ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > #DJSI2017Scan: Sustainability Index ดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืน

#DJSI2017Scan: Sustainability Index ดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืน

23 กันยายน 2017


รายงานโดย วรางคณา ภัทรเสน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 การลงทุนอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางมากว่า 10 ปี และมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยผู้ลงทุนตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างผลประกอบการทางการเงินและผลการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้ให้ความสำคัญในการเลือกลงทุนโดยคำนึงถึงผลกระทบจากการประกอบธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลการลงทุนของ UNPRI ในระหว่างปี ค.ศ. 1995-2017 แสดงให้เห็นว่า มีการนำเงินไปลงทุนที่ให้ความสำคัญต่อ ESG ซึ่งมีการเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากจากมูลค่าประมาณ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้เพิ่มสูงถึงกว่า 10 เท่าจนกลายเป็นมูลค่าประมาณ 65 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

การขยายตัวของความต้องการที่จะลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทั่วโลกได้ริเริ่มพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืน หรือที่เรียกกันไม่ว่าจะเป็น Sustainability Index, ESG Index หรือ SRI Index (ในบทความนี้จะขอใช้คำว่า Sustainability Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ที่ประเมินด้านการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ควบคู่ไปกับการบริหารงานอย่างมีหลักบรรษัทภิบาล พร้อมกับการสร้างผลประกอบการที่ดีในทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญ คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ลักษณะโดยทั่วไปของ  Sustainability Index ในต่างประเทศจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและวิธีการเก็บข้อมูล ESG ของบริษัท เพื่อให้ได้รายชื่อบริษัทที่จะอยู่ใน Sustainability Index โดยสรุปได้ดังนี้

1. เกณฑ์การคัดเลือก มีการกำหนดใน 2 แนวทางหลัก คือ

         Exclusionary screening/Negative Screening กำหนดว่าจะคัดกรองบริษัทประเภทใดออกจากการพิจารณา โดยจะคัดกรองบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการที่ไม่เหมาะสมออก เช่น บริษัทผลิตสุรา บุหรี่ เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคาสิโน บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอาวุธนิวเคลียร์หรือเกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธ

          ESG Rating/Positive Screening กำหนดว่าจะคัดกรองให้บริษัทใดรวมเป็นบริษัทที่เข้าข่ายในการนำไปพิจารณาต่อ ซึ่งจะมีการนำหลักเกณฑ์ ESG มาใช้ประเมินบริษัท

2. วิธีการเก็บข้อมูล ESG ของบริษัท ผู้จัดทำดัชนีอาจใช้วิธีการให้บริษัทตอบแบบสอบถามหรือเก็บข้อมูลของบริษัทที่เปิดเผยไว้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น รายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน เว็บไซต์ของบริษัท

 ตัวอย่าง Sustainability Index ในต่างประเทศ

บทความฉบับนี้ขอยกตัวอย่าง Sustainability Index ในต่างประเทศ โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ผู้จัดทำดัชนีชั้นนำ (Index Provider) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ S&P Dow Jones, MSCI, FTSE Russell และ STOXX
  2. ตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่มีการจัดทำดัชนีความยั่งยืนเอง รวมทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่ Bursa Malaysia Stock Exchange, Singapore Stock Exchange, Korea Stock Exchange และ Hong Kong Stock Exchange

(ดังรายละเอียดในตารางด้านล่าง)