ThaiPublica > เกาะกระแส > เหลียงเจียเหอ หมู่บ้านที่สร้างตำนานให้ สี จิ้นผิง กลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากสุดของจีน

เหลียงเจียเหอ หมู่บ้านที่สร้างตำนานให้ สี จิ้นผิง กลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากสุดของจีน

29 ตุลาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : http://www.economist.com/printedition/covers/2017-10-12/ap-e-eu-la-me-na-uk

สี จิ้นผิงถือเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของจีน โดนัลด์ ทรัมป์บอกกับ The Washington Post ว่า “สี จิ้นผิงอาจเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากสุด ที่จีนเคยมีมาในช่วง 100 ปี” ในการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 19 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ยกระดับแนวคิดของสี จิ้นผิงให้มีฐานะเป็น “ความคิดสี จิ้นผิง” แบบเดียวกับ “ความคิดเหมา เจ๋อตุง” นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง เรียกร้องให้บรรดาเจ้าหน้าที่ของจีน ศึกษาและนำความคิดนี้ไปใช้ เพราะความคิดสี จิ้นผิง คือ แนวทางสังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน สำหรับยุคใหม่

ก่อนหน้าการประชุมสมัชชาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้ง New York Times และ BBC ได้เสนอบทรายงานเกี่ยวกับชีวิตในช่วงเป็นเยาวชนของสี จิ้นผิง ที่อยู่ในสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะที่มีอายุ 15 ปี สี จิ้นผิงเดินทางมาที่เหลียงเจียเหอ (Liangjiahe) หมู่บ้านในหุบเขา มณฑลส่านซี ห่างจากกรุงปักกิ่งมาทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 600 กิโลเมตร และใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านนี้นานถึง 7 ปี ทุกวันนี้ ในแต่ละวัน มีนักท่องเที่ยวคนจีน ที่เป็นพวกแสวงบุญทางการเมือง จำนวนหลายร้อยคน เดินทางมาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้ เพื่อเดินตามรอยเส้นทางการใช้ชีวิตของสี จิ้นผิง

ที่มาภาพ : http://s.telegraph.co.uk/graphics/projects/xi-jinping-cave/index.html

เยาวชนที่ถูกส่งไปชนบท

คนจีนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของสี จิ้นผิง ที่เกิดขึ้นในช่วงของการปฏิวัติวัฒธรรม ระหว่างปี 1966-1976 เนื่องจากบิดาของสี จิ้นผิงถูกโจมตี และถูกกวาดล้างให้หมดอำนาจลง สี จิ้นผิงจึงไม่มีโอกาสที่จะเข้าร่วมกับขบวนการพวกเรดการ์ด เลยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรง ที่พวกเรดการ์ดก่อขึ้นมา แต่สี จิ้นผิงเป็น 1 ในเยาวชนจีน 17 ล้านคน ที่หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมแล้ว ถูกส่งให้ไปใช้ชีวิตในชนบท

ในปี 1969 สี จิ้นผิงถูกส่งให้ไปอยู่ที่เหลียงเจียเหอ หมู่บ้านในหุบเขา มณฑลส่านซี ต้องถือว่าเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง ที่สี จิ้นผิงถูกส่งมาอยู่ที่นี่ เพราะส่านซีเคยเป็นฐานที่มั่นปฏิวัติเก่าที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปัจจุบัน ส่านซีถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจีนยุคใหม่ สี จงชุน (Xi Zhongxun) บิดาของสี จิ้นผิง ก็เป็นคนส่านซี และมีบทบาทสำคัญในการสร้างฐานที่มั่นขึ้นมา จนกลายเป็นผู้นำปฏิวัติที่ได้รับการเคารพนับถือ แม้จะหมดอำนาจไปแล้ว

การถูกส่งมาใช้ชีวิตในชนบท เป็นผลดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับสี จิ้นผิง ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัวให้เข้ากับหมู่บ้านชนบท กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนชนบท และสร้างชีวิตใหม่ของตัวเองขึ้นมา ชาวนาชื่อ Lu Nengzhong ที่สี จิ้นผงอาศัยอยู่ด้วยนาน 3 ปี บอกกับ New York Times ว่า “เขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือ หนังสือที่อ่านก็เป็นเล่มหนาๆ ผมไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร เขาจะอ่านจนหลับไป” สี จิ้นผิงเคยเขียนไว้ว่า เยาวชนคนอื่นๆ ที่มาอยู่หมู่บ้านนี้ด้วยกัน ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเลือกไปเป็นทหารแทน “ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเหงามาก แต่หลังจากคุ้นเคยกับชีวิตท้องถิ่น โดยเฉพาะเมื่อกลายเป็นคนท้องถิ่นไปแล้ว ข้าพเจ้าก็รู้สึกได้ถึงชีวิตที่มีความสุข”

ที่มาภาพ : http://s.telegraph.co.uk/graphics/projects/xi-jinping-cave/index.html
ถ้ำที่พักของสี จิ้นผิง ที่เหลียงเจียเหอ https://www.yahoo.com/news/chinas-communist-pilgrims-pay-homage-xi-jinping-village-034423952.html

ทุกวันนี้ แต่ละวัน มีคนจีนประมาณ 2,000 กว่าคน เดินทางมาเที่ยวที่เหลียงเจียเหอ ทำให้เหลียงเจียเหอกลายเป็นหมู่บ้านที่โดดเด่น แบบเดียวกับเฉาชาน (Shaoshan) มณฑลฮูหนาน ที่เป็นบ้านเกิดของเหมา เจ๋อตุง การที่เหลียวเจียเหอพุ่งขึ้นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนจีน ก็สะท้อนถึงความรวดเร็วที่สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดของจีน การไปเกี่ยวพันกับสี จิ้นผิง ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของเหลียงเจียเหอ รุ่งเรืองขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

บทความใน New York Times เขียนไว้ว่า มัคคุเทศก์จะบรรยายให้คณะทัวร์ที่มาเยือนเหลียงเจียเหอ ที่ลูกทัวร์เป็นเจ้าหน้าที่ของจีน ว่า “ครั้งแรกที่เดินทางมาถึงเหลียงเจียเหอ สี จิ้นผิงไม่ได้เตรียมตัวว่า จะต้องมาเผชิญกับความยากลำบาก” คำพูดของมัคคุเทศก์ต้องการจะสื่อความหมายว่า ที่หมู่บ้านเหลียงเจียเหอ สี จิ้นผิงได้รับการหล่อหลอมขึ้นมา เพื่อที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้นำ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สื่อมวลชนจีนและหนังสือที่เพิ่งพิมพ์ออกมาใหม่ๆ ก็กล่าวทำนองว่า การใช้ชีวิตที่เหลียงเจียเหอ ทำให้สี จิ้นผิงเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง และมีความใกล้ชิดกับประชาชน

ถ้ำในหุบเขา ที่สี จิ้นผิงเรียกว่าบ้าน

หนังสือ Xi Jinping’s Seven Years as an Educated Youth

ในปี 1969 เมื่อสี จิ้นผิงถูกส่งมาอยู่ที่เหลียงเจียเหอนั้น หมู่บ้านแห่งนี้มีคนอาศัยอยู่ 360 คน บ้านพักอาศัยของชาวบ้าน เป็นถ้ำที่ขุดเข้าไปในหุบเขา ทุกวันนี้ ชาวบ้านที่เหลียงเจียเหอจดจำได้ดี ถึงภาพที่สี จิ้นผิง เคยมาช่วยพวกเขาทำงานด้านต่างๆ เช่น สร้างเขื่อนกั้นน้ำ ลากรถเข็นบรรทุกพืชผลต่างๆ และการลงแรงทำการเพาะปลูก วันที่ต้องจากหมู่บ้านนี้ไปในปี 1975 สี จิ้นผิงกล่าวไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาในวันที่จะต้องจากเหลียงเจียเหอ มีชาวบ้านจำนวนมาอยู่ที่หน้าถ้ำของข้าพเจ้า พวกเขาไม่ได้มาปลุกให้ตื่น แต่มารออยู่ ในเวลานั้น ข้าพเจ้าร้องไห้ นับเป็นการร้องไห้ครั้งที่ 2 ตลอดระยะเวลา 7 ปี”

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โรงเรียนศูนย์กลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็พิมพ์หนังสือภาษาจีนเล่มใหม่ออกมาชื่อ “7 ปีของสี จิ้นผิง ในฐานะเยาวชนที่เรียนรู้” (Xi Jinping’s Seven Years as an Educated Youth) ที่บรรยายชีวิต 7 ปีของสี จิ้นผิง ที่อาศัยอยู่กับหมู่บ้านที่ยากจนแห่งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือขายดีของจีนทันที

หนังสือเล่มนี้รวบรวมคำสัมภาษณ์คนในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ 29 คน ที่เคยทำงานร่วมกับสี จิ้นผิง ในช่วงที่เป็น “เยาวชนที่เรียนรู้” ที่ภาษาจีนเรียก Zhiqing ซึ่งหมายถึงเยาวชนจากในเมือง ที่ถูกส่งมารับ “การศึกษาใหม่” ในชนบท คนในหมู่บ้านจะพูดถึงเรื่องราวต่างๆว่า สี จิ้นผิงช่วยเหลือชาวนาอย่างไร และเป็นคนมองโลกในแง่ดีอย่างไร ทั้งๆที่ชีวิตอยู่ในช่วงที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ชาวนาคนหนึ่งชื่อ Zhang Weipang พูดไว้ในหนังสือว่า ไม่ว่าอาหารจะแย่อย่างไร สี จิ้นผิงก็ทานได้ดี ไม่ว่าคนจะยากจนอย่างไร ก็ไม่เคยรังเกียจ ชาวบ้านอีกคนเล่าว่า สี จิ้นผิงช่วยเขาหาสุกรตัวหนึ่งที่หายไปจนพบ สำหรับชาวบ้านยากจน สุกรคือทรัพย์สินมีค่าที่สุด

ช่วงที่อาศัยอยู่กับชาวนาครอบครัวหนึ่งนานถึง 3 ปี สี จิ้นผิงสนิทสนมกับลูกชายของชาวนาชื่อ Lu Housheng ในเวลาต่อมา เมื่อสี จิ้นผิงเป็นผู้ว่ามณฑลฟู่เจียง ได้ส่งเงินมาให้กับ Lu Housheng เพื่อช่วยออกค่าใช้จ่ายการผ่าตัดเท้าของเขา ที่ในบ้านของชาวนาครอบครัวนี้ แขวนรูปลูกชายที่ยืนคู่กับสี จิ้นผิง ผู้เป็นพ่อบอกกับ New York Times ว่า “เขาเหมือนกับเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวเรา เรามีชีวิตอยู่ร่วมกัน หากมีปัญหาอะไร เขาจะมาพูดคุยกับผม”

เมื่อปี 2003 สี จิ้นผิงเคยเขียนไว้ในบทความว่า ชีวิต 7 ปี ที่เหลียงเจียเหอ เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา “ความยากลำบากของชีวิตคนรากหญ้า สามารถสร้างความมุ่งมั่นให้กับคนๆหนึ่ง จากประสบการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าในอนาคต จะเผชิญความยากลำบากอย่างไร ข้าพเจ้าก็เต็มไปด้วยความกล้าหาญ ที่จะเผชิญหน้ากับการท้าทาย และเอาชนะอุปสรรคต่างๆ โดยไม่หวาดกลัวใดๆ”

Xi Jinping’s Seven Years as an Educated Youth กลายเป็นหนังสือขายดี ตามร้านหนังสือที่ปักกิ่ง ที่มาภาพ : womenofchina.cn

เอกสารประกอบ
Chinese village where Xi Jinping fled is now a monument to his power. The New York Times, October 8, 2017.
Tracing the myth of Chinese leader to its roots. The New York Times, February 16, 2011.
Book highlights Xi’s time in village. Chinadaily.com.cn, 2017-08-21.
CEO, China: The Rise of Xi Jinping. Kerry Brown, I.B. Tauris & Co, Ltd. 2016.