ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ไม่ตอบคำถามสื่อ แจงผ่านตัวหนังสือ – ครม. อนุมัติตอกเข็มรถไฟฟ้าสีชมพู-เหลือง เพิ่มทุนไอแบงก์ 18,000 ล้านบาท

นายกฯ ไม่ตอบคำถามสื่อ แจงผ่านตัวหนังสือ – ครม. อนุมัติตอกเข็มรถไฟฟ้าสีชมพู-เหลือง เพิ่มทุนไอแบงก์ 18,000 ล้านบาท

30 พฤษภาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนด้วยการเขียนตอบ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานฯ ภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน แต่ตอบคำถามที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าด้วยการเขียนตอบแทน

แจงปลดบอร์ดเอโอทีต้องมีหลักฐาน ไม่ตามกระแส

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึง กรณี สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่งผลการศึกษาและมีข้อเสนอแนะถึงนากยกรัฐมนตรีให้ปลดบอร์ดบริษัทท่าอากาศยานไทย และยกเลิกสัญญากับคิงพาวเวอร์ ว่า จะทำการปลดในเรื่องของอะไร จะปลดก็ต้องดูในเรื่องของการสอบสวนและในเรื่องของกฎหมายด้วยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ รัฐบาลจะนำเรื่องที่เป็นกระแสมาทำโดยไม่มีที่มาของเรื่องซึ่งการกระทำทุกอย่างต้องมีหลักฐาน มีผู้เสียหาย และท้ายที่สุดก็ต้องคำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร

ย้ำคำถาม 4 ข้อ ท้ายสุดประชาชนเป็นผู้เลือก

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในกรณีของการตั้งคำถาม 4 ข้อ มั่นใจหรือไม่ว่าจะได้คำตอบจริง หรือเพราะเกรงกันว่า จะมีการกลั่นกรองเอาแต่คำตอบที่ถูกใจนายกฯ ตนไม่ได้มีความตั้งใจที่อยากจะได้คำตอบที่ตรงใจหรือไม่ตรงใจตนเอง แต่แค่ต้องการจะสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชนคิดว่าจะช่วยกันอย่างไรให้ได้รัฐบาลที่ดี มีธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมืองต่อไป ซึ่งคำถามนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีเลย เพราะสุดท้ายการเลือกตั้งก็เกิดจากที่ประชาชนเป็นผู้เลือก และลงมือเลือกเองด้วยความรอบครอบ

ระเบิดใต้รอตรวจสอบ วอนทุกคนช่วยเฝ้าระวัง

กรณีรองนายกมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่าเหตุระเบิดภาคใต้ของไทยเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของไอเอส รวมถึงเหตุระเบิดบนเกาะมินดาเนาอินโดนีเซียมีส่วนเชื่อมโยงกันกับไทย พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในขณะนี้ยังตรวจสอบไม่พบว่าเป็นการปฏิบัติของกลุ่มไอเอสหรือไม่ หากมีหลักฐานที่ชัดเจนจนพิสูจน์ได้ว่ามีการเชื่อมโยงกันก็จะทำการแจ้งให้ทราบภายหลัง แต่ในขณะนี้อยากให้ทุกคนช่วยกันเฝ้าสังเกต หรือช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานรัฐบาล แต่ถึงอย่างไรก็อยากให้ตระหนักว่าการวิพากษ์วิจารณ์ขยายข่าวออกไปนั้นอาจจะส่งผลกระทบกับประเทศได้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อในเรื่องของการให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานความมั่นคงทำหน้าที่ติดตาม สืบสวน อย่างเคร่งครัด ตนมองว่าต้องยุติปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศให้ได้โดยเร็ว ไม่ให้ขบวนการรุนแรงนอกประเทศเข้ามาแทรกแซง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎ ที่ข้อมูลยังไม่ตรงกันจากผู้รับผิดชอบ รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับชื่อผู้ต้องสงสัยของผู้บัญชาการทหารบก ว่า ขณะนี้กำลังทำงานอยู่ และการทำงานยังอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวน หากมีการจับกุมได้จะแจ้งให้ทราบ

ส่วนคำถามว่านายกรัฐมนตรีจะให้การยืนยันได้ไหมว่าพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยไม่ได้เป็นพื้นที่หลบซ่อนของไอเอส พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า คงใช้คำว่ายืนยันไม่ได้ แต่อยากให้ใช้คำว่าตรวจสอบยังไม่พบจะดีกว่า ทั้งงานด้านการสืบสวนสอบสวนในขณะนี้ยังไม่พบความเชื่อมโยง พบเมื่อไหร่จะแจ้งให้ทราบ พร้อมเน้นย้ำว่าอย่าชักศึกเข้าบ้าน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัยว่า ขณะนี้ได้ทำการพูดคุยเพื่อกำหนดพื้นที่บ้างแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องพิจารณาในเงื่อนไขต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายต้องการให้สอดคล้องและเข้าใจตรงกัน และที่สำคัญเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งตอนนี้อยากจะให้ทุกคนสนใจในเรื่องของการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายปกติ ซึ่งการพูดคุยสันติสุขนั้นเป็นวิธีการของสากลที่ปฏิบัติไปด้วยกัน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องหญิงไทยถูกล่อลวงไปค้ากามสหรัฐฯ ขณะที่ในไทยก็มีปัญหาค้ากามเด็กว่า การกระทำเช่นนี้เป็นวงจรอุบาทว์ที่มีแต่ผู้ไม่สุจริตเขาทำกัน โดยขณะนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทำการปราบปรามทุกกระบวนการอย่างครบวงจร

เรื่องรถหรูเลี่ยงภาษีและถูกโจรกรรมจากต่างประเทศ โยงข้าราชการจำนวนมาก รัฐบาลมีนโยบายอย่างไรเพื่อไม่ให้ลูบหน้าปะจมูกเหมือนที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า แต่ก่อนก็มีคดีเช่นนี้เกิดขึ้น รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง หรือกรมศุลกากร ก็ได้ทำการรื้อเรื่องทั้งหมดออกมาทำการทบทวน ตรวจสอบ และเร่งรัดดำเนินคดีให้ถึงที่สุด นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำ

แก้ไขน้ำท่วมต้องแก้ทั้งระบบให้ยั่งยืน

เรื่องฤดูฝนปีนี้จะสามารถรับมือกับปริมาณน้ำได้หรือไม่ โดยเฉพาะใน กทม. พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าฝนตกไม่มากกว่าปกติ ก็พอที่จะแก้ไขให้ทุเลาลงได้ แต่ถึงอย่างไรการจะแก้ไขให้ยั่งยืนต้องทำการแก้ทั้งระบบ ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ หรือการป้องกันพื้นที่ กทม. พื้นที่ตะวันตกและตะวันออก และแม่น้ำเจ้าพระยา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและพื้นที่ลุ่มต่างๆ ว่า มีแผนและมีงบประมาณของผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่แล้ว โดยรัฐบาลพร้อมเติมมาตรการ หรืองบประมาณลงไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ

มติ ครม. อื่นๆ ดังนี้

ผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู รัฐอุดหนุนเพิ่ม 10 ปี 60,410 ล้านบาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ชนะบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยกิจการร่วมค้าเสนอราคาโครงการรถไฟฟ้าสีชมพู วงเงิน 45,764 ล้านบาทสูงกว่า BEM ที่เสนอที่ 45,660 ล้านบาท ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสีเหลือง กิจการร่วมค้าเสนอราคา 43,104 ล้านบา สูงกว่า BEM ที่เสนอ 54,593 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องสนับสนุนเอกชนตามสัญญาอีก 60,410 ล้านบาทในทั้ง 2 โครงการ โดยโครงการสายสีชมพูจะได้รับการอุดหนุน 29,347 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดสรรค่ากรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 6,847 ล้านบาท และค่างานโยธาที่สนับสนุนให้เอกชน 22,500 ล้านบาท (ระยะเวลา 10 ปี) ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสีเหลืองจะได้รับอุดหนุน 31,063 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดสรรฯ 6,013 ล้านบาท และค่างานโยธาฯ 25,050 (ระยะเวลา 10 ปี)

ดึง “ทางด่วนฉลองรัช-บูรพาวิถี” เข้า TFF – ระดมทุน 44,819 ล้านบาท สร้างเพิ่ม 2 เส้น

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) (TFF) โดยนำร่องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นำรายได้ค่าผ่านทางของโครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ของ กทพ. เพื่อไปลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของ กทพ. ในโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก

ทั้งนี้ โครงสร้างและรูปแบบ TFF จัดตั้งภายใต้ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 8/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการ TFF และเป็นกองทุนปิดที่ไม่จำกัดอายุของกองทุน รวมทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย TFF จะเสนอขายหน่วยลงทุนแก่นักลงทุนทั่วไป ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนตามผลการดำเนินการของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมฯ ลงทุน โดยไม่มีกลไกการรับประกันผลตอบแทน เนื่องจากโครงการมีกระแสรายได้ที่มั่นคงแล้ว

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปทางกระทรวงการคลังจะไปตกลงสัญญาโอนและรับสิทธิการโอนในรายได้ (Revenue Transfer Agreement: RTA) ก่อนที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบและเสนอขายต่อสาธารณชนต่อไป

ด้านนายณัฐพรกล่าวเสริมว่า โครงการทางด่วนที่จะก่อสร้างใหม่ 2 โครงการ มีวงเงินลงทุนรวม 44,819 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงิน 30,437 ล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก วงเงิน 14,382 ล้านบาท พร้อมยังกล่าวถึงข้อสั่งการของ พล.อ. ประยุทธ์ ว่า ในการขายหน่วยลงทุนดังกล่าว ประชาชนจะต้องมีสิทธิในการซื้อด้วย และไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนตอนแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ผู้บริหารกลายมาเป็นคนซื้อหุ้นไปแทนจนหมด

ดร.เอกนิติกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหน่วยลงทุน TFF วงเงิน 1,000 ล้านบาท และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน กระทรวงการคลังจะลงทุนในหน่วยลงทุนของ TFF เพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 9,000 ล้านบาทจากกองทุนวายุภักษ์

นอกจากนี้ เพื่อจูงใจให้หน่วยงานภาครัฐนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานมาระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการในการสร้างแรงจูงใจในการนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานของ กทพ. มาระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ เช่น 1) การเห็นสมควรให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการคำนวณกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัส เพื่อชดเชยในกรณีที่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ โดยการนำรายการผลกระทบทางบัญชีที่เกิดจากการนำโครงการเข้าระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ มาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อการจัดสรรโบนัส และ 2) ให้ กทพ. สามารถนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวซื้อหน่วยลงทุน A ของกองทุนรวมฯ และ/หรือสามารถบริหารสภาพคล่องได้ตามขอบเขตที่กำหนดไว้ในกฎหมายจัดตั้งของ กทพ. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้

ดร.เอกนิติกล่าวสรุปว่า การระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ เป็นแหล่งเงินทุนใหม่ที่ กทพ. สามารถลงทุนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอสะสมรายได้หรือรอการจัดสรรเงินกู้ในการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม และไม่เป็นหนี้สาธารณะของประเทศ นอกจากนี้ สามารถนำเงินทุนของภาครัฐทั้งเงินกู้และงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศได้มากขึ้น เช่น ด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต

“อยากจะชี้แจงความกังวลที่เห็นในตอนนี้ว่าการระดมทุนดังกล่าวจะไปกระทบกับหน่วยงานรัฐ เพราะดูจะแพงกว่าการใช้งบประมาณหรือกู้เงินโดยรัฐบาลค้ำประกันที่กู้ได้ 3% แต่การระดมทุนจะเป็น 8% ต้องเรียนว่า 8% ดังกล่าวเป็นอัตราคิดลดของโครงการว่ากระแสรายได้ในอนาคตมีมูลค่าในปัจจุบันเท่าไหร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประเมินอิสระของ ก.ล.ต. ใช้คำนวณเบื้องต้น แต่ในความเป็นจริงตัวผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่ 8% หากเอกชนประเมินแล้วว่าในอนาคตทางด่วนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือประเมินว่ารายได้แน่นอนแค่ไหน ถ้ายิ่งเห็นว่ารายได้เพิ่มขึ้นมากหรือให้ราคาในอนาคตสูงขึ้น ผลตอบแทนกับดอกเบี้ยจะต่ำลง และเวลาไปศึกษาในตลาดหลักทรัพย์ปกติจะต่ำกว่าอัตราคิดลดที่ใช้ ต้นทุนจะต่ำลง ส่วนอีกประเด็นคือการกู้รัฐบาล 3% มันไม่สามารถเทียบกันได้เลย เพราะการกู้ 3% เป็นการใช้เครดิตของรัฐบาลกู้ ซึ่งรัฐบาลมีเพดานที่สามารถกู้ได้ ทำให้ต้องไปแย่งจากส่วนอื่นมาเปรียบเทียบเหมือนรัฐบาลเป็นพ่อแม่ มีลูกคนโต โตแล้วมีสินทรัพย์ของตนเองระดับหนึ่งแล้ว มีลูกคนกลางที่ต้องเรียนหนังสือ แล้วยังมีตายายมีลูกคนเล็กต้องดูแล ก็ต้องดูภาพรวมของประเทศด้วยว่าพ่อแม่จะจัดสรรเงินอย่างไร เราต้องการไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน เราต้องดูแลการศึกษา ดูแลผู้สูงอายุ การที่เราเอาโครงสร้างพื้นฐานมาแย่งเครดิตของรัฐบาล เหมือนไปแย่งเงินน้องมานะครับ การที่ลูกคนโตบอกว่าขอเงินพ่อแม่เพราะดอกเบี้ยถูก แต่มันไปแย่งเงินของน้องของตายายไม่ให้มีโอกาสเข้าโรงเรียนหรือไปโรงพยาบาลที่ดี แต่อีกด้านไม่ใช่ว่าทิ้งลูกคนโต แต่ลูกคนโตมีสินทรัพย์มีอะไรแล้ว พ่อแม่ก็บอกว่างั้นจะร่วมลงทุนด้วยและไประดมทุนทางอื่นมาสร้างเส้นทางให้เติบโตไปได้ด้วย” ดร.เอกนิติกล่าว

เพิ่มทุน “ไอแบงก์” 18,000 ล้านบาท – หาพันธมิตร จี้จับตัวคนทำผิด

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการเงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เริ่มจาก 1) โอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPF ส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิมไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ IAM ที่กระทรวงการคลังจัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ จำนวน 50,251 ล้านบาท โดยขายในมูลค่าตามบัญชีสุทธิที่ 22,987 ล้านบาท 2) ลดทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วจากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 0.01 บาท เพื่อนำไปล้างผลขาดทุนสะสมให้ได้มากที่สุด 3) เพิ่มทุน 18,000 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้นแต่ละรายก่อน แต่คาดว่าส่วนใหญ่กระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้ซื้อหุ้นดังกล่าวและต้องแก้ไขกฎหมายธนาคารอิสลามให้กระทรวงการคลังถือหุ้นมากกว่า 49% ตามที่ในปัจจุบันได้ถืออยู่ 4) โอนทุนสำรองตามกฎมหาย 473 ล้านบาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสม โดยหลังจากนี้ ไอแบงก์จะต้องเร่งสรรหาพันธมิตร ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิถุนายน 2560 ส่วนในรายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนเจรจา

นอกจากนี้ ไอแบงก์ยังมีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมาย 1) เพิ่มรายได้เป็นจำนวน 2,535 ล้านบาท จากการออกผลิตภัณฑ์การเงินให้หลากหลาย เพื่อรองรับลูกค้ามุสลิมและขยายสินเชื่อมุ่งเน้นไปที่ลูกค้ามุสลิมและลูกค้าสินเชื่อขนาดใหญ่ที่มีวงเงินมากกว่า 200 ล้านบาท และหน่วยงานรัฐ มีเป้าหมายสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในปี 2561-2567 ปีละ 4,000 ล้านบาท, 2) ลดค่าใช้จ่าย ให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% โดยจะควบคุมค่าใช้จ่ายพนักงานให้เหมาะสม, ปิดสาขาที่ไม่สนับสนุนการทำธุรกิจ (คาดว่าจะประหยัดได้อีก 50 ล้านบาท), ปรับลดขนาดองค์กรและอัตรากำลัง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ เช่น ตู้ ATM หรือการทำตลาดร่วมกัน เป็นต้น สุดท้ายคือการลดจำนวนหนี้ NPF ไม่ให้เกิน 6% ของสินเชื่อรวม ผ่านระบบการอำนวยสินเชื่อและติดตามของธนาคารให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังได้สั่งการเพิ่มเติมให้สอบสวนเอาผิดผู้ที่สร้างความเสียหายแกไอแบงก์และประเทศด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2557 ฐานะการเงินของไอแบงก์ มีหนี้ NPF สูงถึง 47,878 ล้านบาท หรือ 43.4% ของสินเชื่อรวม และในปี 2559 มีผลขาดทุนสะสม 28,278 ล้านบาทและมีส่วนของทุนติดลบ 16,969 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio -30.64% โดยการปรับโครงสร้างการเงินคาดว่าจะทำให้ไอแบงก์ในปี 2560 มีกำไรสุทธิ 5 ล้านบาท จากที่ขาดทุนสุทธิ 3,416 ล้านบาทในปี 2559 และมีส่วนของทุนเป็นบวกที่ 1,136 ล้านบาท และมี BIS Ratio 1.47%

ดร.เอกนิติกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องปรับโครงสร้างของไอแบงก์เพราะรัฐบาลเห็นความจำเป็นของธนาคารที่จะต้องให้บริการชาวมุสลิมในประเทศไทย และอีกด้านหนึ่งการให้หยุดกิจการไปเลยก็ต้องมาดูแลทั้งผู้ฝากเงิน รวมถึงชดเชยพนักงานต่างๆ ซึ่งอาจจะมากกว่าผลขาดทุนสะสมของไอแบงก์ ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดไปก่อนหน้านี้แล้ว

ดังนั้น ทางออกที่ปกติจะทำกันในการฟื้นฟูธนาคาร อย่างแรก จะต้องแยกหนี้ดีหนี้เสียออกจากกันก่อนจะกลับไปดำเนินธุรกิจอีกครั้งอย่างรัดกุม ส่วนหนี้เสียรัฐบาลก็ตั้ง IAM ขึ้นมาบริหารหนี้เสียดังกล่าว โดยซื้อไปในราคาทางบัญชี แปลว่าหากสามารถบริหารจัดการได้ดียังมีโอกาสที่จะนำความเสียหายกลับมาได้อีก ขณะที่หนี้ดีที่เหลืออยู่ 50,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินฝาก 100,000 ล้านบาท ย่อมไม่พอที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ รัฐบาลจึงต้องเพิ่มทุนให้ก่อนชั่วคราว หลังจากนั้นจึงหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยบริหารงานให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องต่อไป