ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 1 ปีกับแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ การปนเปื้อนตะกั่วในดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ยังคงมีปริมาณสูง

1 ปีกับแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ การปนเปื้อนตะกั่วในดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ยังคงมีปริมาณสูง

18 เมษายน 2014


หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชดใช้ค่าเสียหายและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้สารตะกั่วในธรรมชาติไม่เกินค่ามาตรฐาน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556

การดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เดือนมิถุนายน 2556
การดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เดือนมิถุนายน 2556

ในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ทาง คพ. ได้มาตรวจสอบสารตะกั่วในน้ำ ตะกอนดินในลำห้วย ดิน สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปลา พืชไร่ ผักสวนครัว ฯลฯ และกลับมารายงานผลให้ชาวบ้านทราบโดยการนำโปสเตอร์มาติดประกาศบริเวณวัดคลิตี้ล่าง 4 ครั้งต่อปี คือในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม

ข่าวคลิตี้ปี 2555 พบว่า ในน้ำและตะกอนท้องน้ำมีปริมาณตะกั่วสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณใต้โรงแต่งแร่ลงมา ด้านสัตว์น้ำทั้งหมดยกเว้นปลามีปริมาณตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐานคือ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะหอยที่มีค่าตะกั่วสูงสุดที่ 307.76 มิลลิกรัม ในขณะที่พืชผักส่วนใหญ่สามารถบริโภคได้ ยกเว้นพืชผักที่ปลูกบริเวณโรงแต่งแร่

ข้อมูลจาก คพ. ในปี 2556 ผลการตรวจปริมาณสารตะกั่วในตะกอนดิน ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ยังคงมีปริมาณสูงและเกินค่ามาตรฐานเช่นเดิม มีเพียงปริมาณสารตะกั่วในแหล่งน้ำเท่านั้นที่อยู่ในค่ามาตรฐานน้ำดื่ม

โปสเตอร์รายงานปริมาณสารตะกั่วที่คพ. รับไปปรับปรุงเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น
โปสเตอร์รายงานปริมาณสารตะกั่วที่ คพ. รับไปปรับปรุงเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น

ด้านโปสเตอร์ที่ คพ. มาติดประกาศให้ชาวคลิตี้ทราบนั้น ในช่วงแรกชาวบ้านไม่เข้าใจ เพราะแสดงผลเป็นตารางและใช้ภาษาไทยรวมถึงขาดเจ้าหน้าที่มาอธิบายให้ฟังด้วย เนื่องจากชาวบ้านคลิตี้ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงโปว์ แม้ว่าจะมีคนอ่านออกเขียนภาษาไทยได้ แต่ก็ไม่เข้าใจความหมายของข้อความนั้นนัก และไม่สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและสุขภาพของตนเองได้ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมจึงหารือกับทาง คพ. และทาง คพ. ได้เข้าพบชาวบ้านคลิตี้ล่างเพื่อรับทราบปัญหาและปรับปรุงโปสเตอร์ใหม่โดยการใช้ภาพประกอบเพิ่มมากขึ้น

กระบวนการสกัดตะกั่ว
กระบวนการสกัดตะกั่ว

ทั้งนี้ ด้าน ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า จากการตรวจปริมาณสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณตะกั่วอยู่ในระดับสูงและเป็นอันตราย โดยตะกั่วมีทั้งหมด 5 แบบ คือ

1. ตะกั่วที่พร้อมจะละลายลงน้ำ (Exchangeable Fraction) เป็นตะกั่วที่เกาะอยู่กับดินอย่างหลวมๆ สามารถถูกชะละลายออกจากตะกอนสู่น้ำได้ง่ายที่สุด

2. ตะกั่วที่ตกตะกอนอยู่กับคาร์บอเนตตามธรรมชาติ (Carbonate Fraction) เป็นแร่ตะกั่วทุติยภูมิชนิดเดียวกับที่ขุดมาจากเหมืองบ่องามเพื่อนำมาแต่งแร่ที่โรงแต่งแร่คลิตี้ ปกติจะชะละลายออกมาง่ายเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ แต่หากอยู่ในลำห้วยคลิตี้อาจจะชะละลายออกมาไม่ง่ายนัก เนื่องจากลำห้วยคลิตี้มีคาร์บอเนตสูง (เกิดจากการชะละลายของหินปูนจากภูเขาหินปูนตามธรรมชาติ)

3. ตะกั่วที่เกาะติดอยู่กับเหล็กและแมงกานีสออกไซด์ (Fe-Mn Oxide Fraction) เป็นตะกั่วที่มีความเสถียร หลุดออกมาจากดินได้ยาก จะชะละลายเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ

4. ตะกั่วที่เกาะติดกับสารอินทรีย์ หรือซัลไฟด์ (Organic Fraction) เป็นแร่ตะกั่วปฐมภูมิที่พบในบริเวณลึกๆ ใต้ดิน หรือเกิดจากการแต่งแร่ที่ทำการเปลี่ยนตะกั่วคาร์บอเนตให้เป็นตะกั่วซัลไฟด์เพื่อการลอยแร่ มีความเสถียรต่ำและชะละลายได้หากทำปฏิกิริยากับอากาศ

5. ตะกั่วที่คงค้างในผลึกแร่ที่มีความเสถียรสูง (Residual Fraction) เป็นตะกั่วที่คงค้างในดินและละลายออกมายากที่สุด

ปัจจุบันตะกั่วที่เหลืออยู่คือแบบโครงผลึกแร่ อีกทั้งตะกั่วที่อยู่บนบกจะอันตรายกว่าตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ด้วย เนื่องจากไม่ถูกน้ำชะล้างเลยกว่า 10 ปี

ปริมาณตะกั่วที่คลิตี้
ปริมาณตะกั่วที่คลิตี้

“จากตารางด้านบนจะเห็นว่า ปริมาณตะกั่วจากบ่อกักเก็บหางแร่เมื่อ 15 ปีที่แล้วกับตะกอนตะกั่วในบ่อฝังกลบที่ คพ. ขุดขึ้นมาในปี 2556 นั้นมีปริมาณตะกั่วครบทุกชนิดในปริมาณสูง แต่สำหรับตะกอนในลำห้วยคลิตี้กลับมีตะกั่วเพียงบางชนิดและมีความปริมาณต่ำกว่า นั่นเพราะตะกอนในลำห้วยถูกน้ำชะล้างมานานแล้วกว่า 10 ปี นี่คือเหตุผลว่าทำไมตะกอนตะกั่วบนบกถึงอันตรายกว่าตะกอนท้องน้ำ และทำไมผลการตรวจน้ำในลำห้วยคลิตี้ถึงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่ม” ดร.ธนพลกล่าว

ด้านการฟื้นฟูลำห้วยหลังจากที่ คพ. ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์เวิร์ดกรีน จำกัด (มหาชน) เคลื่อนย้ายบ่อฝังกลบตะกอนดินที่เคยตักขึ้นมาจากท้องลำห้วยเมื่อปี 2542-2543 ที่ฝังอยู่ใกล้ลำห้วยรวม 8 หลุม นำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการทั้งหมด 4 หลุมด้วยงบประมาณ 7 ล้านบาท ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556

ต่อมา คพ. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาศึกษา สำรวจ และเก็บตัวอย่างในลำห้วยคลิตี้ แล้วนำตะกอนไปวิเคราะห์หาตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ หลังจากนั้นสรุปเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อหาวิธีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่เหมาะสมที่สุด โดยลงนามสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 ระยะเวลาว่าจ้าง 120 วัน

ผศ.ดร.เนตรนภิส ตันเต็มทรัพย์ ที่ปรึกษาโครงการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันได้เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลจากห้องแล็บเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ในช่วงวิเคราะห์ผลลัพธ์ และนำไปประชุมกับทีมนักวิชาการเพื่อหาทางเลือกแล้วไปรับฟังความคิดเห็นจากชาวคลิตี้ล่าง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัญหาที่ตอนนี้ยังรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านไม่ได้ เพราะทีมวิชาการยังไม่รู้ว่าจะใช้ทางเลือกใดในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เนื่องจากยังไม่รู้เทคโนโลยีที่จะใช้ ยังไม่ทราบพื้นที่จะฝังกลบตะกอน และยังคำนวณไม่ได้ว่าจะต้องตักตะกอนขึ้นมาอย่างไรปริมาณเท่าไหร่ เพราะไม่ทราบมาตรฐานที่ใช้ในการฟื้นฟู ซึ่งต้องรอประชุมกับกลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญก่อนไปรับฟังความเห็นกับชาวบ้าน

“หลังจากรับความคิดเห็นชาวบ้านแล้วก็จะจบการทำงานระยะแรกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับ แต่ยังเหลือการการฟิ้นฟูตามคำสั่งศาลปกครองอีก 2 ระยะ นั่นคือการดำเนินการก่อสร้างฟื้นฟูและการติดตามตรวจสอบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้เข้ามาทำงาน” ผศ.ดร.เนตรนภิสกล่าว

หินจากภายนอกที่ขนเข้ามาเพื่อใส่กรงสร้างฝายใหม่ เมื่อกันยายน 2556
หินจากภายนอกที่ขนเข้ามาเพื่อใส่กรงสร้างฝายใหม่ เมื่อกันยายน 2556

ทั้งนี้ คพ. ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด หมั่นตั้งธรรม ด้วยงบประมาณ 5,495,500 บาท เพื่อสร้างฝายดักตะกอนใหม่ซึ่งมีอยู่ 2 จุด คือ ตำแหน่ง KC4 และ KC4/1 เนื่องจากฝายหินเรียงเดิมทรุดตัวลงและพังทลายไปมากแล้ว โดยในสัญญาว่าจ้างระบุเวลาก่อสร้าง 10 พฤษภาคม 2555 – 5 มกราคม 2556 แต่การสร้างฝายทั้ง 2 แห่งล่าช้าจากกำหนดการและมาเสร็จสิ้นเมื่อต้นปี 2557

การก่อสร้างทำโดยรื้อฝายเก่าขึ้นทั้งหมด แล้วทำทางผันน้ำชั่วคราวเพื่อก่อสร้างฝายใหม่โดยนำหินใส่กรงลวดแล้วนำกรงไปเรียงซ้อนกันเป็นฝายกั้นน้ำ หลังจากนั้นจะดูดตะกอนดินบริเวณหน้าเขื่อนขึ้นมาใส่บ่อซึ่งขุดไว้ริมลำห้วย โดยปูผ้าใยสังเคราะห์รองในบ่อก่อนแล้วฝังกลบพักไว้เพื่อรอขนย้ายออกจากพื้นที่พร้อมกับบ่อตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่ยังค้างอยู่อีก 4 หลุม เพื่อการไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ

ปัจจุบันมีการขุดบ่อพักตะกอนเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ดูดตะกอนมาใส่ ต้องรอฝายดักตะกอนช่วงฤดูฝนนี้ก่อน

ภาพการดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่ฝาย KC4/1

ฝาย KC4/1 เดิมที่รื้อเสร็จแล้ว
ฝาย KC4/1 เดิมที่รื้อเสร็จแล้ว
บ่อดินที่ขุดไว้เพื่อดูดดินตะกอนจากลำห้วยมาใส่บริเวณฝาย KC4/1
บ่อดินที่ขุดไว้เพื่อดูดดินตะกอนจากลำห้วยมาใส่บริเวณฝาย KC4/1
กรงใส่หินเพื่อทำฝายตำแหน่ง KC4/1
กรงใส่หินเพื่อทำฝายตำแหน่ง KC4/1
ภูเขาหินที่ระเบิดเพื่อถมถนนทางเข้าบริเวณ KC4/1
ภูเขาหินที่ระเบิดเพื่อถมถนนทางเข้าบริเวณ KC4/1
คนงานเคลียร์พื้นที่เพื่อทำทางผันน้ำ
คนงานเคลียร์พื้นที่เพื่อทำทางผันน้ำ

