ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > นายกฯ เร่งคลอด พ.ร.บ.ปิโตรเลียม รับมือขาดแคลนพลังงาน- เคาะ “บีอีเอ็ม” เหมาสายสีน้ำเงินราคาสูงสุด 42 บาท

นายกฯ เร่งคลอด พ.ร.บ.ปิโตรเลียม รับมือขาดแคลนพลังงาน- เคาะ “บีอีเอ็ม” เหมาสายสีน้ำเงินราคาสูงสุด 42 บาท

29 มีนาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธาน

ชี้ “เรือดำน้ำ” ทัพเรือวางแผนดีแล้ว ไม่มีใครหวังกอบโกย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการจัดซื้อเรือดำเนินจากประเทศจีน ว่าวันนี้ไม่มีเรื่องดังกล่าวในวาระการประชุม ครม. ซึ่งการจัดซื้อดังกล่าวกระทรวงกลาโหมได้มีการวางแผนการใช้งบประมาณอยู่แล้ว และการจัดหาไม่ได้สามารถได้ของทันที ยังต้องให้เวลาในการผลิตอย่างน้อย 3 ปีต่อ 1 ลำ ซึ่งเป็นเรื่องที่กองทัพเรือได้วางแผนมาแล้วกว่า 10 ปี ยืนยันว่าไม่มีใครเข้ามาเพื่อหวังกอบโกยเว้นแต่ผู้ที่แอบอ้าง

“เขาวางไว้ 3 ระยะช่วงปี60-66 64-69 65-70 เขาวางกันตั้ง 3 ระยะ จะใช้จ่ายกันเนี่ย 3.6 หมื่น แล้วราคาก็ราคามิตรภาพ ปกติราคามันลำละ 18,000 นี่ 36,000 ซื้อได้ 3 ลำ ก็เหมือนกับซื้อ 2 ได้อีก 1 พร้อมกับระบบอาวุธด้วย ผมถามว่าผมอยากซื้อของประเทศอื่นไหม ก็อยากซื้อนะ อาจจะดูดีชื่อเสียงดีอะไรดี แต่คุณภาพ 3 เท่าของอันนี้มันซื้อได้ไหม ทั้งๆ ที่มันก็ดำได้เหมือนกัน แล้วก็คนก็ปลอดภัย มันก็มีวิธีการที่จะต้องคิดใหม่ ในการจัดซื้อจัดหา จำเป็นก็ต้องทำ ถ้าไม่จำเป็นจะไปทำให้มันเมื่อยทำไม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แจงปิดหมายแจ้งภาษีฯ หาก “ทักษิณ” อยู่จะส่งให้กับตัว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกรมสรรพากรนำหมายแจ้งเรียกเก็บภาษีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ไปติดไว้หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ว่า เป็นธรรมเนียมของเขา ซึ่งหากพบตัวก็จะต้องส่งกับตัว แต่กรณีนี้ตัวไม่อยู่จึงต้องติดประกาศที่บ้าน พร้อมปฏิเสธว่ากรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการปรองดองที่รัฐบาลทำอยู่ ขออย่าเอามาโยงกัน

“ถ้าจะปรองดองกันต้องปล่อยให้ทำผิดกฎหมายทุกเรื่องหรือไง รัฐบาลต้องละเว้นหรือไง ที่ผ่านมายังละเว้นกันไม่พอหรือ คดีรกศาลรกโรง ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการทางภาษีทางกฎหมาย แล้วก็ถ้ามัน ถ้าใช่หรือไม่ใช่ก็มาต่อสู้คดีไป มันมีอุทธรณ์ อุทธรณ์ได้ ผมก็จะไม่ใช้มาตรา 44 เลย ก็กฎหมายปกติก็ไปสู้กันเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เร่งคลอด พ.ร.บ.ปิโตรเลียม รับมือขาดแคลนพลังงาน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กรณีบรรษัทน้ำมันในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมนั้นต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะกฎหมายฉบับนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 เป็นกฎหมายที่พยายามออกตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นรัฐบาลแต่ออกไม่ได้ เพราะมีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องเรื่องต่างๆ ซึ่งตั้งแต่สมัยรัฐบาลแรกได้มีการเสนอกฎหมายนี้เข้ามาพิจารณาว่า นอกจากสัมปทานแล้วให้มี PSC ด้วย หลังจากเสนอกฎหมายไปแล้วที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการตามขั้นตอน แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มผู้เรียกร้อง เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พยายามตั้งขอเรียกร้องในประเด็นๆ รัฐบาลก็ได้รับฟังมา เมื่อรวบรวมแล้วจึงส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการก็จะพิจารณา ซึ่งกลุ่มผู้เรียกร้องก็ไปกดดันที่คณะกรรมาธิการอีกเช่นกัน

