ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > thsdg17#2 (ตอนที่2): ไทยกับการเข้าร่วมติดตามและทบทวนผลการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

thsdg17#2 (ตอนที่2): ไทยกับการเข้าร่วมติดตามและทบทวนผลการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

6 ตุลาคม 2017


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา  สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าและมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดงาน Thailand SDGs Forum 2017#2 Thailand progress on SDGs implementation ที่โรงแรมคอนราด ถ.วิทยุ มีวัตถุประสงค์หลักที่ไม่เพียงต้องการสะท้อนให้เห็นความคืบหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ในระดับนโยบายและฝั่งภาครัฐ ในอีกด้านหนึ่งเป็นความต้องการสะท้อนทิศทางการขับเคลื่อนในหลายเรื่องที่อาจจะยังต้อง “ทบทวน” และอีกหลายเรื่องหลากมิติที่จะต้อง “ก้าวต่อ”

“กาญจนา ภัทรโชค” อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ

“กาญจนา ภัทรโชค” อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวในหัวข้อ “Post Review: ไทยกับการเข้าร่วมติดตามและทบทวนผลการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR)” มีรายละเอียดดังนี้

อยากจะกล่าวนำก่อนว่า สิ่งที่จะพูดถึงคือรายงานของประเทศไทย เป็นรายงานโดยสมัครใจต่อการปฎิบัติตาม SDGs ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกันยายน 2015 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งVoluntary National Review (VNR) เป็นกระบวนการระดับโลกที่ยูเอ็นได้กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้นำได้รับรอง SDGs เมื่อเดือนกันยายน 2015 แต่ละประเทศก็ไปทำกันเองตามแต่สมัครใจ ซึ่งในหลายประเทศก็จะมีคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือทำในระดับภูมิภาค หรืออนุภูมิภาค อย่างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเอสแคป (ESCAP) จะมีการประชุมทุกๆ ปี ซึ่งน่าชื่นใจว่าหลังจากไปฟังที่ยูเอ็นมาเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคืบหน้าค่อนข้างมาก เพราะเรามีการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development ไปแล้วถึง 4 ครั้ง สำหรับ VNR เป็นกระบวนการที่ให้ประเทศต่างๆ สามารถไปนำเสนอรายงานการขับเคลื่อน SDGs ภายในประเทศตนเองได้โดยสมัครใจ ปีที่แล้วมีทั้งหมด 22 ประเทศที่สมัครใจไป ส่วนปีนี้มี 43 ประเทศ

นี่เป็นคลิปที่เรานำไปเสนอที่นิวยอร์ก 3 นาที เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอรายงานของประเทศไทย ซึ่งแต่ละประเทศได้เวลาสั้นมากแค่ 15 นาที  และมีช่วงถาม-ตอบอีก 15 นาที ซึ่ง 15 นาทีนี้เราแบ่งเป็นคลิป 3 นาที ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยพูดไปประมาณ 6 นาที มีคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ซึ่งไปในฐานะบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด พูดไป 3 นาที

และมีน้องที่เป็นผู้แทนเยาวชนจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดไปอีก 3  นาที ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการดำเนินงานเรื่อง SDGs  ประเทศไทยจริงๆ เราอยากให้มีหลายท่านไป เราคิดถึงพี่น้องชุมชนท้องถิ่นซึ่งเราได้ไปลงพื้นที่แล้วเจอ  เป็นพี่น้องชาวเขาที่เชียงราย พูดดีมาก เราภูมิใจที่ได้ฟังจากท่านมาก  แต่ด้วยระยะเวลาอันสั้น จึงไม่มีโอกาสได้เชิญไป

สำหรับคลิปนี้เพิ่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่คณะผู้แทนไทยได้ทำมา และถ้าให้เปรียบเทียบกับคณะผู้แทนอื่นๆ สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเราต่างจากคณะอื่นๆ คือ คณะผู้แทนไทยไปจากหลายๆ กระทรวง บางประเทศเขาจะมีกระทรวงการต่างประเทศไป บางประเทศก็เป็นกระทรวงการคลังไป แต่ของเรามีทั้งกระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประเทศต่างๆ ก็ชื่นชม ไปแล้วแลกเปลี่ยนได้เยอะมาก โดยเฉพาะในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไป กระทรวงยุติธรรมไป ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ดีใจก็คือ เมื่อมีหน่วยงานไป เช่น น้องๆ กระทรวงยุติธรรมไปก็บอกว่าดีใจมากที่ได้ไป เพราะได้รู้และเห็นชัดขึ้นว่าประเทศอื่นๆ เขาทำอย่างไร แล้วเราจะกลับมาทำอะไรในประเทศของเรา ก็ทำให้เกิดมี ownership

SDGs เป็น Promise to Future Generations

สำหรับในช่วงการรายงาน VNR มีถึง 147 กิจกรรมคู่ขนาน จะเห็นว่าความสนใจในเรื่องนี้มีมาก อย่างที่ท่านรองลดาวัลย์ (คำภา) พูดว่า SDGs ไม่ใช่ legal obligation (การทำตามกฎหมาย) แต่เป็น “moral commitment” (ข้อผูกมัดทางศีลธรรม) แล้วทุกคนตระหนักว่ามันคือเรื่องของความอยู่รอดของเจเนอเรชันนี้และเจเนอเรชันต่อไปด้วย ซึ่งทุกคนมีความตระหนักมากว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ท่านประธานสมัชชาสหประชาชาติ (ปีเตอร์ ธอมป์สัน) ก็บอกว่า SDGs เป็น Promise to Future Generations ที่คนรุ่นเราต้องตอบสนองต่อคนรุ่นหน้า ท่านเลขาธิการสหประชาชาติ (อันโตนิโอ กูเตร์เรส) ก็พูดได้ดีมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ท่านพูดว่า green business เป็น  good business คือมันไม่ได้ทำแล้วจะเกิดภาระหรือเกิดต้นทุนอะไรกับเรา แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ และมีการพูดถึง SDGs ว่าเป็น The Right Thing and Smart Thing to Do คือเป็นสิ่งฉลาดแล้วที่จะต้องทำ ไม่ใช่เป็นการทำต่อสถานการณ์ที่เข้ามา แต่เป็นการมองต่อไปข้างหน้าในอนาคต

คุณเจฟฟรีย์ แซคส์ มาเป็นวิทยากร เรื่องหนึ่งที่เขาพูดแล้วน่าสนใจมาก เขาบอกว่า เรา risk at a planet คือถ้ามองทั้งโลกแล้ว output ของทั้งโลก มันพอกับประชากรทั้งโลกได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศกับประเทศ หรือความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ

ตัวเลขหนึ่งที่พูดก็คือ ทุกๆ ปีมีเด็ก 6 ล้านคนที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบต้องเสียชีวิต เพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอนามัยต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงอนาคตของโลก คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) ไม่ใช่อนาคตของโลกอีกแล้ว ต้องมีการปรับตัว

อีกเรื่องหนึ่งที่พูดถึงแล้วก็น่าสนใจ คือเรื่องการยกเว้นภาษีต่างๆ (tax exemption) เวลาที่ประเทศใดหรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยประเทศกำลังพัฒนา ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งอาจจะเป็นบรรดาสินค้าต่างๆ วัสดุต่างๆ ที่เข้ามา หรือบางกรณีเป็นเงินเดือนของเขาเองที่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยอ้างว่าจะเอาไปใช้ในการช่วยเหลือ ก็เริ่มมีแนวคิดในเวทีระหว่างประเทศว่า ไม่ควรมีการยกเว้นภาษี ถ้าคุณจะเข้าไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาก็เข้าไป ทำไมประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาน้อยที่สุดต้องยกเว้นภาษีในกิจการเหล่านี้ อีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึง คือ tax haven (การหลบเลี่ยงภาษี) ในที่ต่างๆ ว่า ถ้าเกิดสามารถเอาการหลบเลี่ยงภาษีต่างๆ เหล่านี้มาได้ มันจะเอาเงินเหล่านี้มาช่วยในกิจกรรมต่างๆ ได้อีกเยอะมาก ซึ่งอาจจะเป็นเทรนด์ต่อไปในโลกซึ่งมาจากการที่ได้เข้าร่วม VNR

แนวโน้มของการสร้างการมีส่วนร่วมและ “การลงสู่ระดับท้องถิ่น”

นอกจากพบว่ามีความตื่นตัวในระดับที่สูงมากในของทุกประเทศ อีกอันหนึ่งคือเรื่อง local และ community คือ “การลงสู่ระดับท้องถิ่น” อย่างอินเดียเขาบอกว่ามี 29 รัฐ ซึ่งอาจจะคล้ายๆ คลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดของประเทศไทย เขาก็ให้ทั้ง 29 รัฐคุยกันว่าแต่ละรัฐทำอะไร ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ฯลฯ ก็เป็นทิศทางที่คิดว่าประเทศไทยน่าจะไปสู่ทิศทางนั้นด้วย

เรื่องของ “การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (stakeholder engagement) ซึ่งจะเกิดขึ้นกับการที่ลงสู่ระดับท้องถิ่น เพราะว่าจริงๆ ในมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 ได้พูดไว้ถึงการที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นมิสเตอร์ SDGs จังหวัด และรับเอาข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนต่างๆ เพราะว่าไม่มีใครรู้ดีกว่าคนในพื้นที่ว่าปัญหาความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นอย่างไร ดังนั้นต้องให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสได้คุยกัน แล้วก็คิดโรดแมปเอง คิดแผนปฏิบัติเอง ในการทำงานเหล่านี้โดยส่วนตัว

ครึ่งปีที่ผ่านมาในฐานะเป็นหัวหน้าคณะจัดทำรายงาน VNR ประเทศไทย ก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่ต่างๆ เยอะมาก ก็พบว่า SDGs ใช้เป็น entry point ที่ดีสำหรับการสร้างวัฒนธรรมในการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ เช่น การพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิ่งแวดล้อม รัฐกับภาคประชาสังคมพูดกันไม่ค่อยได้ มีความรู้สึกว่าจะทำงานร่วมกันไม่ได้ แต่พอพูดถึง SDGs ซึ่งเป็นทั้ง 3 เสา ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะพูดกันได้ ก็อาจจะเป็นการสร้างมาตรฐานในการทำงานร่วมกันได้อย่างดีในเรื่องของความคิด (mindset)

เมื่อเช้าพึ่งฟังเทศน์ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ท่านก็พูดถึงว่าการทำงานต่างๆ มันมีเรื่องระดับ “พฤติกรรม” กับระดับ “แนวคิด” ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เราพยายามไปกำหนดต่างๆ ก็เป็นเรื่องระดับพฤติกรรม  แต่ถ้าจะทำให้เกิดความยั่งยืนจริงๆ ต้องไปที่ระดับ “จิตใจ” และ “ปัญญา” ต้องเกิดความเข้าใจก่อน

SEP for SDGs: ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน

อันนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำไมเราถึงได้เลือกหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ในการนำไปบอกว่าอันนี้เป็นหลักของประเทศไทย เป็นหลักที่ประเทศต่างๆ สามารถนำไปใช้ได้ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและขับเคลื่อน SDGs ภายในประเทศเขา เพราะว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงตรัสไว้ว่า มันต้องเป็นเรื่องที่ระเบิดจากข้างใน ต้องเข้าใจแล้วจึงจะทำได้

ในส่วนของ “SDG Index” ในอาเซียนอันดับสูงกว่าเราคือมาเลเซีย อยู่อันดับ 54, ไทยอันดับ 55, สิงคโปร์ซึ่งเรื่องต่างๆ สูงกว่าเราตลอดได้อันดับ 61, เวียดนามอันดับ 68 ซึ่งที่ออกมาแบบนี้ เรียนว่าเป็นลักษณะธรรมชาติของ SDG ซึ่งมันมีความสมดุลมาก สิงคโปร์อาจจะตก เช่น SDG16 พูดถึง peace & inclusive society ดังนั้นเรื่องสิทธิมนุษยนมาในข้อนี้มากหน่อย หรือเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันของสิงคโปร์ก็ดีมาก แต่ด้วยความที่มันครอบคลุมทั้ง 3 เสา ทั้ง 17 goals 169 targets เขาวัดแล้ว ซึ่งสิ่งที่บางประเทศคิดว่าเขาดี อาจจะไม่ได้ดี

จริงๆ สิ่งที่พยายามคุยกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือไปคุยกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) ก็คือ เราอยากให้มีการวัดทุกจังหวัดว่า SDG จังหวัด เมื่อวัดแล้วเป็นยังไง เพื่อทุกจังหวัดจะได้รู้สถานะของตัวเองว่าเป็นยังไงแล้วก็ค่อยทำแผนปฏิบัติ (action plan) ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายนั้นๆ โดย action plan ไม่ได้กำหนดมาจากส่วนกลาง แต่ต้องกำหนดโดยพื้นที่โดยทุกภาคส่วนจริงๆ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ก็มีการนำเสนอท่านนายกรัฐมนตรีว่าทำจังหวัดนำร่องดีไหม

เพราะการทำงานพวกนี้ขึ้นอยู่กับผู้นำ ถ้ามีผู้นำที่ลุกขึ้นทำแล้วนำไปเป็นตัวอย่าง แต่มันจะต้องมีใครสักคนขึ้นมาทำก่อนเพื่อนำไปเป็นตัวอย่างที่ดี อยากให้ไปลองอ่าน VNR ซึ่งจะเป็นภาพสแนปช็อตของประเทศไทยที่ดีว่าในด้านต่างๆ เราอยู่ที่ไหน ความท้าทายต่างๆ ของประเทศไทยอยู่ที่ไหน และขอเรียนว่าในแต่ละ goal จะมีความท้าทายของประเทศไทยอยู่ด้วย

เพราะเวลาเราทำรายงาน ก็ต้องอายตัวเองเหมือนกัน ไม่สามารถบอกว่าเราดีทุกอย่าง เพราะพี่น้องภาคประชาสังคมก็มีความตื่นตัวมาก มีการทำรายงานเงาขึ้นมาด้วย แล้วเราก็ทำงานกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งอย่างที่บอกเราไม่ได้ทำงานเพื่อตอบโจทย์ยูเอ็น แต่เป็นการทำงานเพื่อตอบโจทย์ลูกหลานของเราในอนาคต ดังนั้น พอมีความท้าทาย เราจะได้รู้ว่าเราจะไปถึงจุดไหน อ่านแล้วจะพบว่าหลายๆ ปัญหาไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยยังมีอยู่ จะได้ร่วมกันช่วยทำ

และอยากพูดสั้นๆ ว่า “ภาคธุรกิจ” เป็นผู้เล่นที่สำคัญมาก วันก่อนท่านจิรายุ (อิศรางกูร ณ อยุธยา)พูดบนเวทีหนึ่งประทับใจมาก ท่านบอกว่า แค่ท่านทำเรื่องทรัพยากรบุคคล (human resource) แค่ท่านทำให้คนทุกคน พนักงานของท่านมีความสนใจ มี sustainability mindset จากนั้นไม่นานก็ขยายต่อไปยังครอบครัว เพื่อนฝูง เท่านี้ท่านก็ทำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว แล้วก็ไม่ต้องรอ CSR ซึ่งเป็น after process แต่ขอให้ทำ in process ในการทำงานในธุรกิจของท่าน คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ในเรื่อง inclusive ในเรื่อง equality ภาคส่วนต่างๆ

ในส่วนกระทรวงต่างประเทศ เราทำเรื่องนี้ไม่ใช่ในแง่เพื่อจะสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทย แต่เป็นการทำเพื่อเอาสิ่งดีๆ ในโลกมาตอบโจทย์ความท้าทายประเทศไทยได้ ในขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าเรามี moral responsibility ที่จะต้องแชร์สิ่งที่ดีของประเทศไทย คือหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “ศาสตร์พระราชา” ไปให้ชาวโลกได้รับรู้และนำไปใช้ได้ เพราะเรามีความเชื่อมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา  ว่าจะนำมาสู่ชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยได้