ThaiPublica > คอลัมน์ > นวัตกรรมไทย หายไปไหน?

นวัตกรรมไทย หายไปไหน?

8 กันยายน 2017


พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ [email protected] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฉัตร คำแสง [email protected] สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2560 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “เศรษฐกิจ คิดใหม่” ในวันที่ 18-19 กันยายน 2560 (รายละเอียดที่ https://www.bot.or.th/BOTSymposium2017)

ที่มาภาพ: https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2017/09/shutterstock_697003018_resize.jpg

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต เราได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ จากบริษัทเอกชนอย่างต่อเนื่อง เช่น รถยนต์ไร้คนขับและปัญญาประดิษฐ์ หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศเองก็ประกาศนโยบายและมาตรการส่งเสริมนวัตกรรมกันขนานใหญ่

ภาครัฐไทยก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อเศรษฐกิจ จึงส่งเสริมทั้งการสร้างและการใช้นวัตกรรมของภาคเอกชนอย่างรอบด้านมายาวนาน อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้ทั้งมาตรการจูงใจทางภาษี การให้เงินทุนสนับสนุน ตลอดจนการสนับสนุนด้านบุคลากรวิจัย ตัวชี้วัดด้านนวัตกรรมต่างๆ ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ

ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยจนถึงปี 2557 ยังไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของ GDP ขณะที่ค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) อยู่ที่ร้อยละ 2.4 และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper-middle income) อยู่ที่ร้อยละ 1.6 แถมค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยมากกว่าหนึ่งในสามมาจากภาครัฐ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่อันดับที่ 51 จาก 127 ประเทศในการจัดทำดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ปีล่าสุด ตามหลังเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ (ที่ 7) มาเลเซีย (ที่ 37) และเวียดนาม (ที่ 47)

ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ “New Normal” ประกอบกับอัตราการสร้างนวัตกรรมแบบ “อืดๆ” จึงน่าเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวทันประเทศอื่นได้เลย

กล่าวได้ว่า ความพยายามในการส่งเสริมเศรษฐกิจนวัตกรรมของไทยที่ผ่านมา แม้เจตนาดีแต่อาจจะยังเกาไม่ถูกที่คัน คำถามคือ ปัจจัยอะไรที่สำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมนอกเหนือจากแค่การส่งเสริมจากภาครัฐ?

แน่นอนว่าบริษัทเอกชนจะลงทุนสร้างนวัตกรรมก็ต่อเมื่อนวัตกรรมก่อให้เกิดผลกำไรสุทธิ แต่กำไรสุทธิจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาวะการแข่งขันที่เอกชนเผชิญอยู่ ถ้าเอกชนไม่มีความจำเป็นต้องแข่งขันกับใครเพราะเป็นผู้ผูกขาด เขาก็ไม่จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรม แต่ถ้าอยู่ในสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นแล้ว เอกชนก็จะมีแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้นำตลาด เป็นที่น่าแปลกใจว่าปัจจัยด้านการแข่งขันดังกล่าวไม่ค่อยมีการกล่าวถึงในบริบทของการกระตุ้นนวัตกรรมในประเทศไทย

“สภาวะการแข่งขันแบบใดจะเอื้ออำนวยให้เกิดการทำนวัตกรรมมากที่สุด” เป็นคำถามที่สำคัญและมีการถกเถียงกันมากที่สุดคำถามหนึ่งในสาขาเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกมีมุมมองที่หลากหลายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะการแข่งขันและนวัตกรรม ทั้งที่สอดคล้องและขัดแย้งกัน ซึ่งต่างก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุนแทบทุกแนวคิด

งานวิจัย “การแข่งขัน ตัวแปรของสมการนวัตกรรมที่หายไป” จึงพยายามหาคำตอบว่าความสัมพันธ์นี้เป็นเช่นไรในกรณีของประเทศไทย ซึ่งคำตอบที่ได้จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนานโยบายเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

ผลการวิจัยหลักพบว่า อุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันน้อยมักจะมีระดับการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาที่ต่ำ และการแข่งขันที่สูงขึ้นจะจูงใจให้เอกชนเพิ่มการลงทุน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงเกินไปกลับจะทำให้การลงทุนน้อยลง หรืออีกนัยหนึ่ง ความสัมพันธ์มีลักษณะตัว U คว่ำดังรูป และเห็นผลได้ชัดในอุตสาหกรรมการผลิต

ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการแข่งขันส่งผลกับแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน การแข่งขันจะกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาในบริษัทที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีมากกว่าบริษัทผู้ตามเพราะต้องการหนีจากการแข่งขัน แต่ในทางตรงข้าม ผู้ตามจะลงทุนสูงขึ้นในธุรกิจที่การแข่งขันยังไม่สูง เพราะยังพอเหลือส่วนแบ่งตลาดให้แย่งชิงบ้าง ดังนั้น ในตลาดที่มีการแข่งขันปานกลาง ทั้งผู้นำและผู้ตามจะพยายามลงทุนทำวิจัยและพัฒนา ส่งผลให้การลงทุนโดยรวมสูงที่สุด

นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทที่ส่งออกสินค้าหรือบริการไปยังต่างประเทศจะลงทุนในการวิจัยและพัฒนามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะบริษัทเหล่านี้ต้องไปเจอกับการแข่งขันในระดับโลก

ที่ภาครัฐเข็นการวิจัยและพัฒนาในเศรษฐกิจไทยไม่ขึ้น อาจเป็นเพราะการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำและมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยหลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่าการแข่งขันโดยรวมภายในประเทศอยู่ที่เดิมมากว่าสองทศวรรษแล้ว จะมีก็เพียงบางอุตสาหกรรมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การเปิดเสรีน่านฟ้า การประมูลทีวีดิจิทัล เป็นต้น

หากต้องการให้ไทยมีนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องทำการบ้านเพิ่มนอกเหนือจากการใช้เพียงมาตรการส่งเสริมนวัตกรรมแบบเดิมๆ นโยบายควรมุ่งเน้นการปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยเฉพาะการกำกับดูแลการแข่งขันผ่านการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในรูปแบบที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น การลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดและพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพื่อให้รายใหม่ที่มีนวัตกรรมเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น แต่ต้องระลึกว่าการใช้กฎหมายเพื่อกำจัดอำนาจตลาดอย่างไม่ดูตาม้าตาเรืออาจไปทำลายนวัตกรรมโดยไม่ตั้งใจ

หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์