ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้นโยบายย้ายถิ่นข้ามชาติภูมิภาคอาเซียนไม่เหมาะสม ขาดโอกาสได้แรงงานทักษะดี

ธนาคารโลกชี้นโยบายย้ายถิ่นข้ามชาติภูมิภาคอาเซียนไม่เหมาะสม ขาดโอกาสได้แรงงานทักษะดี

9 ตุลาคม 2017


อาเซียนต้องบริหารจัดการด้านแรงงานย้ายถิ่นให้ดีขึ้น พร้อมปรับนโยบายและหน่วยงานด้านการย้ายถิ่นให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาค ทั้งทางเศรษฐกิจและโครงสร้างของประชากร เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศผู้รับและผู้ส่งแรงงาน พร้อมจูงใจแรงงานข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพแต่ยากจนและด้อยโอกาส

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทวีปหนึ่งที่ประชากรมีการย้ายถิ่นข้ามประเทศมากที่สุดในโลก โดยการเคลื่อนย้ายประชากรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ขณะที่การเคลื่อนย้ายประชากรในทวีปอื่นๆ ลดลง โดยในปี พ.ศ. 2558 มีเงินส่งกลับประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นจำนวนถึง 62,000 ล้านบาท มูลค่าเงินส่งกลับประเทศต่อจีดีพีของฟิลิปปินส์คิดเป็นร้อยละ 10 เวียดนามคิดเป็นร้อยละ 7 เมียนมาคิดเป็นร้อยละ 5 และกัมพูชาคิดเป็นร้อยละ 3

รายงานจากธนาคารโลก เล่มล่าสุด การเคลื่อนย้ายสู่โอกาส การก้าวข้ามอุปสรรคของการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Migrating to Opportunity: Overcoming Barriers to Labor Mobility in Southeast Asia) ระบุว่า การย้ายถิ่นภายในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระหว่างปี พ.ศ. 2538-2558 ส่งผลให้มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย กลายเป็นศูนย์กลางของแรงงานย้ายถิ่นกว่า 6.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของจำนวนแรงงานย้ายถิ่นทั้งหมดในอาเซียน

ประเทศไทยมีสัดส่วนแรงงานย้ายถิ่นสูงถึง 55% ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเมียนมาและกัมพูชา ขณะที่มาเลเซียมีสัดส่วนแรงงานย้ายถิ่น 22% และสิงคโปร์มีสัดส่วนแรงงานย้ายถิ่น 19% ทั้งนี้ ประเทศไทยและมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานจำนวนมาก

รูปแบบการเคลื่อนย้ายของแรงงานมีความซับซ้อน โดยประเทศผู้ส่งแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่อาเซียน คือ เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา ขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามกลับส่งแรงงานออกนอกกลุ่มประเทศอาเซียน

แรงงานข้ามชาติจากกัมพูชา ลาว และ เมียนมา ที่เข้าประเทศไทยมาทำงานด้านเกษตรกรรม งานบ้าน งานก่อสร้าง และงานในภาคอุตสาหกรรม ส่วนแรงงานข้ามชาติจากอินโดนีเซียเข้าประเทศมาเลเซียไปทำงานเกษตรกรรมและงานบ้าน ในขณะที่แรงงานมาเลเซียจำนวนมากไปทำงานที่สิงคโปร์และเดินทางไปกลับทุกวันผ่านช่องแคบยะโฮร์

การอพยพประชากรในภูมิภาคนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเริ่มต้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผู้ประกอบวิชาชีพและแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีภายในภูมิภาค

การเคลื่อนย้ายประชากรเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความหลากหลายภายในภูมิภาค และปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำภายในภูมิภาคของอาเซียนอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคนี้รวยกว่าประเทศที่ยากจนที่สุดมากถึง 25 เท่า และอายุมัธยฐานของประเทศที่อายุมากที่สุดนั้นสูงกว่าประเทศที่อายุน้อยที่สุดมากเกือบถึง 2 เท่า

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศเริ่มประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนแล้ว ในขณะที่บางประเทศประสบปัญหามีงานไม่เพียงพอที่จะรองรับประชากรในวัยทำงานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น สิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยและเวียดนามจะประสบปัญหาแรงงานลดลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศไทย ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ คาดว่าจะมีแรงงานเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า โดยความไม่สอดคล้องกันระหว่างอุปสงค์และอุปทานของแรงงานจะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้แรงงานมีการเคลื่อนย้ายภายในภูมิภาค เนื่องจากแรงงานได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอย่างมากหากอพยพไปทำงานในต่างประเทศ โดยระดับค่าแรงในประเทศรายได้สูงอย่างสิงคโปร์สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนอย่างน้อย 5 เท่า แรงงานกัมพูชาจะได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าหากย้ายไปทำงานในประเทศไทย

แรงงานย้ายถิ่นในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะต่ำและการศึกษาไม่สูง โดยเฉพาะจากประเทศผู้ส่งแรงงาน ซึ่งแรงงานที่การศึกษาไม่สูงนี้จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยในสัดส่วนสูงที่สุด

แรงงานย้ายถิ่นในอาเซียนที่ทักษะต่ำและมักไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียน ได้ย้ายถิ่นฐานเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรม การเพาะปลูก และบริการในครัวเรือน ถึงแม้จะยังมีงานที่มีรายได้สูง แต่แรงงานมักไม่สามารถได้รับประโยชน์จากโอกาสที่ยังมีอยู่นี้ได้ แม้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้เริ่มขั้นตอนอำนวยการเคลื่อนย้ายแรงงานแล้วก็ตาม แต่กฎข้อบังคับยังคงครอบคลุมแค่กลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมกันแค่ร้อยละ 5 ของจำนวนงานที่มีทั้งหมดในภูมิภาคนี้

ลดข้อจำกัดการย้ายถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจเติบโต

รายงานการเคลื่อนย้ายไปสู่โอกาสแสดงให้เห็นว่ายังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่จะเกิดกับแรงงานข้ามชาติและครอบครัว รวมถึงประเทศผู้รับและผู้ส่งแรงงานข้ามชาติด้วย แต่ในภูมิภาคอาเซียนยังมีนโยบายด้านการย้ายถิ่นข้ามชาติที่ไม่เหมาะสม และองค์กรที่บริหารจัดการอย่างขาดประสิทธิภาพทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านั้นได้ ปัญหาเกิดจากครัวเรือนยากจนเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก การขาดข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการทำงาน ค่าใช้จ่ายในการจ้างงานสูง โดยสาเหตุหลักมาจากนโยบายด้านการย้ายถิ่นข้ามประเทศที่ไม่เปิดกว้าง และระบบบริหารจัดการการย้ายถิ่นที่ไม่มีประสิทธิภาพ ข้อจำกัดเหล่านี้ส่งผลให้แรงงานที่มีศักยภาพแต่ยากจนและด้อยโอกาสไม่สามารถย้ายถิ่นข้ามประเทศได้ ทำให้แรงงานบางส่วนต้องใช้ช่องทางนอกระบบที่มีความเสี่ยงสูงแทนการย้ายถิ่นอย่างถูกต้องตามระบบซึ่งปลอดภัยกว่า

การลดข้อจำกัดในการย้ายถิ่นของแรงงานจะช่วยให้แรงงานมีสวัสดิการดีขึ้น และช่วยเร่งการรวมภาคเศรษฐกิจในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย

ดร.ชูเดียร์ แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า “หากเลือกนโยบายที่ถูกต้องแล้ว ประเทศผู้ส่งออกแรงงานสามารถได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแรงงานที่ย้ายไปทำงานนอกประเทศ ในขณะที่สามารถปกป้องแรงงานของตนที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ด้วย ในขณะที่ประเทศที่รับแรงงานย้ายถิ่น แรงงานที่ย้ายถิ่นจากประเทศอื่น สามารถช่วยลดภาวะการขาดแคลนแรงงานและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืน นโยบายที่ไม่เหมาะสมและหน่วยงานที่ด้อยประสิทธิภาพจะทำให้ภูมิภาคนี้พลาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการย้ายถิ่นแรงงาน”

โดยภาพรวมแล้ว ขั้นตอนการย้ายถิ่นทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนยังจัดว่าเข้มงวด อุปสรรคในเรื่องขั้นตอนการจ้างงานที่มีค่าใช้จ่ายสูงและมีขั้นตอนมาก การกำหนดจำนวนแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศ และนโยบายการจ้างงานที่เข้มงวดจำกัดทางเลือกในการจ้างงานและส่งผลกระทบต่อสวัสดิการ

การที่นโยบายมีข้อจำกัดเข้มงวดมากนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคิดที่ว่าการที่มีแรงงานย้ายถิ่นหลั่งไหลเข้าประเทศนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่รับแรงงานเหล่านี้

