ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไอแบงก์” แจงคืบหน้าแผนฟื้นฟู พร้อม “เพิ่มทุน-หาพันธมิตร” – ดึง “วิทัย รัตนากร” ทำแผนธุรกิจ มั่นใจปีหน้าพลิกกำไรรอบ 5 ปี

“ไอแบงก์” แจงคืบหน้าแผนฟื้นฟู พร้อม “เพิ่มทุน-หาพันธมิตร” – ดึง “วิทัย รัตนากร” ทำแผนธุรกิจ มั่นใจปีหน้าพลิกกำไรรอบ 5 ปี

6 ตุลาคม 2017


นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ ไอแบงก์(กลาง)

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจที่จำเป็นต้องฟื้นฟูเร่งด่วน ได้แถลงผลความคืบหน้าของการดำเนินการ โดยนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ ไอแบงก์ ว่า นับตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด มีเป้าหมายให้ไอแบงก์ต้องมีผลประกอบการไม่ขาดทุนในปี 2560 ด้วยการเร่งเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย เร่งโอนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPF ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ IAM ก่อนจะเพิ่มทุน 18,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนเงินกองทุน BIS กลับมาเป็น 0% และพร้อมเดินหน้าหาพันธมิตรต่อไป

ปัจจุบันในภาพรวมไอแบงก์ได้ดำเนินการแล้วเสร็จค่อนข้างมาก โดยในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้อนุมัติการโอนหนี้เสีย พร้อมกับอนุมัติให้เพิ่มทุนได้ตามแนวทางที่กำหนด ก่อนที่ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2560 ได้โอนหนี้เสียกว่า 40,000 ล้านบาทไปยัง IAM เรียบร้อยแล้ว ขณะที่การเพิ่มทุนคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบให้แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารอิสลาม พ.ศ. 2545 ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นได้มากกว่า 49% เตรียมรองรับการเพิ่มทุนในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะตามขั้นตอน และในแง่การประกอบธุรกิจล่าสุดในเดือนธันวาคม 2559 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ไอแบงก์ปล่อยสินเชื่อกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ถึง 500 ล้านบาท และสำหรับรัฐวิสาหกิจ 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีคำสั่งกำหนดเพดานไว้ที่ 200 ล้านบาทในปี 2556 สุดท้ายสำหรับภาพผลประกอบการคาดว่าจะหยุดการขาดทุนได้ เนื่องจากเห็นสัญญาการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนการหาพันธมิตรยังรอราคาประเมินธนาคารใหม่ ก่อนจะเริ่มต้นเปิดการเจรจาต่อไป

ขณะที่ความคืบหน้าของการหาผู้กระทำผิดและสร้างความเสียหายต่อไอแบงก์ นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ได้ลงโทษผู้บริหารและพนักงานทางวินัยตามขั้นตอนไปแล้ว 48 ราย เป็นความผิดวินัยร้ายแรงครึ่งหนึ่งและไม่ร้ายแรงอีกครึ่งหนึ่ง ขณะที่ความผิดทางอาญาได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 22 ราย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 16 ราย สุดท้าย สำหรับการดำเนินการทางแพ่งมีที่ส่งฟ้องแล้ว 4 ราย กำลังสอบสวนอีก 22 ราย

ดึงตัว “วิทัย รัตนากร” จากออมสิน ทำแผนพลิกไอแบงก์

นายวิทัย รัตนากร

ทั้งนี้ ไอแบงก์ได้ยืมตัวนายวิทัย รัตนากร รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลงทุนและบริหารการเงิน มานั่งเป็นกรรมการและรักษาการผู้จัดการธนาคาร ระยะเวลา 6 เดือนและต่ออายุได้อีก 6 เดือน โดยนายวิทัยกล่าวว่า ตนมีภารกิจหลัก 2 ประการ ได้แก่

