ThaiPublica > คอลัมน์ > จาก Rolls-Royce ย้อนสู่กรณี Lockheed ในญี่ปุ่นภาพสะท้อนปัญหา “คอร์รัปชันทางโครงสร้าง”

จาก Rolls-Royce ย้อนสู่กรณี Lockheed ในญี่ปุ่นภาพสะท้อนปัญหา “คอร์รัปชันทางโครงสร้าง”

23 มกราคม 2017


ปรีดี บุญซื่อ

เครื่องยนต์ Trent ของ Rolls Royce ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/
เครื่องยนต์ Trent ของ Rolls Royce ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/

ข่าวกรณีบริษัท Rolls-Royce ของอังกฤษ ยินยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 808 ล้านดอลลาร์ (28,500 ล้านบาท) เพื่อยุติคดีคอร์รัปชันกับทางการอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และบราซิล ในกรณีการจ่ายเงินสินบนใน 7 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ไทย อินเดีย รัสเซีย ไนจีเรีย จีน และมาเลเซีย เพื่อขายเครื่องยนต์อากาศยานให้กับสายการบินรัฐในประเทศเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีการให้สินบนของ Rolls-Royce ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ที่ระบบการเมืองก็ล้าหลังและด้อยพัฒนา

กรณีสินบนของ Rolls-Royce คล้ายกันกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปี 1976 ที่เรียกกันว่า กรณีอื้อฉาว Lockheed ที่บริษัท Lockheed Aircraft ของสหรัฐฯ ติดสินบนนายกรัฐมนตรี คากุเอะ ทานากะ (Kakuei Tanaka) เพื่อใช้อิทธิพลให้สายการบิน All Nippon Airways ซื้อเครื่องบินโดยสาร 21 ลำของ Lockheed

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกสังคม แต่คอร์รัปชันทางการเมืองมักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศแบบญี่ปุ่น ที่การเมืองกลายเป็นกลไกการหาเงินของนักการเมือง และคอร์รัปชันคือวิธีการซื้อ “การเข้าถึง” อำนาจการตัดสินใจขององค์กรรัฐ

กรณีอื้อฉาว Lockheed

คนทั่วโลกอาจรู้จักชื่อบริษัท Lockheed ของสหรัฐฯ ว่าคือผู้ผลิตกระสวยอวกาศ แต่เมื่อ 40 ปีมาแล้ว เกิดกรณีอื้อฉาว Lockheed ขึ้นในญี่ปุ่น ในปลายๆ ทศวรรษ 1960 สายการบิน Japan Airlines กับ All Nippon Airways ต่างก็มีแผนที่จะขยายฝูงบินแบบลำตัวกว้าง เพื่อสนองความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่มากขึ้น ทาง All Nippon ใช้วิธีการล็อบบี้ให้กระทรวงคมนาคมชะลอการสั่งซื้อเครื่องบินขนาดใหญ่ของ Japan Airlines ออกไปก่อน เพื่อที่ตัวเองจะได้ไล่ตามทัน และมีเวลาให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินต่างๆ เสนอขายเครื่องบินมาให้

มีบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐฯ 3 บริษัทเสนอขายเครื่องให้กับ All Nippon แต่ละบริษัทต่างก็มีบริษัทการค้าของญี่ปุ่นเป็นตัวแทน McDonald Douglas มีบริษัท Mitsui เป็นตัวแทน เสนอขายเครื่อง DC-10 ส่วน Boeing มีบริษัท Nissho Iwai เป็นตัวแทน เสนอเครื่อง 747 และ Lockheed มี Marubeni เป็นตัวแทน เสนอขายเครื่อง TriStar ราคาลำละ 30 ล้านดอลลาร์ แต่ Lockheed เรียกว่าเป็นบริษัทม้ามืด เพราะยังไม่มีเคยผลงานเรื่องการผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับ McDonald Douglas กับ Boeing นอกจากนี้ Marubeni ยังเป็นบริษัทการค้าขนาดเล็ก ไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง 2 บริษัทการค้าคู่แข่ง

Marubeni วิเคราะห์ลู่ทางและโอกาสแล้วก็แจ้งกับ Lockheed ว่า หากใช้วิธีการเข้าประตูหน้าบ้านแบบเปิดเผยแล้ว โอกาสที่จะขายเครื่องบินก็ต่ำมาก จึงเสนอให้ Lockheed ใช้กลยุทธ์ในทางลับ Lockheed มีตัวแทนในญี่ปุ่นที่ทำงานในทางลับอยู่แล้วคือนาย Yoshio Kodama ที่เป็นนักการเมืองขวาจัดและทำธุรกิจกับมิจฉาชีพใต้ดิน เขาเคยทำงานให้ Lockheed สำเร็จมาแล้วในการขายเครื่องบินรบให้ญี่ปุ่น นาย Kodama จึงใช้วิธีวิ่งเต้นกับสำนักงานของนายกรัฐมนตรีทานากะเพื่อกดดันให้ All Nippon ซื้อเครื่อง TriStar ของ Lockheed

ผู้บริหารของบริษัท Marubeni เห็นว่า เงิน 500 ล้านเยน (7.5 ล้านดอลลาร์) เป็นจำนวนที่มากพอสำหรับการช่วยเหลือของนายกฯ ทานากะ ทางผู้บริหารของ Lockheed ก็เห็นชอบด้วย ในเดือนสิงหาคม 1972 ผู้บริหารของ Marubeni จึงเข้าพบนายกฯ ทานากะ และเสนอเงินจำนวน 500 ล้านเยน หลังจากนั้น 2 เดือนต่อมา All Nippon ก็ประกาศว่า ทางสายการบินได้ตัดสินใจเลือกเครื่องบินแบบ TriStar จำนวน 21 ลำของ Lockheed

เครื่องบิน-TriStar-ของ-All-Nippon ที่มาภาพ : https://de.wikipedia.org/wiki/All_Nippon_Airways#/media/File:ANA_L-1011-1_(1992_Osaka_International_Airport).jpg
เครื่องบิน-TriStar-ของ-All-Nippon ที่มาภาพ : https://de.wikipedia.org/wiki/All_Nippon_Airways#/media/File:ANA_L-1011-1_(1992_Osaka_International_Airport).jpg

ในเดือนกุมภาพันธ์ 1976 กรณีการติดสินบนของ Lockheed ถูกเปิดเผยออกมา เมื่อนาย A. C. Kotchian รองประธานของ Lockheed แถลงต่ออนุกรรมาธิการ วุฒิสภาของสหรัฐฯ เรื่องบริษัทข้ามชาติ ว่า Lockheed จ่ายเงินสินบนประมาณ 500 ล้านเยน (3 ล้านดอลลาร์) ให้กับสำนักงานของนายกรัฐมนตรีทานากะ ที่ช่วยเหลือเรื่องสายการบิน All Nippon ซื้อเครื่องบินของ Lockheed แต่จำนวนที่จ่ายไปทั้งหมดเป็นเงิน 2.4 พันล้านเยน (15 ล้านดอลลาร์) ราวๆ เกือบ 3% ของรายได้ที่คาดว่าจะมาจากการขายเครื่องบิน 21 ลำเป็นเงิน 430 ล้านดอลลาร์ เช่น จ่ายให้ประธาน All Nippon จำนวน 50,000 ดอลลาร์ต่อเครื่องบินที่ซื้อ 1 ลำ รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและเลขานุการคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

อดีตนายกฯ ทานากะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วงปี 1972-1974 ถูกจับกุมในเดือนกรกฎาคม 1976 โดยที่เขายังเป็นผู้แทนในรัฐสภาไดเอทของญี่ปุ่น แต่ได้รับการประกันตัว ในเดือนตุลาคม 1983 ศาลของโตเกียวตัดสินว่า ทานากะมีความผิด และลงโทษจำคุก 4 ปี กับปรับเป็นเงิน 500 ล้านเยน ในข้อหาการละเมิดกฎหมายควบคุมเงินตราต่างประเทศ เพราะทานากะไม่ได้แจ้งเรื่องจำนวนเงินที่ได้มาดังกล่าว แต่ไม่ใช่เรื่องการรับสินบน กระบวนการยังอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์ เมื่อทานากะเสียชีวิตในปี 1993

เครื่องจักรการหาเงิน

เมื่อกรณีสินบน Lockheed ถูกเปิดเผยออกมา ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ทางการเมืองของญี่ปุ่น เพราะเป็นกรณีการคอร์รัปชันทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ไปเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ยุคที่คนญี่ปุ่นต้องการลืมเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะเป็นยุคการเมืองแบบขวาจัด และนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับพวกมิจฉาชีพที่ทำธุรกิจใต้ดิน

อดีตนายกรัฐมนตรี ทานากะ เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ  ที่มาภาพ : wikipedia
อดีตนายกรัฐมนตรี ทานากะ เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ
ที่มาภาพ : wikipedia

คนญี่ปุ่นเองรู้สึกว่า กรณี Lockheed แสดงให้เห็นว่าคนต่างชาติรู้ดีกว่าคนในประเทศที่เป็นคนเคารพกฎหมายบ้านเมือง ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดประสิทธิผลในญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น กรณีอื้อฉาวนี้เข้าเกี่ยวข้องกับนักการเมืองชั้นนำของประเทศ แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ตัวแสดงที่โดดเด่นในกรณีสินบน Lockheed คือนาย Yoshio Kodama ตัวแทนที่ทำงานธุรกิจลับๆ ของ Lockheed และทำงานเป็นตัวประสานระหว่างนักการเมืองกับพวกยากูซ่า

เมื่อทานากะถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีการรับสินบนของ Lockheed นักธุรกิจญี่ปุ่นหลายคนตกใจมากในเรื่องนี้ เพราะคิดว่าทานากะควรจะถูกลงโทษในเรื่องการพูดเท็จต่อศาลและความผิดเรื่องการละเมิดกฎหมายการควบคุมเงินตราต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องการรับสินบน เพราะเงิน 500 ล้านเยน ที่ Lockheed จ่ายผ่านทางบริษัทการค้า Marubeni นั้น ตามปกติแล้วจะถือกันว่าเป็น “เงินสนับสนุนทางการเมือง”(political contribution)

การคอร์รัปชันทางโครงสร้าง

คนญี่ปุ่นเห็นว่า หัวใจของปัญหากรณีสินบน Lockheed คือสิ่งที่เรียกว่า “การคอร์รัปชันทางโครงสร้าง” (structural corruption) การที่ Lockheed ติดสินบนนายกฯ ทานากะ เพื่อให้ All Nippon ซื้อเครื่องบินของ Lockheed ไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นครั้งเดียวหรือเกิดขึ้นเป็นการเฉพาะกับนายกฯทานากะ แต่เป็นสิ่งที่แฝงตัวจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองญี่ปุ่นและระบบรัฐบาลญี่ปุ่น เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องปฏิรูปก็คือ เรื่องการคอร์รัปชันทางโครงสร้าง นาย Karen van Wolferen ที่เคยเป็นประธานชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในโตเกียวก็กล่าวว่า คอร์รัปชันในญี่ปุ่นกลายเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม เพราะเป็นการกระทำผิดที่ทำกันเป็นระบบ เป็นส่วนประกอบแบบนอกกฎหมายของระบบการเมืองญี่ปุ่น คนทั่วไปในประเทศอาจไม่ได้รับรู้ว่ามันคืออะไร แต่ก็ยอมรับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของระบบ

หลังสงครามโลกเป็นต้นมา กรณีการให้สินบนที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ล้วนมีอยู่แบบเดียว คือการจ่ายเงินเพื่อให้คนนอกสามารถเข้าถึงศูนย์กลางการตัดสินใจของกลไกรัฐ ที่บอกว่าเป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สังคมโดยรวม การทุจริตเป็นรายบุคคล ญี่ปุ่นลงโทษรุนแรงมาก เพราะตั้งมาตรฐานไว้สูง แต่กรณีคอร์รัปชันทางการเมืองของญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวโยงกับ “รัฐข้าราชการ” คอร์รัปชันรูปแบบนี้บางครั้งเรียกว่า “ระบบราชการตลาดมืด” ในสังคมรูปแบบนี้ การขายสิ่งที่เป็นการเข้าถึงการตัดสินขององค์รัฐ คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่การที่คนญี่ปุ่นไม่ยอมรับกรณีสินบน Lockheed เพราะพวกเขารู้สึกว่า กรณีนี้มันชักจะเลยขอบเขตมากเกินไปแล้ว

สาเหตุสำคัญของ “การคอร์รัปชันทางโครงสร้าง” คือ พรรคการเมืองของญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นที่รวมของกลุ่มการเมือง หรือมุ้งต่างๆ ทำให้ประชาชนไม่สามารถทำให้พรรคการเมืองรับผิดต่อนโยบายหรือการกระทำของพรรค แม้ศาลจะตัดสินลงโทษทานากะแล้ว คนทั่วไปเรียกร้องให้เขาลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ก็ไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะสาเหตุมาจากเรื่องโครงสร้างการเมือง ไม่ใช่เพราะความดื้อรั้นของทานากะ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ทำไมทานากะจึงไม่ยอมลาออกจากการเป็นผู้แทน ทานากะเองก็ไม่รู้สึกว่าเขาเองเป็นคนผิด เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมา

พรรคประชาธิปไตยเสรี หรือ Liberal Democratic Party (LDP) ที่ครองอำนาจมายาวนานของญี่ปุ่น เป็นที่รวมของกลุ่มการเมืองสำคัญๆ 5-6 กลุ่ม การเคลื่อนไหวของกลุ่มภายในพรรคขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ สภาพคล้ายๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างนครรัฐต่างๆ ของยุโรปในศตวรรษที่ 19 นักการเมืองพรรค LPD คนไหนสามารถรวบรวมกลุ่มได้มากสุด ก็กลายเป็นหัวหน้าพรรคและผู้นำรัฐบาลในที่สุด ความรับผิดของผู้นำพรรคจึงขึ้นกับเสียงสนับสนุนของกลุ่มต่างๆ ภายในพรรค ไม่ใช่ความเห็นของสังคม

ในสังคมรัฐข้าราชการของญี่ปุ่น ระบบการเลือกตั้งก็อาจสร้างผู้นำการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชน อย่างเช่นอดีตนายกฯ ทานากะ แต่การคอร์รัปชันทางโครงสร้างก็ทำให้ระบบการเมืองขาดความรับผิดต่อสังคม และทำลายความหวังของคนญี่ปุ่นที่มีต่อระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาลงไปมาก เพราะคนทั่วไปรู้สึกว่าการปฏิรูประบบที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องที่ยากและอาจเป็นไปไม่ได้เลย