“ผมก็ทราบมาว่ากลุ่มนี้ไปกดดันที่คณะกรรมาธิการอีกนั่นแหละว่าจะต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ได้ ผมเคยพูดกับท่านหลายครั้งแล้วว่ามันยังไม่พร้อม และมันยังไม่มีความจำเป็น เพราะว่าเรามีบริษัทอยู่แล้ว ของเดิมกระทรวงคลังก็ถือหุ้นอยู่จำนวนมากก็เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว มันจะซ้ำซ้อนหรือเปล่า ผมเลยให้เป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติเป็นผู้พิจารณา ปรากฏว่าฝ่ายนั้นก็กดดันมากมาย นี่ก็กดดันอีกแล้ว ว่าถ้าออกมาแล้วไม่มีอีกก็จะมาล้อมรัฐสภา ล้อมทำเนียบ ผมถามว่ามันถูกต้องไหมแบบนี้ คือการเสนออะไรมาผมก็รับข้อเสนอมาแล้วส่งให้เขาพิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมก็ต้องรับกติกาตรงนั้น ใช้วิธีการกดดันแบบนี้ประเทศชาติก็เสียหาย เสียประโยชน์ แล้วกลุ่มนี้ก็ยึดโยงไปสู่เรื่องของโรงไฟฟ้ากระบี่ด้วย” นากยกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามกรณีที่มีการพยายามแทรกเนื้อหาตั้งบรรษัทน้ำมันในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กรณีที่ว่าแอบใส่เรื่องนี้เพื่อหวังจะให้ทหารเข้าไปนั้น ทหารไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ ทหารมีหน้าที่จำกัด ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นบริษัทประกอบการธุรกิจได้ ขีดอำนาจไม่ถึง ตนไม่ให้อยู่แล้ว ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นข้อเสนอของภาคประชาชนหลายเครือข่าย คณะกรรมการวิสามัญก็พิจารณามาและดำเนินการแถลงไปเมื่อ 16 พ.ค. 2559 ว่าได้มีการบรรจุเข้าไปแล้ว หลังจากพิจารณาก็มีการส่งเรื่องมา หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องการพิจารณาของ สนช. ตนก็ไม่มีความคิดที่จะให้ทหารเข้ามาดูแลทั้งสิ้น สิ่งที่รัฐบาลต้องการตอนนี้คือให้มีพ.ร.บ.ปิโตรเลียมออกมาให้ได้ เนื่องจากจะต้องดูในเรื่องการลงทุน การขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีหลายอย่าง หลายพื้นที่ และต้องมีการทำสัมปทาน มิเช่นนั้นพลังงานจะขาดแคลน เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการหลายปี

ปฏิรูปครูผลิตแรงงานรองรับ Thailand 4.0

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการคัดค้านบรรจุครูผู้ช่วยว่า ทุกประเทศทราบดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยมีการปรับปรุงพัฒนาระบบการศึกษา ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสาธารณสุข ในการปฏิรูปการศึกษานั้นต้องดูว่าครูของเรามีเพียงพอหรือยัง มีคุณภาพหรือไม่ บางสาขาที่เราต้องการสอดคล้องกับความต้องการของประเทศมีพอหรือยัง ถ้าพูดถึงจำนวนครูที่ผลิตออกมาแต่ละปีนั้นมีมากพอสมควร แต่ขาดบางสาขาวิชา จึงต้องหาครูที่จบมาตรงกับสาขาวิชาเหล่านั้นที่ยังขาดอยู่ ที่เหลือก็สอบบรรจุตามปกติ

