ThaiPublica > คนในข่าว > “อินโนบิก” มุ่งสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ด้วย “แพลตฟอร์ม” ให้คนไทยเติบโตไปด้วยกัน

“อินโนบิก” มุ่งสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ด้วย “แพลตฟอร์ม” ให้คนไทยเติบโตไปด้วยกัน

14 มีนาคม 2022


แผนยุทธศาสตร์ใหม่ของกลุ่มปตท. จำกัด (มหาชน)ด้วยแผนงานและงบลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2565-2569) ของกลุ่ม ปตท.รวมกว่า 9.4 แสนล้านบาท ตามกรอบวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” ที่จะเริ่มต้นในปี 2565 และต่อเนื่องไปอีก 5 ข้างหน้า นอกเหนือจากธุรกิจหลักด้านพลังงานแล้ว ปตท. ยังมุ่งธุรกิจใหม่ หนึ่งในนั้น คือ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ (life science) โดยการจัดตั้งบริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ขึ้นเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มีความมั่นคง

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด

“อินโนบิก” วางเป้า 3 ธุรกิจหลัก ยา-อาหาร-อุปกรณ์การแพทย์

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวถึงสาเหตุที่ ปตท. ก้าวกระโดดไปทำธุรกิจด้านชีววิทยาเพื่อชีวิต ว่า วิสัยทัศน์ของ ปตท. จะไม่ได้หยุดที่พลังงานเท่านั้น แต่มีคำว่า beyond คือธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยอนาคตของประเทศไทยต้องมุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เน้นด้านนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อให้มีการเติบโตบนฐานเศรษฐกิจใหม่ ปตท. จึงจัดตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) ขึ้น

โดยมุ่งสร้าง ecosystem ของชีววิทยาศาสตร์ เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยมีงานวิจัยจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไปไม่ถึง commercial scale จึงเป็นโจทย์ของอินโนบิก ในการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อเป็น ecosystem ให้งานวิจัยเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สามารถก้าวไปสู่การยอมรับทั้งในและต่างประเทศได้ ให้เทคโนโลยีที่วิจัยออกมาได้ไปสู่ระดับ commercial scale ได้ เท่ากับเป็นสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข

นอกจากนี้ ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ประเทศไทยมีโอกาส เนื่องจากประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ ด้านโรงพยาบาล แต่อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา อาหารเสริม ต้องมีการนำเข้าหมด อินโนบิกจะเข้ามาเติมเต็ม เปลี่ยนจากไทยที่ต้องนำเข้ากลายเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลาง หรือฮับเพื่อสุขภาพได้

“ขณะที่เทคโนโลยีในวันนี้เราได้เห็น digital technology แต่อนาคตที่ตามมา คือ bio technology เรื่องชีววิทยาศาสตร์ ชีวภาพ ที่แต่เดิมยังคิดอยู่ว่า จะทำหรือไม่ทำดี แต่พอมีโรคระบาดโควิด-19 ไม่สามารถนำเข้าเครื่องมือต่างๆ ได้ กลายเป็นความจำเป็นที่เราต้องมีความมั่นคงด้านสุขภาพ หรือในการผลิตวัคซีน MRNA ซึ่งก็คือ ไบโอเทคโนโลยี ที่เน้นเรื่องพันธุกรรม สารพันธุกรรม ทำให้เห็นว่าไบโอเทคโนโลยีจะมาในอนาคต จึงเป็นที่มาของ อินโนบิก หรือ innovation bio science นวัตกรรมทางด้านชีวเคมี”

ดร.บุรณิน กล่าวว่า ธุรกิจที่อินโนบิกมองไว้มี 3 ธุรกิจใหญ่ อันดับแรก คือ ธุรกิจยา โดยพยายามทำ 2 กลุ่ม คือยาเคมี กับยาในอนาคต คือยาชีววัตถุ หมายถึง ป่วยตรงไหนรักษาแค่จุดนั้น เพราะจุดอ่อนของยาเคมี คือ กินแล้วครอบจักรวาล บางเซลที่ไม่ป่วยก็อ่อนแอไปด้วย แต่อนาคต ยาที่จะมาคือ ยาชีววัตถุ

