ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ทีดีอาร์ไอ เปิดตัว “SCI ตัวชี้วัดศาสตร์พระราชา” นำเสนอดัชนีความยั่งยืนสู่โลกเทียบชั้น GNH

ทีดีอาร์ไอ เปิดตัว “SCI ตัวชี้วัดศาสตร์พระราชา” นำเสนอดัชนีความยั่งยืนสู่โลกเทียบชั้น GNH

5 ธันวาคม 2018


ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ หัวหน้าโครงการพัฒนาตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเวทีระดมสมองนักวิชาการและการรับฟังความคิดเห็นจากการนำเสนอผลการศึกษา “ความเชื่อมโยงระหว่างการประพฤติปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้ระบบตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา (sustainable community indicators – SCI) นับเป็นครั้งแรกในการพัฒนาตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางศาสตร์พระราชา ซึ่งมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นองค์ประกอบหลัก โดยวัดผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และสามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงระหว่างการปฏิบัติตนของครัวเรือน ชุมชนและผลลัพธ์จากการพัฒนา โดยที่ผ่านมามีการพัฒนาตัวชี้วัดจากการเก็บข้อมูลผลสำรวจจาก 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ หัวหน้าโครงการพัฒนาตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา  กล่าวว่า ศาสตร์พระราชา ที่มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นองค์ประกอบหลัก เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานให้กับประชาชนชาวไทย โดยที่ผ่านมามีการพูดถึงคุณูปการมากมายที่เกิดจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ แต่สิ่งที่ขาดหายไปเมื่อพูดถึงศาสตร์พระราชา คือ ระบบการวัดและประเมินผลอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา หรือ SCI

จากความริเริ่มร่วมกันระหว่างมูลนิธิมั่นพัฒนาฯ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงของศาสตร์พระราชากับการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างมีระบบ มีความเป็นวิทยาศาสตร์ และใช้วิธีการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในสากล ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาศาสตร์พระราชาในเชิงปริมาณมีไม่มากนัก โดยเฉพาะการศึกษาศาสตร์พระราชาเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

“เวลาเราพูดเรื่องนี้ในประเทศเราก็รู้สึกว่าใช่ แต่พอไปพูดในต่างประเทศ เราจะเห็นว่าก็มีแนวทางที่แตกต่างกัน มีคนที่ศรัทธาศาสตร์พระราชามากๆ อย่างล่าสุดที่ผมเพิ่งไปร่วมงานที่ประเทศแคนาดา มีวงที่จัดพูดคุยเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ก็อาจมีอีกส่วนที่เขารู้สึกว่า สิ่งที่คุณบอกว่าดีเป็นเพราะว่าคุณศรัทธา เขาถามว่าคุณพิสูจน์ได้มั้ยว่าดีจริง สำหรับเราจึงถือเป็นความท้าทาย ว่าเราจะบอกว่าศาสตร์พระราชามีคุณูปการให้กับการพัฒนาประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร” ดร.สมชัยกล่าว

ภายใต้โครงการพัฒนาตัวชี้วัดฯ SCI ครั้งนี้ แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกเป็นการพัฒนาระบบตัวชี้วัดที่แสดงถึงการประพฤติปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ (SCI-S4S) อันสามารถแสดงผลในระดับชุมชน ระดับภาค หรือระดับประเทศ  และสามารถพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาต่างๆ ได้

ส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการประพฤติปฏิบัติตามศาสตร์พระราชากับผลลัพธ์การพัฒนาที่สำคัญ (SCI-OC) เพื่อใช้เป็นฐานความรู้ในการต่อยอดการศึกษาถึงการเชื่อมโยงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ดร.สมชัยขยายความเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า เราพยายามจะตอบโจทย์ใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ ประเด็นแรก คือ เราพูดเรื่องศาสตร์พระราชาในฐานะสิ่งที่ทุกคนควรยึดถือปฏิบัติ เราตั้งคำถามว่า ยึดถือปฏิบัติจริงหรือเปล่า และยึดปฏิบัติในเรื่องอะไร เพราะศาสตร์พระราชามีหลายแง่มุม เราดูว่าในระดับครัวเรือนและชุมชนคนนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติด้านความพอประมาณ  ความซื่อสัตย์ การมีภูมิคุ้มกันหรือการหาความรู้ใส่ตัว

“เราก็อยากรู้ว่าคนไทยปฏิบัติในพื้นที่มากแค่ไหน ใครเป็นคนปฏิบัติ ตรงนี้เป็นเรื่องที่อยากจะรู้ หรือปฏิบัติเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงอย่างไรซึ่งจะได้มุมนั้นด้วย”

เรื่องที่สอง เป็นการศึกษาผลลัพธ์การพัฒนา เชื่อมโยงการประพฤติปฏิบัติของคนกับศาสตร์พระราชา ว่าศาสตร์พระราขาทำให้การพัฒนาดีขึ้น ทำให้คนมีความสุขมากขึ้นหรือไม่  หรือการประพฤติปฏิบัติตนตามศาสตร์นี้ทำให้การศึกษา หรือความใฝ่รู้ดีขึ้น ในโครงการมีนิยาม SCI-OC ผลลัพธ์การพัฒนาที่สำคัญไว้ 12 ตัว เช่น ทำให้ยากจนลดลงหรือไม่ เป็นต้น (ดูภาพด้านล่างประกอบ)

“พวกนี้คือผลลัพธ์ที่อยากจะเห็น  เรายังมีคำถามที่อยากจะตอบว่าศาสตร์พระราชานำไปสู่ผลลัพธ์ที่ว่านี้อย่างไร ตรงนี้เป็นเป้าหมายของเราในการทำโครงการ” ดร.สมชัยกล่าว

เบื้องหลังวิธีคิดออกแบบการวัดผล “ศาสตร์พระราชา”

ดร.สมชัยกล่าวด้วยว่า การพิสูจน์ผลลัพธ์โดยทั่วไป จะใช้การศึกษาเชิงปริมาณ ดังนั้น สิ่งที่ต้องพยายามทำในฐานะผู้วิจัยคือการวัดผล ให้ได้ โจทย์แรกของโครงการก็คือ ถ้าคุณจะวัดผลศาสตร์พระราชา คุณจะวัดอย่างไร เพราะว่าศาสตร์พระราชาเป็นปรัชญา

“เราคิดว่าสิ่งที่น่าจะทำได้ เราน่าจะสามารถตีความจากศาสตร์พระราชา โดยตีความจากปรัชญา ให้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตในระดับบุคคล เช่น มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล รอบคอบระมัดระวัง มีความซื่อสัตย์ และอีกส่วนหนึ่งน่าจะสามารถวัดได้จากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ใช้ศาสตร์พระราชาเป็นแนวทาง โดยสิ่งที่น่าจะใช้อ้างอิงได้คือ หลักการทรงงาน 23 ข้อ”

สิ่งที่นักวิจัยทำคือการไปดูสิ่งที่ในหลวงพระราชทานพระราชดำรัสไว้ ตรัสไว้ โดยดูเรื่องคีย์เวิร์ด อย่างเศรษฐกิจพอเพียงก็ดูในเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ความรู้คู่คุณธรรม ดูรื่องของพฤติกรรม ความพอประมาณ ความซื่อสัตย์ต่างๆ เราก็ต้องมานั่งดูว่าคีย์เวิร์ดแต่ละตัวหมายถึงอะไร ในเรื่องการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำของคน เช่น ความพอประมาณ เราก็ตีความว่า เวลาซื้อของก็ต้องรู้จักพอ ไม่ใช่ซื้อองเพราะซื้อตามๆ กันทำนองว่าคนอื่นมีแล้วชั้นก็ต้องมีด้วย ทั้งที่อาจจะเป็นของเกินกำไร ซึ่งเป็นการตีความของนักวิจัย

“เราไปดูความหมายของคีย์เวิร์ด โดยดูว่ามันหมายถึงพฤติกรรมอะไร พฤติกรรมที่เราเอามาเป็นข้อถามในแบบสอบถาม เป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคน เป็นคำถามที่ไม่หรูหรา ชาวบ้านตอบได้ ถามปุ๊บนึกถึงได้เลย เช่น เวลาตั้งใจจะทำอะไรจะตั้งใจจนสำเร็จมั้ยหรือเจออุปสรรค ก็ไม่ย่อท้อ คำถามประเภทนี้เขาตอบได้ว่าเขาประพฤติปฏิบัติตามศาสตร์พระราชามากน้อยแค่ไหน โดยเรานำคะแนนมากำหนดจาก 0-100 ถ้า 100 ก็คือดี แต่ถ้า 0 ก็คือไม่ดี”