เดิมทีก่อนรื้อฝายเก่าออกต้องทำเขื่อนหรือฝายชั่วคราวกั้นไว้ แต่ คพ. ไม่ได้ปฏิบัติ ทำให้ตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วหน้าฝายเดิมไหลไปตามลำห้วย ซึ่งทาง คพ. ให้เหตุผลว่าไม่เป็นไรเพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องขุดลอกออกตลอดทั้งลำห้วยอยู่แล้ว

ฝายkc4/1 ที่สร้างเสร็จแล้วเมื่อต้นปี 2557
ฝาย KC4/1 ที่สร้างเสร็จแล้วเมื่อต้นปี 2557
บ่อดักตะกอนที่ฝายkc4/1 ที่สร้างเสร็จแล้วเมื่อต้นปี 2557
บ่อดักตะกอนที่ฝาย KC4/1 ที่สร้างเสร็จแล้วเมื่อต้นปี 2557

ส่วนฝายตำแหน่ง KC4 ฝั่งหนึ่งอยู่ติดไร่ข้าวโพดและสวนยางของชาวบ้าน อีกฝั่งเป็นที่ดินกรมป่าไม้ ซึ่งทางผู้รับเหมาได้ตกลงซื้อพื้นที่จากชาวบ้านและขอใช้พื้นที่กรมป่าไม้แล้วก่อนการก่อสร้าง

ทั้งนี้ การก่อสร้างฝายปกติต้องทำในหน้าแล้ง แต่เนื่องจากขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม่ได้ในช่วงฤดูฝน อีกทั้ง คพ. ต้องเร่งใช้งบประมาณปี 2556 ให้แล้วเสร็จ มิฉะนั้นต้องคืนงบฯ ให้รัฐบาล คพ. จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างในฤดูฝน

ภาพการดำเนินงานเมื่อเดือนกันยายน 2556

ฝาย KC4 ที่ทรุดตัวและพังทลายบางส่วน แต่ยังไม่ได้รื้อออก เมื่อเดือนกันยายน 2556
ฝาย KC4 ที่ทรุดตัวและพังทลายบางส่วน แต่ยังไม่ได้รื้อออก เมื่อเดือนกันยายน 2556
ฝาย KC4 ฝั่งตรงข้ามเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ส่วนอีกฝั่งเป็นสวนยางพาราแลไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน เมื่อเดือนกันยายน 2556
ฝาย KC4 ฝั่งตรงข้ามเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ส่วนอีกฝั่งเป็นสวนยางพาราและไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน เมื่อเดือนกันยายน 2556

ล่าสุด จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 3-4 เมษายน 2557 ฝายทั้งสองแห่งสร้างเสร็จแล้ว

บ่อดักตะกอนบริเวณฝาย KC4
บ่อดักตะกอนบริเวณฝาย KC4
ฝายKC4 ที่สร้างเสร็จแล้วเมื่อต้นปี 2557
ฝาย KC4 ที่สร้างเสร็จแล้วเมื่อต้นปี 2557

จากฝายทั้ง 2 แห่งพบปัญหาคือ มีน้ำทะลุออกมาตามช่องว่างของหิน นั่นหมายความว่าเขื่อนหินไม่สามารถกั้นตะกอนดินได้ ซึ่งตามหลักการแล้วเขื่อนจะกั้นลำห้วยทั้งหมดแล้วปล่อยให้น้ำล้นออกบนสันเขื่อน เพื่อให้ตะกอนดินตกที่หน้าสันเขื่อน

เรื่องสารตะกั่วในแหล่งน้ำ ชาวบ้านก็พยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุด แต่ปัญหาความยากจนและขาดแคลนน้ำในบางช่วงก็ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ เช่น บ้านบางหลังประปาภูเขาไปไม่ถึงหรือไม่มีโอ่งน้ำรองน้ำฝนไว้ใช้ บางครั้งประปาภูเขาไม่ไหล หรือเวลาออกไปทำไร่ก็จำเป็นต้องใช้น้ำในลำห้วย ซึ่งปัญหานี้ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมได้เงินสนับสนุนมาก้อนหนึ่งและหารือร่วมกับชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยอาจจะจัดซื้อโอ่งไว้ที่บ้านหรือซื้อถังน้ำไว้ในไร่ให้กับชาวบ้าน