อันดับต่อมา คือธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบตรวจวินิจฉัยโรค หรือ medical technology

ธุรกิจที่สาม คือ อาหารเพื่อสุขภาพ โดยอาหารในอนาคตที่ออกมาจะอยู่ในรูปเชิงป้องกันโรค เพราะถ้ามนุษย์มีดีเอ็นเอที่ดี ร่างกายดี กินอาหารดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะป้องกันโรคได้ โดยเฉพาะสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เรื่องโภชนาการเป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลตัวเอง

“การก้าวกระโดดจากธุรกิจพลังงาน ไปสู่ธุรกิจใหม่ มาจากหลายอย่าง ทั้งสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราเปลี่ยน จังหวะที่เทคโนโลยีก้าวกระโดด กำลังไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ผมพูดในโซเชียลเลยว่า “โลกเปลี่ยน เราแค่ปรับ” เพราะไม่มีใครฝืนกระแสได้ เพราะโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ เปลี่ยนเอง แต่เปลี่ยนเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยน เพราะความนึกคิดคนเปลี่ยน แล้วเราจะไปดึงดันผลิตพลังงานแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงๆ มันเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย”

หรือการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เมื่อก่อนเราอาจไม่คิดเรื่องนี้ แต่พออายุมากขึ้น เห็นคนใกล้ตัวมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น ประเทศต้องการงบประมาณในการดูแลสุขภาพสูงขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันก็ต้องการงบไปพัฒนาประเทศ เราเห็นนักวิจัยเราทำงานวิจัยดีๆ แต่สุดท้ายผลงานออกมาไม่ได้ ฝรั่งเอางานคล้ายๆ กันไปทำ แล้วเอากลับมาขายเรา ฉะนั้น มันเป็นเพราะโลกเปลี่ยนด้วย แล้วเรามีจุดที่น่าจะพัฒนามันได้ เป็นความท้าทาย

แสวงหาพันธมิตรสร้างแพลตฟอร์มเติบโตไปด้วยกัน

นอกจากนี้ คีย์สำคัญที่ ปตท. เข้ามาทำธุรกิจนี้ เพราะต้องการเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่ดึงคนอื่นโตไปด้วยกันกับ ปตท. ใช้กลยุทธ์พันธมิตรหรือ partnership เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก และถ้าทำร่วมกัน เป็นพันธมิตรกัน เวลาได้ประโยชน์จะได้กันทุกคน

ฉะนั้น ช่วง 1 ปีก่อนจัดตั้งอินโนบิก จึงมีการเดินสายพูดคุยเพื่อบอกวัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมาย แล้วชักชวนให้มาทำงานร่วมกัน ทำให้เมื่อมีการตั้งอินโนบิก ไม่มีใครมาต่อต้านว่า ปตท. มาทำธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย ปตท. ใหญ่แล้วมายุ่งเรื่องนี้ทำไม มีแต่คนบอกว่า ควรทำ พอเป็นแบบนี้ ปตท. จึงปรับโครงสร้างใหม่ มีการแยกธุรกิจนี้ออกมา และไม่ได้ดูแค่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ต้องทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เกิดธุรกิจใหม่ในประเทศไทย หรือออกไปในต่างประเทศให้ได้

สำหรับพันธมิตรที่กล่าวถึงนั้น ในเรื่องยา ได้มีการจับมือกับบริษัท อัลโวเจน อีเมอร์จิง มาร์เก็ต โฮลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทจากไต้หวัน เป็นยาที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ยาก็อบ หรือยาที่ลิขสิทธิ์หมดอายุ หลังหมดอายุอัลโวเจนจะเป็นรายแรกๆ ที่นำยาออกสู่ตลาด ด้วยราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ อินโนบิกยังได้หารือกับคณะแพทย์ศาสตร์ และมีโครงการที่ทำกับองค์การเภสัชกรรม ในการศึกษาออกแบบก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ถ้าสำเร็จจะเป็นโรงงานแห่งแรกในประเทศไทยที่ผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ทั้งที่เป็นยาเคมีและชีววัตถุ