“กระทรวงศึกษามีความคิดเห็นเสนอว่า ต้องการจะผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ จึงต้องปรับปรุงครูที่อาจต้องตรงกับความต้องการในเรื่องการเรียนการสอน เช่น จบจากวิทยาศาสตร์ด้านเคมี หรือจากอะไรหลายๆ หลักสูตร ซึ่งมันหลายวิชา ที่ครูครุศาสตร์เนี่ยอาจจะไม่มีความชำนาญ แต่ก็ต้องอบรมก่อน ฉะนั้นคนส่วนนี้ที่เข้ามาก็ไม่ แค่เท่าที่ขาดแคลนอยู่ หลังจากเข้ามาแล้วก็ไม่ใช่บรรจุได้เลย ต้องทดลองงานก่อน 2 ปี ระหว่างนั้นก็ต้องมีการประเมิน ประเมินเสร็จแล้วถึงจะต้องไปสอบให้ผ่านกฎเกณฑ์ของผู้ที่สอบตามปกติเหมือนกัน ถึงจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การเตรียมคนไปสู่อนาคตต้องตรงกับความต้องการของประเทศในการที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 และ New S Curve ถ้าไม่มีครูสอน ไม่มีนักเรียนที่จบออกไป ก็ไม่มีคนไปรองรับตลาดแรงงาน แล้วเราก็ต้องถูกต่างชาติเขาส่งคนเข้ามาแล้วก็มาทำงานกับบริษัทต่างๆ ก็แย่งงานเราไปอีก

มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

ไฟเขียว 6 มาตรการหนุนรถยนต์ไฟฟ้า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ซ้าย-ขวา)

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย (Motor Driven Vehicle) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรม

โดยประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน 2) มาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ 3) การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน 4) การจัดทำมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า 5) การบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว และ 6) มาตรการด้านอื่นๆ

“จากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยวงเงินไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี และผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ประมาณ 2-3% ของรถยนต์ทั้งระบบที่ผลิตได้ปีละประมาณ 1 ล้านคัน คิดเป็นประมาณ 20,000-30,000 คัน ซึ่งขณะนี้มีบริษัทผลิตรถยนต์มาหารือกับบีโอไอ (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) แล้ว 2-3 บริษัท” นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาเปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมกิจการ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้ง กิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีการเสนอโครงการเป็นแผนงานรวม (package) ประกอบด้วย การประกอบรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ (traction motor) ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) และระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) แผนการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และแผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี เช่น ได้รับการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตรถยนต์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดปลั๊กอิน จากที่จัดเก็บภาษีในอัตรา 10% ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหลือเพียง 5% แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ จะลดภาษีลงเหลือเพียง 2% รวมทั้งยกเว้นอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป เพื่อทดลองตลาด เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี

นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับการกระตุ้นตลาดในประเทศ กระทรวงคมนาคม มีแผนที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอินและรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาใช้เป็นรถยนต์บริการของสนามบิน ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะดำเนินการวางแผนนำรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาใช้งานในพื้นที่ปลอดมลพิษ ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้านกระทรวงพลังงาน ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำรถแท็กซี่มาเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกับการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และกระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะพิจารณานำรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาให้บริการในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่

สำหรับการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะร่วมกันศึกษาแผนการติดตั้งสถานีอัดประจำไฟฟ้าในพื้นที่เป้าหมายและถนนหลักที่เชื่อมต่อพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 43 สถานี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติให้เสร็จในเดือนมีนาคม 2561 เพื่อให้ทดสอบยางและชิ้นส่วน รวมทั้งทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบถ้วน ด้านการทำแผนบริหารและกำจัดซากแบตเตอรี่ เป็นหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนมาตรการอื่นๆ จะให้สถาบันยานยนต์รับผิดชอบจัดทำโครงการเพิ่มผลิตภาพ เน้นการพัฒนาความสามารถของบุคลากรมารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

