ThaiPublica > เกาะกระแส > “Robert C. Merton” นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กับ 50 ปี ของ “ตราสารอนุพันธ์” – ฟินเทคที่จับต้องได้ ไม่ต้องใหม่ อยู่ที่ประยุกต์ใช้

“Robert C. Merton” นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กับ 50 ปี ของ “ตราสารอนุพันธ์” – ฟินเทคที่จับต้องได้ ไม่ต้องใหม่ อยู่ที่ประยุกต์ใช้

19 กันยายน 2017


ศ.โรเบิร์ต ซี เมอตัน (Robert C. Merton)

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 ศ.โรเบิร์ต ซี เมอตัน (Robert C. Merton) ศาสตราจารย์ด้านการเงินประจำ MIT Sloan School of Management ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2540 “จากวิธีการกำหนดมูลค่าตราสารอนุพันธ์แบบใหม่” ซึ่งช่วยสร้างตราสารรูปแบบใหม่ๆ ทำให้สังคมสามารถบริหารความเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Observations on the Role of Financial Innovation and Derivative Markets in Economic Growth and Development” ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2560 “เศรษฐกิจ คิดใหม่” (BOT Symposium 2017: Innovating Thailand) มีสรุปความดังนี้

“ฟินเทค-ระบบการเงินใหม่” – ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่

ก่อนจะพูดถึงนวัตกรรมการเงิน สิ่งแรกที่อยากชี้ให้เห็นคือว่าระบบการเงินเป็นสิ่งสำคัญอย่างแน่นอนสำหรับการเติบโต การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงินเมื่อ 60 ปีที่แล้วผู้ร่วมงานผมที่ MIT และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล Robert M. Solow ได้แสดงให้เห็นว่าการเติบโตไม่ได้มาจากแหล่งเดิมๆอย่างการเติมโตของประชากร ฯลฯ แต่การเติบโตโดยหลักการต้องมาจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม สิ่งนี้เป็น insight ที่สำคัญมากและเป็นส่วนสำคัญในการอธิบายการเติบโตในศตวรรษที่ 20

“ผมชี้ถึงเรื่องนี้เพราะว่าห้องทดลองทั้งที่ MIT และทั่วโลกได้สร้างและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมาก แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้เพื่อการใช้งานโดยทั่วไป เพราะคุณจะไม่ทำกำไรหรือการเติบโตจากเทคโนโลยีประเภทนี้นัก ขณะที่บทบาทที่ชัดเจนของระบบการเงินคือการจัดสรรทรัพยากรไปยังที่ที่เทคโนโลยีสามารถพัฒนาและนำมาใช้ในทางปฏิบัติและยอมแบ่งปันความเสี่ยงในแง่ที่ว่าช่วยให้เกิดการนำมาใช้ทางปฏบัติได้ แทนที่เทคโนโลยีนั้นจะเสี่ยงเกินกว่าจะนำมาใช้งานจริงในระบบ ดังนั้นพูดให้ชัดเจนระบบการเงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจ”

สิ่งที่อยากจะพูดต่อไปคือนวัตกรรมทางการเงินเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการเงิน โดยศาสตร์การเงิน เทคโนโลยี และความต้องการทางเศรษฐกิจพื้นฐานเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการนำมาใช้ในทางปฏิบัติของนวัตกรรมการเงินอีกทีหนึ่ง นี่คือพลวัตรของกระบวนการของการพัฒนา และผมอยากจะพูดถึงตัวอย่างในประวัติศาสตร์ของนวัตกรรมการเงินตั้งแต่ทศวรรศที่ 1970, 1980 และ 1990 และด้วยการมองผ่านตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยให้เราตีกรอบและเตือนใจผู้คนว่า อะไรที่ระบบการเงินได้ช่วยสังคมโดยเฉพาะนวัตกรรมการเงิน ซึ่งอีกทางหนึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจและเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้ใช้อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์ของประเทศ ที่มีการเติบโตในอุตสาหกรรมและมีนวัตกรรม หรือในเอเชียที่มีจีดีพีเติบโตและกำลังเติบโตเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีความผันผวนบ้าง แต่โดยรวมแล้วมันสำคัญที่ทุกประเทศในภูมิภาคจะต้องยกระดับระบบการเงิน เพื่อรองรับการเติบโตของจีดีพีและความต้องการบริการทางการเงิน ทั้งการระดมทุนหรือการออมเพื่อการเกษียณ

แต่ทั้งหมดต้องมีการเปลี่ยนแปลงและดูเหมือนจะเป็นข่าวร้ายที่ต้องเปลี่ยน มีงานอีกมาต้องทำ แล้วอะไรคือข้อดี ข้อดีคือยังมีเทคโนโลยีอีกมาก ทั้งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์,Big Data, FinTech รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพของตลาด ดังนั้น เมื่อประเทศต้องปรับปรุงซ่อมแซมหรือยกระดับระบบการเงินใหม่ พวกเขาสามารถในยกระดับและประสิทธิภาพที่ไปไกลว่าทุกอย่างที่เป็นและมีอยู่ทุกวันนี้

ถ้าหากต้องให้คำแนะนำ 1 อย่างก่อนจะเข้าสู่เรื่องหัวข้อวันนี้ คำแนะนำนั้นคือการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ไม่ดีพอ ตัวอย่างเช่น เรื่องระบบการเกษียณถ้าต้องสร้างระบบการเกษียณใหม่ การหันไปดูว่าส่วนต่างๆของโลกทำอย่างไรเป็นประโยชน์แน่นอน แต่อย่าหยุดอยู่แค่นั้นมันไม่ดีพอเอาเข้าจริงๆผมไม่รู้จักประเทศไหนที่จะกังวลใจเกี่ยวกับระบบการเกษียณด้วยซ้ำ

ดังนั้นการมองไปยังแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดอาจจะไม่ช่วยอะไรถ้าคุณต้องการยกระดับระบบการเกษียณ แต่ข่าวดีเหมือนที่กล่าวไปคือเรามีเทคโนโลยีที่ที่จะช่วยพัฒนาตลาดอีกมากและช่วยคุณไม่ใช่แค่สร้างระบบการเงินที่ดีกว่าเดิมขึ้นมาก แต่ช่วยให้คุณก้าวกระโดดข้ามระบบที่ดีที่สุดในวันนี้ด้วยซ้ำ นี่คือทฤษฎีการเติบโตถ้าอยากจะพูดถึงการพัฒนาเทคโนโลยี

“ตราสารอนุพันธ์” ฟินเทคของจริง – “จับต้องได้-ยกระดับเศรษฐกิจ-ยั่งยืน”

กลับมาที่หัวข้อ ต่อไปจะเป็นตัวอย่างแรกในปี 1970 ซึ่งผมเลือกประเทศสหรัฐอเมริกาเพราะว่าวิกฤตเข้ามากระทบค่อนข้างมากเทียบกับประเทศอื่นๆ คนพูดถึงปี 2008-2009 คนพูดถึงช่วงถดถอยครั้งใหญ่ในช่วงปี 1930 แต่คนไม่ค่อยพูดถึงวิกฤตในปี 1970 จึงจะเริ่มต้นจากว่าอะไรเกิดขึ้นในช่วงนั้น

เริ่มต้นตั้งแต่ระบบการจัดการการเงินเบรตตันวูดส์ล่มสลาย จากที่เรามีระบบแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่มาหลายช่วงอายุคนตั้งแต่ปี 1940 แต่จู่ๆทุกอย่างถูกลอยตัวและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา, เราเจอวิกฤตน้ำมันไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแต่ 2 ครั้ง, อะไรที่เราเผชิญอีก ในสหรัฐอเมริกาเราเจออัตราเงินเฟ้อ 2 หลัก ยากที่เชื่อในทุกวันนี้ ซึ่งเราไม่เคยเห็นเงินเฟ้อสูงแบบนี้ตั้งแต่สงครามกลางเมือง นั้นคือไม่มีใครเคยเห็นอะไรแบบนี้ในรอบ 100 ปีตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19

และเช่นเดียวกันอัตราดอกเบี้ย 2 หลัก, เรามีการกำกับดูแลระบบการเงินที่บอกว่าธนาคารไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้มากกว่า 5% ต่อปี คุณคิดว่าจะมีเงินฝากเท่าไหร่ในธนาคาร ถ้ารัฐบาลจ่ายมากกว่า 10% แต่ธนาคารจ่ายคุณได้ไม่เกิน 5% นี่หมายถึงเงินจำนวนน้อยมากในธนาคาร ซึ่งอีกด้านหนึ่งแปลว่าไม่มีเงินสินเชื่อบ้านเพียงพอ ไม่ว่าคุณจะมีเครดิตแบบไหน, เรามีอัตราการว่างงานอีก 9% ไม่ได้ใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานในปี 2008-2010 แต่ก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างกันมากนัก, ตลาดหุ้นตกลง 50% ใน 18 เดือน

คำถามต่อไปพุ่งไปยังธนาคารกลางว่านโยบายอะไรจะถูกใช้และนโยบายอะไรที่เป็นไปได้สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ 10% และอัตราการว่างเงิน 9% เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากมากๆ ภายหลังเรียกว่า “Stagflation”

คิดถึงผลกระทบต่างๆเหล่านี้ ทั้งหมดในครั้งเดียว ทั้งหมดโดยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหมดโดยที่เราไม่ได้เตรียมรับมือ อะไรควรจะเป็นการตอบสนองในวิกฤต โดยเฉพาะในมุมมองของนวัตกรรม ผมคิดว่ามันยุติธรรมที่จะบอกว่าคำตอบคือ ด้วยทุกผลกระทบที่เข้ามา เราควรจะชะลอหรือแม้แต่หยุดนวัตกรรมการเงิน มันหลุดออกจากควบคุมไปแล้ว รวมทุกอย่างเข้ามา ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น อย่าทำอะไร ใส่เกียร์ว่าง ซึ่งมันก็ไม่ใช่นโยบายที่แย่อะไร

แต่สิ่งที่อยากจะชี้ให้นั้นสิ่งนี้ไม่ใช่การตอบสนองเดียวที่คุณจะเผชิญในภาวะวิกฤต แล้วอะไรคือการตอบสนองในปี 1970 มีการปรับตัวครั้งใหญ่ที่สุด นวัตกรรมการเงินกลับกลายเป็นมาการตอบสนองหลัก เราสร้างการแลกเปลี่ยนตราสารออฟชั่นเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่ได้เป็นอะไรมากไปว่าการประกันมูลค่าทางการเงิน เป็นเครื่องมือสำหรับการประกันตราสารการเงิน เรามีตราสารฟิวเจอร์ที่ไม่ใช่การประกันแต่เป็นป้องกันความเสี่ยง เรามีตลาดฟิวเจอร์ของอัตราแลกเปลี่ยนจากการล่มสลายของระบบเบรตตันวูดส์ มีตลาดฟิวเจอร์ของหุ้น มีตลาดฟิวเจอร์ของอัตราดอกเบี้ย, มีตลาดหุ้นอิเล็กทรอนิกส์อย่างแนสแด๊ก มีกองทุนตลาดเงิน มีกองทุนดัชนี มีระบบบำนาญใหม่ มีการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันเข้ามา เรายกเลิกการกำหนดเพดานดอกเบี้ย เราสร้างตลาดสินเชื่อบ้าน ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับเฉพาะธนาคาท้องถิ่นที่จะมาระดมทุนแต่เราใช้ตลาดโลกช่วยระดมทุน ช่วยให้ทุกคนมีสินเชื่อไม่ว่าจะมีเครดิตดีหรือไม่ดีอย่างไร

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันของภาวะวิกฤต ภายใต้อะไรไม่รู้ที่มากระทบในครั้งเดียว ซึ่งไม่ได้แค่ช่วยจัดการแก้ไขวิกฤต แต่ยังให้เครื่องมือสำหรับบริหารและส่งผ่านความเสี่ยงระหว่างกันและได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปนับแต่นั้น

บางครั้งในภาวะวิกฤต คุณต้องทำอะไรบางอย่างที่รู้ว่าไม่ได้ดีสำหรับระยะยาว เหมือนกับคนที่ทุบกำแพงทิ้งเพื่อพาคนหนีออกจากบ้านที่กำลังไหม้ คุณทำเพราะคุณต้องทำ แต่คุณรู้ว่าเมื่อมันผ่านไปคุณต้องมีงานซ่อมแซมอีกมากต้องทำ และบางครั้งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับนโยบายที่ตอบสนองต่อวิกฤต มันไม่มีทางเลือก

