ThaiPublica > เกาะกระแส > กองทัพไทย สรุปผลสอบ “น้องเมย” เสียชีวิต หัวใจล้มเหลว ไม่พบหลักฐาน สั่งลงโทษ – ทำร้าย

กองทัพไทย สรุปผลสอบ “น้องเมย” เสียชีวิต หัวใจล้มเหลว ไม่พบหลักฐาน สั่งลงโทษ – ทำร้าย

15 ธันวาคม 2017


พล.อ.อ. ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แถลงสรุปผลสอบสาเหตุการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมสโมสรกองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลา 11.00 น. พล.อ.อ. ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ถึงสาเหตุการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 แถลงข่าวสรุปผลการสอบข้อเท็จในกรณีดังกล่าว ณ ห้องประชุมสโมสรกองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ

จากการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 42 คน และตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดอย่างละเอียด พล.อ.อ. ชวรัตน์ สรุปผลตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดสั่งลงโทษหรือทำร้ายอันอาจจะเป็นเหตุให้ นตท.ภคพงศ์เสียชีวิต และจากการตรวจของสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า สรุปว่า ไม่พบร่องรอยการฟกช้ำภายนอก ส่วนกรณีชายโครงด้านขวาหักนั้น แพทย์ก็ไม่ตัดประเด็นการทำ CPR เพื่อช่วยชีวิต นตท.ภคพงศ์ ซึ่งต้องใช้แรงกดกึ่งกระแทกนานถึง 4 ชั่วโมง ประกอบกับแพทย์ตรวจพบเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนผิดปกติ ซึ่งไม่ค่อยตรวจพบบ่อยนักในเด็กอายุ 18 ปี แพทย์จึงสรุปสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หลังจากที่แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแล้ว ในวันที่ 18 ธันวาคม 2560 กองบัญชาการกองทัพไทยจะเชิญครอบครัวของ นตท.ภคพงศ์มาฟังผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ

จากนั้น พล.อ.อ. ชวรัตน์ เปิดแถลงข่าวสาเหตุการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ พร้อมแสดงภาพจากกล้องวงจรปิดอย่างละเอียดว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ได้เชิญนักเรียนเตรียมทหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำทั้งหมด 42 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารจำนวน 22 คน ประกอบด้วยนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 3 จำนวน 13 คน และนักเรียมเตรียมทหารปีที่ 1 จำนวน 9 คน

กลุ่มที่ 2 จำนวน 5 คน ประกอบด้วยแพทย์ของโรงเรียนเตรียมทหาร 3 คน แพทย์โรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 1 คน และแพทย์จากศูนย์อำนวยการแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอีก 1 คน

กลุ่มที่ 3 จำนวน 7 คน นายทหารปกครอง 4 คน อาจารย์ประจำชั้น 1 คน ครูพลศึกษา 2 คน

กลุ่มที่ 4 จำนวน 8 คน ประกอบด้วย ผู้ช่วยนายทหารยกกระบัตร 1 คน พลขับรถพยาบาล 2 คน เวรประจำวันของกองแพทย์ 3 คน พนักงานบริการและเจ้าหน้าที่โรงเรียนอีก 2 คน

นักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย”

จากการสอบปากคำและภาพจากกล้องวงจรปิด สรุปข้อเท็จจริงดังนี้

เหตุการณ์ที่ 1 ช่วง นตท.ภคพงศ์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560

จากการสอบสวนพบว่าในวันนี้ นตท.ภคพงศ์ พร้อมกับนักเรียนเตรียมทหารรายอื่น รวม 7 คน นอนพักรักษาตัวอยู่ที่กองแพทย์ เวลา 9.15 น. ของวันนี้ นตท. ภคพงศ์ ได้เดินออกจากกองแพทย์ พร้อมกับเพื่อน นตท. ชั้นปีที่ 1 ที่พักรักษาตัวอยู่ที่กองแพทย์ เพื่อกลับไปนำของใช้ส่วนตัวที่อาคารกองพันที่ 2 โดยเดินทางไปกัน 2 คน จากภาพวงจรปิดที่กองพันที่ 2 จะเห็น นตท.ภคพงศ์แต่งกายชุดฝึก ในมือถือตระกร้าผ้า ซึ่งในวันนี้เป็นวันฝึกวิชาทหารของชั้นปีที่ 1 ปรากฏว่าขากลับ นตท.ภคพงศ์เดินกลับมาคนเดียว เพราะเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารที่ไปด้วยกันคิดว่านักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์กลับมาแล้ว

เวลา 10.23 น. มีนักเรียนเตรียมทหารเดินออกจากกองแพทย์หลังจากรับการตรวจรักษาเสร็จแล้วได้พบเห็น นตท.ภคพงศ์กำลังวิ่งช้าๆ สวนทางกลับมาทางกองแพทย์แล้วเกิดอาการเป็นลม ล้มลง และมีอาการคล้ายกับ “ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม” ซึ่งนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 คนนี้ทราบอาการดี เพราะเคยมีอาการเช่นนี้เหมือนกัน จึงวิ่งไปตามเจ้าหน้าที่จากกองแพทย์มาพา นตท.ภคพงศ์กลับไปรักษาพยาบาลที่กองแพทย์จนอาการกลับเป็นปกติ จากนั้นก็รักษาตัวอยู่ที่กองแพทย์ต่อไป

จากการสอบถามเพื่อนที่ป่วยด้วยกันพบว่า ช่วงที่ นตท.ภคพงศ์ไปรับประทานอาหารที่ห้องอาหารกองแพทย์ ในช่วงเวลา 12.40 น. ผู้บังคับกองพันที่ 2 ขึ้นมาเยี่ยม นตท.ภคพงศ์ สอบถามอาการ และได้ส่งมือถือส่วนตัวของผู้บังคับกองพันที่ 2 ให้กับ นตท.ภคพงศ์ได้พูดคุยกับคุณแม่

เวลา 15.13 น. นตท.ภคพงศ์ได้พูดคุยโทรศัพท์สาธารณะกับผู้ปกครอง ดูจากภาพวงจรปิดพบว่า การเดินของ นตท.ภคพงศ์นั้นมีการใช้มือขวากุมอยู่ที่อกด้านซ้าย จากนั้นก็เดินกลับห้องพักฟื้นผู้ป่วย

คณะกรรมการฯ จึงมีข้อสังเกตว่า ในช่วงบ่ายของวันนี้ นตท.ภคพงศ์มีลักษณะการเดินโดยใช้มือขวากุมที่หน้าอกด้านซ้ายอยู่บ่อยครั้ง จากการสอบถามเพื่อนสนิทของ นตท.ภคพงศ์ 2 คน ที่ นตท.ภคพงศ์ได้มีการพูดคุยปรับทุกข์ ซึ่งได้ให้การว่า นตท.ภคพงศ์มีความเครียดสูง

เวลา 15.39 น. จ.ส.อ. วัชรินทร์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กองแพทย์ที่มีความคุ้นเคยกับ นตท.ภคพงศ์และผู้ปกครอง นตท.ภคพงศ์ เดินเข้ามาในห้องพักฟื้น พร้อมกับนำโทรศัพท์ส่งให้นักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์โทรคุยกับคุณพ่อ แต่ก่อนที่ นตท.ภคพงศ์จะได้รับโทรศัพท์จาก จ.ส.อ. วัชรินทร์ นั้น ปรากฏว่า นตท.ภคพงศ์มีอาการเซและล้มลง เกร็ง ในลักษณะคล้าย “ไฮเปอร์เวนติเลชั่น” ที่มีอาการรุนแรง หายใจแรงและถี่ สลับกับอาการพ่นน้ำลายออกมาเป็นระยะๆ ต่อหน้าเพื่อนร่วมห้องและ จ.ส.อ. วัชรินทร์ รวม 4 คน จึงไปตามแพทย์มาให้การรักษา แต่แพทย์เห็นว่าอาการไม่ดีขึ้น จึงให้นำตัว นตท.ภคพงศ์ส่งโรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

หลังจากเข้ารับการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จึงทำ CPR ขณะทำ CPR ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองแพทย์ ได้โทรแจ้งผู้ปกครองให้ทราบ ทางผู้ปกครองร้องขอให้แพทย์ทำ CPR อย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้ปกครองจะเดินทางมาถึง แพทย์ได้ทำตามที่ผู้ปกครอง นตท.ภคพงศ์ร้องขอ จนกระทั่งผู้ปกครอง นตท.ภคพงศ์เดินทางมาถึงในเวลา 19.30 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำ CPR รวม 4 ชั่วโมง โดยใช้เจ้าหน้าที่หมุนเวียนเกือบ 20 คน

ต่อมาในเวลา 20.20 น. แพทย์ยุติการทำ CPR และลงความเห็นนักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์เสียชีวิตแล้ว จึงดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ปกครองลงนามเห็นชอบในการชันสูตรศพ โดยมอบให้เจ้าหน้าที่โรงเรียนเตรียมทหารนำศพส่งสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าดำเนินการตรวจสอบ เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริง โดยศพได้ส่งถึงสถาบันพยาธิวิทยาฯ ช่วงเวลา 01.00 น.ของวันที่ 18 ตุลาคม 2560

จากการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวพบว่า ตลอดทั้งวัน (วันที่ 17 ตุลาคม 2560) ไม่ปรากฏว่า นตท.ภคพงศ์ถูกผู้หนึ่งผู้ใดสั่งลงโทษหรือถูกทำร้ายร่างกาย โดยที่พยานให้ข้อมูลสอดคล้องกัน ตลอดทั้งวัน ยกเว้นช่วงบริเวณทางขึ้น-ลง กองแพทย์ ช่วงบ่ายของวันที่ 17 ตุลาคม 2560 นตท.ภคพงศ์สามารถพูดและเดินได้ตามปกติทุกอย่าง ยกเว้นมีอาการเครียดสูง ภายหลังจากโทรศัพท์พูดคุยกับผู้ปกครองและนิ่งหมดสติไปเองต่อหน้าพยาน ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 รุ่นเดียวกัน จึงเชื่อได้ว่าในวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดลงโทษหรือทำร้ายร่างกาย นตท.ภคพงศ์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต


เหตุการณ์ที่ 2 เรื่องรอยฟกช้ำตามร่างกาย

จากการสอบผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์และเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ ได้ความว่า ในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 เวลา 15.51 น. นตท.ภคพงศ์เสร็จจากการเรียนพลศึกษาที่ชั้นที่ 2 กองพลศึกษา ภาพจากกล้องวงจรปิดที่กองพลศึกษา จะเห็นว่า นตท.ภคพงศ์วิ่งผ่านลงบันไดเพื่อกลับมาที่กองพันที่ 2 แต่ได้ลื่นเสียหลัก ตกบันได 8 ขั้น สูงประมาณ 1.5 เมตร เพื่อนนักเรียนชั้นปีที่ 1 ที่ตามมา ได้ยินเสียง จึงเข้าช่วยเหลือ และครูพละ 2 คนที่อยู่ด้านล่างจึงเดินขึ้นมาช่วย เห็น นตท.ภคพงศ์นอนตะแคงซ้ายมือกุมหน้าอก เพื่อนและครูพละจึงร่วมให้การช่วยเหลือ ตรวจสอบอาการบาดเจ็บบริเวณศีรษะและลำตัว และได้สอบถามอาการ นตท.ภคพงศ์ ได้รับคำตอบว่ามีอาการจุกบริเวณหน้าอก ครูพละจึงใช้รถยนต์ส่วนตัวมาส่งที่กองแพทย์ แพทย์ตรวจรักษาภายนอกไม่พบบาดแผล และได้ส่งโรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเพื่อตรวจหาอาการบาดเจ็บอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ผลการตรวจไม่พบบาดแผลภายนอก จึงทำการเอ็กซเรย์และไม่พบว่าได้รับบาดเจ็บใดๆ จึงสั่งให้กลับมาพักรักษาตัวที่กองแพทย์

วันที่ 12-15 ตุลาคม 2560 นักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์กลับมาพักที่บ้าน ผู้ปกครองได้นำนักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ไปตรวจร่างกายซ้ำที่โรงพยาบาลเอกชน ผลการตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ และได้กลับมาที่โรงเรียนเตรียมทหารในวันที่ 15 ตุลาคม 2560

ในเหตุการณ์นี้ข้อมูลที่ได้รับจากผู้เกี่ยวข้องและภาพวงจรปิดพบว่า นักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ เสียหลักตกบันไดด้วยตนเอง สาเหตุอาจเพราะเร่งรีบ เร่งกลับกองพัน แพทย์ตรวจไม่พบบาดแผลตามร่างกายและศีรษะ มีการตรวจเอ็กซเรย์ทั้งที่โรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและโรงพยาบาลเอกชน ผลการตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ

จากการที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ได้สอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์ และตรวจสอบจากภาพวงจรปิด คณะกรรมการฯ จึงสรุปว่า การเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใด สั่งลงโทษหรือทำร้าย อันเป็นเหตุให้ นตท.ภคพงศ์เสียชีวิต และจากการตรวจสอบของสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สรุปในภาพได้ว่าไม่พบร่องรอยฟกช้ำภายนอก ส่วนกรณีชายโครงด้านขวาซี่ที่หัก แพทย์ก็ไม่ได้ตัดประเด็นการทำ CPR ที่ต้องใช้แรงกดกึ่งกระแทกนานถึง 4 ชั่วโมง ประกอบกับได้พบว่าเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนผิดปกติ ซึ่งไม่ตรวจพบบ่อยนักสำหรับคนอายุ 18 ปี แพทย์จึงสรุปความเห็นว่า นตท.ภคพงศ์เสียชีวิตเนื่องจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

พล.อ.อ. ชวรัตน์ ยืนยันว่าหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมทหารมีความเป็นมาตรฐานเหมือนโรงเรียนเตรียมทหารทั่วไป แต่จากนี้ไปคงจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบร่างกายนักเรียนเตรียมทหารก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร และจะต้องเพ่งเล็งไปที่โรคที่ไม่เคยปรากฏ เฝ้าระวัง และป้องกันให้มากขึ้น การตรวจคัดกรองนักเรียนเตรียมทหารต้องมีมาตรฐานสูงขึ้น การตรวจความพร้อมของร่างกายหลังจากเข้ามาเป็นนักเรียนเตรียมทหารแล้วต้องกำหนดให้มีการตรวจร่างกายในเวลาที่เหมาะสม มีความถี่มากขึ้น

กรณีนักเรียนผู้บังคับบัญชา สั่งซ่อมนักเรียนเตรียมทหาร หรือธำรงวินัย ควรจะมีอยู่หรือไม่ พล.อ.อ. ชวรัตน์ ยืนยันว่า เรื่องระบบการธำรงวินัยของโรงเรียนเตรียมทหารยังจำเป็นต้องมีอยู่ เพราะเป็นการฝึกวินัยให้กับนักเรียนเตรียมทหารที่มาจากพลเรือน ก่อนจะมาสวมเครื่องแบบทหารต้องฝึกในเรื่องวินัย แต่ก็อาจจะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง ซึ่งปัญหาเกิดจากตัวบุคคล ทางโรงเรียนเตรียมทหารได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ตรวจสอบนักเรียนผู้บังคับบัญชา 4 คน พบว่ามีการฝ่าฝืนระเบียบ จึงตัดคะแนนความประพฤติ และปลดออกจากการเป็นนักเรียนผู้บังคับบัญชา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เสื่อมเสียเกียรติมาก ส่วนการสั่งธำรงวินัยนั้น ยกตัวอย่าง ช่วงที่จะปล่อยพักรับประทานอาหาร พบว่ามี นตท. บางส่วนแตกแถว จึงสั่งให้วิ่ง นตท. ที่วิ่งช้าให้วิ่งเพิ่มอีก 600 เมตร หรือการสั่งซ่อมในห้องอบซาวน่า คือห้องที่มีขนาดกว้าง 8 คูณ 8 เมตร หากเข้าไปจำนวนมาก จะเกิดไอความร้อนจากร่างกาย แต่การสั่งธำรงวินัยในวันนั้น มี นตท. แค่ 3 คนถูกสั่งให้ธำรงวินัยในท่าวิดพื้น ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นที่ทำให้บาดเจ็บเสียชีวิตได้