ดร.สมชัยกล่าวต่อว่าจากตรงนี้ เรานำแนวคิดแบบเดียวกันไปทำในฝั่งของผลลัพธ์ของการพัฒนาว่ามีคะแนนอยู่และไปดูว่ามีความสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดประพฤติปฏิบัติตามศาสตร์พระราชามาก ผลลัพธ์ตัวไหนจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ซึ่งอันนี้เป็นขั้นตอนทางสถิติที่วุ่นวายซับซ้อน โดยกระบวนการนั้นจะเป็นกระบวนการที่ให้ได้คำตอบว่าเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ตามวิชาการ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการทำและสื่อออกมา โดยผลตรงนั้นจะนำเสนออีกครั้งในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ที่จะถึงนี้

ประโยชน์ของตัวชี้วัดใหม่กับการพัฒนา

สำหรับประโยชน์ของตัวชี้วัดที่ได้พัฒนาขึ้นมานั้น มองได้ 2 ระดับ ระดับแรก หากมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องจะสามารถนำเสนอค่าตัวชี้วัด SCI-OC และ SCI-S4S ที่ทำการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเป็นรายปี (หรือราย 2-3 ปี) เพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามศาสตร์พระราชาของคนไทย และความก้าวหน้าของผลลัพธ์การพัฒนา เหมือนเช่นกรณี gross national happiness (GNH) ของประเทศภูฐาน โดยในกรณีของ SCI สามารถนำเสนอผลระดับประเทศ ระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัด หรือกระทั่งระดับจังหวัดในกรณีจังหวัดที่มีการเก็บตัวอย่างมากพอ

“ตำแหน่งในระดับสากลที่เราวางไว้สำหรับตัวชี้วัด SCI  ต้องการเป็นทางเลือกมากกว่า ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน เราไม่ได้หวังจะให้เป็นกระแสหลักของการวัดการพฒนาที่ยั่งยืน แต่มีลักษณะดัชนีการวัดผลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นทางเลือก คล้าย GNH ของภูฏานมากกว่า”

ทั้งนี้ SCI นั้นจะมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างจาก GNH  ในแง่ของความเหมือนคือรากแนวคิด โดยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญกับมิติของจิตใจหรือมิติของทัศนคติ เช่นเดียวกับ GNH ของภูฏานที่ก็ให้ความสำคัญกับมิติเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ในด้านของความแตกต่าง ปัจจุบันภูฏานใช้ GNH เป็นเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความสุข ขณะที่ SCI โดยศาสตร์พระราชา จะมองได้ทั้งในลักษณะการเป็นเป้าหมายและหนทางไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ระดับที่ 2 ตัวชี้วัด SCI ยังสามารถนำไปใช้ประเมินผลโครงการพัฒนาในพื้นที่  ได้แก่

    1.สำรวจและเก็บคะแนน SCI-OC และ SCI-S4S ในพื้นที่ก่อนเริ่มโครงการพัฒนาที่จะได้รับการประเมิน
    2.เก็บข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการ
    3.สำรวจและเก็บคะแนน SCI-OC และ SCI-S4S ในพื้นที่หลังโครงการพัฒนาสิ้นสุดแล้ว
    4.วิเคราะห์ว่าโครงการก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังโครงการในการดำเนินโครงการ

“ตัวชี้วัดนี้จะมีประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เพราะเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราพิสูจน์ได้  ซึ่งผมเชื่อว่าพิสูจน์ได้ ก็จะช่วยในการบรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ในแง่นโยบายนี่ชัดเจนเลยว่าพอเรามีตัวชี้วัดขึ้นมา เราสามารถบอกได้ว่าคนไทยในภาคนี้ประพฤติปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องอะไร อย่างเข้มแข็ง ในเรื่องอะไรที่ไม่เข้มแข็ง ตรงนั้นก็สามารถเป็นนโยบายและสามารถส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจพอเพียงในจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงมีหลายด้านเป็นส่วนที่ย่อหย่อนอยู่ และเป็นส่วนที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งจะสามารถนำมากำหนดเป็นนโยบายทันทีเลย และเป็นนโยบายซึ่งตรงกับแนวคิดว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ทุกวันนี้ก็พูดกันอยู่แต่ไม่ชัดเจนว่าส่งเสริมอย่างไรในการพัฒนา” ดร.สมชัยกล่าวในที่สุด