ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 3 : การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก? อาการไทยคล้ายประเทศที่รวยแล้ว แต่เรายังไม่รวย “แก่ก่อนรวย”(ตอนที่1)

เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 3 : การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก? อาการไทยคล้ายประเทศที่รวยแล้ว แต่เรายังไม่รวย “แก่ก่อนรวย”(ตอนที่1)

9 พฤศจิกายน 2017


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 3 “การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก?” มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย  ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด, ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ดร.นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย
บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ณ SEAC ชั้น 2

ดร.พิพัฒน์: ประเด็นเรื่องของการลงทุนได้รับความสนใจ หลายคนพูดถึงว่าการลงทุนไทยหายไปไหน น่าจะเป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 คือก่อนวิกฤติเราเป็นประเทศหนึงที่มีการลงทุนสูงที่สุดในโลก แต่หลังวิกฤติ ปัญหาแรกคือการลงทุนมันหายไป คำถามแรกที่จะชวนคุยกันคือว่าสถานการณ์การลงทุนไทยเป็นอย่างไร หน้าตามันเป็นอย่างไรในปัจจุบัน?

ดร.เศรษฐพุฒิ: ถือว่าปูพื้นข้อเท็จจริงก่อนว่าอย่างที่ทราบกันดีว่าการลงทุนเป็นเหมือนกับอะไรที่ไม่ค่อยฟื้นมานาน เพื่อให้เห็นบริบทว่าไม่ได้ฟื้นมานานขนาดไหน ถ้าเราดูเทียบกลับไปก่อนวิกฤติ ปัจจุบันเราเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ระดับการลงทุนที่แท้จริง คือหักเงินเฟ้อออกและรวมทั้งภาครัฐเอกชนทุกอย่าง ยังต่ำกว่าระดับการลงทุนก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตอนนี้ระดับการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 90% ของการลงทุนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งประเทศอื่นที่เจอวิกฤติมันก็แป้กกันหมด แต่ไต่กลับขึ้นมาได้สูงกว่าที่เคยเป็น มันเหมือนฟ้องว่าที่เรารู้สึกว่าทำไมประเทศไทยโตแบบแผ่วๆ เหมือนเครื่องยนต์เดินไม่ครบอะไรต่างๆ ส่วนหนึ่งเพราะเครื่องยนต์สำคัญตัวนี้ การลงทุนมันไม่ฟื้นกลับมาเสียที

ดร.พิพัฒน์: แล้วการลงทุนสำคัญอย่างไร?

ดร.เศรษฐพุฒิ: มันเป็นหัวใจเลย เอาง่ายๆ คือถ้าเราคิดถึงเศรษฐกิจ จีดีพีหรือผลผลิตมวลรวมของประเทศมาจากอะไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราผลิตได้เท่าไหร่ แล้วผลิตได้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับอะไร คือเรามีคนที่เป็นแรงงานเท่าไหร่และประสิทธิภาพของแรงงานที่มีอยู่มันเท่าไหร่ แต่ละคนผลิตได้เท่าไหร่ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเครื่องจักร มีเทคโนโลยีอะไรต่างๆ แค่ไหน ตัวนี้ที่ผ่านมาถ้ามันไม่โต การลงทุนไม่โต จะให้ประสิทธิภาพแรงงานต่างๆ เพิ่มก็ลำบาก แล้วถ้าประสิทธิภาพแรงงานเพิ่มไม่ค่อยได้ จะคาดหวังว่ารายได้ของคนโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างมีเสถียรภาพ ก็เป็นไปได้ลำบากเช่นกัน

ดร.พิพัฒน์: เหมือนเรามีเครื่องจักรแต่ไม่ซ่อมไม่สร้าง ไม่ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เครื่องจักรนี้ในอนาคตก็จะผลิต ผลผลิตได้น้อยลงไปเรื่อย

ดร.เศรษฐพุฒิ: หรือใช้เทคโนโลยีที่เก่า

ดร.พิพัฒน์: ดร.สมประวิณมีอะไรจะเสริมหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่เราเห็นเรื่องการลงทุนของไทยมันเป็นอย่างไร?

ดร.สมประวิณ: เห็นด้วยกับ ดร.เศรษฐพุฒิ คือว่าการลงทุนบ้านเราตอนนี้ไม่ได้เติบโตเท่าไหร่เทียบกับ 20 ปีที่แล้ว แต่ดูไส้ในองค์ประกอบ เปลี่ยนไปเหมือนกัน เพราะว่าก่อนวิกฤติปี 2540 การลงทุนที่เติบโตมากเป็นเรื่องของการก่อสร้าง คือมันมีการเก็งกำไร ฉะนั้น ก่อนหน้านั้นที่เราเห็นการลงทุนที่เติบโตปรากฏว่ามันก็ไม่ใช่การลงทุนที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตด้วยซ้ำไป มันเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดฟองสบู่ และพอเกิดวิกฤติหลังจากนั้นทุกวันนี้มันก็ไม่เกิดการลงทุน ดังนั้น วิธีแก้ไขคือไม่ใช่ผลักดันให้เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์อีกที นักเศรษฐศาสตร์จริงๆ ชอบการลงทุนที่เป็นเรื่องอุปกรณ์เครื่องจักร เพราะว่าเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้เป็นการสร้างผลผลิตขึ้นมา ตอนนี้เครื่องจักรมันเป็นองค์ประกอบที่ค่อนข้างใหญ่แล้ว ใหญ่กว่าการก่อสร้าง แต่ว่ามันก็ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่

“ถ้าจะย้อนขยายความไปอีก ผมคิดว่าจริงๆ แล้วบ้านเราไม่ได้ลงทุนมานานมาก ดีไม่ดีนานกว่า 20 ปีด้วยซ้ำไป แต่ว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศ นี่คือหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ 30-40 ปีที่ผ่านมา”

แผนพัฒนาเศรษฐกิจกลับไปย้อนดูพบว่าเรามี Eastern Seaboard เราต้องการนักลงทุนต่างชาติเข้ามา เพราะฉะนั้นการลงทุนที่เกิดขึ้นที่เป็นเครื่องจักรเครื่องไม้เครืองมือเกิดจากการขยายตลาดของบริษัทข้ามชาติแล้วก็ลงมาผลิตในประเทศไทย เขาก็มาพร้อมกับเครื่องจักรและขยายกำลังการผลิต เราก็ดูว่ามันมีการลงทุนแต่ปรากฏว่ามันก็ไม่ใช่ ช่วงก่อนวิกฤติเราก็ดูว่ามันมีการลงทุนแต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการเก็งกำไรอีก แล้วหลังวิกฤติประเทศไทยก็มีการส่งออกเยอะ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเยอะก็จริง แต่ว่าประเทศไทยไม่ได้มีความสุขกับความสามารถในการแข่งขันที่มาจากที่เราผลิตเก่ง แต่ว่าเรามีความสุขกับความสามารถในการแข่งขันที่มาจากราคาที่ถูก เพราะว่าเงินบาทมันเสื่อมค่าอย่างมหาศาล

เพราะฉะนั้น แน่นอนมันเป็นเหตุผลวนกลับมาว่า เราก็ไม่ได้เก่งจากการที่เราคิดเองได้ ผลิตได้ และลงทุน เราไปยืมคนอื่นมาและคนอื่นบอกว่าก็ใช้เมืองไทยเป็นฐานการผลิตฐานการลงทุนและส่งออกไป

ดร.พิพัฒน์: บอกได้ไหมว่าเราเหมือนเป็นประเทศรับจ้างผลิต

ดร.สมประวิณ: ก็คิดว่าบอกได้ค่อนข้างชัดเจนว่าเราเป็นประเทศที่รับจ้างผลิต เพราะว่าเราเปิดพื้นที่ การที่มีเงินลงทุนเข้ามามันมีข้อดี มีการสร้างงาน มีการสร้างให้ผลผลิตของประเทศเพิ่มขึ้น มีการสร้างรายได้ จะพบว่าคนในประเทศไทยมีรายได้เติบโตตามแผนพัฒนาที่ผ่านมา ผมคิดว่าในอดีตอาจจะไม่ได้ผิด แต่ทุกวันนี้อาจจะต้องคิดใหม่แล้วว่าจะใช้แผนการพัฒนาเหมือนเดิมในการพัฒนาขั้นต่อไปหรือไม่ ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่

เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 3 “การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก?”

ดร.พิพัฒน์: ในอดีตส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นที่ดึงดูดของการลงทุน มีค่าแรงงานที่ต่ำ แต่ภาพอาจจะเปลี่ยนไป ดร.สมประวิณกำลังจะบอกว่าถึงเมื่อก่อนดูเยอะแต่มันก็อาจจะไม่ได้เยอะในแง่ของคุณภาพ ส่วนหนึ่งมันมาจากการก่อสร้างด้วย ดร.นริศมีอะไรจะเสริม

ดร.นริศ: เห็นด้วยกับ ดร.สมประวิณ คือการลงทุนไทย 10 ปีที่ผ่านมาเน้นมาที่การก่อสร้างเมื่อเทียบกับการลงทุนเครื่องจักร การลงทุนเครื่องจักรถ้าดูย้อนกลับไปช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินแทบจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย เรียกว่าเป็นแค่บำรุงรักษาทำให้โรงงานเดินเครื่องต่อไปได้ แต่ไม่ได้ยกระดับสายพานการผลิตใหม่ ในเชิงการก่อสร้าง นโยบายรัฐเน้นมาอยู่แล้ว แต่อยากจะเรียนว่าในมุมของการลงทุน เรามองว่านอกจากน้อยแล้วยังบิดเบี้ยว คือต่างชาติมาลงทุนโดยตรง มาใช้เราเป็นฐานการผลิตส่งออก เราได้มูลค่าเพิ่มของการผลิตตามห่วงโซ่การผลิต แต่ว่าถามว่าสุดท้ายกำไรคืนกลับต่างชาติ ฉะนั้น value retention อยู่ที่เราหรือไม่ มันบิดเบี้ยวไปในเชิงที่ว่าเอื้อต่อการลงทุนแบบบริษัทใหญ่ หรือว่าถึงแม้เรามาดูยอดการลงทุน คร่าวๆ ง่ายๆ ว่าดูสินทรัพย์ถาวร (fixed assets) ของบริษัทจดทะเบียนทั้งประเทศไทย ตั้งแต่ใหญ่ยันเล็กเลย เทียบกันคนที่ถือสินทรัพย์ถาวรทั้งประเทศ ถ้าทั้งประเทศมี 100 บริษัท 10 บริษัทแรกที่ใหญ่สุดถือการลงทุนสินทรัพย์ 80% มันไม่เท่าเทียมกัน มันอยู่ในมือของบริษัทรายใหญ่ๆ ของต่างชาติ

ดร.พิพัฒน์: อันนี้อยู่บนฐานของการเข้าถึงบริษัทใหญ่มีทุนเยอะ เลยสามารถลงทุนได้มากหรือไม่?

ดร.เศรษฐพุฒิ: ขอเสริมว่าตอนนี้เหมือนเรากำลังจะบอกว่าเราไม่ควรรับการลงทุนต่างประเทศ ผมว่าคิดแบบนี้ผิดเลย เพราะเราต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ มันหนีไม่พ้นว่าต้องมาจากต่างประเทศ การที่เราจะต้องดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI เป็นโจทย์สำคัญของประเทศและยังเป็นอยู่ ถ้าดูต่อเนื่องจริงๆ ที่น่าเป็นห่วงคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเราหายไป เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดเรื่อง FDI ถามว่าดีหรือไม่ ผมว่ามันไม่ดี อันที่ 2 ที่เห็นคือหน้าตามันก็เปลี่ยนด้วย จากเดิมที่ลงทุนพวกอุตสาหกรรมอะไรต่างๆ จะกลายเป็นภาคบริการมากขึ้น หลักๆ จะเป็นพวกเข้าควบรวมหรือซื้อกิจการ บางปีที่ดูดีกลายเป็นเรื่อง M&A อย่างญี่ปุ่นมาซื้อธนาคารมันก็เห็นตัวเลขปูดขึ้นมา ตัวนี้มันสะท้อนว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของเรามันลดลง แต่ถึงอย่างไร FDI ก็สำคัญ

ผมกลัวเท่านั้นว่ากระแสมันยิ่งมีว่าต้องป้องกันจากต่างชาติ ผมเห็นด้วยว่าบ้านเรามีปัญหาของความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก เพราะว่าการถือครองสินทรัพย์อะไรต่างๆ มันกระจุกตัวมากในกลุ่มน้อยๆ แต่ถามว่าคำตอบคือปิดไม่ให้ต่างชาติเข้ามาหรือไม่ แบบนั้นมันจะยิ่งอยู่กับกลุ่มที่เป็นรายใหญ่ๆ ของไทยไม่กี่ราย แบบนั้นยิ่งไม่ดีใหญ่เลย ผมว่าโจทย์สำคัญอันหนึ่งคือทำอย่างไรให้ตลาดมันมีการแข่งขันมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อจะทำให้มั่นใจว่าเราแข่งขันกับโลกได้ มีเทคโนโลยีใหม่ และส่งผลประโยชน์กับหลายเรื่อง แรงงาน ผู้บริโภคอะไรต่างๆ แค่จะบอกว่าไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการ FDI

ดร.พิพัฒน์: เราเริ่มเห็นคนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากเลย มันกำลังจะบอกอะไรเราบ้าง

ดร.เศรษฐพุฒิ: น่าสนใจมากเลยว่าเราตอนนี้ออกไปต่างประเทศ หรือ TDI สูงกว่า FDI ถามว่าที่อื่นเป็นแบบนี้หรือไม่ เป็น แต่ปกติมันจะเป็นตอนสายกว่านี้ เป็นตอนที่เจริญแล้วรวยแล้ว ไต้หวัน ญี่ปุ่น จะเป็นแบบนั้น ของเราดันเป็นเร็ว ซึ่งผมว่ามันสะท้อนว่าโอกาสในการลงทุนบ้านเรา ผลตอบแทนบ้านเรา สู้ต่างประเทศไม่ค่อยได้ บางทีก็ไปเห็นอย่างบริษัทรายหนึ่งนั่งดูเรื่องลงทุนในประเทศไทย นั่งดูในกระดาน IRR 10% ไปลงทุนต่างประเทศ เมียนมาร์อะไร IRR มาแบบ 40-50% ไม่ต้องคิดก็ไปต่างประเทศ ผมว่าตรงนี้เป็นที่มาอันหนึ่งว่าทำไมคนไทยถึงเริ่มไปลงทุนต่างประเทศ

แต่สิ่งหนึ่งที่มันต่างออกมานิดหนึ่ง ถามว่ามันดีหรือไม่ ผมไม่เถียงว่ามันดี ไปลงทุนต่างประเทศคุณก็ได้เงินกลับมา แต่ที่เป็นห่วงเป็นคำถามข้อหนึ่งเพราะภาพยังไม่ค่อยชัดเจน คือลักษณะที่เราไปลงทุนต่างประเทศมันไม่เหมือนกับที่อื่น ถ้าดูอย่างญี่ปุ่น ไต้หวันไปลงทุนเหมือนกันมีห่วงโซ่มูลค่าของมัน เขาจะเก็บที่เป็นหัวกะทิเอาไว้ ของที่มูลค่าต่ำกว่าพวกประกอบชิ้นส่วนอะไรจะแยกไปที่ถูกๆ ของเรามันไม่ใช่แบบนั้น ของเราแค่ไปขายของ มันคนละแบบ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด

ดร.พิพัฒน์: ผมคิดว่าน่าจะมี 2 เป้าหมายใหญ่ๆ อันแรกไปหาที่ผลิตหาทรัพยากรที่ต้นทุนต่ำกว่า อันที่สองไปหาตลาด ซึ่งแนวโน้มดูเหมือนจะเปลี่ยนไป การสำรวจของ SET ที่ทำบอกว่าการลงทุนหายไปแต่บริษัทจดทะเบียนไทยยังลงทุนอยู่ แค่ไม่ลงทุนในไทย แล้วจากการลองสังเกต ดูเหมือนญี่ปุ่นที่ออกมาปี 1993-1994 และผลประการหนึ่งคือ GNP โตกว่า GDP แต่เมืองไทยกลับกัน 20 ปีที่ผ่านมา GNP ต่ำกว่า GDP เพราะมีเข้ามาสร้างกิจกรรมในประเทศ แต่เจ้าของไม่ใช่คนไทย แต่อาจจะเหมือนที่ ดร.เศรษฐพุฒิเรียนว่าคงไม่ต้องสนใจว่าใครเป็นเจ้าของแต่ขอให้มีการลงทุนหรือเปล่า

ดร.สมประวิณ: ขอเชื่อมโยงประเด็นที่พูดถึงเรื่อง FDI แต่ก่อนมาเพราะว่าเรามีต้นทุนการผลิตที่ถูก เห็นด้วย และตอนนี้โลกเปลี่ยน พอมาเชื่อมโยงกับที่ ดร.เศรษฐพุฒิพูด โจทย์ใหม่คือเราต้องการ FDI แต่ว่ามันไม่ใช่ FDI ประเภทเดิม ทุกวันนี้มองไปในอนาคตของประเทศเราพบว่าต้นทุนการผลิตทางด้านแรงงานเพิ่มขึ้น แล้วสังคมผู้สูงอายุมา เราไม่มีคนผลิตด้วยซ้ำไป ที่สำคัญมองไปรอบๆ ปรากฏว่าแรงงานเยอะมาก โจทย์ใหม่ที่เราต้องคิดไม่ใช่เป็นการดึงดูด FDI ประเภทเดิม แต่จะเป็นอะไรที่มัน Complement ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

สิ่งที่ทำอยู่ก็มาถูกทางคือว่าไปตั้งเป้าหมายของสิ่งที่ไฮเทค มี R&D แต่สิ่งที่ลืมไปอีกประการคือผมคิดว่าจะต้องมองด้วยว่า FDI ที่เน้นการผลิตจากแรงงานจะไปรอบๆ แต่ยังมีอะไรบางอย่างมันขาดไปในการ Complement ระหว่างการใช้แรงงานเยอะกับการไปเป็นการใช้เทคโนโลยีเยอะ พวกภาคบริการยังเป็นสิ่งที่ต้องการ ผมคิดว่าทิศทางก็แบบนี้แล้วนักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญในฐานะที่จะสนับสนุนการบริการในภูมิภาคและเชื่อมโยงภูมิภาคค่อนข้างมากพอสมควร ฉะนั้น อาจจะเป็นโจทย์ว่ามีอะไรที่มันไปด้วยกันได้ระหว่างอนาคตของประเทศไทยและอนาคตของภูมิภาคที่เกิดขึ้น และภาพที่จะเห็น FDI ก็จะชัดเจนขึ้น

ดร.พิพัฒน์: ดร.นริศจับเรื่องเอสเอ็มอี รู้สึกทำค่อนข้างเยอะ ภาพการลงทุนเป็นอย่างไร?

ดร.นริศ: จริงๆ ต้องว่าน่าเป็นห่วง ผมเห็นด้วยกับ ดร.เศรษฐพุฒิว่าจริงๆ แล้วเม็ดเงินก้อนใหญ่จากต่างชาติ เราต้องการการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างชาติ แต่ว่าในท้ายที่สุดเราต้องตระหนักว่าเอสเอ็มอีมัน 40% ของเศรษฐกิจไทย จ้างงาน 55% ของแรงงานไทย หรือ 20 กว่าล้านคนมาอยู่ที่เอสเอ็มอี ดังนั้น ถ้าอยากจะเห็นการกระจายตัวการเติบโตที่มันไปถึงภูมิภาค ผมคิดว่าให้เท่าเทียมคงไม่เท่าเทียม แต่ควรจะมีการเน้นความช่วยเหลือให้การลงทุนของเอสเอ็มอีหรือรายเล็กมีมาได้บ้าง

คืออยากเรียนว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 โตได้ 3.7% คุยกันว่าโอเค เศรษฐกิจโตดีแต่คนบอกว่าไม่รู้สึก แล้วบอกว่าส่งออกโตดี ถ้าเรามาดูส่งออกที่โตดีมันเป็นบริษัทใหญ่ๆ 90% ของมูลค่าการส่งออก แล้ว 2 ใน 3 เป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราด้วย แต่ต้องเรียนว่าเหลืออีก 10% ของการส่งออกที่มาจากเอสเอ็มอี ซึ่งมันน้อยมาก คือตอนนี้ไม่ต้องไปโจทย์ยาก พูดว่าเอสเอ็มอีจะต้องป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน ซื้อออปชัน พูดง่ายๆ ว่าทำให้เอสเอ็มอีส่งออกให้มาอยู่ในห่วงโซ่การผลิตโลกได้มันเป็นโจทย์ที่คิดว่าสำคัญ แล้วถ้าเอสเอ็มอีไม่ลงทุน เอสเอ็มอีไทยไม่มีวันที่จะไปถึงตรงนั้น

ดร.พิพัฒน์: อีกสัญญาณที่เห็นและน่าสนใจคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหลังๆ เกินเยอะขึ้นเรื่อยๆ อาการนี้มองด้านหนึ่งคือเราเก่ง เราส่งออกเรานำเข้าได้ดี แต่มองอีกด้านหนึ่งมันเป็นอาการว่าเงินออมภายในประเทศเยอะกว่าการลงทุน คิดว่าเป็นอาการหรือไม่ว่า โอกาสของบริษัทในเมืองไทยใหญ่กว่าหรือโตเร็วกว่าโอกาสการลงทุนในประเทศหรือไม่?

ดร.เศรษฐพุฒิ: โดยปริยายการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะขนาดนี้เพราะเราออมและไม่ยอมลงทุน ถามว่าการออมอยู่ที่ไหนมันก็อยู่ที่ภาคเอกชน เพราะว่าภาครัฐยังขาดดุลงบประมาณมา แต่ถ้าดูอีกว่าบริษัทไทยนั้นประการแรกที่เห็นคือยังลงทุนแต่ลงทุนต่างประเทศ ประการที่สองที่เห็นคือบริษัทไทย อย่างน้อยบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังสร้างเงินสดได้เยอะ กำไรสูง และไม่ลงทุน แล้วทำอะไร ก็จ่ายปันผล เราเป็นประเทศที่แบบ dividend payout ratio สูง มันสะท้อนเหมือนกับว่าเป็นประเทศที่เหมือนกับ cash cow เหมือนตลาดหุ้นก็เป็นตลาดหุ้นที่แบบจ่ายเงินปันผล ไม่ใช่ตลาดหุ้นที่มี growth story ไม่ใช่วัยรุ่น เข้าสู่วัยกลางคนที่เร็ว เร็วกว่าที่อื่นมาก

จริงๆ บ้านเรามีลักษณะอะไรที่คล้ายๆ กับประเทศที่พัฒนาแล้วเยอะมากและแปลก เงินเฟ้อต่ำ ไปลงทุนต่างประเทศ เกินดุลบัญชีเดินสะพัด แรงงานก็หดตัว หลายอย่างที่คล้ายกับประเทศที่รวยแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเรายังไม่รวย แก่ก่อนรวย

ดร.นริศ: อยากจะเรียนเสริม ดร.เศรษฐพุฒิว่า TDI ที่ไปลงทุนต่างชาติลงทุนแบบเจ้าสัว คือไปซื้อสินทรัพย์เยอะ ไม่ใช่ซื้อเพื่อการผลิตทั้งหมด เพราะสินทรัพย์มูลค่ามันถูกลง มัน devalue ในยุโรปในอังกฤษ เราจะพบว่า TDI ไปเยอะ ไปเพื่อซื้อสินทรัพย์หรือว่าทีมฟุตบอล เราไม่อยากนับแต่ก็ถูกนับในการลงทุนอยู่ดี แบบนี้ส่วนหนึ่งมันไม่ได้เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตหรือเพิ่มการถ่ายทอด Know-How ใดๆ ซึ่งตรงนี้มันเป็นการออมในไทยไป finance การลงทุนในต่างประเทศ โดยที่การลงทุนในต่างประเทศเป็นการลงทุนที่วางสินทรัพย์ไว้เพื่อรอให้ราคาเพิ่ม มันสร้างคำถามว่าการออมไทยในระยะยาวควรจะทำแบบนี้หรือไม่

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด

ดร.พิพัฒน์: อาจจะเป็นว่าการลงทุนในไทยไม่มีทางเลือกเลยต้องออกไป แต่ส่วนหนึ่งคือการลงทุนในเขตประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งขยายฐานการผลิต ตลาดด้วย

ดร.นริศ: คือใน CLMV เพื่อขยายฐานการผลิตอันนี้ค่อนข้างชัด คือไปหาทั้งตลาดและหาทั้งแรงงาน ทรัพยากร ทั้ง 2 ประเด็นพร้อมๆ กัน เพียงแต่ว่าเม็ดเงินที่ไปลงทุนจริงๆ มันยังเป็นอุตสาหกรรมซ้ำๆ ที่เราทำ เรายังใช้สูตรสำเร็จเก่าๆ อย่างเซกเตอร์ที่แข็งแรงมาในการลงทุนจะเป็นอาหาร สิ่งทอ คือไปทำซ้ำในสิ่งที่ทำได้ดีมาแล้ว 30 ปี ซึ่งสูตรสำเร็จ 30 ปีที่แล้วจากการมี Eastern Seaboard เข้ามา ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ เทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ มันเกิดคำถามว่าสิ่งที่เราไปลงทุนยังสอดคล้องกับห่วงโซ่การผลิตของโลก ตอนนี้คนคงไม่ได้บริโภคฮาร์ดดิกส์เพิ่ม แล้วอย่างเราไปลงทุนเราก็ไม่ได้ไปลงทุนโรงงานอะไรที่มันเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือนเป็นการลงทุนเพื่อเป็นห่วงโซ่ของตลาด เรายังมองเขาเป็นตลาดอยู่ เราไม่มองเขาเป็นเป็นตัว scale up

ดร.พิพัฒน์: ส่วนหนึ่งเพราะว่าเราชินกับอุตสาหกรรมพวกนี้และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมพวกนี้ เราเลยยกโรงงานข้ามไปต่างประเทศ

ดร.สมประวิณ: ได้พูดถึงการเกิดของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเรามีจุดแข็งค่อนข้างเยอะ แต่จะขยายความว่าอุตสาหกรรมรถยนต์บ้านเรามีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมนี้สร้างการจ้างงานและการผลิตเยอะ แต่พอไปดูไส้ในจะพบว่าการจะประกอบรถขึ้นมา 1 คัน ปรากฏว่าองค์ประกอบหลักยังคงเป็นบริษัทข้ามชาติและบริษัทระดับต้นๆ บริษัทไทยถึงแม้จะออกมาเยอะก็จะเป็นบริษัทรองๆ ลงมา ผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนที่ไม่ใช่ของดั้งเดิม เอาไว้สำหรับรถเก่าที่ไม่อยากเข้าศูนย์เป็นอะไหล่เทียบ มันก็เลยกลับมาว่าการลงทุนผมคิดว่าถึงจุดอิ่มตัว สำหรับที่จะตอบสนองตลาดอะไรแบบนี้ การที่เราจะไปเปิดไปลงทุนก็ต้องเป็นการสร้างนวัตกรรม สร้างตลาดใหม่ เปิดสินค้าใหม่

ถามว่าเราทำได้หรือไม่ ทุกวันนี้เรายังทำไม่ได้ เพราะเราไม่คุ้นชินกับการแข่งขันด้วยการสร้างนวัตกรรม บ้านเราอาจจะคุ้นชินกับการแข่งขันด้วยการได้มาซึ่งอำนาจตลาด ไม่แน่ใจ แต่ถามว่าเพราะอะไร ผมมองไปที่สถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศ บ้านเราหลายคนก็รู้สึกว่าถ้าผลิตของออกมาอย่างหนึ่งและมีคนมาเหมาซื้อไปเยอะๆ นานๆ ได้ก็น่าจะดี มันเป็นความคิดที่คือการผูกขาด เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ ทุกคนคิดสินค้าได้ แทนที่จะมองหานวัตกรรมและลงทุนใหม่ ทุกคนมองหาอำนาจตลาดแทน ถ้าเรามองธุรกิจมีทั้งรายรับและรายจ่ายอันนี้ต้องตรวจสอบดูว่ารายจ่ายไม่ได้เอาไปลงทุนแล้วเอาไปทำอะไร อาจจะเอาไปหาอำนาจตลาดก็ได้

พอเป็นแบบนี้จะให้ทำอย่างไร ผมคิดว่ามันคือโครงสร้างทางเศรษฐกิจว่ามันเอื้อให้คนแข่งขันได้หรือไม่ ถ้าเราลงทุนแล้ว สร้าง R&D แต่สุดท้ายผมขายไม่ได้เพราะอีกคนผูกขาดไว้แล้ว ผมก็ไม่ลงทุน ผมเอาเงินมาหาอำนาจผูกขาดจะดีกว่า ฉะนั้น ถ้ายกขึ้นในระดับสูงขึ้น ในระดับประเทศ มันมีอะไรที่บิดเบี้ยวอยู่ มันไม่ให้แรงจูงใจที่ถูกต้องสำหรับนักลงทุน ถ้ากติกาของคนในภาคธุรกิจ ผมคิดว่าคนในภาคธุรกิจเขาฉลาด เขารู้ว่าตรงไหนคือกฎกติกาของเกมแล้วถ้ากติกาออกแบบให้เป็นแบบนี้ ผลมันก็เห็นเป็นแบบนี้ แล้วการลงทุนมันก็ยังไม่เกิด

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ดร.พิพัฒน์: ประเด็นคือการแข่งขันต้องเปิดให้ทุกคนสู้กันได้

ดร.เศรษฐพุฒิ: ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า level playing field ผมว่าสำคัญ to be fair นะ ปัญหานี้ไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศไทย มันเป็นปัญหาของเศรษฐกิจของเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ หน้าตาเป็นแบบนี้หมด คือถ้าเราดูบริษัทที่เป็นตัวใหญ่ๆ หรือบุคคลหรือครอบครัวที่อยู่ในระดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศกลุ่มนี้ จะเห็นส่วนมากคือธนาคาร อสังหาริมทรัยพ์ โทรคมนาคม คือเป็นธุรกิจแบบที่ไม่ต้องแข่งขันกับโลก non-tradable ใช้สัมปทาน หรืออย่างอินโดนีเซียยังอยู่กับพวกยาสูบต่างๆ เป็นภาพที่เห็นเป็นแบบนี้หมด แต่ต่างกันกับญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ พวกนั้นทำสินค้า Tradable จริงๆ บริษัทรถยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ ผลิตอะไรที่แข่งขันกับโลก

เลยต้องกลับมาว่าบางทีนักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ บอกว่าประเทศน่าจะลงทุนแบบนั้นแบบนี้ คือถามจริงๆ ว่านักเศรษฐศาสตร์ฉลาดกว่านักธุรกิจหรือไม่ คำตอบคือไม่

ถ้าเขาลงทุนแบบนี้มันต้องมีเหตุผล ซึ่งเหตุผลคืออย่างที่ว่าออกแรงลงทุน ทำของที่มีนวัตกรรม เสี่ยงก็เสี่ยง ถ้าทำออกมาสำเร็จ เดี๋ยวโดนของปลอมอะไรไม่รู้อีก เทียบกับซื้ออำนาจตลาดมันแน่นอนกว่าปลอดภัยกว่าอาศัยพวกนี้ ผมว่าเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ยังเป็นแบบนี้เยอะไม่ได้เฉพาะไทย พูดแบบเป็นกลางนะ ถามว่าเป็นปัญหาหรือไม่ ก็เป็น

แล้วจะทำอย่างไรให้ให้การแข่งขันมันดีขึ้นหรือเกิดขึ้น มันโยงกับคำถามว่าการลงทุนมันหายไปไหน ถ้าเราดูอีกอันข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยมันดูเหมือนมันน่าจะมีการลงทุน ดอกเบี้ยก็ต่ำ งบดุลบริษัทแข่งแรงดีมาก หนี้สินต่อทุนต่อ ธนาคารอยากแข่งปล่อยสินเชื่อ ค่าเงินแข็ง มันดูเหมือนประเทศนี้น่าลงทุน แต่การที่มันไม่มีการลงทุนมันสะท้อนว่ามันต้องมีปัญหาอื่นๆ ที่ไม่ใช่จากประเด็นตัวเลขมหภาค แต่เป็นพวกประเด็นเชิงสถาบันอื่นๆ กฎกติกา หลักนิติธรรมต่างๆ

ดร.พิพัฒน์: คำถามนี้น่าสนใจว่าการลงทุนมันหายไปได้อย่างไร ดอกเบี้ยต่ำ โอกาสเติบโตก็มี ยังรายได้ปานกลางยังไปรายได้สูง ผลตอบแทนก็น่าจะมีอยู่ ทำไมไม่ลงทุน อันแรกคือยกไปเรื่องสถาบันเลย แล้วยังมีประเด็นอื่นหรือไม่?

ดร.สมประวิณ: เป็นคำถามที่ดีมากเพราะว่าเรามองภาพเศรษฐกิจมหภาคมันดูดีมากเลย ผมเคยเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬา เด็กสมัยนี้ 100 คนถามว่าอยากเป็นอะไร ทุกคนอยาก startup อยากเป็นเจ้าของกิจการและการเป็นเจ้าของกิจการแน่นอนว่าต้องลงทุน มันต้องมีเงินทุนบางส่วน ในระดับนี้พ่อแม่อาจจะมีคือเป็นชนชั้นกลางมากขึ้นแล้ว แต่คำถามที่เกิดขึ้นต่อไปคือถ้าอยากลงทุนจะเริ่มอย่างไร เขามาถามผม ผมก็ให้คำตอบไม่ได้ วันนี้ลองคิดดูว่าผู้ประกอบการหน้าใหม่อยากจะไปจดทะเบียนบริษัท ต้องมีคนดูเรื่องบัญชีเรื่องกฎหมาย กระบวนการเหล่านี้มหาศาล ในเมื่ออย่างแรกของการเข้าสู่ตลาดทำไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร เข้าไปหาหน่วยงานหนึ่งก็บอกให้ไปอีกหน่วยงาน วนไปวนมากลับมาหาหน่วยงานเดิม ท้ายที่สุดการลงทุนมันไม่เกิด เพราะว่าเปิดประตูเข้าไปก็เข้าไม่ได้แล้ว

ผมคิดว่า Ease of Doing business สำคัญพอสมควร กระบวนการอย่างไรนอกจากเรื่องการแข่งขันที่เท่าเทียมแล้ว การเปิดประตูให้ทุกคนเข้าได้มันสำคัญเหมือนกัน อย่างลืมว่าการลงทุนใหม่มันเกิดได้เหมือนกันกับคนหน้าใหม่ ฉะนั้นเรายังไม่เอื้อหรือไม่จะไปดูตัวชี้วัดอะไรก็ได้ มันเป็นกลไกหนึ่งที่ขัดขวางไม่ให้เกิดการลงทุนใหม่อยู่พอสมควร

ดร.พิพัฒน์: ขั้นตอนที่เยอะแยะไปหมดทำให้การลงทุนเกิดยาก

ดร.นริศ: อยากจะขอเสริมมองในมุมมองของเอสเอ็มอี อย่างที่บอกว่าจะตั้งบริษัทเรามีไอเดียมีนวัตกรรม รู้อยู่ในใจ ผมว่าเมืองไทยเริ่มต้องเข้าใจก่อนว่าเอสเอ็มอีแบบดั้งเดิมมันต่างจาก startup คือตอนนี้ผมว่าความเข้าใจมันยังไม่ชัดเจน คือไปรวมเข้าด้วยกัน คิดว่า 2 ประเภทนี้ต้องการอะไรเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าถ้าไปผู้ประกอบการที่เป็น 2 ทางมันแยกจากกันโดยสิ้นเชิง startup เป็น Technology-Idea-Innovation based เขาไม่มีสินทรัพย์ถาวร ไม่มีที่ดินมีอะไร แต่เอสเอ็มอีดั้งเดิมคือผลิตเพื่อบริการ เพื่อขายของ มันต้องมีโรงงาน ถ้ามีสินทรัพย์ถาวรระดับหนึ่ง แล้วความต้องการและโมเดลการเติบโตจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง startup เขามีไอเดีย เขาไม่มีสินทรัพย์ถาวร ซึ่งเขาไม่แคร์ด้วย แต่ที่เขาต้องการไม่ได้ต้องการโตผ่านสินเชื่อจากธนาคารและธนาคารก็ไม่อยากให้ มันไม่ใช่ช่องทางระดมทุนที่เหมาะ มันควรจะเป็น equity financing ในขณะที่เอสเอ็มอีดั้งเดิมยังต้องใช้สินเชื่อจากธนาคาร

ตรงนี้ระบบธนาคารไทยต้องเรียนว่าต้องพัฒนา ไม่ใช่เป็นเฉพาะการใช้สินเชือบนหลักทรัพย์ค้ำประกัน ปัจจุบันสำหรับเอสเอ็มอีคือ 100% ถ้าไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกันคุณแทบจะไม่ได้สินเชื่อ ถึงแม้จะมี บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) รับประกันแทนให้วงเงินขึ้นมา 2-3 เท่า แต่ประเด็นตรงนี้ธนาคารก็ยังไปเรียกจะ บสย. ได้จำกัด ผมคิดว่าตรงนี้ต้องแยกโจทย์ให้ชัดเจนที่ขาดไปคือธนาคารเรื่องการเข้าถึงเอสเอ็มอี ให้สินเชื่อ เป็นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องที่ขาดคือ private equity ของ startup เรายังขาดตลาดมาตรฐานที่จะจับคู่ผู้ประกอบการกับนักลงทุน ตรงนี้ถ้าได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

ดร.นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics)

ดร.พิพัฒน์: คือต้องมีรูปแบบการระดมทุนที่หลากหลายเหมาะสมกับแต่ละระยะของบริษัท แต่เป็นหน้าที่ของรัฐหรือไม่ต้องเถียงกันทีหลัง

ดร.นริศ: อีกเรื่องนอกจากเรื่องขั้นตอนคือกฎหมายและการกำกับดูแล การที่มี regulatory guillotine กำจัดกฎหมายที่ล้าหลัง เป็นอะไรที่เพื่อการก้าวไปข้างหน้าต้องขอชื่นชมรัฐบาลที่ทำให้กลับขึ้นมาได้ แต่ลองถามคำถามกลับว่าดิจิทัลขนาดไหน ดีขนาดไหน แต่ทุกธุรกิจยังใช้เช็คกระดาษ ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและระบบธนาคารพาณิชย์มีระบบถ่ายเช็คแล้ว ทำไมเราต้องใช้คนมาส่งเช็คกระดาษ เป็นคำถามว่าเราไปถึงตรงนั้นจริงๆ หรือไม่

สนับสนุนเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 3 โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร