไขในเรื่องส่วนตัวของท่านในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระให้ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ พล.อ. ประวิตร จะมีการลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากรับความกดดันไม่ไหว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่มีล่ะ”

ยันไม่ก้าวก่าย สนช.-กรธ. ยกร่าง กม. ย้ำปีนี้เลือกตั้งแน่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ว่า เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว ตนเคยบอกแล้วว่าเป็นการทำงานของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  ซึ่งตนก็รับฟังเหตุผลมาตลอด แต่ทั้งนี้ ต้องมีขั้นตอนการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน โดยยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอนตามกำหนดเวลาโรดแมป แต่หากมีข้อพิจารณาที่ต้องรับฟังความเห็นเพิ่มเติมว่าเป็นอย่างไร เพราะตนเชื่อว่าทุกคนมุ่งหวังให้ประเทศชาติสงบสุข

“ต้องมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายพิจารณาร่วมกัน สรุปแล้วไม่ว่าอย่างไรจะมีการเลือกตั้งแน่นอน ส่วนจะเมื่อไหร่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราต้องทำให้ระบบรัฐสภานั้นเข้มแข็ง ที่ผ่านมาไม่เข้มแข็ง ผมก็ได้ทำเป็นตัวอย่าง ผมเชื่อมั่นใน สนช. และ กรธ. ผมจะไม่ไปก้าวล่วง และไม่ฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว วันนี้มีไม่กี่ฝ่ายที่ออกมาพูด ผมก็รับฟังไว้เฉยๆ ส่วนการทำงานให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องนั้นได้ทำงานไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ไม่สน ปชป. ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน สแกนคำสั่ง คสช.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของพรรคการเมืองนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ยื่นไปเถอะ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดิน และเพราะไม่ได้มีการนำเรื่องมายื่นกับตน ซึ่งจะผิดจะถูกก็เป็นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา

“จะไปฟ้องร้องกันก็ไปว่ามา แต่เดี๋ยวจะกลายเป็นผมต้องการให้ไปฟ้องศาลอีก มันคนละเรื่องกันหมด ขอให้เข้าใจด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ฟุ้ง “บิ๊กเดต้า” รัฐบาลเทียบเท่า ตปท. นำราชการ 4.0

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มีเรื่องที่เราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจตั้งแต่วันนี้ เพราะรัฐบาลได้ทำงานตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในเรื่องของการปฏิรูปและการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทางรัฐบาลได้เตรียมการโดยจัดทำศูนย์ข้อมูลที่เรียกว่า “บิ๊กเดต้า” ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่างเช่นเดียวกับที่ต่างประเทศทำ

“วันนี้เราก็มีคณะทำงานขับเคลื่อนบิ๊กเดต้ามา เพื่อที่จะใช้บิ๊กเดต้าในการจัดทำยุทธศาสตร์ ในการทำแผนงานโครงการ การใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โครงการใดที่มีปัญหา หรือทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จก็ต้องยกเลิกแล้วทำใหม่ ซึ่งเป็นหลักที่รัฐบาลดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลจะพยายามสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นในเรื่องการดำเนินงานเพื่อใช้ข้อมูลในศูนย์บิ๊กเดต้าเหล่านี้ นี่คือการปฏิรูประบบการบริหารราชการของเรา ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารราชการ 4.0 ที่ใช้บิ๊กเดต้าเป็นกลไกหลักในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ในระบบราชการ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดตัวชี้วัดที่สำหรับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่งสอบมือวางระเบิดยะลา 3 ราย หามูลเหตุจูงใจ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการติดตามมือวางระเบิดที่ตลาดสดเทศบาลนครยะลาว่า ตนได้ทราบว่ามีการติดตาม และทราบตัวผู้ก่อเหตุแล้วจำนวน 3 ราย ซึ่งตนได้สั่งการให้มีการตรวจสอบขบวนการก่อเหตุเพิ่มเติม ในขณะที่ทางกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้าก็ได้ให้ข้อมูลในเบื้องต้นแล้ว

“ขอให้รอติดตามผลการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ว่าการก่อเหตุมาจากสาเหตุใด เพราะต้องตรวจสอบทั้งประเด็นความมั่นคงและอาจมีปัญหาแทรกซ้อนได้ แต่ที่ผ่านมาถือว่าเหตุการณ์มีความสงบเรียบร้อยขึ้นตามลำดับ ส่วนเรื่องการพูดคุยสันติสุขนั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องมีการพูดคุยกับหลายส่วน ซึ่งการจะพูดคุยกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มอาจไม่เห็นด้วย ดังนั้นการแก้ปัญหาภาคใต้เป็นสิ่งที่ต้องทำในทุกมิติ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

แก้ กม.อนุญาโตตุลาการ – ตั้งต่างชาติร่วมไกล่เกลี่ย

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 โดยอนุญาตให้อนุญาโตตุลาการหรือ ผู้รับมอบอำนาจที่เป็นคนต่างด้าวดำเนินการในประเทศไทยได้ทันที จากเดิมที่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงแรงงานก่อน

“กฎหมายเดิมมีปัญหาคือคนต่างด้าวที่เป็นอนุญาโตตุลาการยังต้องขออนุญาตเข้ามาทำงาน ทำให้เวลามีข้อพิพาทหลายครั้งก็มักจะไปดำเนินการในต่างประเทศและมีต้นทุนต่างๆ มาก เช่น ข้อมูลของไทยต้องส่งออกไปข้างนอก การแก้กฎหมายตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มความน่าเชื่อถือและความสะดวกให้แก่ประเทศในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ ได้”

โอน “องค์การจัดการน้ำเสีย” สังกัด “มหาดไทย”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. อนุมัติโอนองค์การจัดการน้ำเสีย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยแทน เนื่องจากปัจจุบันภารกิจขององค์การฯ มีความเกี่ยวข้องและต้องบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน อันเป็นหน่วยปฏิบัติงานอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หรือการประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวง จึงเห็นควรให้แก้ไขกฎหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแลแทน

อนุมัติ ธอส. กู้เงิน 3.3 หมื่นล้าน ปรับสมดุลโครงสร้างทุนระยะยาว

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กู้เงินโดยการออกพันธบัตรในปี 2561 วงเงิน 32,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการออกพันธบัตรใหม่ 15,000 ล้านบาท และการ roll over พันธบัตรเดิม 18,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ เดิม ครม.เ คยมีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติให้ ธอส. กู้เงินโดยออกพันธบัตร จำนวนไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มสัดส่วนเงินทุนระยะยาวและลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยในการดำรงเงินฝาก และให้พิจารณาจัดทำแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนและการปรับสมดุลโครงการเงินทุนระยะยาวที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินในอนาคตที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักสากล เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสภาพคล่องในระยะยาวไม่สัมพันธ์กับอายุของหนี้สินและสินทรัพย์ (maturity mismatch)

ก่อนที่ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ครม. รับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ที่เห็นชอบแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนและการปรับโครงสร้างเงินในระยะยาวของ ธอส. ในปี 2560-2563 โดยมีหลักการจะจัดหาแหล่งเงินทุนระยะยาวเป็นสัดส่วน 20% ของการระดมทุนในแต่ละปี เพื่อเพิ่มสัดส่วนของหนี้สินระยะยาวต่อหนี้สินทั้งหมด

ไฟเขียว “สถานธนานุเคราะห์” กู้เงิน 500 ล้าน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสถานธนานุเคราะห์ โดยความเห็นชอบของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ เดิมสถานธนานุเคราะห์ได้เสนอแผนกู้เงินวงเงิน 617.6 ล้านบาท แบ่งเป็นงบเพื่อใช้ในกิจการ วงเงิน 500 ล้านบาท และงบลงทุนตามแผนย้ายสถานธนานุเคราะห์ 4 วงเงิน 117.6 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสถานธนานุเคราะห์ ครั้งที่ 1/ปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 มีมติให้งบลงทุนฯ จัดสรรจากเงินรายได้ของสถานธนานุเคราะห์แทน

“วิษณุ” เผย “แผนปฏิรูปประเทศ” เสร็จแล้ว – เปิดรับฟังความเห็น มี.ค. นี้

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ได้รายงานต่อ ครม. ว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะได้ทำแผนขั้นต้นเสร็จแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ทำสรุปทั้ง 11 แผนเข้าด้วยกันเหลือเพียง 1 เล่ม จากเดิมที่จะมีความสูงประมาณเอว

ทั้งนี้ งานหลังจากนี้จะเป็นการประชุมร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นแกนหลักของการปฏิรูปประเทศ ว่าแผนต่างๆ มีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไรในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมทั้งจะรับฟังความคิดเห็นของหน่วยราชการทั้งหมด เนื่องจากต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานตามแผนฯ หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม 2561 จะนำเสนอ ครม. เห็นชอบและประกาศใช้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านสภานิติบัญญัติอีกตามกฎหมาย

“ที่หลายฝ่ายมองว่าการทำงานที่ผ่านมาดูเงียบๆ เพราะตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ไม่เช่นนั้นระหว่างที่กำลังจัดทำและรายละเอียดยังฟุ้งไม่ลงตัวจะกลายเป็นเป้าของการวิจารณ์และหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ตอนนี้ทำเสร็จแล้วจะเริ่มมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบผ่านสื่อต่างๆ อย่างงานพบสื่อมวลชนคาดว่าจะจัดชี้แจงเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบริหารราชการ เศรษฐกิจ และสังคมต่อไป นอกจากนี้ ในที่ประชุมมีข้อติติงเรื่องแผนอาจจะยังขาดบทนำและบทท้าย เพื่อให้คนอ่านเห็นภาพรวมและมีความเชื่อมั่นจากที่รอคอยก่อนหน้านี้ก็มีกระแสว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็สั่งให้จัดทำเพิ่มเติมอย่างละ 5 หน้าด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ปลื้มเอกชน ขอ “BOI” ทะลุเป้า – โพลชี้เกษตรมีความสุข 82%

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ฝากประเด็นทางเศรษฐกิจมารายงานสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้เปิดเผยมูลค่าการขอรับการลงทุนในปี 2560 อยู่ที่ 641,978 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 600,000 ล้านบาท โดยพบว่ามีมูลค่าการขอรับการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี อยู่ที่ 296,889 ล้านบาท หรือ 46% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด โดยมีการขอรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายทั่วประเทศถึง 61% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ส่วนการขอรับการลงทุนจากต่างชาติในปี 2560 พบว่าประเทศที่มีมูลค่าขอรับการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ในปี 2561 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนที่ 720,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ในปี 2560

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรเกี่ยวกับระดับความสุขของเกษตรกรไทยในระหว่างวันที่ 1-29 ธันวาคม 2560 พบว่า ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เฉลี่ย 82.78 คะแนน จาก 100 คะแนน เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคา เช่น ทุเรียน มังคุด ปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ สาเหตุมาจากการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่องและภาครัฐได้มีมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเฉพาะภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

สุดท้ายสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยการสำรวจสภาวะการทำงานของไทยในเดือนธันวาคม 2560 โดยมีงานกำลังแรงงานรวม 37.72 ล้านคน ลดลง 0.2% ส่วนการจ้างงานของภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวของสภาวะเศรษฐกิจ โดยจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.19 ล้านคน ลดลง 0.5%

“วิษณุ” พบสื่อ แจงปฏิรูป กม.- โรดแมปเลือกตั้ง

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในวันที่ 25 มกราคมนี้ เวลา 13.30 น. รัฐบาลได้จัดกิจกรรมพบปะสื่อมวลชน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้ชื่อ “สื่ออยากรู้ รัฐอยากเล่า” ตอน “กฎหมายหลายรส เพื่ออนาคตประเทศไทย” โดยในครั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและชี้แจงในประเด็นต่างๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า (doing business) กฎหมายเรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริต ตลอดจนประเด็นเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน เป็นต้น โดยจะมีการถ่ายทอดสดรายการดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ไทยคู่ฟ้า รวมทั้งเชื่อมสัญญาณเครือข่ายสื่อที่อยู่ในการดูแลของรัฐ เช่น ช่อง 9 อสมท. ททบ. 5 และ NBT ของกรมประชาสัมพันธ์

“นายกรัฐมนตรีอยากให้มีสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างคนถามกับคนตอบ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาในการสร้างความรับรู้ไม่สามารถกระจายไปได้จึงจะมาขอคำแนะนำจากสื่อมวลชนว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไร และนายกรัฐมนตรียังอยากให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมีสัมพันธไมตรีที่ดีกับสื่อฯ จึงจะจัดให้มีการรับประทานอาหารร่วมกันกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับงานด้านประชาสัมพันธ์ ทุก 2 เดือน เพื่อเสนอแนะแลกเปลี่ยนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยจะเริ่มในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

รายงานข่าวจากสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญดังนี้

    1. แก้ไขบทนิยามคำว่า “คณะกรรมการบริหาร” และคำว่า “ผู้อำนวยการ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย

    2. แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของสำนักงาน โดยการให้บริการและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ ทั้งในรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่เอื้อต่อการเข้าถึงและการใช้บริการด้านการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นพื้นที่ในการค้นคว้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ

    3. แก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการต้องประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และกรรมการจะดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์การมหาชนเกินกว่าสามแห่งไม่ได้

    4. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโดยให้มีอำนาจในการออกระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด หรือประกาศเกี่ยวกับสำนักงานในเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้ง และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ การกำหนดเครื่องแบบผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของสำนักงาน และเครื่องหมายของสำนักงาน รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

    5. กำหนดให้ดำเนินการแต่งตั้งผู้อำนวยการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่มีเหตุต้องแต่งตั้งผู้อำนวยการ และหากมีความจำเป็นให้ขยายได้ไม่เกิน 60 วัน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้รายงานผลให้คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

    6. แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้อำนวยการ โดยผู้อำนวยการต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง ไม่เป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การมหาชนอื่น ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำ หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของสำนักงาน ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม และไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงาน หรือลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ปฏิบัติงานขององค์การมหาชนอื่น

    7. กำหนดให้การแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และลงโทษทางวินัย ผู้ตรวจสอบภายในนั้น ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาร่วมกันแล้วเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนจึงดำเนินการได้

    8. กำหนดบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีอยู่ในวันก่อนที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เป็นประธานกรรมการและกรรมการของสำนักงานตามพระราชกฤษฎีกานี้และยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปตามวาระที่มีอยู่เดิมในวันก่อนที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

เห็นชอบหลักเกณฑ์นำเข้าข้าวโพด ตามข้อตกลงฯ อาเซียน

รายงานข่าวจากสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ครม. มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2561 ถึง พ.ศ. 2563 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอโดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 เห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คราวละ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และโครงการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญากับประเทศเพื่อนบ้าน (Contract Farming) ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการนโยบายอาหารเสนอ พณ. จึงได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2561 ถึง พ.ศ. 2563 พ.ศ. …. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร สำหรับปี พ.ศ. 2561 ถึงปี พ.ศ. 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการนำเข้าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ร่างประกาศมีสาระสำคัญดังนี้

    1. กำหนดให้ข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 1005.90.90 ซึ่งมีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) หนังสือรับรอง ใบรับรอง หรือเอกสารอื่นใด ซึ่งแสดงว่าสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อชีวิต หรือสุขภาพ มนุษย์ สัตว์ หรือพืช

