ThaiPublica > คอลัมน์ > ก้าวแรกสู่การคืนความยุติธรรมแก่ผู้ต้องหายาเสพติด: ว่าด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

ก้าวแรกสู่การคืนความยุติธรรมแก่ผู้ต้องหายาเสพติด: ว่าด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

30 พฤศจิกายน 2016


ณัฐเมธี สัยเวช

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งจากผลการประชุมนั้น ที่ประชุม สนช. เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษาด้วยคะแนนเอกฉันท์ 196 ต่อ 0 เสียง

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่ผ่านการพิจารณาและรอการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษานี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยมีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำเพื่อจำหน่ายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และมีการแก้ไขอัตราโทษความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออก

จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผมจะขอยกเอาบางส่วนที่น่าสนใจมาพูดถึง นั่นก็คือ การแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 15 วรรคสาม, มาตรา 65 วรรคหนึ่ง, มาตรา 65 วรรคสอง, มาตรา 65 วรรคสาม และมาตรา 67 ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวนั้นมีรายละเอียดดังนี้ครับ

มาตรา 15 วรรคสาม มีการยกเลิกข้อความเดิมที่ว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้” ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” แล้วให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย”

มาตรา 65 วรรคหนึ่ง มีการยกเลิกข้อความเดิมที่ว่า “ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท” แล้วให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท”

มาตรา 65 วรรคสอง มีการยกเลิกข้อความเดิมที่ว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต” แล้วให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต

มาตรา 65 วรรคสาม มีการยกเลิกข้อความเดิมว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แล้วให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” (คือตัดส่วนของการกำหนดปริมาณทิ้งไป)

มาตรา 67 มีการยกเลิกข้อความเดิมที่ว่า “ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แล้วให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” (คือตัดส่วนของการกำหนดปริมาณทิ้งไปเช่นเดียวกับในมาตรา 65 วรรคสาม)

ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นความผิดในด้านของการจำหน่าย และศาลชั้นต้นตัดสินโทษเรียบร้อยไปแล้วก่อนที่กฎหมายฉบับใหม่นี้จะบังคับใช้ จะยังคงใช้กฎหมายฉบับเดิมในการพิจารณา แต่ถ้าเป็นคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ก็จะสามารถยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อพิสูจน์ความผิดได้

ส่วนกรณีความผิดฐานนำเข้าหรือส่งออกเพื่อจำหน่าย ที่มีการตัดสินโทษไปแล้วตามกฎหมายเดิม เมื่อกฎหมายนี้ออกมาแล้ว ไม่ว่ากำลังจะถูกจำคุกหรือกำลังจำคุกอยู่ก็ตาม สามารถยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาโทษใหม่ได้

อนึ่ง ในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ได้มีการให้เหตุผลไว้เป็นความว่า เนื่องจากบทบัญญัติที่มีอยู่เดิมนั้นใช้ปริมาณการถือครองยาเสพติดเป็นตัวตัดสินชี้ขาดว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาถึงพฤติการณ์หรือเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทำผิด และไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริงในคดี รวมทั้งสมควรแก้ไขบทลงโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนี้น่าสนใจมากเลยครับ เพราะจะมีผลต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีส่วนผสมของเมทแอมเฟตามีน หรือก็คือยาบ้า เนื่องจากอย่างที่เล่าไปหลายครั้งแล้วว่า กฎหมายยาเสพติดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่มีความยืดหยุ่นทั้งในแง่ของการพิจารณาการกระทำผิดและการพิจารณาโทษ เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่นั้นมีความเข้มงวดเด็ดขาด ไม่เปิดช่องให้พิจารณาถึงเจตนาและพฤติกรรมการกระทำผิดอย่างละเอียดลออ

