ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิชาการแนะ “พ.ร.บ.กำกับรัฐวิสาหกิจ” ต้องเพิ่มรายละเอียด “สรรหากรรมการ” ให้ชัดเจน โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม

นักวิชาการแนะ “พ.ร.บ.กำกับรัฐวิสาหกิจ” ต้องเพิ่มรายละเอียด “สรรหากรรมการ” ให้ชัดเจน โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม

13 พฤศจิกายน 2017


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดงานเสวนาสาธารณะ “อนาคตรัฐวิสาหกิจไทยกับ ร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ” เพื่อรับฟังการชี้แจงจากผู้ผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว และแลกเปลี่ยนความเห็นหรือข้อกังวลต่อการปฏิรูปครั้งสำคัญนี้ที่อาจจะเปลี่ยนอนาคตรัฐวิสาหกิจไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), นายณัฐวุฒิ ไพศาลวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สคร., นายบรรยง พงษ์พาณิช อดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด, นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ

3 ประเด็นที่ “อ่อนไหว”

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวหลายประเด็นมีความเห็นตรงกันแล้ว แต่มีประเด็นอ่อนไหวอยู่บางประการ เช่น กังวลว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ในความเป็นจริงกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด โดยการแปรรูปยังคงต้องอาศัยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจต่างๆ และกฎหมายฉบับนี้รวมถึงคณะกรรมการตามกฎหมายไม่ได้มีอำนาจที่จะลบล้างมติ ครม. เดิมเช่นเดียวกัน เพียงแต่กฎหมายได้เพิ่มกลไกการกำกับดูแลเพิ่มเติมให้ คนร. สามารถให้ความเห็นในกรณีที่รัฐบาลต้องการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นได้

ประเด็นที่ 2 คือเรื่องสถานะของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ระบุว่าให้คงเอาไว้ตราบเท่าที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นการอ้างอิงตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ที่ระบุเอาไว้เช่นนั้นในกรณีที่สถานะของรัฐวิสาหกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดยที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ไปแก้ไขแต่อย่างใด และประเด็นสุดท้ายเรื่องแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี โดยหลักการเป็นการวางกรอบการทำงานของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งให้สอดคล้องกันไม่กระจัดกระจายไปตามกระทรวงเจ้าสังกัดแบบที่เคยเป็นมา โดยสามารถทบทวนได้ทุก 3 ปี เพื่อความสอดคล้องกับปัจจัยเศรษฐกิจและสังคมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

นายณัฐวุฒิ ไพศาลวัฒนา (2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สคร., นายบรรยง พงษ์พาณิช (ขวาสุด) อดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด, นายสมหมาย ภาษี (3 จากขวา) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ (2 จากขวา) อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ (3 จากซ้าย) ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ

แนะ “กระจายอำนาจกรรมการ” คานอำนาจการตัดสินใจ

รศ. ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยในเชิงหลักการทุกอย่าง แต่ในทางปฏิบัติอาจจะมีประเด็นปัญหาบางประการว่าโครงสร้างของกฎหมายที่ร่างจะสามารถตอบโจทย์ตามหลักการได้หรือไม่ โดยประเด็นแรกคือแม้ว่ากฎหมายจะมีระบุให้เปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด แต่ในอีกทางหนึ่งกลับไม่ค่อยพูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่าไรนั้น ทำให้กลไกการตรวจสอบอาจจะทำได้ไม่เต็มที่นัก ตัวอย่างเช่น หลายครั้งที่จัดเวทีสาธารณะยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ทำให้หลายครั้งกว่าผู้มีส่วนได้เสียจะทราบเวลาอาจจะผ่านไปแล้ว

สำหรับรายละเอียดในร่างกฎหมาย เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ สคร. ผ่าน คนร. ขณะที่ในร่างกฎหมายยังไม่ได้ระบุบทบาทหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอย่างละเอียดเพียงพอ เช่น รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักทรัพย์ เมื่อมาอยู่ภายใต้บรรษัทแล้วจะมีการบริหารจัดการอย่างไร ข้อกำหนดต่างๆ ระหว่างกฎหมายจะเป็นอย่างไร เป็นต้น และประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของคณะกรรมการตามกฎหมาย ซึ่งมีการแต่งตั้งโดยตำแหน่งที่ซ้ำกันหลายตำแหน่งและอาจจะทำให้การคานอำนาจกันไม่สมดุลเท่าที่ควร ข้อเสนอคืออาจจะระบุไม่ให้กรรมการสามารถนั่งได้เพียง 1 คณะกรรมการเท่านั้น จะช่วยกระจายอำนาจการตัดสินใจออกไป

ห่วง “การสรรหา” แนะปิดช่องการเมืองแทรกแซง

ดร. เดือนเด่น กล่าวว่า ตนเป็นห่วงเรื่องของการสรรหาคณะกรรมการบริษัทเช่นเดียวกัน เนื่องจากคณะกรรมการแต่ละคณะเป็นการเลือกต่อกันเป็นทอดๆ ทำให้เปิดช่องให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ สำหรับทางออกจากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ จะมีวิธีการอย่างเช่นการกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจน ซึ่งในกฎหมายมีการกำหนดเพียง “ให้ใช้” ทักษะของกรรมการ หรือ skill matrix ในการคัดเลือกและยังเปิดช่องในการใช้ดุลยพินิจอยู่ ตนจึงเห็นว่าจะสามารถล็อกทักษะที่จำเป็นเอาไว้ในรายรัฐวิสาหกิจอาจจะช่วยเพิ่มความชัดเจนและโปร่งใสได้ ตัวอย่างเช่น สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่กำหนดคุณสมบัติพวกนี้เอาไว้แต่แรก ว่าในคณะกรรมการตำแหน่งนี้จะต้องมีคุณสมบัติด้านการตลาด ด้านบัญชี เป็นต้น

นอกจากระบุทักษะของกรรมการอย่างชัดเจนอีกแนวทางที่ควรจะนำมาปฏิบัติคือ การคัดเลือกกรรมการโดยคนนอกที่กำหนดอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องไปเลือกจากอดีตข้าราชการต่างๆ เนื่องจากอดีตข้าราชการมีทั้งที่ดีและไม่ดี การเปิดช่องดังกล่าวอาจจะทำให้มีการแทรกแซงของนักการเมืองอีก โดยการกำหนดอาจจะกำหนดตัวบุคคลในปัจจุบันที่มีหน้าที่หรือบทบาทที่ห่างจากภาคการเมืองและเป็นที่ยอมรับ เช่น ประธานสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น

ทั้งนี้ กลไกการสรรหาตัวบุคคลอาจจะยังไม่สำคัญเท่ากลไกการป้องกันตรวจสอบ เพราะว่าหากกลไกการตรวจสอบดี แม้ว่าจะคัดเลือกผิดพลาด แต่สุดท้ายกรรมการเหล่านี้ก็ไม่สามารถสร้างความเสียหายได้ ซึ่งส่วนนี้กฎหมายร่างออกได้ดีที่ให้เปิดเผยข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในหลายประเด็นอาจจะยังไม่เพียงพอและต้องการการเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น เช่น การเปิดเผยระเบียบการสรรหาอาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องเปิดเผยไปถึงกระบวนการการสรรหาทั้งหมดว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีการถกเถียงภายในกันอย่างไร เป็นต้น

นายสมหมาย กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากเห็นมาตั้งแต่เป็นข้าราชการว่ารัฐวิสาหกิจเป็นแหล่งของการหาผลประโยชน์ และทำให้รัฐวิสาหกิจขาดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ตนเคยเสนอให้ขายรัฐวิสาหกิจบางแห่งออกไปด้วย แต่ติดปัญหาบางอย่างเลยพลิกมาเป็นการปฏิรูปการกำกับดูแล

ในร่างกฎหมายมีหลายมาตรา ที่เห็นว่าเป็นการเพิ่มอำนาจผ่านการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการ รวมไปถึงการกำหนดให้บรรษัทให้เป็นหน่วยงานของรัฐอาจจะทำให้การตรวจสอบต่างๆ มีปัญหาได้

นายณัฐวุฒิ ตอบประเด็นปัญหาที่เป็นข้อกังวลเพิ่มเติมว่า หน้าที่ของบรรษัทจะมีหน้าที่เพียงผู้ถือหุ้นและมีอำนาจตามจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ตัวบรรษัทจะอยู่ภายใต้การเป็นเจ้าของของรัฐทั้งหมด ซึ่งแตกต่างกันและอาจจะทำให้หลายฝ่ายเข้าใจผิดว่าจะเป็นการแปรรูปออกไปเป็นของเอกชนได้ ขณะที่ประเด็นเรื่องของการตรวจสอบ บรรษัทยังอยู่ภายใต้กฎหมายการกำกับดูแลของรัฐ แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น การก่อหนี้ยังอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหนี้สาธารณะ เนื่องจากยังเป็นหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ยังมีหลักเกณฑ์ตามที่ คนร. กำหนดอีกชั้นหนึ่ง และชั้นสุดท้ายคือการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งต้องทำตลอดเวลา ส่วนข้อกังวลว่า คนร. จะมีการแทรกแซงหรือไม่ ส่วนนี้ยังอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สามารถเอาผิดได้ ดังนั้น ในทุกส่วนของกฎหมายจะมีการกำกับดูแลและเปิดข้อมูลอย่างครบถ้วนหลายชั้น