    2. กำหนดให้การนำเข้าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ดังนี้

      2.1 กรณีองค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้า ต้องนำเข้าระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของแต่ละปี และต้องจัดทำแผนการจัดซื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ภาวะราคา และความต้องการใช้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ

      2.2 กรณีผู้นำเข้าทั่วไป ต้องนำเข้าระหว่าง 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 สิงหาคม ของแต่ละปี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558

      2.3 ต้องนำเข้าทางด่านศุลกากรที่มีด่านตรวจพืชและด่านกักสัตว์ หรือมีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจของด่านดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ และต้องแสดงหนังสือรับรองตามข้อ 1.

    3. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามข้อ 1. เข้ามาในราชอาณาจักร ในอัตราน้ำหนักสุทธิเมตริกตันละศูนย์บาท

แก้ กม. เพิ่มรายได้ อปท.-เก็บค่าจอดรถ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ดำเนินการได้ครบในทุกมิติ และเมื่อจัดระเบียบได้เสร็จเรียบร้อย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดระเบียบพื้นที่ของตัวเองได้

กฎหมายดังกล่าวมีหลักการเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการตราข้อบัญญัติท้องถิ่น ในการจัดระเบียบการจอดรถ โดยมีอำนาจในการจัดระเบียบเก็บค่าที่จอดรถยนต์ได้ในบริเวณพื้นที่ใดบ้าง เช่น พื้นที่บริเวณทางหลวงซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต้องไม่เป็นถนนที่มีกฎหมายจราจรกำหนดไว้ว่าห้ามจอด หรือพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำหนดเป็นพื้นที่ห้ามจอด ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินได้ โดยจะเก็บได้เฉพาะพื้นที่ที่เป็นทางหลวงที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น

“ต้องมีการปรับแก้กำหมายดังกล่าวเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ในมาตรา 16 ที่กำหนดว่าให้เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจหน้าที่ในการจัดควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม หรือที่จอดรถได้ แต่ขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถยนต์ในเขตเทศบาลและสุขาภิบาล พ.ศ. 2503 ยังไม่ได้มีการปรับแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงมาขอแก้ไขพระราชบัญญัติการจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความสอดสัมพันธ์กัน” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ปรับเพิ่มเงินค่าเช่าบ้านตุลาการศาลปกครอง

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ครม. ได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ค่าเช่าบ้านตุลาการศาลปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่ศาลปกครองเสนอ เนื่องจากอัตราค่าเช่าบ้านตุลาการศาลปกครองไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการตุลาการตาม ร่าง พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยกำหนดให้ตุลาการศาลปกครองได้รับค่าเช่าบ้านในอัตราเท่ากับข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมที่ได้รับเงินเดือนในอัตราที่เทียบเท่ากัน ดังนี้

  • อัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการตุลาการ ประเภทตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาอัตราเดิม 2,400 บาท โดยให้เป็นไปตามอัตราที่เสนอใหม่ตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าวไม่เกินเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน
  • ผู้พิพากษาประจำศาลอัตราเดิม 3,000 บาท อัตราที่เสนอใหม่ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท
  • ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้รับเงินเดือน 2 ขั้นอัตราเดิม 3,500 บาท อัตราที่เสนอใหม่ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท
  • ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้รับเงินเดือนขั้น 3 ถึงตำแหน่งประธานศาลฎีกา อัตราเดิม 4,000 บาท อัตราที่เสนอใหม่ไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท
  • ผู้ช่วยผู้พิพากษาอัตราเดิมไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ให้ได้รับอัตราเท่ากับข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมที่ได้รับเงินเดือนในอัตราที่เทียบเท่ากัน

ทั้งนี้ได้กำหนดวันใช้บังคับเป็นวันเดียวกับวันใช้บังคับร่าง พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

อ่าน มติ ครม. วันที่ 23 มกราคม 2561 ที่นี่