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤต 1970 ไม่ใช่อะไรแบบนั้น ตลาดสินเชื่อบ้านได้ช่วยเหลือผู้คนในสหรัฐอเมริการมากว่า 4 ทศวรรษ ตลาดตราสารอนุพันธ์ได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้ความตึงเครียดได้ถูกลอกเลียนโดยทุกประเทศที่พัฒนาแล้วและเกือบทุกประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ประเทศต่างๆไม่ได้นำไปใช้เพราะว่าอยู่ในภาวะวิกฤต แต่เพราะว่าแต่ละประเทศมองเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับการรบริหารและควบคุมความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกาภิวัตน์

ตัวอย่างต่อไปในปี 1980 หากย้อนกลับในช่วงนั้น ด้วยอัตราดอกเบี้ยประมาณ 10% มันไม่น่าแปลกใจที่ผู้กู้ยืมอย่างพวกนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆอาจจะล้มละลายง่ายๆ ถ้าไปกู้ยืมระยะสั้นๆ แต่อัตราดอกเบี้ยจู่ๆปรับขึ้น และไม่น่าแปลกใจเวลาคนซื้อบ้านหรือนักพัฒนาสร้างอสังหาริมทรัพย์ เขาอยากได้อัตราดอกเบี้ยคงที่และเอาความเสี่ยงดอกเบี้ยออกไป เขาอยากให้ธนาคารให้ดอกเบี้ยที่คงที่ แต่ในมุมของผู้ฝาก พวกเขาต้องการเงินเมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการและวิธีที่จะดึงเงินเอาไว้คือดอกเบี้ยแบบลอยตัว

ดังนั้นในมุมมองของธนาคารรายจ่ายต้นทุนของเงินมาจากอัตราลอยตัว แต่รายรับจากผู้ยืมมาจากอัตราคงที่ แปลว่ามีความไม่สมดุลกันขนาดใหญ่ในอัตราดอกเบี้ยและจริงๆถ้าคุณวัดมัน ความเสี่ยงในธนาคารเกิดขึ้นจากความต้องการของลูกค้าทั้ง 2 ด้าน ทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดตอนนั้นไม่ใช่ความเสี่ยงด้านเครดิตแต่เป็นความเสี่ยงจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และเป็นปัญหาที่ยังไม่เคยถูกแก้ไขได้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม ชั่วข้ามคืน สัญญาการเงินง่ายๆ 1 สัญญา ลบความเสี่ยงนี้ออกไปจากทุกธนาคารในโลกตลอดกาล เราเรียกมันว่า Swaps เป็นสัญญาที่ตกลงแลกเปลี่ยนกันว่าธนาคารจะจ่ายเงินด้วยอัตราคงที่และรับเงินด้วยอัตราลอยตัว ดังนั้นตอนนี้ด้านเงินกู้รายรับคงที่และรายจ่ายออกไปคงที่จากสัญญา swap ด้านเงินฝาก มีรายรับอัตราลอยตัวซึ่งเท่ากับเงินที่จ่ายออกไปในดอกเบี้ยเงินฝาก แค่ข้ามคืนและสัญญาง่ายๆ ง่ายในแนวคิด อาจจะไม่ง่ายในระดับที่ใหญ่ขึ้น และนั้นคือตลอดกาลที่เราไม่เคยต้องจัดการปัญหานี้อีกแล้ว

ในความเป็นจริงในตอนนี้การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยไม่ได้มีผลอะไรกับใคร เพราะคุณมีเครื่องมือจะแลกเปลี่ยนความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพมาก ดังนั้น ตราสารง่ายๆได้แก้ไขปัญหาที่ใหญ่มาก ปัญหาที่ไม่ได้เกิดจากการมีพฤติกรรมแย่ๆ แต่เกิดการให้บริการตอบสนองความต้องการลูกค้า

ตัวอย่างสุดท้ายในปี 1990 หลังจากเยอรมนีรวมประเทศอีกครั้งและมีเป้าหมายสำคัญคือยกระดับเยอรมนีตะวันออกขึ้นมาเท่าเทียมกับฝั่งตะวันตก และเพื่อเติบโตประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก วิธีที่ใช้ผลิตไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติและมี 2 ทางเลือก อันแรกไปวางท่อก๊าซทางตะวันออกใช้เงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐและจ่ายคาก๊าซในราคาตลาด หรือวางท่อไปทางตะวันออกยังรัสเซีย มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐและจ่ายค่าก๊าซคงที่ 15 ปี ถามว่าถ้าคุณเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองคุณจะเลือกแบบไหน

แต่ถ้าเป็นผมคงบอกว่าผมขอหาเลือกทางเลือกที่ 3 ดีกว่า เพราะว่าทางเลือกหนึ่งก็ต้องเผชิญราคาที่ผันผวนมาก ในสถานที่ที่เคยชินกับราคาคงที่มาเป็นหลายชั่วอายุคน มันไม่สำเร็จในทางการเมืองแน่ๆ ขณะที่อีกทางถ้าเลือกราคาคงที่จากรัสเซีย เราก็ต้องเจอความเสี่ยงทางการเมืองอีก คุณจะอธิบายกับประชาชนอย่างไร หากจู่ราคาก๊าซลดลงกว่าราคาคงที่ในสัญญา ทำไมเราต้องจ่ายเงินมากกว่า 2 เท่าให้กับรัสเซียในเมื่อในตลาดถูกกว่า หรือความเสี่ยงที่ต้องพึ่งพารัสเซียมากขึ้น

สุดท้ายเกิดอะไรขึ้น ธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีประสบการณ์มีทักษะสูงมาก และสิ่งที่ธนาคารเสนอคือทางเลือกที่ 3 นี่คือสิ่งที่เขาทำ นึกภาพว่าคุณคือนายกเทศมนตรี ธนาคารเดินเข้ามาบอกว่าให้เลือกทางเลือกแรก สร้างท่อไปทางตะวันตกและจ่ายราคาตลาดเมื่อต่ำกว่าราคาที่รัสเซียเสนอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไรก็ตามที่ราคาที่ตลาดสูงกว่าราคาที่รัสเซียเสนอคุณ ธนาคารจะจ่ายเงินส่วนต่างคืนให้ นี่หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าถ้าไม่จ่ายราคาที่ต่ำสุดในตลาดก็จ่ายอย่างมากเท่ากับราคาที่รัสเซียเสนอ และคงไม่ต้องใช้ความคิดมากนักว่านี่คือทางเลือกที่ดีกว่าทั้ง 2 ทางเลือกแรก รวมทั้งกำจัดความเสี่ยงทางการเมืองได้ ทั้งการไม่ต้องหาคำอธิบายว่าทำไมต้องจ่ายเงินสูงกว่าราคาตลาดและทั้งลดการพึ่งพารัสเซีย

นี่คือตัวอย่างการหาทางออกทางเงิน มันง่ายสำหรับลูกค้า ง่ายสำหรับการตัดสินใจ และอย่างที่รู้กันในวิชาการเงิน มีกฎทองอยู่ที่สอนกันตั้งแต่เด็กจนโตว่าไม่มีของฟรีในโลกและอะไรที่ดูดีกว่าความเป็นจริงก็มักจะไม่จริง

แน่นอนว่าทำไมธนาคารซึ่งเป็นสถาบันที่แสวงหากำไร ถึงให้ข้อเสนอที่ดูดีมากแบบนั้นกับเมืองในเยอรมนีตะวันออก อย่างแรกธนาคารนี้ คิดว่าคงพูดถึงได้เพราะผ่านมา 25 ปีแล้ว คือ JP Morgan ซึ่งมีเครดิตสูงถึง AAA สูงกว่ารัสเซียเสียอีก คำถามคือทำไมมันถึงเป็นไปได้ที่จะยื่นข้อเสนอแบบนี้ คำตอบคือถ้าสร้างไปทางตะวันออกคุณจะต้องลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทางเลือกแรกใช้เงินแค่ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คุณประหยัดไปได้ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้คุณเหลืออะไรบางอย่างมาแบ่งกัน ประเด็นหลักคือเยอรมนีประหยัดไป 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับทำอะไรดีๆอย่างอื่นและธนาคารก็สบายดี ถึงจะมีความซับซ้อนในทางปฏิบัติบ้าง เรื่องขนาดตลาดเรื่องความเสี่ยง หรืออะไรในขณะนั้น แต่นั้นไม่เป็นไร ความซับซ้อนกับธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ไม่ใช่กับผู้บริโภค มันคืองานที่ธนาคารทำเป็นธุรกิจเพื่อความอยู่รอดอยู่แล้ว