นอกจากนี้มีการหารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์เภสัชฯ เพื่อทำโรงงานสารตั้งต้นของยา เป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปผสมกับองค์ประกอบต่าง ๆ ในการผลิตยา โดยยาที่มีการศึกษา จะไม่ใช่ยารักษาโรคทั่วไป แต่จะมุ่งเน้นยาที่รักษาโรคที่ไม่ติดต่อ คือ โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน หัวใจ ที่มากับสังคมผู้สูงวัยและพฤติกรรมสมัยใหม่

ขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ อินโนบิกมีการจับมือกับบริษัท ไออาร์พีซี ทำฟิลเตอร์แผ่นหน้ากากอนามัย ที่เป็นวัสดุจากปิโตรเคมี มีการหารือกับสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology (VISTEC) ในการนำยีนหรือดีเอ็นเอไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือการร่วมกับ นพ.กฤษณ์ จาฏามระ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการเอาเซลส์มะเร็งเต้านมออกมาฝึก แล้วใส่กลับเข้าไปร่างกายเพื่อสู้กับเซลส์ตัวร้าย ซึ่ง นพ.กฤษณ์ เคยรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหาย ก็จะสนับสนุนทุนวิจัยเพิ่มเติม หรือศึกษาการแยกพันธุกรรม หรือ genetica ออกมา การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำคู่ขนานกันไป

เริ่มที่โภชนาการ คู่ขนานโรงงานผลิตยา

ดร.บุรณิน ฉายภาพให้เห็นว่า “นับจากนี้ไปอีก 5 ปี ด้านนวัตกรรม ในระยะสั้น อินโนบิกมีความพยายามในการสร้างเครือข่ายบริษัทยา อาหาร นักวิจัย พร้อมเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานยา โรงงานผลิตสารพันธุกรรม สาร API หรือารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (active pharmaceutical ingredients) พอถึงระยะ 5 ปีขึ้นไป เชื่อว่า telemedicine จะเริ่มเกิด การแพทย์เฉพาะเจาะจงเริ่มเกิด เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ เริ่มเปลี่ยนจากวัสดุสิ้นเปลืองเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่มีความอัจฉริยะมากขึ้น มี AI มี data base มากขึ้น ไปจนถึงการพัฒนา home use หรืออุปกรณ์เชิงการแพทย์ที่ใช้ในบ้าน เพื่อทดแทนการนำเข้า”

โดยปีนี้ อินโนบิก จะมุ่งเรื่องโภชนาการมากขึ้น จากการลงนามกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทำอาหารทางการแพทย์ อาหารคนป่วย คนเป็นเบาหวาน เป็นโปรตีนจากพืชที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นอาหารแท่ง แล้วผสมให้คนไข้กิน ขณะที่สังคมที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น อนาคตปรับจากการมาโรงพยาบาล เป็นการดูแลที่บ้าน หรือ home care เป็นการดูแลด้านโภชนาการที่ดีกว่าการให้ยา และไทยมีความชำนาญด้านโภชนาการ การขึ้นทะเบียนทดสอบก็ง่ายกว่ายา โดยอินโนบิก ได้ร่วมกับบางบริษัททำ plant based คือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืช แต่อยู่ในรูปแบบเเละรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ โดยจะผลิตเป็นสารตั้งต้น แล้วให้ร้านอาหารนำไปทำอาหารต่อ เพราะไม่ต้องการไปแย่งอาชีพกัน แต่เป็นการเสริมให้คนที่อยากกินโปรตีนจากพืช รวมทั้ง plant based มีข้อดีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ใช้แนวคิดวิ่งมาราธอน วางเป้าให้ชัดแล้วโตไปด้วยกัน

“วิทยาศาสตร์สุขภาพนี่เป็นภาพที่ใหญ่มาก ต้องโฟกัสดีๆ เพราะหนึ่งใช้เงิน สองใช้เวลา สามใช้ความรู้ ใช้คนและความเข้าใจของคนทั้งใน ปตท. และคนที่อยู่ภายนอก ปตท. วันนี้ใครนึกอะไรไม่ออกลองมาคุยกับอินโนบิกดู ขณะนี้มีการตั้งบริษัทลูก 4-5 แห่งแล้ว ใช้กลยุทธ์ร่วมทุนบ้าง ตั้งบริษัทใหม่บ้าง หรือเป็นพาร์ทเนอร์ ทุกคนบอกเรื่องนี้เป็นจังหวะที่ดี เป็นเรื่องจำเป็น”ดร.บุรณินกล่าว

การสร้างธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย อินโนบิกตั้งเป้าเหมือนนักวิ่งมาราธอน คือคอยบริหารจัดการการเดินแต่ละก้าว และระหว่างทางก็ต้องมีรายได้ด้วย เพราะบางอย่างต้องลงทุนระยะยาว ถ้ารอไป 8-9 ปี ก็จะไม่มีเงิน เพราะต้องทำวิจัยไปก่อนเป็น portfolio หรือการทำ joint venture การทำ mergers and acquisitions จะทำให้เร็วขึ้น เพราะบางครั้งงานวิจัยที่ออกมาต้นทุนสู้ไม่ได้ ไม่ทันสมัย เป็นต้น คีย์ที่สำคัญที่คน มีความกังวลว่าจะทำได้หรือเปล่า เหมือนอดีต 30 ปีก็ทำปิโตรเคมีมาก่อน ปตท. ก็เริ่มจากการทำปิโตรเคมีอย่างง่าย เม็ดพลาสติกธรรมดา เดี๋ยวนี้ก็มีเกรดพิเศษ เป็นต้นก็ปั้นและลองทำจนเป็น 1 ใน 10 ธุรกิจของโลก และเป็นธุรกิจสำคัญของไทย

สำหรับประเด็นเรื่องบุคคลาการที่ต้องมีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านนั้น นายบุรณินกล่าวว่า “ใช้แนวคิดเดียวกับเรื่อง innovation คือการทำงานร่วมกัน เป็นวิธีที่ดีที่สุด อินโนบิกจะทำในเรื่องที่ชำนาญ แต่บางเรื่องต้องทำร่วมกับคนที่ชำนาญ นอกจากนี้ คณะกรรมการของอินโนบิกจำนวน 8 ท่าน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิถึง 6 ท่าน เป็นคน ปตท. เพียง 2 ท่าน คือ ผมและฝ่ายการเงิน เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจใหม่ที่ต้องเรียนรู้จากคนในธุรกิจ โดยใช้ประสบการณ์การบริหารจัดการของ ปตท. ที่สำคัญ วันนี้ต้องเริ่มเตรียมคน ปัจจุบันอินโนบิกมีคนมีประสบการณ์จากต่างประเทศ ขณะเดียวกันมีพนักงาน ปตท. ที่ย้ายมา แล้วมีอายุงานเหลือ 20-25 ปี รวมทั้งเริ่มรับคนจบด้านชีววิทยา เคมี หมอ เข้ามาบ้าง เพราะอนาคตจะไม่ใช่หมอที่อยู่โรงพยาบาล อาจเป็นหมอนักวิจัย”

  • ปตท. – คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ม.มหิดลร่วมมือ วิจัย-พัฒนาสมุนไพรไทยสู่ระดับสากล
  • มีคำถามว่า ในประเทศไทยมีสมุนไพรจำนวนมากและมีความหลากหลาย อินโนบิกจะก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ BCG (bio-circular-green economy) หรือไม่ ดร.บุรณิน ยอมรับว่า ไทยมีสมุนไพรจำนวนมาก แต่ต้องทำความเข้าใจว่า สมุนไพรมี 3 องค์ประกอบ คือ ความเชื่อ ความหวัง และความจริง ต้องทำประกอบกัน คือ สมุนไพรเป็นยาอยู่แล้ว มีความเชื่ออยู่ แต่บางทีตั้งความหวังมากไป ต้องหาความจริงมาผสมผสานด้วย มันขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่ได้ เพราะเชื่อกับหวัง ไม่มีการทดสอบทางวิทย์มาสนับสนุน ก็จะขายได้เฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าให้ทุกคนยอมรับได้ต้องมีองค์ประกอบพวกนี้ผสมด้วย เพราะตลาดยา เป็น global scale ปลูกมาก สกัดมาก ขายแค่ตลาดในไทยไม่พอ ต้องทำอย่างไรให้ต่างประเทศยอมรับ ต้องใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งมีบริษัทที่ทำเรื่องเหล่านี้ได้เยอะมาก ในระหว่างนี้อินโนบิกจึงเน้นไปที่เรื่องโภชนาการก่อน เพราะถ้ากระโดดไปที่การผลิตยา จะเป็นเป้าหมายที่สูงมาก สูงจนอาจจะท้อได้ ระหว่างนี้ก็ค่อยๆ พัฒนาไป จากการเอาพืชเหล่านี้ไปสกัดเป็นสีธรรมชาติ เป็นสารอโรมาเฟเวอร์ หรือสกัดเป็นอาหารที่เป็นคุณ แต่หากค้นพบสารที่ไปถึงขั้นทำเป็นยาได้และได้รับการยอมรับในขั้นวิจัยทางคลินิก ตัวอย่างเช่น การตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งที่มีการพูดคุยกับองค์การเภสัชฯ เมื่อออกแบบเสร็จ และใช้เวลาในการก่อสร้างเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็จะเอายาที่ค้นพบไปวิจัย ซึ่งกว่าจะขายได้จริงคาดว่าปี 2027

    “ดังนั้นทำเรื่องวิทยาศาสตรสุขภาพ เหมือนวิ่งมาราธอน เป้าต้องชัด บอร์ดต้องเอาด้วย ทุกคนต้องเอาด้วย ไม่งั้นมันผลาญเงินนะ ระหว่างทาง การผสมผสาน การปรับและเปลี่ยนอะไรต้องให้ดี อย่าง plant based เราทำแรกๆ อาจเป็นถั่วเหลือง แต่ถั่วเหลืองเราไม่มีความได้เปรียบ ถ้าพัฒนาเป็นถั่วเขียวทำได้ไหม หรือเป็นเห็ดได้ไหม เราต้องเริ่มก่อนแล้วค่อยๆ พัฒนากัน ”

    เป้าหมาย 10 ปีข้างหน้ากับการเป็น “ศูนย์กลางดูแลเพื่อสุขภาพที่ดี”

    ดร.บุรณิน กล่าวว่า กระบวนการทั้งหมดนี้ ทำให้ อินโนบิก มีการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน เป็นธุรกิจ ESG (environmental, social, governance) ที่คำนึงถึงประโยชน์ทางสังคม เพราะเป็นการทำเรื่องที่กำลังเป็น pain point ของประเทศ ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม ยาหรือโภชนาการจะเป็นออร์แกนิก ทำโปรตีนจากพืช ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีกระบวนการผลิตอย่างรับผิดชอบ ในเชิงธรรมาภิบาล หรือ governance การใช้กลยุทธ์ partnership and platform ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดได้ประโยชน์ไปพร้อมกับการเติบโตของเรา ถ้าทำแล้ว ปตท. ได้ฝ่ายเดียว ไม่มีประโยชน์ แต่กระบวนการนี้ นักวิจัยรู้สึกได้ทำ อนาคตผู้บริโภคได้ใช้ยาหรืออาหารที่สามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกัน ปตท. ก็มีการลงทุนที่เหมาะสม สามารถเอาเงินทุนที่ได้จากการทำธุรกิจมาลงทุนต่อได้ ขณะเดียวกัน พาร์ทเนอร์ คู่ค้า ซัพพลายเออร์ คู่แข่ง เติบโตไปพร้อมกับบริษัทฯ ได้

    “เป็นการตอบโจทย์ SDG Goal คือทำให้คนได้อาหารที่ดี ได้โภชนาการดี มีคุณภาพ ลดความหิวโหยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถ้าไม่ได้อยู่ในวงการนี้ ไม่ได้ทำธุรกิจนี้ จะไม่เข้าใจ อย่างการขายวัสดุอุปกรณ์แต่ละชนิดจะทำการตลาดหรือโฆษณาเหมือนสินค้าอื่นไม่ได้ ต้องมีการขออนุญาต เขียนรายละเอียดให้ชัด และการทำเรื่องนี้มันใหญ่มาก ไม่มีทางแข่งกับใคร ต้องแข่งกับตัวเองอย่างเดียว เป็นที่มาของกลยุทธ์จับมือเป็นพันธมิตรกันหมด การจับมือร่วมกันทำแบบนี้ต้องมีจุดหมายที่ใกล้เคียงกัน ถ้าต้องการกำไรมาก ก็จับมือกันไม่ได้”

    ดังนั้นจุดหมายเรื่องนี้ทำเพื่อชาตินะ สอง สร้าง ecosystem สาม กำลังทำเป็นระบบ พนักงานกับบอร์ดที่มาช่วย ส่วนใหญ่เป็นเอ็มดีบริษัทยาข้ามชาติที่เกษียณแล้ว บางคนเป็นคุณหมอในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ไม่ใช่มาทำเพราะผลตอบแทนอะไร แต่เขารู้สึกว่าอันนี้น่าจะเป็นโมเดลที่ทำให้ความฝันที่เคยฝันเป็นจริงได้ ฝันว่าธุรกิจพวกนี้คนไทยน่าจะมีศักยภาพ เพราะในอดีตไทยเคยเป็นฐานทางด้านยาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีช่วงหนึ่งที่เป็นอุตสาหกรรม 3.0 เราไปเน้นอุตสาหกรรมหนัก mass production เน้นการจ้างงานจำนวนมาก เราเลยปล่อยอุตสาหกรรมนี้ออกไป หมายถึงไม่ได้ส่งเสริม แต่ไปส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่สะดวกและง่ายต่อการย้ายฐานไปสิงคโปร์

    “แต่ธุรกิจด้านสุขภาพ ไม่ได้ต้องการอะไรที่ใหญ่โต ไม่ต้องการาารจ้างงานเยอะ แต่เป็นงานที่ต้องมีความรู้ คือนอกจากอินเดีย เวียดนามก็เก่ง ด้าน biologic เพราะใกล้ชิดกับฝรั่งเศส หรือวันนี้ฐานผลิตยา ถ้าไม่ใช่ในอินเดีย ในจีน ก็มีที่อินโดนีเซีย เพราะมีประชากรเยอะ และภาครัฐเองก็มีส่วนช่วย มีการออกมาตรการแรงจูงใจ หรือดึงทุนจากต่างประเทศ หรือดึงผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ วงการสาธารณสุข วงการแพทย์มีการปรับปรุงกฎระเบียบมากมาย ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด”

    ทั้งนี้ ดร.บุรณิน กล่าวทิ้งท้ายด้วยความฝันส่วนตัวที่ต้องการให้ในอนาคต 8-10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่มีการรักษาที่ดี ควบคู่กับการสร้างสุขภาพที่อยู่ดีมีสุข มีการรักษาที่แม่นยำ หรือรักษาแบบเฉพาะเจาะจง กลายป็นจุดแข็งประเทศไทยที่ทุกคนต้องพยายามช่วยกัน