แก้ กม. เปิดช่อง ธอส. ระดมทุนเพื่อปล่อยสินเชื่อผู้สูงอายุ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการขอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตการทำธุรกิจและแก้ไขข้อขัดข้องในการดำเนินกิจการของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ผ่านร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างประราชกฤษฎีกากำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

โดยมีสาระสำคัญหลักเพื่อแก้ไขวัตถุประสงค์ของธอส. ให้รองรับการให้สินเชื่อผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage: RM) แก้ไขอำนาจในการออกขายพันธบัตร หุ้นกู้ หรือตราสารอื่นใดให้อยู่ภายใต้อำนาจคณะกรรมการ ธอส. รวมถึงเพิ่มเติมให้ ธอส. มีอำนาจในการออกและขายพันธบัตรออมทรัพย์ เช่นเดียวกับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ขยายขอบเขตให้ ธอส. สามารถประกอบธุรกิจรับประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธุรกิจประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ธุรกิจการรับจัดทำสัญญาและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต และการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ แก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบ โครงสร้าง รวมทั้งอำนาจของคณะกรรมการ ธอส. เพื่อให้เกิดความคล่องตัว

“การให้อำนาจ ธอส.ในการออกสลากรางวัลได้เช่นเดียวกับธนาคารออมสินหรือ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นการระดมเงินฝากระยะยาวให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยระยะยาวที่ปล่อยออกไป และการเปิดช่องให้ ธอส. สามารถเข้าทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจประกัน ซึ่งในกรณีที่ ธอส. สามารถเข้าถือหุ้นในบริษัทประกันภัยได้จะทำให้สามารถคุมราคาประกันให้เหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อย และเป็นการช่วยดูแลความเสี่ยงให้กับผู้กู้” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ออกใบอนุญาตเอกชนเดินรถ ผ่านแดนรื่น 500 คัน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะแรก โดยมีประเทศที่รวมลงนาม ได้แก่ จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย (กลุ่มประเทศ CLMVT) เพื่ออำนวยความสะดวกให้การขนส่ง กระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

โดยประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ จะทำการออกใบอนุญาตและแจกจ่ายสำหรับการขนส่งทางถนน ตามข้อตกลง GMS CBTA สำหรับประเทศไทยจะมีใบอนุญาตให้รถขนส่งคนและขนส่งของวิ่งผ่านพรมแดนจำนวน 500 คัน ซึ่งในข้อตกลงดังกล่าวจะมีการตกลงว่าสามารถไปด่านใดได้บ้าง และผู้ได้รับใบอนุญาตจะได้รับการงดเว้นการจ่ายอากรขาเข้า ภาระภาษีขาเข้า ไม่มีการวางค้ำประกัน และภาษีศุลกากรในวันนี้จะมีหลากหลายเส้นทางตามระเบียงเหนือใต้ โดยจะมีผล 1 ปี นับแต่ประเทศสุดท้ายได้ลงนาม

“เนื่องจากที่ผ่านมาการขนคนและขนสินค้า มีข้อติดขัด ณ ด่านข้ามพรมแดนหลายประการ มีความซับซ้อน และไม่สะดวกจากการตรวจสอบ เช่น ต้องขนสินค้าลงมาตรวจสอบ บางกรณีทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งการดำเนินการนี้เป็นการดำเนินการในเบื้องต้น ขณะนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว แบ่งเป็น ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า 4 ราย รถขนส่งสินค้า 471 คัน ผู้ประกอบการขนส่งคน 3 ราย รถ 29 คัน โดยมีข้อจำกัดว่าไม่สามารถเปลี่ยนมือผู้ประกอบการหรือรถได้ ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ไทยให้สิทธิพิเศษประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร ไทยก็ได้รับสิทธินั้นเช่นกัน” นายกอบศักดิ์กล่าว

เคาะ “บีอีเอ็ม” เหมาสายสีน้ำเงิน – คงราคาสูงสุด 42 บาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ดำเนินการเดินรถอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงข่ายเดียวกัน ในช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ รวมบางซื่อ-เตาปูน 1 สถานี มีระยะเวลาดำเนินการสิ้นสุดพร้อมกัน (ปี 2593)

