ThaiPublica > เกาะกระแส > เส้นทางการพัฒนาที่แท้จริง…ต้องร่วมวางรากฐานปฏิรูปเศรษฐกิจไทยแบบวิ่งมาราธอน ยกระดับความเก่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน

เส้นทางการพัฒนาที่แท้จริง…ต้องร่วมวางรากฐานปฏิรูปเศรษฐกิจไทยแบบวิ่งมาราธอน ยกระดับความเก่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน

14 ธันวาคม 2017


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน”

วันที่ 14 ธันวาคม 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่หลากหลายต่อประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ จากผู้แทนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก รวมถึงผู้แทนจากคณะปฏิรูปชุดต่างๆ เรียกว่าเป็นการรวมพล “คนรักประเทศ” ครั้งใหญ่ก็ว่าได้ โดยขอร่วมเสนอมุมมองในหัวข้อ เรื่อง “ร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน” จะแบ่งประเด็นที่จะพูดเป็น 3 ส่วนสั้นๆ”

    ส่วนแรก การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา
    ส่วนที่สอง การปฏิรูปเศรษฐกิจกับการวางรากฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง
    ส่วนที่สาม โอกาสและความท้าทายของการปฏิรูปในระยะข้างหน้า

1. การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา

ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 1 เศรษฐกิจไทยเติบโตมากกว่า 10 เท่า และเศรษฐกิจการเงินของประเทศนับว่ามีเสถียรภาพ ยืดหยุ่น และทนทานต่อแรงเสียดทานได้ในระดับหนึ่ง และเมื่อมองเข้ามาดูในแต่ละกลุ่มจะเห็นว่า ในภาพรวมภาคเอกชนไทยแข็งแกร่งขึ้นจนปัจจุบันหลายบริษัทสามารถไปปักธงในต่างประเทศ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นและคนส่วนใหญ่พ้นความยากจน มาตรฐานการดำรงชีวิตดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยรวมอาจจะกล่าวได้ว่า ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ช่วยยกระดับประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จากที่เคยมีฐานะยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค

แต่เมื่อมองให้ลึกถึงแก่น เราคงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ผลจากการพัฒนาที่มุ่งเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ มีส่วนส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายเรื่อง เช่น ศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ช่วงก่อนปี 2540 ประเทศไทยเคยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 9% ช่วงปี 2543-2556 โตเฉลี่ยประมาณ 4% แต่ในช่วงหลังๆ กว่าจะโตได้ถึง 4% ก็นับว่ายาก

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ที่ผลประโยชน์จากการพัฒนายังไม่ได้กระจายไปสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับต้นๆ ของโลก แม้บางเครื่องชี้จะวัดแบบหยาบๆ ก็เถียงกันได้ แต่หากพวกเราได้ไปต่างจังหวัด หรือแค่ปริมณฑล คงเห็นเหมือนกันว่าประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ทั้งในด้านความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ด้านโอกาส และด้านความสามารถการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรายเล็ก-รายใหญ่

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงสำคัญที่ทำให้ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจมีต้นทุนการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า เครื่องชี้ปัญหาคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index ที่วัดในเชิงเปรียบเทียบ หมายความว่า แม้เราทรงๆ แต่อาจมีลำดับที่แย่ลงได้ถ้าประเทศอื่นพัฒนาเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งผลการวัดในปี 2559 ชี้ว่า ไทยมีปัญหาคอร์รัปชันไม่น้อย โดยอันดับของไทยไหลลงไปอยู่ที่อันดับ 101 จาก 176 ประเทศ และมีคะแนนเท่ากับฟิลิปปินส์ และแย่กว่าอาร์เจนตินา

ปัญหาศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาคอร์รัปชันเช่นนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไขจะเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของประเทศ และไม่ได้จำกัดแค่เศรษฐกิจ แต่หมายถึงด้านสังคมและอื่นๆ ด้วย

และเมื่อมองไปข้างหน้า บริบทสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม จึงมีความท้าทายใหม่ๆ รอให้เราฝ่าฟันบนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน เข้ามากระทบ business model งานหลายอย่างหายไป ตัวอย่างในภาคการเงิน เดิมเราเห็นการแข่งขันเปิดสาขา แต่ปัจจุบันประชาชนสามารถทำธุรกรรมผ่านมือถือได้ ก็เริ่มเห็นการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ หรือในอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบจากสื่อในโลออนไลน์อย่างหนัก งบโฆษณาที่ลงในนิตยสารก็ลดลงมาก ทำให้นิตยสารจำนวนมากต้องทยอยปิดตัวไปในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดนิตยสารระดับตำนานอย่าง “ขวัญเรือน” และ “ดิฉัน” ต้องปิดตัวลง และในอนาคตงานหลายอย่างอาจจะถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะงานที่มีรูปแบบซ้ำๆ ระบบจะสามารถทำแทนได้แม่นยำกว่า ย่อมหมายถึงคนตกงานจะมากขึ้นด้วย ที่สำคัญ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงระยะต่อไปเกิดขึ้นใความเร็วที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ขณะที่เศรษฐกิจการเมืองโลกจะทำให้บริบทโลกซับซ้อนขึ้น และความไม่สงบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก อีกเรื่องหนึ่งที่เราละเลยไม่ได้ คือ กติกาและมาตรฐานสากลจะเข้มงวดขึ้น นอกจากนี้ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้แรงงานหายากขึ้นและค่าแรงแพงขึ้น

2. การปฏิรูปเศรษฐกิจกับการวางรากฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง

ภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ และปัญหาเชิงโครงสร้างที่กล่าวข้างต้น คณะกรรมการฯ จึงกำหนดเป้าหมายหลักของการปฏิรูปไว้ว่า มองไปข้างหน้า อยากจะเห็นประเทศไทยมี “การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง”

การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงคืออะไร?

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่โตปีละมากๆ ไม่ใช่การพัฒนาแบบหยาบๆ แต่เป็นการพัฒนาที่จะต้องคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ และเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนแต่ละคน รวมทั้งจะต้องเป็นการพัฒนาที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เศรษฐกิจไทยต้อง “แข่งขันได้-กระจายประโยชน์ไปสู่ประชาชน-เติบโตยั่งยืน” ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้แบ่งประเด็นปฏิรูปออกเป็น 3 ด้าน สำคัญ คือ

ด้านที่ 1 การเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเรื่องสำคัญมากทั้งในวันนี้และวันหน้า พวกเราคงเห็นเหมือนกันว่า หลายประเทศที่เคยตามหลังเราชนิดไม่เห็นฝุ่น ทุกวันนี้วิ่งไล่เรามาติดๆ ขณะที่เรากลับเดินหน้าได้อย่างช้าๆ และถ้าไม่ทำอะไรเราอาจเป็นประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ ที่สำคัญ ในอนาคตเราจะยิ่งลำบาก เพราะเรากำลังเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะมีผลให้คนไทยในวัยทำงานหนึ่งคน ต่อไปจะต้องเลี้ยงผู้สูงอายุหลายคนขึ้น ทางออกเดียวของเราคือ คนไทย ภาคธุรกิจไทย และภาครัฐไทยในอนาคตต้องเก่งขึ้น และนี่คือเป้าหมายของ pillar 1

ด้านที่ 2 การลดความเหลื่อมล้ำและกระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น มีการจัดสรรประโยชน์ใหม่ ที่จะช่วยให้สังคมมีความสมดุลมากขึ้น และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งมองได้หลายระดับ ในระดับประเทศจะเน้นการพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาค ไม่ให้ความเจริญกระจุกเฉพาะในกรุงเทพฯ ในระดับชุมชนก็จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มแข็งในมิติต่างๆ และ ในระดับบุคคล จะเน้นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรและแรงงานยากจนในระดับฐานราก เพื่อให้เขาสามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้ โดยหนึ่งในข้อเสนอการปฏิรูปสำคัญคือ การจัดให้มีหน่วยงานกลางที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งจะไม่ใช่แค่ทำงานเก็บตัวเลข แต่มีภารกิจในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง

ด้านที่ 3 การปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการปรับกลไกและบทบาทของภาครัฐให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนและความท้าทายในอนาคต ซึ่งหมายความว่า สถาบันทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องเป็นสถาบันที่มีชีวิต พร้อมปรับตัวและเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการปฏิรูปด้านที่ 1 และ 2 ที่ได้กล่าวมาให้สัมฤทธิ์ผล เพราะภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์และกติกา ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างแรงจูงใจ และระบบนิเวศ ที่เอื้อให้เศรษฐกิจสามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ

“ระบบสถาบันด้านเศรษฐกิจ” หลายส่วนที่เคยออกแบบไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนอาจไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศภายใต้บริบทใหม่ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปหน่วยงานทางเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็นระดับวางยุทธศาสตร์ ปฏิบัติ และติดตามผล ให้ทันสมัย สอดคล้องกับจังหวะ “การเดินหน้าของประเทศ” โดยภาครัฐต้องปรับบทบาทจากผู้กำกับดูแล ให้เป็นผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และปล่อยให้มีการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มากขึ้น โดยทิศทางสำคัญคือ

มิติแรก ภาครัฐต้องคำนึงถึง “ประสิทธิภาพ” และ “ความยั่งยืน” มากขึ้น โดยเรื่องที่สำคัญคือ การปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ปรับกติกาให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างคล่องตัว ธุรกิจที่ล้มต้องลุกได้เร็ว หรือการบริหาร strategic assets หรือสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เช่น คลื่นความถี่ รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ หรือทางพิเศษต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของรัฐวิสาหกิจที่การบริหารจัดการยังขาดประสิทธิภาพจนประเทศ “เสียโอกาสด้านการพัฒนา” และเป็น “ต้นทุนที่แพงขึ้น” ของประชาชนทุกคน

มิติที่สอง ต้องโปร่งใส มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันที่เป็น “ต้นทุนแฝง” ของภาคเอกชนและประชาชนได้ด้วย

มิติที่สาม กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถเสนอแนะสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหามีเจ้าภาพชัดเจน หรือ accountability หลายท่านคงเห็นเหมือนกันว่าปัญหาหลายอย่างของประเทศขาดเจ้าภาพ หรือหาเจ้าภาพไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ และผมคิดว่า การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจะเป็นส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำที่การพัฒนามีแนวโน้มกระจุกตัวที่ส่วนกลางลงได้

มิติที่สี่ ประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในโลกที่ซับซ้อน โจทย์ของประเทศหลายเรื่องยากขึ้น จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องปรับบทบาทให้มีความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นในทุกมิติ ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่กลับเป็นหนึ่งในเรื่องยากที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ ที่การทำงานยังมีลักษณะแยกส่วน ขาดการบูรณาการ จนทำให้เรามักได้ยินว่า ต้องใช้มาตรา 44 เพื่อผ่าทางตันอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนอาการที่เกิดขึ้น หรือความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเอกชนในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และระบบงานที่มีประสิทธิภาพคล่องตัว โดยเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

ความจริงข้อเสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้าน มีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ผมขอพูดเฉพาะในภาพรวมดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะในช่วงต่อไปคณะกรรมการฯ 4 ท่านจะนำเสนอมาตรการปฏิรูปในแต่ละด้านต่อไป โดยคุณสว่างธรรม เลาหทัย จะนำเสนอประเด็นการปฏิรูปเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รัฐมนตรีกอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวถึงประเด็นความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม และท่านรองฯ ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล และ ผอ.พานิช เหล่าศิริรัตน์ จะเล่าในประเด็นการปฏิรูปสถาบันเศรษฐกิจ

3. โอกาสและความท้าทายของการปฏิรูปในระยะข้างหน้า

แนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ และที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องนี้มากพอสมควร จนบางคนอาจเมื่อยล้ากับการฟังการพูดในเรื่องการปฏิรูปด้วยซ้ำซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า reform fatigue และหลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมยังไม่เห็นการปรับเปลี่ยนที่ชัดเจนจริงจังเป็นรูปธรรม ความท้าทายคือ การกำหนดนโยบายหรือสิ่งที่ต้องปฏิรูปโดยลำพังเป็นสิ่งที่ไม่ยากนัก แต่การแสวงหาหนทางและการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริงอาจต้องใช้เวลาและอาศัยความอดทนคล้ายกับ “การวิ่งมาราธอน” บางครั้งผมก็เปรียบว่า การปฏิรูปเป็นการเดินทางหรือ journey ที่อาจใช้เวลา ทั้งนี้ ผมคิดว่าการขับเคลื่อนการปฏิรูปให้สำเร็จต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายเรื่องเกื้อหนุนกัน

ประการแรก คือ “จังหวะและโอกาสที่เหมาะสม” ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจะพบว่า การปฏิรูปมักเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศอยู่ในวิกฤติ หรืออยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และแรงกดดันสังคม เช่น การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม สำหรับไทยหากย้อนไปดูการปฏิรูปประเทศของไทยที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของประเทศล่าอาณานิคมตะวันตก หรือหลังปี 2540 ที่เราปฏิรูปหลายอย่างได้สำเร็จเพราะเราเจอวิกฤติอย่างหนัก นั่นหมายความว่าความสำเร็จของการปฏิรูปจะมาเป็นช่วงๆ และขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมด้วย จนบางครั้งผู้รู้กล่าวไว้ว่า การปฏิรูปจะสำเร็จอาจต้องอาศัยส่วนผสมของโชคชะตาด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเอื้อให้การปฏิรูปต่างๆ เกิดขึ้นได้ กล่าวคือ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุน ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มค่อนข้างดี ที่จะเอื้อให้การปฏิรูปเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ประเภทที่อาจมีความเจ็บปวดในระยะสั้น แต่ให้ผลประโยชน์ในระยะยาว หรือมี short-term pain แต่จะให้ long-term gain มีโอกาสสำเร็จได้ และผมหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะ “ไม่ทิ้งโอกาส” ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บ้านเมืองดีขึ้น

ประการที่สอง คือ “การบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ” จะมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ประเทศมีปัญหาที่ต้องแก้ไขหลายสิบหลายร้อยเรื่อง แต่ธรรมชาติของความพยายามสร้างเปลี่ยนแปลงมักหนักแน่นในช่วงแรก และสักพักก็อาจจะแผ่วลง โอกาสผลักดันให้เกิดเปลี่ยนแปลงอาจมีไม่มากนัก ทำทุกเรื่องคงไม่ได้ ต้องเลือกปฏิรูปในเรื่องสำคัญไม่กี่เรื่อง และเมื่อ “ปลดล็อก” หรือ “คลายปม” แล้วสร้างผลกระทบในวงกว้าง หรือเป็นพวก game changer ต่างๆ ซึ่งมักไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ในภาวะปกติ นั่นจึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการเลือกจะ focus เอาบางเรื่องที่สำคัญใน 3 pillars ของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ประการที่สาม ไม่ว่าอยู่ในภาครัฐหรือเอกชน การมี “ผู้นำที่เข้าใจและกล้าตัดสินใจ” นับว่าเป็นหัวใจสำคัญอีกประการของการปฏิรูป กล่าวคือ ผู้นำต้องเข้าใจปัญหาและต้องกล้าตัดสินใจในเรื่องที่ยาก อีกทั้งต้องมีศิลปะในการชักจูงโน้มน้าวผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูป รวมทั้งเมื่อเห็นต่างก็ต้องสามารถโน้มน้าว หรือชักจูงให้ทุกฝ่ายสามารถยอมรับแนวทางการปฏิรูปร่วมกันได้

ประการสุดท้าย คือ การปฏิรูปจะสำเร็จจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งและก้าวไปด้วยกัน โดยมี “ประโยชน์ร่วมกัน” ของประเทศชาติเป็นเป้าหมาย เมื่อประเทศได้ ย่อมหมายถึงภาคเอกชนได้ ประชาชนได้ และเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของภาครัฐ ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคยมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า

“… ขาดทุน คือ กำไร (Our loss is our gain) … การเสีย คือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้…”

เมื่อมองลึกในรายละเอียดจะเห็นว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจไม่สามารถทำให้สำเร็จโดยลำพัง จำเป็นต้อง “เชื่อมโยง” และ “อาศัย” การปฏิรูปประเทศในด้านอื่นๆ สนับสนุนด้วย เช่น การปฏิรูปด้านสถาบันทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปกฎหมาย และการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะที่การปฏิรูปเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปการศึกษา และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขัน หรือในการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องอาศัยการกระจายอำนาจในภูมิภาค

การประชุมวันนี้ ผมอยากเชิญชวนท่านร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งคณะกรรมการฯ จะได้รวบรวมความเห็นของท่านไปประกอบการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปต่อไป

สุดท้ายนี้ ในนามคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ผมขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะร่วมเป็นเครือข่ายกับพวกเราในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ

หมายเหตุ: สำหรับประชาชนทั่วไป ขอเชิญชวนท่านให้ส่งความเห็นท่านต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจมาที่ www.econreform.or.th ทุกความเห็นของท่านมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเพื่ออนาคตที่ดีและยั่งยืนของประเทศต่อไป