แต่การศึกษาของรายงานกลับมีข้อค้นพบที่ตรงกันข้ามกับความคิดนี้ โดยจากการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองพบว่า ในมาเลเซียนั้น หากจ้างแรงงานย้ายถิ่นทักษะต่ำเข้าประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะเพิ่มจีดีพีที่แท้จริงของประเทศได้ร้อย 1.1 ในขณะที่ผลการวิเคราะห์ล่าสุดของไทยพบว่าหากไม่มีแรงงานย้ายถิ่นในกำลังแรงงานของประเทศจะทำให้จีดีพีของไทยลดไปร้อยละ 0.75

ดร.เมาโร เทสเทอเวอร์ด นักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มงานการคุ้มครองทางสังคมและงาน และผู้เขียนหลักของรายงานกล่าวว่า “ไม่ว่าประเทศไหนที่แรงงานต้องการจะย้ายไปในอาเซียนก็ตาม พวกเขาก็ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นฐานซึ่งแพงกว่าค่าจ้างต่อปีหลายเท่าตัว การปรับปรุงกระบวนการย้ายถิ่นสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้กับแรงงานที่ต้องการย้ายถิ่นและช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถตอบสนองกับความต้องการด้านตลาดแรงงานได้ดีขึ้น”

การเคลื่อนย้ายแรงงานมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการย้ายถิ่นช่วยให้แรงงานจากประเทศที่มีรายได้น้อยแต่ละคนมีโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ของตัวเอง รายงานนี้ประมาณการณ์ว่าหากลดอุปสรรคของการเคลื่อนย้ายแรงงานได้นั้นจะช่วยปรับปรุงสวัสดิการของแรงงานได้ถึงร้อยละ 14 ในส่วนของกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูง หรือหากคิดรวมแรงงานทุกกลุ่มจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 29

ครอบครัวของแรงงานข้ามชาติได้ประโยชน์จากเงินส่งกลับประเทศของแรงงานข้ามชาติและช่วยลดระดับความยากจน นอกจากนี้ เมื่อแรงงานข้ามชาติเดินทางกลับประเทศจะนำเงินทุน ความรู้ และทักษะ มาสู่ประเทศผู้ส่งออกแรงงานข้ามชาติด้วย ในขณะที่แรงงานข้ามชาติจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาติ และช่วยผลักดันการผลิตและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน

นโยบายที่สามารถนำมาดำเนินการเพื่อปรับปรุงให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้ยังมีอีกหลายประการ ควรมีการสอดส่องดูแลบริษัทจัดหางานมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค โดยฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกแรงงานข้ามชาติมากที่สุด ได้พัฒนาระบบสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีประสิทธิภาพสามารถเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ

ส่วนอินโดนีเซียควรปรับปรุงการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทำให้ขั้นตอนกระชับมากขึ้น ในขณะที่เวียดนามสามารถใช้ยุทธศาสตร์การย้ายถิ่นเป็นแนวทางให้การการปฏิรูปได้ การย้ายแรงงานออกนอกประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อย เช่น กัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งหากประเทศเหล่านี้ทำขั้นตอนให้สะดวกมากขึ้นจะลดค่าใช้จ่ายนี้ได้

ประเทศผู้รับแรงงานสามารถนำมาตรการเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเต็มที่ มาเลเซียสามารถปรับปรุงนโยบายเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการด้านเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงแก้ไขระบบเก็บภาษีแรงงานและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศผู้ส่งออกแรงงาน ส่วนประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการนำแรงงานย้ายถิ่นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบและลดค่าใช้จ่ายในขั้นตอนเข้าประเทศ

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีแรงงานข้ามชาติมาก ที่มีการพัฒนาระบบการย้ายถิ่นที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชี่ยวชาญมากนั้น ควรให้ความสนใจในเรื่องการให้สวัสดิการแก่แรงงานย้ายถิ่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สิงคโปร์และฟิลิปปินส์มีระบบตรวจคนเข้าเมืองที่ถูกพัฒนามาอย่างดี

โดยรวมประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาติควรพัฒนาระบบบริหารจัดการการย้ายถิ่นที่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นทางเศรษฐกิจและตอบรับกับนโยบายของรัฐบาลตนเองได้ ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกแรงงานควรสร้างความสมดุลระหว่างการปกป้องแรงงานข้ามชาติและการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และถึงเวลาแล้วที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องปรับนโยบายด้านการย้ายถิ่นให้สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา