ThaiPublica > เกาะกระแส > หนังสือเวียนจัดระเบียบวัดเข้าระบบหลุด สรรพากรยันไม่เก็บภาษวัด แจงอยู่ระหว่างทำ e-Donation ให้วัด-โรงเรียนเพื่อคืนภาษีได้รวดเร็ว

หนังสือเวียนจัดระเบียบวัดเข้าระบบหลุด สรรพากรยันไม่เก็บภาษวัด แจงอยู่ระหว่างทำ e-Donation ให้วัด-โรงเรียนเพื่อคืนภาษีได้รวดเร็ว

27 ตุลาคม 2017


เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560 กรมสรรพากรส่งแถลงข่าวมาที่แอปพลิเคชันไลน์ของนักข่าวกระทรวงการคลัง กรณีที่มีการนำหนังสือเวียนของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สุรินทร์ และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีของวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสุรินทร์ เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ พร้อมข้อความระบุว่า “หลุด! จากสรรพากรสุรินทร์ เข้าไปทำระบบจัดเก็บภาษีวัดเรียบร้อย ย้ำว่าภาษีวัด ไม่ใช่พระนะ! ใครจะทำบุญตอนนี้ก็จะมีภาษี ณ ที่จ่ายด้วย”

กรมสรรพากรขอเรียนชี้แจงว่า “กรมสรรพากรไม่มีนโยบายจัดเก็บภาษีจากวัดหรือศาสนสถานแต่อย่างใด รวมทั้งผู้ที่บริจาคก็ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ที่กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพัฒนาขึ้นมานั้น เป็นระบบที่มีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคเงินให้กับศาสนสถาน โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาค ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินคืนภาษีได้อย่างรวดเร็วขึ้นเท่านั้น และไม่เกี่ยวข้องกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด”

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560 นายสุรชัย ตั้งจิตเพียรโชค สรรพากรพื้นที่สุรินทร์ ลงนามในหนังสือเวียนแจ้งเจ้าอาวาสวัดทุกวัดในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เรื่อง ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์และการหัก ณ ที่จ่ายของวัด มีสาระสำคัญดังนี้

ด้วยรัฐบาลได้กำหนดนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” และมีข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งได้กำหนดให้ทุกส่วนราชการปรับปรุงการให้บริการให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมสรรพากรได้ปรับปรุงการให้บริการด้านการรับบริจาคของสถานศึกษา วัดวาอาราม ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐให้เป็นระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น สำนักงานสรรพากรพื้นที่สุรินทร์ จึงขอส่งเอกสารประชาสัมพันธ์ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สุรินทร์ เรื่องระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์และการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาเพื่อโปรดทราบ

ปรากฏว่ามีการนำหนังสือเวียนของสรรพากรพื้นที่สุรินทร์ พร้อมบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีเลขที่ 0994001072493 ของวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสุรินทร์ มาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้กรมสรรพากรต้องออกแถลงข่าวชี้แจง ยืนยันไม่มีนโยบายเก็บภาษีวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-Donation เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่บริจาคเงิน ไม่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด

รัฐสูญเสียรายได้จากลดหย่อนเงินบริจาค

ก่อนหน้านี้ ไทยพับลิก้าเคยนำเสนอข่าว “คนไทย “สปอร์ต- ใจดี” บริจาคเงินปีละ 5.5 หมื่นล้าน สรรพากรเพิ่งตื่น! ขาดข้อมูลยัน “ใบเสร็จ-ใบอนุโมทนาบัตร” จริงหรือปลอม” ซึ่งระบุว่าจากฐานข้อมูลภาษีของกรมสรรพากร ในปี 2551 มีผู้เสียภาษีนำใบเสร็จรับเงินบริจาคกับองค์กรการกุศลทุกประเภทมาหักลดหย่อนภาษีประมาณ 55,236 ล้านบาท หากคิดเป็นเม็ดเงิน กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ไปประมาณ 9,712 ล้านบาท แบ่งเป็นกรณีบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลทั่วไป 25,306 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ประมาณ 4,656 ล้านบาท และบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา 29,929 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ประมาณ 5,055 ล้านบาท

โดยกลุ่มคนรวยที่มาใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีกับรัฐมากที่สุด คือ คนที่มีเงินได้สุทธิอยู่ในช่วง 1-2 ล้านบาทต่อปี มีอยู่ประมาณ 93,650 ราย ได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษีบริจาคเงินเพื่อการศึกษา คิดเป็นวงเงิน 867 ล้านบาท บริจาคเงินให้องค์กรการกุศลทั่วไป 860 ล้านบาท รองลงมาจะเป็นคนที่มีเงินได้สุทธิอยู่ในช่วง 5-7.5 แสนบาทต่อปี มีประมาณ 220,251 ราย ได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษีบริจาคเงินเพื่อการศึกษา คิดเป็นวงเงิน 772 ล้านบาท บริจาคเงินให้องค์กรการกุศลทั่วไป 663 ล้านบาท