อีกประเด็นที่ยังทันสมัยและเป็นส่วนหนึ่งของปี 2017 นั้นคือสิ่งที่ธนาคารทำไปคือการทำธุรกรรมทางการเงินล้วนๆ ไม่ได้สร้างอะไรที่จับต้องได้จริง เพียงแค่จัดโครงสร้างใหม่ของความเสี่ยงไปยังตลาดหรือไปยังบัญชีของตัวเอง แล้วเราได้อะไรอีก ในแง่สิ่งแวดล้อมเราไม่ต้องสร้างท่อส่งแก๊สมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ นั้นคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ประหยัดเงินและเพิ่มประสิทธิภาพ นี่ที่ทำให้มันเจ๋ง

บางคนอาจจะมองว่านั้นตั้งหลายทศวรรษมาแล้ว ลองดูอีกตัวอย่างที่ส่งผลจนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นในปี 1994 โรงไฟฟ้า Tennessee Valley Authority ซึ่งเคยผลิตไฟฟ้ากว่า 1 ใน 6 ของประเทศในยุคนั้นและปัจจุบันเหลือเพียง 3.5% สามารถจัดระเบียบทรัพยากรผ่านสัญญาการเงินต่างๆ เพื่อให้สามารถมีไฟฟ้าใช้ในศตวรรษที่ 21 ต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรงงาน แต่ยังคงได้กำลังการผลิตที่ต้องการ อย่างไร? ทำโดยจัดระเบียบทรัพยากรใหม่ผ่านเครื่องมือต่างๆที่มีอยู่ในตลาดการเงินเหมือนที่ธนาคารทำ

นี่คือผลกระทบจริงๆ แนวคิดที่แบ่งภาคการเงิน ภาคเศรษฐกิจจริง หรืออะไรพวกนั้นมีอยู่แค่หนังสือเรียนเก่าๆ มันไม่ได้อยู่ในโลกแห่งเป็นจริงแล้ว

ฟินเทคไม่จำเป็นต้องใหม่ อยู่ที่ประยุกต์ใช้

กลับมาที่ปัจจุบันและอนาคต สิ่งที่จะพูดต่อไปยังคงอยู่กับตัวอย่าง อันแรกเกี่ยวกับนโยบายของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นคือเพื่อเสถียรภาพการเงิน รัฐบาลจีนมีความเชื่อว่าอาจจะต้องทำการจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งผมไม่ตัดสินใจว่าดีหรือไม่ดี แต่ที่จะแสดงให้ต่อไปคือเหมือนกับที่แสดงให้เห็นไปคือทุกนโยบายมีต้นทุนและตัวอย่างหนึ่งของต้นทุนจากการจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ปรากฎขึ้นมาทุกๆที่ในระบบเศรษฐกิจ ลองนึกถึงในกรณีที่ไม่ให้เคลื่อนย้ายเลย การลงทุนทุกอย่างต้องทำภายในประเทศและไม่สามารถออกไปลงทุนภายนอกได้

ต้นทุนอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นการสูญเสียความหลากหลายของการลงทุน ทำไม? เพราะวันนี้คุณสามารถลงทุนที่ไหนในโลกก็ได้แต่ในจีนไม่ได้ และกลายเป็นพอร์ทการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงได้ดีที่สุดคือถือพอร์ทของโลกในสัดส่วนเท่ากับสัดส่วนของตราสารที่มีในโลก (เส้นแดง) แล้วอะไรจะเกิดขึ้นไปลงทุนในจีนเท่านั้น โดยเทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยที่คาดการณ์มาจากในอดีตมาว่าตลาดของจีนจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหรือต่ำกว่าโลก (สีเขียว) และในความเป็นจริงทำได้แย่กว่า(เส้นสีน้ำเงิน) อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ชัดว่าไม่ว่าจะแบบไหนก็จะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการกระจายความเสี่ยงออกไปตามที่ต่างๆของโลก นี่คือต้นทุนของการสูญเสียความหลากหลายของการลงทุน

และอย่าคิดว่าในเชิงตัวเลขส่วนต่างนี้จะเล็ก ลองคิดถึงส่วนต่างสมมติ 3% ต่อปี ผลตอบแทน 3% ต่อปีจะทำให้เงินของคุณเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 24 ปี นี่มันเป็นชั่วอายุคนขนาดย่อมๆ นี่หมายถึงจำนวนเงินอีกเท่าตัวในระบบบำนาญของคุณ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้น แบบนี้มันเริ่มเป็นตัวเลขไม่ใช่น้อยแล้วสำหรับทุกประเทศ และนั้นทำให้ทุกคนต้องเข้าใจต้นทุนเหล่านี้ แม้ว่าจะได้ผลทางเสถียรภาพ แต่มันมันเหมือนผลข้างเคียงของยา คุณอยากได้เสถียรภาพก็ต้องแลกยอมแลกกับต้นทุนนี้

นี่คือจุดที่นวัตกรรมการเงินเข้ามา ทฤษฎีการเงินสามารถทำอะไรได้บ้างไหม? คำตอบคือใช่ พูดอย่างรวดเร็วแทนที่จะทำการควมคุม ให้ย้อนกลับไปที่ Swaps ด้วยการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดกับตลาดอื่นๆนอกประเทศจีน ตอนนี้จากเดิมสถาบันการเงินในจีนอย่างกองทุนบำนาญได้รับผลตอบแทนเฉพาะในตลาดหุ้นจีนเท่านั้น สัญญานี้ทำให้สถาบันการเงินได้รับผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลกและจ่ายเงินเท่ากับผลตอบแทนในตลาดหุ้นจีน

คำถามคือเราได้สร้างผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนหรือไม่ มีอะไรแตกต่างกันบ้าง

ข้อแรกสัญญา Swaps ไม่มีเรื่องของเงินต้น มีเพียงเรื่องของผลตอบแทน ดังนั้นอย่างแรกคือไม่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนของเงินต้น สัญญาเป็นการแลกเปลี่ยนความเสี่ยงกันเท่านั้น

ข้อที่สองคือแล้วผลตอบแทนที่แลกกันจะส่งผลอย่างไร เงินจะไหลออกตอนไหน? จะไหลออกเฉพาะตอนที่ตลาดหุ้นจีนได้ผลตอบแทนสูงกว่าโลก เพราะสัญญากำหนดให้จ่ายเงินผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนซึ่งสูงกว่าและรับผลตอบแทนของโลกซึ่งต่ำกว่า สุทธิจะมีเงินไหลออกไป ถามว่าจีนจะกังวลเรื่องเงินไหลออกไปหรือไม่ตอนที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนได้ดี ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรนะ ก็อาจจะแต่คงน้อยมาก แล้วเวลาที่ตลาดหุ้นจีนให้ผลตอบแทนต่ำกว่าโลกล่ะ กลายเป็นว่าเงินไหลเข้าแทน เพราะสัญญาให้จ่ายผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนซึ่งต่ำกว่าและรับเงินตามตลาดหุ้นโลกซึ่งมากกว่า สุทธิแล้วเงินจึงไหลเข้าจากสัญญานี้

คุณจะเห็นว่าระบบนี้มีเสถียรภาพมากกว่าการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสียอีก เพราะเวลาเงินไหลออกก็ออกไปในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทุกอย่างดีและเงินไหลกลับเข้ามาในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ นีคือตัวอย่างของการกำจัดผลข้างเคียง ใครจะต่อต้านเรื่องนี้ เรามีเสถียรภาพเหมือนเดิมและไม่ต้องรับผลข้างเคียงของนโยบายด้วย และในทางตรงข้าม ประเทศอื่นๆก็อยากทำสัญญาแบบเดียวกัน ทำไม? เพราะมันคือการกระจายความเสี่ยงของทั้ง 2 ฝ่าย ทุกคนได้ประโยชน์จากมัน

หากลองไปดูผลตอบแทนของของตลาดอื่นๆ แม้แต่ตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าที่คาดการณ์ 4% อย่างตลาดหุ้นอินโดนิเซียก็ยังสู้การลงทุนในตลาดที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างสมบูรณ์แบบตลาดหุ้นโลกไม่ได้ หวังว่าคุณจะเข้าใจประเด็นนี้ว่าการกระจายความเสี่ยงของโลกมันมีมูลค่ามหาศาลเพียงใดสำหรับทุกคน ไม่เกี่ยวกับข้อมูลใครรู้มากรู้น้อย นี่คือเรื่องการแบ่งปันความเสี่ยงล้วนๆ นี่คือพลังของโลกาภิวัตน์ นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่นำตราสารไปใช้กับประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ณ ขณะนี้ และอยากให้ทุกคนเข้าใจในหลักการของมัน สิ่งที่สำคัญคือคุณทำมันได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ไม่ใช่อะไรใหม่ swaps ถูกใช้มาหลายทศวรรษแล้ว ไม่มีประเด็นต้องกังวล ไม่มีอะไรใหม่ แค่การประยุกต์ใช้