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในครั้งนี้ เช่น ในมาตรา 15 วรรคสาม ที่เปลี่ยนจากคำว่า “ให้ถือว่า” เป็น “ให้สันนิษฐานว่า” การเปลี่ยนข้อความเพียงเล็กน้อยนี้ได้เปลี่ยนการ “ชี้ชัดทันที” มาเป็น “สงสัยไว้ก่อน” ซึ่งหมายความว่า ก็จะสามารถพิจารณาพฤติการณ์และเจตนาในการกระทำผิดได้ละเอียดขึ้น เช่น กรณีที่ผมมักยกตัวอย่าง ที่เป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนเล็กน้อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เสพเอง แต่ก็กลับโดนข้อหานำเข้าเพื่อจำหน่าย กลายเป็นโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต

หรืออย่างในมาตรา 65 ซึ่งเปลี่ยนจากการมีเพียงโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นมีโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีจนถึงตลอดชีวิต รวมทั้งในมาตรา 65 วรรคสอง ที่เดิมมีเพียงโทษประหารชีวิต ก็กลายเป็นเริ่มต้นที่การจำคุกตลอดชีวิต ตรงนี้ก็เป็นการทำให้การกำหนดโทษมีความยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อตัวผู้กระทำผิด ทั้งในแง่ที่จะได้รับโทษอย่างเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับพฤติการณ์และเจตนาในการกระทำผิด รวมทั้งก็จะถูกจองจำเป็นเวลาที่น้อยลง ซึ่งหากได้รับการเสริมด้วยมาตรการฟื้นฟูศักยภาพอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ ผู้กระทำผิดก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปรกติในสังคมได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้กระทำผิดเองและสังคมมากกว่ากฎหมายเดิมที่ใช้อยู่

และที่สำคัญ ยังมีการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังในคดียาเสพติดที่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่กำหนดใหม่ สามารถร้องขอให้ศาลกำหนดโทษใหม่ให้กับตน และเมื่อศาลกำหนดโทษใหม่แล้ว กรมราชทัณฑ์ต้องใช้โทษที่กำหนดใหม่ในภายหลังเป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้ต้องขัง จึงนับว่าเป็นการให้โอกาสพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในเบื้องต้น ภายใต้กฎหมายที่มีความยืดหยุ่นและเป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ ในฐานะที่ได้ติดตามเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้านี้ถือเป็นผลสำเร็จเบื้องต้นจากการที่โครงการกำลังใจ ในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม ได้พยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนยุติธรรมในด้านที่เกี่ยวกับยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ในช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งผู้มีอำนาจในบ้านเมืองได้ตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ด้อยโอกาส และนำไปสู่การเสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาเสร็จ ซึ่งคงใช้ระยะเวลาอีกอึดใจหนึ่ง

เหล่านี้เป็นเรื่องน่ายินดีต่อผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำที่ไม่ใช่ผู้ค้ารายใหญ่ ไม่ใช่องค์กรยาเสพติด ที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องได้ยินเสียงของคนเหล่านี้ และทำให้เกิดการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

อีกประเด็นที่น่าใส่ใจก็คือ จากข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ที่ได้บันทึกไว้ว่า เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ต้องขังทราบถึงผลของกฎหมายฉบับนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีของทุกหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่ากรมราชทัณฑ์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงาน ป.ป.ส. รวมทั้งหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งปวง ได้แก่ อัยการ ศาล ทนายความ ที่จะต้องพยายามร่วมมือกันและยื่นมือเข้ามาร่วมคืนความยุติธรรมแก่ผู้ต้องขังที่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์นี้ และก็คงน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง หากโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ จะช่วยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำเรื่องนี้ต่อไป เพื่อได้สานต่อสิ่งที่ทางโครงการได้ริเริ่มมาตั้งแต่แรก รวมทั้งช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายเรื่อง

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามไม่ส่งคนเข้าเรือนจำ เป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนล้นคุก ปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจที่สังคมมีต่อยาเสพติดและตัวผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างตรงจุด อยู่บนความรู้ความเข้าใจที่ได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์และหลักการแห่งเหตุผล และที่สำคัญที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นผู้สร้างความอยุติธรรมขึ้นมาเสียเองดังที่ผ่านมา