ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯสั่ง “ฉัตรชัย” สรุปโปรเจกต์แก้น้ำท่วมใน 1 เดือน-มติ ครม. ขยายตลาดประชารัฐ 6 พันแห่ง เปิดลงทบ.ผู้ค้า 1 พ.ย.

นายกฯสั่ง “ฉัตรชัย” สรุปโปรเจกต์แก้น้ำท่วมใน 1 เดือน-มติ ครม. ขยายตลาดประชารัฐ 6 พันแห่ง เปิดลงทบ.ผู้ค้า 1 พ.ย.

18 ตุลาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Hfocus (https://www.hfocus.org/node/13891)

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งในวันนี้นายกรัฐมนตรีใช้เวลาในการตอบคำถามสื่อมวลชนเพียง 10 นาที เนื่องจากเวลา 15.30 น. มีภารกิจเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

สั่ง”ฉัตรชัย”เร่งสรุปปัญาโปรเจกต์ระบายน้ำท่วมใน 1 เดือน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่า การระบายน้ำในช่วงที่แม่น้ำล้นตลิ่งตนก็ได้เรียนแล้วว่าบริเวณที่ได้รับผลกระทบคือนอกคันกั้นน้ำประชาชนบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลคนเหล่านี้ โดยตนได้สั่งการไปให้ดูลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งขณะนี้มีน้ำเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์น่าเป็นห่วง หากล้นขึ้นมาก็จะเกิดปัญหา ดังนั้นไม่ใช่รัฐบาลที่บริหารไม่ได้ เพราะเกินขนาดที่จะระบายล่วงหน้าแล้ว นอกจากนั้นก็ไม่สามารถระบายมากได้ เพราะจะส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่ด้านล่าง นี่คือปัญหา รัฐบาลเป็นห่วงประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ต้น-กลาง-ปลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับน้ำได้อย่างไรในอนาคต เพราะนับวันน้ำจะมากขึ้น

“วันนี้รัฐบาลมีแผนงานต่างๆ ที่เสนอพิจารณาเรื่องการจัดการน้ำหลายเรื่องด้วยกันในภาคเหนือ การทำเส้นทางรับน้ำตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มีการศึกษามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก รัฐบาลทำทุกอย่าง ที่ผ่านมาทั้งน้ำอุปโภคบริโภค การเก็บกักน้ำ การระบายน้ำ การส่งน้ำเข้าที่นาไร่ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่การจะใช้งบประมาณจำนวนสูงๆ หลายหมื่นล้านบาทจะต้องใคร่ครวญให้ดี ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่คิดอะไรเลย แม้มีแผนจำนวนมากที่ต้องทำ ซึ่งไม่มีอะไรที่ทำเร็วแล้วได้ทันที ต้องแก้ไปทีละเปาะ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ทั้งการเฝ้าระวัง และการแจ้งเตือนภัย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนแยกให้ออกในช่วงที่มีพายุ และไม่มีพายุ แต่เป็นความกดอากาศที่พัดผ่านมา ทำให้มีปริมาณฝนตกมาก ดังนั้น จึงไม่มีทางที่ประเทศไทยจะไม่มีน้ำขังท่วม ซึ่งวันนี้มีน้ำจำนวนมากที่รอการระบาย หากยังไม่รื้อระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง ระบบท่อระบายน้ำ รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องขยะอุดตัน จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“ประชาชนต้องร่วมมือด้วย เพราะจะเห็นว่าน้ำท่วมทุกครั้งขยะเต็มถนนไปหมด เรื่องนี้ไม่ใช่รัฐบาลปัดความรับผิดชอบ รัฐบาลทำทุกอย่าง โดยถามกลับว่าเคยศึกษาแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลบ้างหรือไม่ มีทั้งการจัดการน้ำท่า น้ำฝน น้ำเหนือเขื่อน น้ำใต้เขื่อน ฯลฯ การที่น้ำท่วมในปี 2554 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่วันนี้มีการระบายน้ำตลอด เมื่อถึงเวลาที่รับน้ำไม่ไหวแล้วก็ต้องปล่อยออกมาบ้าง ไม่เช่นนั้นจะท่วมแบบปี 2554 นี่เรียกบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลมีโครงการที่จะทำอุโมงค์เชื่อมต่อการระบายน้ำสู่แม่น้ำแม่กลอง ต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน และทำคลองผันน้ำตะวันตก-ตะวันออก กว่า 100 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักมาอ่าวไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะทำได้หรือไม่ บางส่วนผ่านที่ดินเกษตรกร ที่อยู่อาศัยที่ขวางทางน้ำอยู่ จะทำได้หรือไม่เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไข ขอให้เข้าใจการทำงานของรัฐบาลด้วย ซึ่งตนจะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น พร้อมสร้างความรับรู้ให้มากขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในที่ประชุม ครม. ได้มีการรายงานถึงข้อท้วงติง หลังจากที่ประชุมได้อนุมัติโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร ว่าทำแล้วจะได้ผลจริงหรือไม่อย่างที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ ซึ่ง พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รับปากว่าจะสรุปประเด็นข้อสังเกตและข้อห่วงใยทุกด้านมาพิจารณาให้ละเอียดรวดเร็วภายใน 1 เดือน หากทุกอย่างลงตัวจะสามารถสร้างได้ในปี 2562 และยังรับไปศึกษาแผนบริหารจัดการระบายน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น เช่น ทำอุโมงค์ 3 แห่ง ที่ภาษีเจริญและราชมนตรี ใช้เวลาศึกษาให้เสร็จภายใน 1 เดือน

