ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนชีวิตจากตำราเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 2): สะสมอำนาจและอยู่ให้ถูกตลาด

บทเรียนชีวิตจากตำราเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 2): สะสมอำนาจและอยู่ให้ถูกตลาด

25 ธันวาคม 2017


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ: https://pixabay.com/en/coins-banknotes-money-currency-1726618/

จากที่ผู้เขียนร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์มา 9 ปี และใช้ชีวิตมาจะครบ 30 ปีแล้ว พบว่าแม้หลายอย่างในตำราจะไม่ค่อยมีประโยชน์โดยตรงนักในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะมัน “obvious” (ชัดเจน) อยู่แล้ว หรือมันซับซ้อนเกินไป แต่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตจริงมักจะโผล่เข้ามาอย่างเป็นประจำ คอยย้ำอยู่นั่น มันทำให้เราคิดว่า “อืม…เป็นอย่างนั้นจริงๆ อีกแล้วแฮะ”

บทความซีรีย์นี้จะหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากตำราเศรษฐศาสตร์ที่ผมมองว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตจริงมาเล่าผ่านประสบการณ์จริง เผื่อจะไปเป็นประโยชน์ต่อชีวิตผู้อ่านไม่มากก็น้อยครับ

ต่อจากตอนที่แล้ว

ตอนที่ 2: สะสมอำนาจและอยู่ให้ถูกตลาด

โบราณว่า “อำนาจ” เป็นดาบสองคม ไม่มีเลยชีวิตจะลำบาก เสพมากไปชีวิตมีสิทธิ์พังทลาย

แต่ในระบบเศรษฐกิจที่ตัวใครตัวมัน มีอำนาจมากไม่ได้แปลว่ามีพอเสมอไป และถึงมีพอในหนึ่งตลาดก็อาจมีไม่พอในอีกตลาด ขึ้นอยู่กับว่าคนที่เราแลกเปลี่ยนด้วยเขามีอำนาจมากกว่าเราแค่ไหน

อำนาจในที่นี้ผมหมายถึง “อำนาจตลาด” หรือ ความสามารถในการเรียกราคาหรือเรียกสิ่งต่างๆ จากคู่ค้าคู่กิจกรรมให้เราได้ประโยชน์สูงสุด

เรียกราคาสูงเมื่อเราเป็นผู้ขาย เรียกราคาต่ำเมื่อเราเป็นผู้ซื้อ

เราอาจไม่เคยรู้สึกถึง หรือพบเห็นการใช้อำนาจในการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเพื่อนมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ทว่าแท้จริงแล้วทุกการแลกเปลี่ยน ทุกราคาที่แปะอยู่ข้างกำแพง ทุกของแถมส่วนลด ล้วนเป็นผลพวงมาจากการ “งัดข้อแบบเงียบๆ” ระหว่างสองฝั่งของตลาดทั้งนั้น

ทุกครั้งที่เราพยายามต่อรองเงินเดือน หรือแม้กระทั่งทุกครั้งที่พยายามหาแฟนในชั้นเรียนเดียวกันหรือในออฟฟิศเดียวกัน ทั้งหมดนี้เป็นตลาดเล็กๆ ที่มีการงัดข้อแบบเงียบๆ ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสิ้น

ในตลาดแรงงานเสรี ค่าตอบแทนและสวัสดิภาพของแรงงานขึ้นอยู่กับอำนาจตลาดไม่แพ้กับ value ที่ลูกจ้างสร้างให้กับนายจ้างได้

หากผู้ขายแรงงาน (ผู้สมัครงานที่จะเอาเวลาและหยาดเหงื่อไปขาย) มีอำนาจมาก ก็จะมีโอกาสเรียกค่าตอบแทนและแพกเกจที่ดีขึ้นได้ เช่น ในกรณีที่ผู้ขายมีทักษะสูงที่หายากและกำลังขาดตลาด (ลองนึกถึงค่าตัวนักฟุตบอลดังๆ หรือค่าแรง data scientist ในขณะนี้ดู)

ในกรณีที่ผู้ขายแรงงานมีทักษะที่ทดแทนได้ง่าย หรือมีล้นตลาดแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ค่าแรงมักจะถูกกลไกนี้กดให้ต่ำลงไปตามลำดับ เช่น ค่าแรงของเมสเซนเจอร์หรือผู้ให้บริการนวดเท้าในเมืองไทยที่มีทักษะเหล่านี้แทบล้นตลาด เป็นต้น

ทั้งนี้ก็ต้องไม่ลืมคำนึงถึงอำนาจของ “อีกฝั่ง” ด้วย หากผู้ซื้อแรงงาน (บริษัทหรือนายจ้าง) มีอำนาจตลาดมากกว่าผู้ขายแรงงานมาก อาจจะเป็นเพราะมีผู้ว่าจ้างไม่กี่รายในตลาด ก็จะพบว่าค่าตอบแทนและแพกเกจจะยิ่งถูกกดลงไปอีก ถูกใช้งานยิ่งหนักเข้าไปอีก

กลไกนี้ก็ปรากฏอยู่แทบทุกที่ ตั้งแต่ในตลาดผลไม้สดยันตลาดความรักที่เราทุกคนเคยเดินจับจ่ายกันมาทั้งนั้น สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง ขึ้นอยู่กับกลไกนี้ค่อนข้างมาก

ในตลาดที่หญิงชาย (และเพศที่สาม) ออกหาคู่ แม้ไม่ค่อยมี “ค่าตัว” ออกมาให้เราเห็นแบบโดดๆ (ยกเว้นกรณีสินสอดทองหมั้นในอดีต) เหมือนค่าตอบแทนที่สะท้อนความสามารถและอำนาจตลาดในตลาดแรงงาน แต่ถ้ามองจากมุมมองที่คนเราคบกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การที่คนเรามีคุณสมบัติที่หายากและอีกฝั่งเขาให้คุณค่า ก็จะมีโอกาสอกหักน้อยกว่า (ประมาณว่าสวย/หล่อ/รวย/ฉลาด/ดีเลือกได้) มีโอกาสจับคู่กับคนที่มีคุณสมบัติที่เราหมายปองมากกว่า

แต่ก็ใช่ว่ามีอำนาจตลาดมากแล้วจะได้เปรียบเสมอไป เหนือฟ้ายังมีฟ้า มันขึ้นอยู่กับอำนาจตลาดของคู่เราด้วย ถ้าเขามีอำนาจตลาดเหนือกว่าเรามาก เมื่อคบหากันไปแล้วมันก็จะสะท้อนออกมาให้เห็นเองในรูปแบบของกฎเกณฑ์ในความสัมพันธ์ ประมาณว่าใครใหญ่ใครเล็กในครัวเรือนให้รู้กัน

แล้วจะเป็นผู้ชนะในกลไกตลาดได้อย่างไร?

ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ 1. หมั่นทำให้ตนเองมีคุณค่าที่ตลาดต้องการ 2. เทียบตัวเองกับคู่แข่งในตลาด 3. ฉีกตัวเองออกมาให้โดดเด่นกว่า

การเจรจาเงินเดือนของคุณหรือการหาคู่ของคุณจะง่ายขึ้นและได้อย่างใจหวังขึ้นมากหากคุณมีสิ่งที่เป็นที่ต้องการอยู่แล้ว (ข้อ 1) หรือมีมากกว่าคู่แข่ง (ข้อ 2)

และถึงจะสู้ไม่ไหว การที่คุณแตกต่างมันทำให้คุณไม่แพ้ทันที (ข้อ 3) มิหนำซ้ำความแปลกใหม่ของคุณอาจทำให้คุณเป็นที่ต้องการมากขึ้นไปอีก เพราะมันหายากและอาจช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เขาขาดหรือยังไม่ทราบว่าเขาชอบ

และหากคุณทำข้อ 3 ได้ดีจริงๆ สิ่งที่คุณกำลังเสนอกับนายจ้าง/คู่ชีวิต จะแทบไม่ซ้ำกับคู่แข่งคนอื่นๆ เลย กลายเป็นว่าคุณกำลังครองตลาดนี้แต่เพียงผู้เดียว (แนวๆ Monopoly เล็กๆ)

จริงอยู่ว่า 3 ข้อนี้พูดง่าย ทำยาก แต่ถ้าไม่ทำขึ้นมา คุณจะตกชั้นไปเรื่อยๆ กลายเป็นผู้เล่นในตลาดแข่งขันสมบูรณ์สุดคลาสสิค

ไม่มีจุดเด่น ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำไร ทั้งกำไรที่เป็นเงินและกำไรชีวิต