ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “นายกฯ บอก ‘ยิ่งลักษณ์’ อยู่ดูไบ – สื่อนอกเผย ขอลี้ภัยในอังกฤษ” และ “แผ่นดินไหวเม็กซิโก ตายเกิน 400 เสียหายเกิน 2,000 ล้านดอลฯ”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “นายกฯ บอก ‘ยิ่งลักษณ์’ อยู่ดูไบ – สื่อนอกเผย ขอลี้ภัยในอังกฤษ” และ “แผ่นดินไหวเม็กซิโก ตายเกิน 400 เสียหายเกิน 2,000 ล้านดอลฯ”

30 กันยายน 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 23-29 ก.ย. 2560

  • รู้แล้ว นายกฯ บอก “ยิ่งลักษณ์” อยู่ดูไบ – สื่อนอกเผย ขอลี้ภัยในอังกฤษ
  • คืนตำแหน่ง “พงศ์พร” – “พุทธะอิสระ” ปรบมือให้ “ประยุทธ์”
  • สรรพากรแจง “พร้อมเพย์” ไม่เกี่ยวสอบภาษี
  • เลื่อนอีก “บัตรแมงมุม” ได้ใช้ครึ่งหลังปี 61
  • แผ่นดินไหวเม็กซิโก ตายพุ่งเกิน 400 เสียหายเกิน 2,000 ล้านดอลฯ
  • รู้แล้ว นายกฯ บอก “ยิ่งลักษณ์” อยู่ดูไบ – สื่อนอกเผย ขอลี้ภัยในอังกฤษ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์วอยซ์ทีวี (https://goo.gl/8Gahwy)

    วันที่ 28 ก.ย. 2560 เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทราบจากกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ไปอยู่ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

    การออกมาเปิดเผยนี้เป็นไปตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ เคยระบุไว้ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2560 โดยก่อนหน้านั้น 1 วัน พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่ารู้แหล่งกบดานของอดีตนายกฯ แล้ว โดยแจ้งว่าจะบอกหลังวันที่ 27 ก.ย.

    นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศเตรียมพิจารณาเพิกถอนหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตของอดีตนายกฯ ด้วย

    วันที่ 29 ก.ย. 2560 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวภายในพรรคเพื่อไทยว่า ขณะนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพำนักอยู่ที่กรุงลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ และกำลังยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากรัฐบาลอังกฤษ โดยแหล่งข่าวรายนี้ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา 

    คืนตำแหน่ง “พงศ์พร” – “พุทธะอิสระ” ปรบมือให้ “ประยุทธ์”

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/?p=678178)

    วันที่ 26 ก.ย. 2560 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติคืนตำแหน่ง พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) ตามเดิมหลังจากก่อนหน้านี้ ครม. มีมติโอนย้าย พ.ต.ท. พงศ์พร ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 29 ส.ค. 2560

    ทั้งนี้ คำสั่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป

    ต่อเรื่องดังกล่าว เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า พระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยและแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กชื่นชมการตัดสินใจของ พล.อ. ประยุทธ์ โดยบอกว่า “ควรจักปรบมือในความแน่วแน่ แก้ไขในสิ่งผิด…กล้าหาญทำในสิ่งที่ถูกต้อง เห็นความถูกต้องชอบธรรมมากว่าเห็นแก่หน้าพวกพ้อง”

    สรรพากรแจง “พร้อมเพย์” ไม่เกี่ยวสอบภาษี

    วันที่ 25 ก.ย. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า กรมสรรพากรเปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ โดยมีใจความดังนี้

    ตามที่มีการเผยแพร่ข้อความผ่านทาง line application ว่า หากท่านมียอดเงินเข้าออกในบัญชีต่อวันเกิน 10 ครั้ง มียอดเงินหมุนเวียนเกิน 3,000 บาท หรือมีธุรกรรมอื่นๆ ที่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชีเดือนละมากกว่า 50,000 บาท ห้ามใช้พร้อมเพย์เด็ดขาด เนื่องจากจะถูกตรวจสอบการชำระภาษี และจะถูกเรียกคืนภาษีย้อนหลังจากการคำนวณรายรับจ่ายจากบัญชีทันทีนั้น

    กรมสรรพากร ขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ ดังนี้

    1. ข้อความที่เผยแพร่ดังกล่าวไม่เป็นความจริง การใช้พร้อมเพย์ไม่มีความสัมพันธ์กับการตรวจสอบ ภาษีหรือการเรียกคืนภาษีย้อนหลังของกรมสรรพากรแต่อย่างใด
    2. การใช้พร้อมเพย์เป็นช่องทางการโอนเงินช่องทางหนึ่งเช่นเดียวกับการโอนเงินผ่านทาง e-Banking หรือผ่านทางเคาน์เตอร์ธนาคาร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีการส่งให้แก่กรมสรรพากร
    3. กรมสรรพากรมีอำนาจออกหมายเรียกให้ธนาคารส่งข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน(ไม่ว่าจะทำผ่านช่องทางใดก็ตาม) ให้แก่กรมสรรพากร เฉพาะในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้เสียภาษีรายนั้นยื่นเสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างจำกัด และไม่สามารถขอให้ส่งข้อมูลการโอนเงินทั่วไปได้
    หากผู้เสียภาษีมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่ง หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร. 1161

    เลื่อนอีก “บัตรแมงมุม” ได้ใช้ครึ่งหลังปี 61

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (https://goo.gl/f9wsyo)

    วันที่ 28 ก.ย. 2560 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนการดำเนินระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุม ว่า ในระยะแรก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม โดย รฟม. จะมีการลงนามในข้อตกลง (MOU) กับผู้ให้บริการ ซึ่งเริ่มต้นจะลงนาม MOU กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTS และบริษัท  ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในวันที่ 11 ต.ค. 2560 และจะมีการปรับปรุงระบบและทดสอบช่วง พ.ย. 2560 – ส.ค. 2561  เพื่อเริ่มใช้งานระบบตั๋วร่วมบนรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือ BTS และสายสีน้ำเงิน (MRT) ในวันที่ 1 ก.ย. 2561

    ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในช่วง ต.ค.-ธ.ค. 2560 จะจัดสรรงบประมาณและดำเนินการจัดจ้าง เพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบและทดสอบ ในช่วง ม.ค.-มิ.ย. 2561 และเปิดใช้ระบบตั๋วร่วมได้ในวันที่ 1 ก.ค. 2561

    โดยในช่วงแรก ระบบตั๋วร่วมจะเริ่มใช้กับรถโดยสารประจำทาง ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งล่าสุดจะมีการใช้งานจริงตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับการเลื่อนใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรผู้มีรายได้น้อย) โดย ขสมก.ได้ดำเนินการติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) บนรถ ขสมก. ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ  2,600 คัน ในวันที่ 1 เม.ย. 2561
     
    แหล่งข่าวจาก รฟม. ระบุว่า แผนเดิมสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กำหนดจะใช้งานระบบตั๋วร่วมกับระไฟฟ้าสายสีม่วงและแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในเดือนมี.ค. 2561 แต่ล่าสุดต้องปรับแผนงานเลื่อนออกไป เนื่องจากมีขั้นตอนที่ รฟม. จะต้องรับช่วงต่อจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อีกทั้ง MOU นั้นไม่ได้มีผลผูกพันทางธุรกิจ ดังนั้นหลังจากทำ MOU กันแล้ว รฟม.จะต้องเจรจากับ BEM และ BTS ในแผนธุรกิจต่างๆ เพื่อกำหนดไว้ในสัญญาข้อตกลงร่วมลงทุน หรือ Service Provider Agreement (SP) และลงนามร่วมกันก่อน เอกชนจึงจะเริ่มลงทุนปรับปรุงระบบได้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยแต่ละรายจะลงทุนไม่น้อยกว่า 140 ล้านบาท และรายละเอียดใน SP ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนที่จะมีการจัดตั้ง CTC เป็นบริษัทจำกัด  ซึ่งจะมีการร่วมทุนกับเอกชนผู้ให้บริการต่อไป

    ทั้งนี้ รฟม. ได้ตั้งงบประมาณปี 2561 กว่า 40 ล้านบาท ในการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาความเหมาสมในเรื่องโครงสร้างบริษัทร่วมทุน ระบบการเงิน บุคลากร และการกำหนดสัดส่วนหุ้นของผู้ประกอบการแต่ละรายในบริษัทร่วมทุนฯ รวมถึงช่วยเจรจากับผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งและนอกระบบขนส่ง (Non-Transit) อีกด้วย

    “ยอมรับความล่าช้า เพราะในการดำเนินการเอกชนจะต้องมีความมั่นใจ แค่ MOU ไม่มีผลผูกพันทางธุรกิจและไม่ทำให้เอกชนมั่นใจพอที่จะลงทุนเงินว่าร้อยล้านบาทได้ ต้องเจรจารายละเอียดทำสัญญาร่วมลงทุนหรือ SP ด้วย นอกจากนี้ ขั้นตอนภายในของ รฟม. เอง จะต้องขออนุมัติบอร์ดซึ่งบอร์ดประชุมเดือนละครั้ง ซึ่งจะต้องเร่งรัดต่อไป โดยขณะนี้ ในส่วนของสีม่วง รฟม. ได้ให้ BEM สำรวจแล้วว่าจะต้องปรับปรุงระบบอย่างไร ตามมาตรฐานกลางตั๋วร่วม เพื่อประเมินงบประมาณ ซึ่ง รฟม. จะลงทุนสายสีม่วงเอง”

    อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือของรัฐ ผ่านบัตรสวัสดิการ สำหรับรถเมล์และรถไฟฟ้ารวมกันที่วงเงิน 500 บาทต่อเดือนนั้นค่อนข้างต่ำไปสำหรับการเดินทาง ขณะที่เดิมประเมินวงเงินไว้ที่ 600 บาทต่อเดือน  ซึ่งทำให้ไม่จูงใจและการเจรจากับเอกชนในการเข้ามาร่วมลงทุนทำได้ยากขึ้น

    แผ่นดินไหวเม็กซิโก ตายพุ่งเกิน 400 เสียหายเกิน 2,000 ล้านดอลฯ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/?p=46530)

    วันที่ 28 ก.ย. 2560 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ประธานาธิบดีเอนรีเก เปญา เนียโต เเถลงยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเม็กซิโก ขนาด 7.1 แม็กนิจูด เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 420 ราย เเละคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เเละเจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาต่อเนื่อง

    สำหรับการประเมินความเสียหาย พบว่ากรุงเม็กซิโกซิตีที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยทางรัฐบาลคาดการณ์งบประมาณที่จะใช้ในการซ่อมเเซมความเสียหายตามสถานที่ราชการของรัฐ เกือบ 750 ล้านดอลลาร์ เเละส่วนของบ้านเรือนประชาชนจะอยู่ที่ 550 ล้านดอลลาร์ รวมถึงการฟื้นฟูบูรณะสถานที่ประวัติศาสตร์อาจสูงถึง 440 ล้านดอลลาร์

    โดยรัฐบาลเม็กซิโก จะจัดสรรเงินช่วยเหลือในการซ่อมแซมหรือก่อสร้างบ้านใหม่ เเละให้เงินช่วยเหลือ ทั้งนี้ กรุงเม็กซิโกซิตี้มีบ้านเรือนเสียหายราว 11,000 หลัง ในจำนวนนี้ต้องทำลายทิ้งกว่า 1,500 หลัง