นายกฯประนามผู้ก่อเหตุไม่สงบในช่วงเวลานี้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามว่านายกรัฐมนตรีต้องการฝากอะไรถึงประชาชนในห้วงเวลานี้หรือไม่ โดยระบุว่า ตนได้ฝากไปนานแล้วเรื่องของการเตรียมการพระราชพิธีต่างๆ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมขอให้สังคมช่วยกดดันด้วย เนื่องจากตนไม่ต้องการใช้กฎหมายบังคับมากนัก และไม่ต้องการให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในประเทศช่วงนี้และช่วงต่อๆ ไป สำหรับการเคลื่อนไหวของนักการเมืองในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องที่สังคมทราบดีอยู่แล้ว การที่มีคนอาศัยช่องว่างต่างๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนที่สังคมต้องเรียนรู้

“ขอบคุณประชาชนที่ร่วมแสดงความอาลัย ร่วมชมการฝึกซ้อม รวมไปถึงขอบคุณเจ้าหน้าที่ กองอำนวยการร่วมต่างๆ ทุกๆ ฝ่ายที่ทำงานอย่างเต็มที่ กรณีเหตุการความไม่ปลอดภัยต่างๆ ทุกคนต้องช่วยกัน อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร แต่เพียงอย่างเดียว ใครที่คิดจะทำอะไรแบบนี้ถ้าไปให้ความสำคัญมากเข้าอาจจะทำขึ้นจริง คนแบบนี้ต้องถูกประณาม ใครทำให้สถานการณ์เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมาไม่ว่าใครทั้งสิ้นผมขอประนามไว้ก่อนเลยที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในช่วงนี้ หรือช่วงต่อๆ ไปก็แล้วแต่ สังคมต้องช่วยกันดูแล ประชาชนบอกว่าเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของทุกเรื่อง ทุกอำนาจก็ต้องออกมาช่วยเหลือผมในการทำงาน เพราะผมใช้อำนาจแทนท่านอยู่ตอนนี้ ช่วยกันดูแลสังคมก็จะเกิดความปลอดภัยขึ้นเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นากยฯหารือ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ถกอาชญากรรมบนเฟซบุ๊ก

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการเดินทางเยือนไทยของนายมาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊ก ว่า ผู้บริหารเฟซบุ๊กมาพบตนนั้นมีการหารือร่วมกันเรื่องการป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติบนเฟซบุ๊ก ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร ไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดปัญหา โดยขออย่าไปโยงเรื่องนั้นเรื่องใดๆ ยืนยันว่าเป็นแค่การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

โยนกสทช.หาทางออกค่าเช่าสถานีทีวิดิจิทัล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขอความช่วยเหลือ ให้ลดเงินค่าเช่าสถานีที่จะต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในเดือนมกราคม 2561 และขอให้ลดค่าเช่าในส่วนที่ต้องจ่ายเดือนพฤษภาคม 2561 ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ กสทช. ต้องพิจารณาต่อไป เพราะเป็นเรื่องของการลงทุน เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ธุรกิจ ต้องไปว่ามาว่าทางออกจะทำอย่างไร

แผนระบายข้าวค้างสต็อก-ไม่กระทบราคาข้าวใหม่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแผนการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ ที่มีข้อร้องเรียนว่าจะส่งผลกระทบต่อข้าวฤดูกาลใหม่ว่า รัฐบาลมีแผนที่จะระบายให้หมด แต่เมื่อมีปัญหาก็ต้องตรวจสอบ และทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎกติกา ส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะทำให้เกิดผลกระทบกับข้าวฤดูกาลใหม่อยู่แล้ว รัฐบาลไม่ได้คิดแค่เรื่องขายข้าวและการระบายข้าว แต่ดูไปถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการระบายสินค้า ทั้งข้าวและยาง หรือสินค้าในสต็อกต่างๆ

“การดำเนินการนั้นมีแผนงานทั้งหมด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีคนไปหาประโยชน์ข้างล่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับสินค้าไปแล้วหาทางทุจริต ก็ต้องไปสอบสวนกัน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีเจตนาหรือเกื้อหนุนแต่อย่างใด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ขยายตลาดประชารัฐกว่า 6 พันแห่ง เปิดลงทะเบียนผู้ค้ารายใหม่ 1 พ.ย.นี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติโครงการตลาดประชารัฐไทยช่วยไทยของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด จำนวนทั้งสิ้น 6,447 ตลาดทั่วประเทศไทย ซึ่งจะเน้นขยายพื้นที่ตลาดเดิม หรือเพิ่มวันทำการเพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้มีโอกาสค้าขาย และมีการพัฒนาพื้นที่ตลาดใหม่ ซึ่งจะคิดค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยจากผู้ค้า เช่น ค่าน้ำค่าไฟพื้นฐาน เป็นต้น โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ 562 ล้านบาท จัดสรรจากงบประมาณที่เคยจัดสรรแต่ละหน่วยงานก่อน หากไม่เพียงพอจึงทำเรื่องเสนอขอเพิ่มเติม ทั้งนี้ เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2560 ก่อนจะเริ่มต้นเปิดดำเนินการพร้อมกันในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และผลที่คาดว่าจะได้รับคือมีผู้ลงทะเบียนกลุ่มที่เป็นรายใหม่ 102,844 ราย แบ่งเป็น

    1) ตลาดประชารัฐ Green Market ดำเนินการโดยองค์การตลาด จำนวน 3 พื้นที่ ตลาดตลิ่งชัน มีผู้เช่าเดิม 162 แผง พื้นที่เช่าใหม่ 126 แผง และพื้นที่ว่างหมุนเวียน 11 แผง, ตลาดบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีผู้เช่าเดิม 16 แผง พื้นที่เช่าใหม่ 154 แผง และพื้นที่ว่างหมุนเวียน 150 แผง และตลาดลำพู มีผู้เช่าเดิม 10 แผง พื้นที่เช่าใหม่ 244 แผง และพื้นที่ว่างหมุนเวียน 586 แผง มีกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการอาหารรายใหม่ รวมทั้ง 3 ตลาดมีผู้ประกอบการรายใหม่ 847 ราย

    2) ตลาดประชารัฐไทยช่วยไทยคนไทยยิ้มได้ ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน โดยเน้นการบริหารจัดการพื้นที่เดิม เพิ่มผู้ประกอบการและขยายวันดำเนินการอีก 1 วัน ครอบคลุมพื้นที่ 2,155 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 10-20 รายต่อแห่ง รวมผู้ประกอบการรายใหม่ 21,550 ราย มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร เครือขายโอทอป กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย

    3) ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยเน้นการเพิ่มพื้นที่ขายในตลาดเดิม ใช้พื้นที่ในตลาดเดิมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 3,822 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมแห่งละ 10-20 ราย รวมผู้ค้ารายใหม่ 45,864 ราย เพิ่มวันทำการ และยกเว้นค่าธรรมเนียมผู้ค้ารายใหม่ มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรในพื้นที่ ประมงพื้นบ้าน

    4) ตลาดประชารัฐ กทม. คืนความสุข ดำเนินการโดย กทม. มีแนวคิดเน้นจัดที่ทำการค้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจากการไม่มีสถานที่ค้าขาย 11,033 ราย รวมทั้งจัดจำหน่ายสินค้าโอทอป 50 เขต กทม. มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 14 แห่ง เปิดดำเนินการแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ ใต้ทางด่วนพงษ์พระราม 340 ราย, หน้าภัตราคารกุ้งหลวง 30 ราย, บริเวณใกล้สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 146 ราย, ลานจอดรถข้างสวนลุมพินี 137 ราย และพื้นที่ตรงข้ามวันสุทธิวราราม ซอยเจริญกรุง 60 44 ราย

    5) ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ดำเนินการโดยจังหวัดและบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด แนวคิดเน้นการจำหน่ายสินค้าที่มีความโดดเด่นในพื้นที่ สินค้าตามฤดูกาล สินค้าที่ล้นตลาด เช่น ตลาดปลา ผลไม้ ข้าวสาร เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และการแลกเปลี่ยนการขายสินค้าระหว่างจังหวัด มีพื้นที่ดำเนินการบริเวณศาลากลางจังหวัด หน้าที่ว่าการอำเภอและสถานที่ราชการที่มีศักยภาพและสถานที่ท่องเที่ยวอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ครั้ง มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเกษตรกร เอสเอ็มอี ผู้มีรายได้น้อย เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 100-200 รายต่อแห่ง รวมตลาด 76 แห่ง และมีผู้ประกอบการรายใหม่ 15,200 ราย

    6) ตลาดประชารัฐ Modern Trade ดำเนินการโดยพาณิชย์จังหวัดและบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด มีแนวคิดขอความร่วมมือกับเอกชนและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ที่ร่วมโครงการดำเนินการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม เพื่อให้ผู้ประกอบการระดับชุมชน เกษตรกร ได้มีโอกาสค้าขายในห้างสรรพสินค้า โดยขอยกเว้นค่าสถานที่และเป็นโอกาสเชิงรุกหาลูกค้า มีพื้นที่ดำเนินการอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการทุกประเภทที่ผ่านการคัดเลือก เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 50-200 รายต่อแห่ง รวมตลาด 76 แห่ง มีผู้ประกอบการรายใหม่ 3,800 ราย

    7) ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. มีแนวคิดเพิ่มพื้นที่ทางการตลาดบริเวณหน้าธนาคาร สร้างมาตรฐานสินค้า เปิดพื้นที่ขายสินค้าบริเวณสถานีน้ำมัน ปตท. และบางจาก และทำ Matching Product กับ ธ.ก.ส. สาขาต่างๆ มีพื้นที่ดำเนินการบริเวณหน้า ธ.ก.ส. 146 แห่ง และบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ 1 แห่ง รวมผู้ประกอบการทั้งหมด 1,128 ราย มีเป้าหมายไปที่กลุ่มเกษตรกรรายได้น้อย ลูกค้า ธ.ก.ส. รวมเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 1,470 ราย

    8) ตลาดประชารัฐต้องชม ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ มีแนวคิดส่งเสริมการตลาด การประชาสัมพันธ์ในตลาดชุมชนที่มีความพร้อม มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น การท่องเที่ยวชุมชน กระตุ้นการค้าขาย ดำเนินการในปี 2559-2560 จำนวน 154 แห่ง และในปี 2561 จะเพิ่มอีกจังหวัดละ 1 แห่งหรือรวม 77 แห่ง มีพื้นที่ดำเนินการเป็นตลาดน้ำหรือตลาดในแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดละ 1 แห่ง กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร กลุ่มผู้ค้ากับนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ผู้ประกอบการในชุมชน รวมผู้ประกอบการรายใหม่ 3,080 ราย

ผ่านหลักเกณฑ์ตั้งสถาบันอุดมศึกษาต่างชาติในEEC

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์การดำเนินการการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ หลังมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพทันสมัย มีเทคโนโลยีสูง เข้ามาเปิดทำการในประเทศไทยเฉพาะพื้นที่ของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยกำหนดว่าคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพสูงจากต่างประเทศ จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติ

ทั้งนี้ ในวันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้นำหลักเกณฑ์การพิจารณามาเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1) ต้องได้รับการรองรับในสาขาวิชาการจัดอันดับใน 100 อันดับแรกของหน่วยงานที่มีการจัดอันดับการศึกษา ได้แก่ Times Higher Education และ Quacquarelli Symonds (QS) World University Rankings 2) ต้องมีการจัดเรียนการสอนในหลักสูตรที่เป็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศตามประกาศของคณะกรรมการฯ และ 3) การมาดำเนินการในประเทศไทย ต้องมีการจัดให้มีการเรียนการสอนตามรูปแบบหลักสูตรรายวิชาเดียวกับที่มีการจัดการเรียนสอนตามหลักสูตรของวิชานั้น ในวิทยาเขตหลักของอุดมศึกษาหรือใช้มาตรฐานเดียวกัน อนึ่ง ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จะกำหนดแบบฟอร์มการเข้ามาจัดตั้งของสถาบันอุดมศึกษาต่อไป แต่ในเบื้องต้นมี Carnegie Mellon University ที่แสดงความสนใจชัดเจน

แก้กม.แพ่ง 6 มาตรา หนุน Startup

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. อนุมัติร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ให้บริษัทจำกัดดำเนินการได้ในประเด็นหุ้นกู้แปลงสภาพ การทยอยให้หุ้น (Vesting) สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด (ESOP) และหุ้นบุริมสิทธิ) และร่าง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 6 มาตรา เพื่อดึงดูดการจัดตั้งบริษัท Startup ในประเทศไทย รายละเอียดดังนี้

    1) แก้ไขเพิ่มเติมให้มีข้อยกเว้นสำหรับบริษัทจำกัดสามารถชี้ชวนให้ประชาชนซื้อหุ้นได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

    2) แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ถือหุ้นสามารถชำระค่าหุ้นโดยหักหนี้กับบริษัทได้สองกรณี คือ
    2.1 กรณีทำตามมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และกรณีเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ
    2.2 กรณีบริษัทปรับโครงสร้างหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน

    3) แก้ไขเพิ่มเติมให้บุริมสิทธิในหุ้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้และแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญได้

    4) แก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทเป็นเจ้าของถือหุ้นตนเองได้ในกรณีซื้อหุ้นคืนตามมติพิเศษของผู้ถือหุ้นในกรณีเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

    5) แก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทสามารถเสนอหุ้นให้กับผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทหรือเจ้าหนี้ของบริษัทได้โดยไม่ต้องเสนอให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนได้

    6) แก้ไขเพิ่มเติมให้มีข้อยกเว้นให้บริษัทจำกัดสามารถออกหุ้นกู้ได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
    ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติหลังแก้ไขเกี่ยวกับการกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษในส่วนของการแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญ

อนุมัติพาณิชย์ฯ-ยื่น USTR ขอทบทวนสถานะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทย

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ยื่นเรื่องขอเปิดทบทวนสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยนอกรอบ (OCR) หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เยือนสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้ โดยเป็นการทบทวนภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จะประเมินสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าช่วงปลายเดือนเมษายนของทุกปีใน 4 ด้าน ได้แก่ ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตรและยา และการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับการจัดสถานะในระดับ 2 คือ ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) โดยหลังจากยื่นเรื่องแล้วภายใน 20 ตุลาคม 2560 ภาคเอกชนเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะสามารถยื่นความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนที่รัฐบาลไทยจะชี้แจงกลับไปภายในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 และคาดว่าจะสรุปผลได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560

ปฏิเสธข่าวเพิ่มเงินบัตรคนจน 800 บาท ติงปลัดคลังให้ข่าว

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า สำหรับข่าวเรื่องรัฐบาลจะเพิ่มเงินในบัตรผู้มีรายได้น้อยเป็น 800 บาท ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ขณะที่ พล.ท. สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่าในที่ประชุม ครม. พล.อ. ประยุทธ์ ได้ติงนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ผ่านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าการให้ข่าวควรมีการปรึกษารัฐมนตรีก่อน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน

ปรับ”ถ้อยคำ”ร่างมาตรฐานจริยธรรม หวั่นกระทบนักการเมือง

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบผลการประชุมร่างมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานองค์กรธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ อาจเกิดปัญหาในการบังคับใช้เมื่อต้องนำมาบังคับใช้ร่วมกับ ครม. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และกรรมการบริหารพรรคการเมืองต่างๆ

โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ครม. ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาหลักการและถ้อยคำที่อยู่ในร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง รวมทั้งนำข้อสังเกตจากส่วนราชการต่างๆ มาพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะนำเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับทราบ และรับฟังข้อคิดเห็นต่อไป

ข้อกำหนดที่อาจทำให้เกิดปัญหา เช่น “การไม่รับของขวัญ ของกำนัล ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการให้โดยธรรมจรรยา” ไม่ได้ระบุวงเงินไว้เท่ากับว่าไม่ให้รับโดยเด็ดขาด ขณะที่ตามประกาศของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดให้สามารถรับได้ไม่เกินวงเงิน 3,000 บาท โดยกำหนดเพิ่มเติมข้อความว่า “ในการณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ข้อห้ามใดๆ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมนี้สามารถปฏิบัติได้ภายใต้เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง หากปฏิบัติไปตามกฎหมายและเงื่นไขนั้น ให้ถือว่าไม่เป็นการฝ่าฝืนธรรมจรรยานี้” หรือ “การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ เป็นกลาง ไม่หวั่นต่อกระแสสังคม” โดยธรรมชาติไม่น่าจะใช้กับองค์การทางการเมือง อย่าง ครม. สภา หรือพรรคการเมืองได้ จึงควรใช้ถ้อยคำให้ผ่อนปรน เช่น “ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ” เพิ่มเติมข้อกำหนด “ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชน อันอยู่ในความรับผิดชอบของตนอย่างเป็นธรรม ถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน”

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลพิจารณาแล้วสถานภาพการทำงานของศาล องค์กรอิสระ กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นต่างกัน ข้อกำหนดเรื่องการรับของกำนัลสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจทำให้เกิดปัญหา ตัวอย่างนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่พบประชาชน หากมีประชาชนคาดผ้าขาวม้าให้ หรือมอบกระเช้าดอกไม้ให้ ก็ผิดตามมาตรฐานจริยธรรมนี้ และอาจถูกใช้เป็นเรื่องร้องให้พ้นสภาพได้”

เห็นชอบร่างกม.ทะเบียนราษฎร-ปัดรัฐล้วงข้อมูลปชช.

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว เพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

โดยมีสาระสำคัญ เช่น การเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยให้ส่วนราชการและหน่วยงานราชการสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้  แก้ไขเกี่ยวกับการกำหนดเลขที่ประจำบ้านและเลขทะเบียนบ้าน โดยให้เลขประจำบ้านเฉพาะบ้านที่ปลูกสร้างถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายอื่น กำหนดเพิ่มให้แพ เรือ หรือสิ่งสร้างขึ้นอย่างอื่นแต่มีการใช้สอยลักษณะที่อยู่อาศัยมีเลขประจำบ้านได้ รวมถึงการพิสูจน์สิทธิของบุคคล การแก้ไขปัญหาเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน และเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการี ให้ได้รับการจดทะเบียนการเกิด การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไร้ที่อยู่โดยให้ผู้ไร้ที่อยู่เป็นผู้แจ้งย้ายออกจากบ้านได้

“ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 5-20 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้ว” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันการบิดเบือนและความเข้าใจผิด ตนขอยืนยันว่า การเชื่อมโยงข้อมูลทะเทียนราษฎรโดยหน่วยงานของรัฐนั้นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อล้วงความลับของประชาชน ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เข้าถึงข้อมูลได้นั้นจะเป็นเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเท่านั้น

เห็นชอบส่งทหารร่วมภารกิจ UN ในเซาท์ซูดาน

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการส่งกองกำลังทหารช่างเข้าร่วมในภารกิจ United Nations Mission in South Sudan (UNMISS) โดยส่งเจ้าหน้าที่ทหารไทย จำนวน 1 กองร้อยทหารช่างก่อสร้าง กำลังพลประมาณ 268 นาย (อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง) เข้าร่วมภารกิจดังกล่าว เป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง ประจำที่กรุงจูบา สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน ซึ่งมีความปลอดภัยสูงและมีกองกำลังของรวันดาคุ้มกันอยู่ด้วย

สำหรับค่าใช้จ่าย สหประชาชาติเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการส่งกองกำลังเข้าร่วมภารกิจ UNMISS โดยรัฐบาลไทยจะต้องสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อนและสหประชาชาติจะเบิกจ่ายงบประมาณชำระคืน (reimbursement) ให้ประมาณ 307 ล้านบาทต่อวงรอบ 1 ปี ซึ่งกองบัญชาการกองทัพไทยพิจารณาแล้วเห็นควรขออนุมัติเงินทดรองราชการในวงเงิน 450 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับหมุนเวียนให้การส่งบำรุงและสับเปลี่ยนกำลังเป็นไปโดยเรียบร้อยในกรณีที่สหประชาชาติเบิกจ่ายงบประมาณให้กับรัฐบาลไทยล่าช้า รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายได้รับงบประมาณคืนจากสหประชาชาติให้ครอบคลุมระยะเวลา 1 ปีครึ่ง

เห็นชอบหลักเกณฑ์ประกาศสถานการณ์ภัยคุกคาม

มีรายงานเพิ่มเติมว่า  ครม. เห็นชอบร่างประกาศสภาความมั่นคงแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการยกเลิกการประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคาม และการกำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญกำหนดบทนิยามคำว่า สถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ คือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงซึ่งเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง สลับซับซ้อน หากไม่แก้ไข จะเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อเอกราช อธิปไตย หรือที่กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ

สำหรับระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ภัยคุกคามระดับเฝ้าระวัง ในกรณีสถานการณ์ที่การก่อการร้ายมีโอกาสเกิดขึ้นสูงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศอย่างมาก และภัยคุกคามระดับเฝ้าระวังพิเศษ ในกรณีสถานการณ์ที่การก่อการร้ายมีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุดหรืออย่างแน่นอน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศอย่างร้ายแรง

โดยหลักเกณฑ์ในการประเมินระดับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย จะพิจารณาเจตนาของผู้ก่อเหตุและความมุ่งมั่นที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ รวมทั้งขีดความสามารถ ความรู้ และความเชี่ยวชาญของผู้ก่อเหตุ และทรัพยากรของผู้ก่อเหตุ ตลอดจนสภาพแวดล้อม ความดึงดูดของพื้นที่ เป้าหมาย มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของพื้นที่เป้าหมาย และผลกระทบจากการก่อการร้าย และขั้นตอน วิธีการ เงื่อนไขการประกาศและการยกเลิกประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคาม

ทั้งนี้ให้ สมช. ประชุมหารือกับหน่วยงานด้านการข่าวและความมั่นคงเพื่อประเมินสถานการณ์ตามหลักเกณฑ์ และให้ข้อเสนอแนะการประกาศระดับภัยคุกคามพร้อมทั้งความเห็นและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อ สมช. อย่างไรก็ตาม ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคาม เมื่อสิ้นสุดห้วงระยะเวลาหรือมีประกาศยกเลิก หรือมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก และการพิจารณาสถานการณ์ใดเข้าข่ายเป็นการก่อการร้าย ให้เป็นไปตามความหมายของการก่อการร้ายตามมาตรา 135/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา