ThaiPublica > คอลัมน์ > วิธีมองทรัมป์

วิธีมองทรัมป์

26 กันยายน 2017


อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาภาพ : https://static.independent.co.uk/s3fs-public/thumbnails/image/2017/09/21/18/trump-un-north-korea.jpg

เราควรจะมองทรัมป์อย่างไร? คนสหรัฐฯ เองหลายคนก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ ในด้านหนึ่ง ทรัมป์เป็นผู้นำที่เข้าสู่อำนาจตามวิธีทางประชาธิปไตย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทรัมป์ก็ดูจะสอบตกในเรื่องจริยธรรมตามมาตรฐานวัฒนธรรมการเมืองของสหรัฐฯ

ทรัมป์เป็นตัวอย่างมหาเศรษฐีที่เล่นการเมืองแล้วมุ่งแสวงหาประโยชน์เพื่อพวกพ้องของตัว ขณะเดียวกันก็ปั่นกระแสประชานิยม เล่นบทเป็นคนนอกที่อาสาเข้ามาชำระความเน่าเฟะของระบบการเมือง ผู้นำในอดีตที่มีลักษณะคล้ายๆ ทรัมป์ (คือเป็นทั้งมหาเศรษฐี ปลุกกระแสประชานิยม และมีปัญหาจริยธรรม) ก็เช่น อดีตนายกฯ แบร์ลุสโกนีของอิตาลี อดีตนายกฯ ทักษิณของไทย และอดีตประธานาธิบดีเอสตราดาของฟิลิปปินส์ เป็นต้น

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการสัมมนาวิชาการเพื่อถอดบทเรียนผู้นำประชานิยมทั่วโลก ที่โรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (รายละเอียดเกี่ยวกับงาน สามารถดูได้ท้ายบทความ) โดย ศ.แมททิว สตีเฟนสัน ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้บรรยายสรุปงานสัมมนาวิชาการ โดยตั้งคำถามว่าเราควรจะมองทรัมป์ (รวมถึงผู้นำประชานิยมเหล่านี้) อย่างไร?

ท่านนำเสนอความท้าทาย 4 ข้อ ในการมองทรัมป์

หนึ่ง ต้องไม่ประณามทรัมป์อย่างดูถูกดูแคลน แต่ก็ต้องไม่เพิกเฉยจนยอมรับพฤติกรรมของทรัมป์ว่าเป็นเรื่องธรรมดา

ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของผู้ต่อต้านทรัมป์ในสหรัฐฯ ก็คือ การประณามทรัมป์ (และผู้สนับสนุนทรัมป์) อย่างดูถูกดูแคลน ด้วยความรู้สึกว่า ตนสูงส่งกว่าในทางศีลธรรมและการศึกษา มองว่าทรัมป์และคนที่สนับสนุนทรัมป์ถูกหลอก หรือไม่ก็เป็นพวกคนเลว ยอมรับคนโกง หรือเป็นพวกไม่มีการศึกษา ไม่รู้ว่านโยบายของทรัมป์เหลวไหลแค่ไหน ฯลฯ

ลักษณะการประณามทรัมป์และผู้สนับสนุนทรัมป์ในลักษณะดูถูกดูแคลนเช่นนี้ มีแต่จะยิ่งสุมไฟความเกลียดชังและแบ่งเขาแบ่งเรา ผู้สนับสนุนทรัมป์จึงมองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกชนชั้นนำที่ดูถูกดูแคลนเขา และไม่เข้าใจความทุกข์ยากและความลำบากที่พวกเขาประสบจริง ซึ่งทรัมป์ได้แสดงให้เห็นว่าทรัมป์มองเห็นและจะไม่ทอดทิ้งพวกเขา

แต่การไม่ประณาม ต้องไม่เท่ากับการเพิกเฉย จนกลายเป็นยอมรับพฤติกรรมของทรัมป์ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นความท้าทายในการต่อต้านทรัมป์ ด้านหนึ่ง ต้องพยายามทำความเข้าใจทรัมป์และผู้สนับสนุนทรัมป์ เข้าใจเหตุผลและความทุกข์ร้อนของคนที่ถูกทอดทิ้งจากระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ ไม่หลงประณามพวกเขาอย่างดูถูกดูแคลน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายต่อต้านทรัมป์ก็ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าพฤติกรรมหรือนโยบายของทรัมป์เรื่องใดที่ไม่สามารถยอมรับได้ตามมาตรฐานสังคมสหรัฐฯ

สอง ต้องเข้าใจว่า ผู้สนับสนุนทรัมป์ มีทั้งที่ชื่นชอบนโยบาย แต่ก็มีที่สนับสนุนเพราะมองว่าทรัมป์ดูเป็นพวกเดียวกับตัว

เรามักได้ยินคนคนวิจารณ์ว่า ความผิดพลาดของฮิลลารี เป็นเพราะไม่ได้นำเสนอนโยบายที่ตอบโจทย์ชนชั้นรากหญ้าอย่างดีพอ แต่ก็มีคำวิจารณ์อีกแนวว่า ความผิดพลาดของฮิลลารีคือการเล่นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์แบบแบ่งเขาแบ่งเรามากเกินไป โดยเน้นสื่อสารให้คนเห็นว่าทรัมป์มีพฤติกรรมเหยียดผิว หวังจะเรียกเสียงสนับสนุนจากคนกลุ่มน้อย แต่สุดท้ายกลับผลักให้คนขาวยิ่งหันไปเลือกทรัมป์มากขึ้น

คนเลือกทรัมป์อาจไม่ใช่เพียงเพราะชื่นชอบนโยบายของทรัมป์ บางคนอาจไม่สนใจนโยบายเลย แต่เลือกทรัมป์เพราะปัจจัยทางวัฒนธรรม เช่น มองว่าทรัมป์เป็นพวกเดียวกับเขา เป็นคนขาว เป็นคนพูดภาษาบ้านๆ เหมือนกับคนชนบท ไม่เหมือนฮิลลารีที่ดูเป็นคนเมือง เป็นคนชั้นสูง เป็นคนขาวที่กลับสนใจคนดำและคนกลุ่มน้อยมากกว่าพวกเดียวกัน

ดังนั้น การปรับปรุงเรื่องนโยบายอย่างเดียว จึงอาจไม่พอที่จะทำให้พรรคเดโมแครตชนะ แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจวิธีเชื่อมโยงและสื่อสารกับชาวบ้าน หรือหาตัวแทนที่สามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกับชาวบ้านได้ โดยต้องเป็นการเชื่อมโยงและสื่อสารในเชิงบวกด้วย ไม่ใช่ในเชิงคล้ายเหยียดผิวเหยียดต่างชาติแบบที่ทรัมป์ทำ

สาม ต้องทบทวนตัวเองด้วยว่า การพูดและวิจารณ์การเมืองในแง่ลบ สุดท้ายกลับช่วยส่งเสริมทรัมป์ด้วยหรือไม่ และเราควรมีวิธีพูดถึงปัญหาในระบบการเมืองอย่างไร

ฝ่ายปัญญาชนหัวก้าวหน้าในสหรัฐฯ มักวิจารณ์ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบันว่าเป็นระบบที่เลวร้าย นั่นคือ ความไม่เท่าเทียมทางรายได้มีแต่จะขยายตัว ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม นักการเมืองได้รับการสนับสนุนเงินหาเสียงเลือกตั้งจากกลุ่มธุรกิจ ทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้ ฯลฯ

คนสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยกับความเน่าเฟะของระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจจึงเกลียดนักการเมือง จนถึงกลับมองว่าการเมืองไม่ใช่คำตอบ คู่แข่งทั้งสองพรรคไม่มีอะไรต่างกัน (เลือกใครไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอยู่ดี) พอทรัมป์เข้ามาบอกว่า เขาเป็นคนนอก เขาไม่ใช่นักการเมือง คนก็เลยเลือกทรัมป์ บางคนชอบทรัมป์เพราะดูเป็นแนวเผด็จการ น่าจะตัดสินใจอะไรได้เด็ดขาดดี หรือบางคนเลือกเขาเพียงเพื่อจะประชดระบบที่เป็นอยู่ หรือเพราะเห็นว่า สุดท้ายแล้ว จะเลือกทรัมป์หรือเลือกฮิลลารี ก็ไม่ต่างกัน

แม้ว่าปัญญาชนหัวก้าวหน้าเหล่านี้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของทรัมป์เลยสักข้อ แต่กลับกลายเป็นว่า พวกเขากลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกเกลียดนักการเมืองและสิ้นหวังกับการเมือง จนเรียกร้องเอาอำนาจนอกระบบเดิมเข้ามาแทน

ศ.สตีเฟนสัน เสนอว่า ปัญญาชนหัวก้าวหน้าต้องมองหาวิธีพูดเรื่องการเมืองในเชิงบวกมากขึ้น ให้เห็นความซับซ้อนมากขึ้นของระบบประชาธิปไตยอย่างในปัจจุบัน (ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านร้าย แต่ก็ดีกว่าการเมืองแบบอำนาจนิยม) ในด้านหนึ่ง ต้องพยายามเสนอแนวทางปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องพยายามทำให้คนยังรู้สึกว่าการเมืองมีโอกาสเป็นเวทีสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับชีวิตผู้คนได้

สี่ ต้องเข้าใจข้อจำกัดของกลยุทธ์ต่อต้านทรัมป์ ไม่ว่าจะโดยผ่านกลไกกฎหมาย หรือผ่านการรณรงค์มวลชน โดยต้องเลือกใช้ให้พอเหมาะและใช้อย่างเหมาะสม

มีตัวอย่างจากหลายประเทศว่า การใช้กลไกทางกฎหมายมาจัดการเล่นงานนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมากเกินไป สุดท้ายอาจกลับส่งผลให้นักการเมืองคนนั้นได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะหากนักการเมืองคนนั้นปลุกกระแสว่าเขาโดนรังแก และศาลหรือคณะกรรมการตรวจสอบชุดต่างๆ ก็ล้วนเป็นพวกชนชั้นนำที่รังเกียจเขา ดังที่ทรัมป์เองทวีตด่าศาล รวมทั้งคนที่จะเข้ามาตรวจสอบเขาในเรื่องต่างๆ

แม้แต่ความคิดที่ว่า ถ้าเขียนกฎหมายให้ดีเลิศ ก็จะสามารถปราบคนอย่างทรัมป์ได้ ก็อาจไม่แน่เสมอไป กลไกกฎหมายบางครั้งแทนที่จะแก้ปมเงื่อนทางการเมือง กลับอาจยิ่งผูกให้ปมเงื่อนพันซ้อนจนแก้ไม่ได้

ส่วนการออกมารณรงค์ตามท้องถนน บางครั้งอาจเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างกระแสกดดัน แต่ก็ต้องควบคุมไม่ให้เกินเลยจนอาจเกิดกระแสรณรงค์โต้กลับ จนอาจนำไปสู่การปะทะและความไม่สงบเรียบร้อย

นี่จึงเป็นความท้าทาย 4 ข้อ ในการมองและหาวิธีจัดการกับทรัมป์ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ ศ.สตีเฟนสันพยายามย้ำเน้นว่า เราต้องมองการต่อสู้กับทรัมป์ในเชิงกลยุทธ์ทางการเมือง ตั้งคำถามว่าจะต่อสู้อย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในระยะยาว

ไม่ใช่กลายเป็นว่า ยิ่งสู้ กลับยิ่งเข้าทางคนอย่างทรัมป์

หมายเหตุท้ายบทความ

ชวนชมเพิ่มเติม: เพื่อนๆ ที่สนใจสามารถรับชมการสัมมนาฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/bT4-08tfT0A
งานสัมมนาหัวข้อ Populist Plutocrats: Lessons from Around the World ในครั้งนี้แบ่งเป็น 4 หัวข้อย่อย ได้แก่ 1. Berlusconi in Italy; 2. Thaksin in Thailand; 3. Investigative Journalism in Estrada’s Philippines; 4. Legal Checks in Fujimori’s Peru and Zuma’s South Africa

ในส่วนหัวข้อ Thaksin in Thailand ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ Professor Duncan McCargo ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ

ชวนอ่านเพิ่มเติม: เพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องแนวทางป้องกันคอร์รัปชันที่มีการแลกเปลี่ยนกันในงานเสวนา ขอแนะนำให้ติดตามบทความในคอลัมน์ต่อต้านคอร์รัปชันของ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเขียนร่วมกับ อ.ต่อตระกูล ยมนาค ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า (วันพุธ) โดย ดร.ต่อภัสสร์เองได้เดินทางมาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ที่ ม.ฮาร์วาร์ด ด้วย