ThaiPublica > เกาะกระแส > สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับส่ง จม. ถึงบอร์ด BDMS รายคน ขอให้ยกเลิกยุติโครงการ พร้อมเรียกค่าเสียหายรายเดือน/คน

สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับส่ง จม. ถึงบอร์ด BDMS รายคน ขอให้ยกเลิกยุติโครงการ พร้อมเรียกค่าเสียหายรายเดือน/คน

7 กันยายน 2017


เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 มีหนังสือลงนามโดยนายนิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกฎษฎีกา ระบุว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ 5) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(สำนักงานคปภ.)เกี่ยวกับ “โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ” ของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงพยาบาล เป็นโครงการดูแลสุขภาพตลอดชีวิต โดยสมาชิกต้องนำเงินเทียบเท่าทองคำน้ำหนัก 200 บาท มาชำระแก่บริษัทเพื่อจะได้รับสิทธิพิเศษและได้ใช้บริการรักษาพยาบาลไม่จำกัดจำนวนครั้งตลอดชีวิต แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในอัตราสมาชิก 100 บาทต่อครั้ง ว่าสัญญาดังกล่าวเข้าข่ายสัญญาประกันภัยหรือไม่ เนื่องจากคู่กรณีทั้งสองมีการนำเอกสารหลักฐานที่ตีความแตกต่างกัน ทางคปภ. จึงต้องเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ว่าโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับใช่สัญญาประกันภัยหรือไม่นั้น

หลังได้รับคำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับไม่ใช่สัญญาประกันภัย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 สมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ ทำจดหมายถึงคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)หรือ BDMS เรื่องขอให้พิจารณายกเลิกการยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ โดยระบุถึงประธานกรรมการ, กรรมการผู้จัดการ, กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ และกรรมการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) พร้อมสำเนาถึงบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ผู้สอบบัญชีบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

รายละเอียดในจดหมายระบุว่า ตามที่บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยอ้างว่ามีมาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยที่ต้องปฏิบัติตาม และที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทมีความเห็นว่า ข้อตกลงที่บริษัททำไว้กับสมาชิกเข้าลักษณะเป็นสัญญาประกันภัย และเสนอคืนเงินค่าสมาชิกพร้อมเงินชดเชยอีกร้อยละ 10 ต่อปี และให้ส่วนลดตลอดชีพในอัตราร้อยละ 50 ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด สมาชิกที่ลงนามในหนังสือนี้ จึงได้มอบอำนาจให้ทนายความแห่งบริษัท โปรเฟสชั่นแนล อัลไลแอนซ์ ลีเกิล แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด มีหนังสือแจ้งท่านในฐานะประธานกรรมการ, กรรมการผู้จัดการ, กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ และกรรมการของบริษัท ว่าข้อกล่าวอ้างและเหตุผลที่บริษัทนำมาแจ้งต่อสมาชิกเพื่อยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ ล้วนเป็นการหาเหตุมากล่าวอ้างโดยไม่สุจริตและไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

กล่าวคือ การที่ผู้สอบบัญชีได้แจ้งให้บริษัทตั้งสำรองค่าใช้จ่ายโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินเท่านั้น ไม่ได้ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้รับประกันภัยตามกฎหมายแต่อย่างใด อีกทั้งมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับดังกล่าวได้ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 แล้ว และการอาศัยความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายมาเป็นข้ออ้างเพื่อยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับก็ไม่ถูกต้อง เพราะการดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับมิได้มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจประกันภัยแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีข้อตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และไม่มีการส่งเงินที่เรียกว่า เบี้ยประกันภัย

นอกจากนั้น การที่บริษัทอ้างว่า โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับเป็นการประกอบธุรกิจประกันภัย เท่ากับบริษัทยอมรับว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทประกอบธุรกิจประกันภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาในอัตราสูง การที่บริษัทแจ้งยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับจึงไม่มีผลตามกฎหมายและขอให้ยกเลิกการยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือที่อ้างถึง

ข้าพเจ้าตามรายชื่อที่ลงนามในหนังสือนี้ ขอเรียนข้อเท็จจริงให้ท่านในฐานะ ประธานกรรมการ, กรรมการผู้จัดการ, กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ และกรรมการของบริษัท ทราบดังต่อไปนี้

1) ข้าพเจ้าได้ยื่นฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องต่อบริษัท เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.625/2560 ของศาลแพ่ง เพื่อให้บริษัทเปิดดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ และเปิดพื้นที่ในชั้น 15 (ทั้งชั้น) ของอาคาร D และห้องรับรองที่ชั้นล่างเพื่อให้บริการสมาชิก รวมทั้งจัดพยาบาลประจำ และให้บริการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ และบริการอื่นๆ ตามเดิม หากบริษัทไม่ดำเนินการให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 50,000.- บาท ต่อคน นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะเปิดโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับและเปิดพื้นที่ชั้น 15 (ทั้งชั้น) ของอาคาร D ที่มีพยาบาลประจำชั้นตามเดิม และหากบริษัทไม่ดำเนินการรักษาพยาบาล ข้าพเจ้าสามารถไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของบริษัทหรือแห่งอื่น แล้วนำเงินที่ชำระไปมาเรียกเก็บจากบริษัทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จ่ายไป หากไม่ชำระภายใน 7 วัน ให้บังคับคดีได้ทันที และหากบริษัทไม่ให้บริการดูแลสุขภาพและอื่นๆ ตามเดิม ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายปี ปีละ 300,000.- บาทต่อคน นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติ รวมทั้งขอให้ศาลพิจารณาให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นรายเดือน เดือนละ 100,000.- บาทต่อคน นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงของโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ

2) บริษัทได้ให้การโดยสรุปว่า บริษัทไม่ได้จงใจปฏิบัติผิดสัญญาในการแจ้งยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ การเปิดและดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ มีเจตนาที่จะให้บริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานแก่ประชาชน เพื่อให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายแก่ประชาชนทั่วไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์กิจการของบริษัท ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทไม่ทราบเลยว่าการดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับมีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจประกันภัยตามกฎหมาย และบริษัทให้บริการแก่สมาชิกด้วยความสุจริตอย่างเต็มที่ เป็นไปตามที่ระบุในข้อบังคับโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับทุกประการ ไม่มีเจตนาหลอกลวงสมาชิก แต่เหตุที่บริษัทไม่สามารถดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับต่อไปได้ และจำเป็นต้องยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ เนื่องจากผู้สอบบัญชีของบริษัทแจ้งว่า ข้อตกลงและการดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัย ตามมาตรฐานการรายงานการเงิน ฉบับที่ 4 (ปรับปรุง 2558) และที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทมีความเห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ เป็นกรณีที่มีการใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีมีวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นในอนาคต อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 861 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัทไม่มีวัตถุประสงค์และไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย จึงเป็นเหตุให้การดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับถือเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และมีความผิดตามกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำคุกและปรับ

3) ศาลแพ่งได้พิจารณาและไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของข้าพเจ้า แล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ให้บริษัทให้บริการรักษาพยาบาลแก่ข้าพเจ้าด้วยมาตรฐานการรักษาพยาบาลทั่วไปของบริษัท โดยยังไม่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลและค่ารักษาอื่นใด จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ให้ข้าพเจ้าทำสัญญาประกันต่อศาลว่าหากในชั้นที่สุด ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า บริษัทมีสิทธิยกเลิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ และข้าพเจ้าต้องรับผิด ชดใช้ค่ารักษาพยาบาล ข้าพเจ้าตกลงยินยอมชำระค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวให้แก่บริษัท

4) ข้าพเจ้าได้ร่วมกันมีหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนำส่งหนังสือชี้ชวนเข้าร่วมโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ กฎระเบียบข้อบังคับของโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ เพื่อให้ คปภ. พิจารณาว่าโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับเป็นสัญญาประกันภัยซึ่งเข้าข่ายการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือไม่ ซึ่ง คปภ. มีความเห็นในเบื้องต้นว่าโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับไม่เข้าลักษณะเป็นการรับประกันภัย แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ประกอบกับกรณีดังกล่าวมีผู้มีส่วนได้เสียหลายราย และมีทุนทรัพย์ค่อนข้างสูง หากดำเนินการโดยไม่รอบคอบ สำนักงาน คปภ. อาจถูกฟ้องร้องและอาจเกิดผลกระทบระยะยาว จึงนำเรื่องนี้หารือต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) โดยเรื่องเสร็จที่ 976/2560 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาระหว่างบริษัทและสมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง จึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประกันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย

สำนักงาน คปภ. จึงได้มีหนังสือแจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว พร้อมแจ้งด้วยว่า มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามความเห็นนั้น การดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับจึงไม่เป็นการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 17 และมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) และ 2)

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงชัดเจนแล้วว่า คปภ. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งดำเนินคดีกับบุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรา 17 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ได้มีหนังสือยืนยันแล้วว่า การดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับไม่เป็นการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว การที่บริษัทยกเลิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ โดยอ้างว่าการดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ เข้าลักษณะสัญญาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องห้ามตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 จึงรับฟังไม่ได้แล้ว

ที่มาภาพ : https://www.set.or.th/set/companyprofile.do?symbol=BDMS&ssoPageId=4&language=th&country=TH

ดังนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า บริษัทเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีประชาชน กองทุน องค์กรนิติบุคคลต่างๆ เป็นผู้ถือหุ้นอยู่จำนวนมาก บริษัทต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ท่านในฐานะ ประธานกรรมการ, กรรมการผู้จัดการ, กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ และกรรมการของบริษัท มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง เยี่ยงวิญญูชนผู้ประกอบธุรกิจเช่นนั้นจะพึงกระทำภายใต้สถานการณ์อย่างเดียวกัน ที่จะต้องควบคุมการบริหารและจัดการของบริษัทให้อยู่ภายใต้กรอบแห่งกฎหมายและบรรษัทธรรมาภิบาล รวมทั้งกระทำการหรืองดกระทำการใดๆ ที่เห็นชัดหรือคาดได้ว่าจะก่อความเสียหายบริษัท

ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านได้โปรดประชุมเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงดังเรียนมาตามลำดับข้างต้น และมีมติให้ยกเลิกการยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ และให้บริษัทดำเนินโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับต่อไปตามเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ และป้องกันความเสียหายต่อบริษัทจากการยุติโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับโดยไม่ชอบ หากท่านทราบแล้วยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขความเสียหายที่อาจเกิดต่อบริษัท ท่านอาจต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อันเนื่องมาจากขาดความรับผิดชอบและความระมัดระวังด้วย เพราะนอกจากคดีที่ข้าพเจ้าฟ้องให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายแล้ว ยังมีสมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับอีกจำนวนมากได้ยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลและเรียกค่าเสียหายเช่นกัน