“หลักการของ รฟม. ในการเจรจา คือต้องเป็นการเดินรถอย่างต่อเนื่อง ใช้ระบบเดียวกัน ผู้โดยสารไม่ต้องลงจากรถเปลี่ยนขึ้นรถคันใหม่ โดยเอกชนจะเข้ามาลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ โดยจะคงผลตอบแทนไว้เช่นเดิม และได้กำหนดให้เก็บค่าแรกเข้าได้ครั้งเดียว กำหนดอัตราค่าโดยสารแรกเข้าครั้งเดียว และคงอัตราค่าโดยสารสูงสุดไว้ที่  42 บาท คือ แม้จะเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอีก 19 สถานี” นายณัฐพรกล่าว

นอกจากนี้ จะตั้ง IRR ให้ภาคเอกชนอยู่ที่ 9.75% โดยแบ่งผลประโยชน์ดังนี้ หาก IRR อยู่ต่ำกว่า 9.75% รัฐไม่ต้องให้เงินสนับสนุน แต่หาก IRR อยู่ที่ 9.75-11% จะแบ่งกระแสเงินสดส่วนเกินให้ รฟม. 50% หากอยู่ที่ 11-15% จะแบ่งให้ รฟม. 60% หากเกิน 15% จะแบ่งให้ รฟม. 75%

ทวน TOR รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบมติของคณะกรรมการการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ด) ที่ให้มีการทบทวนเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ของโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง โดยลดเงื่อนไขกำหนดผลงานผู้เข้าประกวดราคาจาก 15% เป็น 10% เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าประมูลงาน

“เดิมทีมีผู้เข้ามายื่นประมูลงานเพียง 6-7 ราย คาดหวังว่าจะเพิ่มเป็น 15 ราย รวมทั้งได้แยกการประมูลระบบอาณัติสัญญาณ และงานระบบรางและงานโยธา และไม่ได้กำหนดส่งมอบเครื่องจักรคืนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อลดงบการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ทบทวน TOR ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน” นายณัฐพรกล่าว

ของบกลางเพิ่ม 614 ล้าน หนุนเอกชนเก็บข้าวฯ

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบงบประมาณโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 614 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ แบ่งเป็น ปีการผลิต 2558/2559 มีค่าใช้จ่าย 242.65 ล้านบาท และปีการผลิต 2559/2560 จำนวน 317.36 ล้านบาท เนื่องจากงบประมาณที่คงเหลืออยู่ของกระทรวงพาณิชย์ไม่เพียงพอ

ออก ม.44 แก้ปมผู้บริหาร ม.รัฐ-บุคคลกรในการศึกษาภูมิภาค

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ในช่วงเช้าได้มีการประชุม คสช. โดยมีเรื่องพิจารณาออกคำสั่งตามมาตรา 44 ใน 2 ประเด็น ได้แก่

  • เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสถาบันอุดมศึกษา ให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นราชการสามารถเข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยได้ เพื่อเพิ่มตัวเลือกในการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งได้มากยิ่งขึ้น
  • เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการแก้ไขคำสั่งเดิมที่ออกในสมัย พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ปรับเปลี่ยนที่มาของศึกษาธิการภาค ที่เดิมแต่งตั้งจากผู้ตรวจราชการกระทรวง หรือข้าราชการระดับ 10 และศึกษาธิการจังหวัด เดิมแต่งตั้งจากผู้อํานวยการเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 ปรับเป็นมาจากการสรรหาทั้งหมด

ปรับใหม่เมาแล้วขับ แอลกอฮอล์เกิน 20 มิลลิกรัมฯ มีสิทธิ์ติดคุก

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 16 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนน เรื่องเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ

โดยมีการปรับปรุงเกณฑ์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ให้ถือว่าเมาสุรา จากเดิมกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมาสุรา ปรับเป็น กรณีผู้ขับขี่ที่อายุไม่ถึง 20 ปี รวมถึงผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว หากมีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา สำหรับบุคคลอื่นๆ ยังใช้กฎหมายเดิมคือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์