1) ทำให้ไอแบงก์กลับมาทำธุรกิจได้เหมือนเดิม โดยคาดว่าจะเน้นไปที่การขยายธุรกิจสินเชื่อ เนื่องจากปัจจุบันไอแบงก์มีฐานเงินฝากถึง 90,000 ล้านบาท ขณะที่มีฐานสินเชื่อเพียง 40,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องขยายฐานสินเชื่อเพื่อมาหล่อเลี้ยงเงินฝาก เพื่อให้กลับมาทำธุรกิจให้มีกำไรได้อีกครั้ง ทั้งนี้ กลยุทธ์หลักที่ไอแบงก์จะใช้คือการแข่งขันด้านราคา โดยคงความเข้มงวดเรื่องความเสี่ยงเครดิตไม่ให้เกิดหนี้เสียอีกเด็ดขาด โดยปีหน้าควรจะขยายสินเชื่อให้ได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทจากที่ติดลบอยู่ หรือเติบโต 25% ถึงจะเพียงพอ และคาดว่าไอแบงก์จะกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานอย่างแน่นอนในปีหน้าหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 5 ปี

“เราแข่งที่เรื่องอัตราดอกเบี้ยได้ เพราะโจทย์เราไม่ได้เน้นทำกำไรสูงสุดแบบธนาคารพาณิชย์ โจทย์เราคือขยายธุรกิจสินเชื่อและเอาส่วนต่างหรือมาร์จินตรงนี้มากลบต้นทุน ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะไม่ได้ทำแบบนี้ เพราะมีเรื่องของการหากำไรสูงสุดอยู่ ก็ต้องตั้งอัตราอีกแบบ ส่วนต้นทุนเงินฝากเราปัจจุบัน 1.84% คาดว่าถ้าลดลงมาได้นิดหน่อย 20 สตางค์ก็จะมาช่วยได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่การเพิ่มทุน 18,000 จากกระทรวงการคลังคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการเงินของไอแบงก์ได้” นายวิทัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแง่กำไรสุทธิจะต้องรวมผลของปัญหาหนี้เสียในอดีตด้วย เนื่องจากความล่าช้าของการดำเนินการโอนหนี้เสีย ทำให้ปัจจุบันไอแบงก์มีหนี้เสียรวมกันเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือ 16% ของสินเชื่อ จากเดิมที่กำหนดให้ต้องโอนหนี้เสีย ณ สิ้นปี 2559 และเหลือหนี้เสียของชาวมุสลิมประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งต้องทยอยบริหารจัดการรายการต่างๆ ให้เป็นปัจจุบันก่อน ถึงจะคาดการณ์ผลประกอบการโดยรวมได้

“คือผลประกอบการจากการดำเนินงานปีหน้ากำไรแน่นอน แต่กำไรสุทธิยังมีเรื่องสำรองหนี้เสียที่ต้องมาดูอีกที เพราะกำไรสุทธิมันคือกำไรจากการดำเนินงานบวกกับเรื่องหนี้เสียในอดีตที่ค้างมา ต้องตรวจสอบสถานะของสินเชื่อทั้งหมดอีกครั้ง เนื่องจากล่าช้าออกมาของเดิมกำหนดให้ตัดบัญชีสิ้นปี 2559 แต่ทำได้จริงมิถุนายน 2560 ก็มีสินเชื่อบางกลุ่มที่สีเทาๆ ไหลลงมาเพิ่มต้องปรึกษา ธปท. เรื่องตั้งสำรองว่าต้องทำอย่างไร ก็จะเข้าไปดูทุกรายการด้วยตัวเองว่าจะบริหารอย่างไร จะโอนไปที่ IAM เพิ่มหรือไม่ ส่วนจะเพียงพอต่อการทำให้ BIS Ratio กลับไปเป็น 0% ตามเงื่อนไขเดิมของพันธมิตรหรือไม่ ยังต้องกลับไปทบทวนสถานะของธนาคารอีกครั้ง ก่อนจะแถลงข่าวเมื่อทำแผนแล้วเสร็จทั้งหมด” นายวิทัยกล่าว

2) เร่งหาพันธมิตรที่ชำนาญในธุรกิจธนาคารอิสลาม เพื่อช่วยไอแบงก์ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในระยะยาว โดยมีเงื่อนไขหลัก 2 ประการ ได้แก่ เป็นผู้ชำนาญในกิจการธนาคารอิสลามและมีเงื่อนไข ราคา ฯลฯ ที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันยังต้องรอการจัดทำแผนธุรกิจโดยละเอียดก่อนจะเสนอให้กระทรวงการคลังสิ้นเดือนตุลาคม