ThaiPublica > เกาะกระแส > “ศุภชัย พานิชภักดิ์” แนะรับมือโลกไร้ระเบียบ ไม่มีการกำกับดูแลที่ดี ผันผวน เผชิญภาวะคุกคาม โรคความเหลื่อมล้ำระบาด

“ศุภชัย พานิชภักดิ์” แนะรับมือโลกไร้ระเบียบ ไม่มีการกำกับดูแลที่ดี ผันผวน เผชิญภาวะคุกคาม โรคความเหลื่อมล้ำระบาด

5 กรกฎาคม 2018


ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์กรการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD)

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์กรการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (UNCTAD) กล่าวว่าปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภาวการณ์สูญเสียดุลยภาพของระเบียบโลก และผลกระทบต่อระบอบการค้า” ในเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2561 ที่จัดโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561

ดร.ศุภชัยกล่าวว่า บทเรียนหนึ่งในประวัติศาสตร์คือ เราไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนของประวัติศาสตร์ และเราคิดว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย แต่ในที่สุดประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยเดิม ถ้าดูจากหัวข้อการปาฐกถาในวันนี้ ก็หวังว่าทุกคนในเวทีการประชุมไม่ได้มองแต่ภาวะปัจจุบันในที่สิ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ Trumpsim ทำต่อเศรษฐกิจโลก เพราะมองว่าไม่ใช่ทรัมป์ในปัจจุบันแต่เป็นข้อตกลงทางการค้าด้วย

“สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมา มีการขู่ที่จะใช้มาตรการครั้งแล้วครั้งเล่า จากการใช้ข้อตกลงการค้าในลักษณะพหุภาคีมาเป็นการตอบโต้ประเทศที่กล้าท้าทายอำนาจของสหรัฐอเมริกาด้วยการใช้มาตรการสำคัญ ทรัมป์ไม่ใช่ผู้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความปั่นป่วน โดยเฉพาะทางการค้า”

เนื่องจากมีข้อตกลงพหุภาคีที่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ดังนั้น เป็นการลิดรอนอำนาจในการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดี จึงพยายามทำให้สหรัฐอเมริกามีอำนาจทางด้านเศรษฐกิจเหนือประเทศอื่น ดังนั้นเมื่อทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดีจึงมีการประกาศนโยบายว่าอเมริกาต้องเป็นหนึ่ง America First

Trumpism ไม่ต่างจากประธานาธิบดีคนก่อนๆ เมื่อทรัมป์มามาเยือนเอเชียได้พูดว่า เขาจะทำให้อเมริกาก่อน และเป็นแนวทางเดียวกันกับที่เขาหวังว่าผู้นำประเทศประเทศเอเชียก็จะทำเพื่อประเทศก่อน ดังนั้นทุกประเทศก็สามารถทำเพื่อประเทศตัวเองก่อน

เมื่อมีการทำข้อตกลงที่บาหลีทำให้มีการตระหนักว่า จะมีผลต่อคนในปริมาณหลายล้านคน ก่อนหน้านี้นโยบาย America First ในช่วงประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็มี ในช่วงวาระการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 ได้พูดถึงการส่งเสริมการส่งออกจากสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก มีการพูดถึงสิ่งเดียวกันคือ Buy America First ให้พิจารณาสินค้าอเมริกาก่อน

สมัยประธานาธิบดีโอบามา ยังได้ประกาศนโยบาย Pivot to Asia (หรือปักหมุดเอเชีย ที่สานสัมพันธ์กับเอเชียอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการทูต เศรษฐกิจการค้า) นอกจากนี้ประธานาธิบดีโอบามายังได้มีการผลักดันให้ข้อตกลงความร่วมมือทางการค้า TPP (Trans-Pacific Partnership) ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ และเป็นข้อตกลงที่สูงกว่าข้อตกลงของ WTO ถึง 3 ระดับ

ประเทศจีนเองก็ชื่อว่ามีนโยบายแทรกแซงประเทศต่างๆ ไม่เฉพาะสหรัฐ โดยต้องการมีการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เทคโนโลยีใหม่จากประเทศที่เข้าไปลงทุน แม้บางครั้งมีการใช้อำนาจบ้างแต่ไม่ถึงขั้นบังคับให้บริษัทที่เข้าลงทุนโดยตรงในจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีน

ในขณะเดียวกัน เราได้เห็นประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะจับมือร่วมกันทำสัญญาในลักษณะพหุภาคี เป็นทวิภาคี มีการหารือระดับภูมิภาค มีการรวมตัวระดับภูมิภาค เป็นการพยายามลดข้อจำกัดทางการค้า และขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า Doha Development Agenda มีแนวโน้มที่ไม่สำเร็จ ซึ่งจะเป็นรอบการเจรจาแรกที่มีการขยายแบบไม่จบ จะไม่เอื้อต่อการเป็นโลกาภิวัตน์

“อันนี้เป็นสิ่งที่เศร้าใจมาก เพราะผมและทุกคนในห้องนี้ และเพื่อนๆ ในโลกนี้พยายามส่งเสริมการค้าให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างสันติภาพให้กับโลก สร้างสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับมนุษย์ และใช้การค้าเป็นหนึ่งในมาตรการ เป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาด้วย ไม่ใช่การค้าเพื่อการค้า แต่เป็นการค้าเพื่อการพัฒนา”

ราว 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาเราเห็นประเทศยากจนทั่วโลก รวมทั้งเอเชียที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบการค้าไปแล้ว และปริมาณการค้ามีสัดส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจหรือจีดีพี ขณะที่แอฟริกานั้นปริมาณการค้ามีสัดส่วน 4% ของจีดีพี ขณะที่ปริมาณการค้าเติบโต 10-20% ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ เพราะขณะนี้สมาชิกส่วนใหญ่ของยูเอ็น 194-195 ประเทศไม่เคยถูกชักนำที่จะนำการค้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมความสามารถในการแข่งขัน มาสร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ให้ค้าขายได้ดีขึ้น ด้วยศักยภาพที่ดีขึ้น

ตามทฤษฎีแล้วการเปิดเสรีการค้าหรือการที่ประเทศเชี่ยวชาญด้านใด จะทำให้ประเทศได้รับผลดีทางเศรษฐกิจด้วย การค้าโลกเติบโตต่อเนื่อง ปริมาณการค้าที่เป็นสัดส่วนของจีดีพีกำลังเพิ่มขึ้น ไม่ว่าประเทศที่พัฒนามาก่อนหรือไม่ ในทางทฤษฎีต่างมีความเชื่อมโยงกัน แต่ที่เห็นขณะนี้คือโลกต่างไม่ยอมรับ

ย้อนกลับไปในปี 2007-2008 ที่สหรัฐเกิดวิกฤติการเงิน เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะถดถอย แต่กลับกันว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (global recession) แต่ก่อนหน้านั้นมีวิกฤติการเงินในเอเชียกลับมองว่าเป็นวิกฤติการเงินของเอเชีย ไม่ได้เป็นวิกฤติการเงินของโลก

ในช่วงปี 2008-2009 ที่สหรัฐเจอวิกฤติการเงิน มีสถาบันการเงินล้มปิดกิจการจำนวนมากนั้น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแอฟริกากำลังรุ่งเรือง การส่งออกเติบโตได้ 6-7%

“ที่ผมหยิบยกขึ้นมาพูดนี้เพื่ออธิบายหรือแสดงให้โลกเห็นและเข้าใจว่า เมื่อเราประสบความสำเร็จและพยายามชักชวนให้คนอื่นเปิดกว้างมาก เพื่อเปิดเสรีการค้า เพื่อนำข้อตกลงการค้าพหุภาคี ข้อตกลงของ WTO การแก้ไขข้อขัดแย้งมาใช้ให้เกิดผลดี เป็นการปลุกจากฝันว่าทั้งหมดกลายเป็นเรื่องปกติ (normal order) ผมก็ไม่รู้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องปกติ และมีแนวโน้มจะนำไปสู่วิกฤติของการ degloblalization”

วิกฤติของภาวะโลกาภิวัตน์

ช่วงยุคขาขึ้นของโลกาภิวัตน์น่าจะสร้างประโยชน์ให้กับคนทุกกลุ่ม แต่กลายเป็นว่าโลกาภิวัตน์ทำให้คนรวยรวยขึ้นมาก ขณะเดียวกันคนจนในประเทศยากจนก็ยิ่งยากจนมากขึ้น

บัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติคนก่อนเคยพูดไว้ว่า การทำงานของยูเอ็นไม่ใช่เพื่อคนในวอลล์สตรีท หรือคนในเมนสตรีท แต่เพื่อคนที่ไม่มีถนนจะเดิน ดังนั้น ปรัชญาของการขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ที่ผ่านมามุ่งหวังจะเห็นโลภาภิวัฒน์นั้นมีประโยชน์ต่อทุกประเทศ มีผลประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งอย่างเท่าเทียมกันในระบบ

“เราพยายามผลักดันใช้โลกาภิวัตน์เข้าไปสู่ภาวะที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศทั้งหลาย หรืออย่างน้อยมีส่วนในโลกาภิวัตน์มากขึ้น แต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับวิกฤติต่างๆ หรือมาตรฐานต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน จุดยืนของเราคือต้องการที่จะผลักดันตรงนี้ให้เท่าเทียมกันไม่ใช่เพื่อการค้า แต่เพื่อการพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ หรือตัวใหญ่ๆ ให้ช่วยเหลือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แก้กฎระเบียบให้ดีขึ้น”

ส่วนอังค์ถัดนั้น อังค์ถัดไม่ใช่ดูเรื่องการค้าเท่านั้น แต่ดูการค้าเพื่อการพัฒนา การประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 13 ในปี 2016 ได้พยายามจัดระเบียบโลกาภิวัตน์ ไม่ได้มองแค่ภาวะตลาด แต่คำนึงถึงการมีข้อตกลงพหุภาคี ทวิภาคี เพื่อให้เกิดผลดีในเรื่องที่มุ่งหวัง

อนึ่งปี 2012 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ ดร.ศุภชัยทำหน้าที่เลขาธิการอังค์ถัดนั้น สหประชาชาติได้ประกาศ วาระ 2030 ซึ่งมุ่งไปที่ความยั่งยืน SDGs 2030 การประชุมปี 2016 ได้แนวคิดนี้ขึ้นเพราะความไร้ระเบียบของโลกาภิวัตน์ ดร.ศุภชัยได้ริเริ่ม Development Center Progress เพราะโลกาภิวัตน์ต้องขยายในวงกว้างในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่แค่การโอนเงิน การโยกย้ายเงิน แต่ต้องดูว่า วิธีการ ทิศทาง และการที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ต้องการรับความช่วยเหลือได้เข้าถึง

ดร.ศุภชัยกล่าวต่อว่า “เราต้องเรียนรู้จากอดีต ตอนที่ผมเสนอการพัฒนาเป็นศูนย์กลางของโลกาภิวัตน์ เราถูกคุกคามจากกลุ่มประเทศ G-20 ซึ่งเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ วาระของกลุ่ม G-20 ในช่วง 2007-2008 ไม่มีเรื่องการพัฒนา มีเรื่องภาษี แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้ ทำให้ไม่มีธรรมาภิบาล และพวกเขาก็มาใช้ QE กันหมด ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยูโร ทั้งหมดเป็นการเพิ่มขนาดเศรษฐกิจ คืออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นภาระหนี้ใช้เงินราว 5 ล้านล้านดอลลาร์และเป็นเหตุผลที่ว่าโลกใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะพื้นตัว”

แต่กระนั้น โลกที่พ้นจากภาวะถดถอยก็ตกไปสู่การถดถอยอีกทีหนึ่ง จากการถดถอยของสหรัฐฯ มาสู่การถดถอยของยุโรป และมาสู่ญี่ปุ่น และการอัดฉีดเงินเข้าระบบของประเทศเหล่านี้ทำให้เงินไหลเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ผลิตสินค้าให้กับโลกที่ไร้ระเบียบนี้

เอเชียกินส่วนแบ่งการค้าโลกมากกว่า 50% และสัดส่วน70% ของห่วงโซ่การผลิตอยู่ในเอเชีย และเอเชียกำลังเป็นเครื่องจักรแห่งการเติบโตของโลก และการที่เงินไหลเข้ามาเพราะเศรษฐกิจเอเชียมีเสถียรภาพ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เงินเฟ้อต่ำ ดุลการชำระเงินเกินดุล ขณะเดียวกันส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นโดยที่พื้นฐานเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง เป็นผลของเงินไหลเข้าเพียงอย่างเดียว

“กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในโลกที่ไร้ระเบียบนี้ไม่ได้มีการกำกับดูแลที่ดี ไม่ว่าจากกลุ่ม G-7 หรือ G-10 หรือ G-20 ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ ประเทศในแอฟริกากำลังเข้าสู่ระบบการค้าโลกที่ไม่สามารถลดผลกระทบแรงกดันต่อค่าเงินจากเงินไหลเข้านี้ได้ ดังนั้นในโลกไร้ระเบียบนี้ไม่มีใครเข้ามาจัดการดูแลให้เรา เพราะต่างคนต่างสนใจแต่ประโยชน์ตัวเอง เห็นได้จากการประชุมหรือการหารือในหลายเวที”

ปฏิรูปการเงินโลก

ดร.ศุภชัยกล่าว่า ในการประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 13 ได้สรุปสถานการณ์ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ช่วงปี 2007-2008 ต่อที่ประชุมซึ่งได้รับคำถามว่าอังค์ถัดซึ่งดูเรื่องการพัฒนาต้องกังวลเกี่ยวกับการถดถอยของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่เกิดจากซับไพร์มด้วยหรือ จึงได้ให้คำตอบไปว่าหากเราไม่เรียนรู้จากอดีต เราก็จะประสบกับภาวะแบบนี้อีก

การปฏิรูประบบการเงินโลกที่ได้มีการตกลงกันในหลายเวทีการประชุมระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้งทั้ง G-7 G-20 ก็ยังคงเป็นแผนงานในกระดาษไม่มีการนำมาใช้ ทั้งๆ ที่ต้องมีการดำเนินการบางอย่าง ในที่สุดสหรัฐฯ ได้มีการออกกฎหมาย Dodd-Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act เพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และกำกับดูแลให้เข้มงวด กำหนดขอบเขตการทำธุรกรรมของสถาบันการเงิน ไม่ให้แสวงหากำไรจากธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เช่น การทำ securitization การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ การให้กู้ทางอ้อมหรือ shadow banking

แต่กระนั้นก็ยังการทำ securitization ที่กลับมาอีก และ shadow banking ในจีนก็ยังเป็นปัญหา ซึ่งธุรกรรมการเงินเหล่านี้จัดเป็น tailing finance ด้านปลายๆ ดังนั้นไม่ควรให้การเงินในส่วนๆ เล็กชี้นำหรือมีบทบาทมากกว่าธุรกรรมการเงินหลัก

การเงินของโลกยังเกือบเข้าไปหมุนเร็วจนควบคุมไม่ได้ โลกการเงินมีการเคลื่อนไหวเร็วไม่สามารถควบคุมได้อยู่ในสภาวะที่ประเทศต่างๆ มีภาระหนี้สินล้นเกิน จนต้องมีการลดภาระหนี้ลง หรือปรับโครงสร้างหนี้

แอฟริกาเป็นบทเรียนที่ดี โดยเห็นได้จากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามโปรแกรม Structural Adjustment Program ตามข้อกำหนดของธนาคารโลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งการปรับโครงการสร้างเศรษฐกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การผ่อนคลายกฎระเบียบ และยังทำให้ประสิทธิผลในทุกภาคการผลิตลดลง เศรษฐกิจชะลอตัวเหมือนช่วงก่อนหน้า และมีภาระหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ในเอเชียการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สินครัวเรือนเป็นสัญญานเตือน โดยในมาเลเซียและไทยภาระหนี้สินครัวเรือนสูงถึง 80-85% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้

ดร.ศุภชัยได้นำข้อมูลจากรายงานเกี่ยวกับอนาคตของ WTO มาเล่าให้ฟังด้วย โดยกล่าวว่า รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนว่าอนาคตของ WTO จะยากขึ้นในการบริหารจัดการ

“เรากำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่มากับโลกไร้ระเบียบ เรากำลังปฏิเสธภาวะโลกเสรี แต่เรากำลังเผชิญกับภาวะคุมคาม และกำลังเกิดภาวการณ์ไร้สมดุลและขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำกำลังกลายเป็นโรคระบาดไปทั่วโลก และโลกไม่ได้มีดุลยภาพ”

แนะ IMF เลิกชี้นำ ดึง UN กำหนดวาระ

ดร.ศุภชัยมองว่า โลกอาจจะเกิดวิกฤติการเงินขึ้นได้อีก แต่ไม่ใช่ว่าจะเกิดปีนี้หรือปีหน้า แต่จะมาในช่วงเวลาที่ไม่คิดว่าจะมีวิกฤติ และจะเกิดขึ้นแน่ และครั้งหน้าจะมาในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่วิกฤติการเงินโลกแบบที่เห็นในปี 2007-2008 แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก และที่น่ากังวลหากเกิดขึ้นกับประเทศในแอฟริกาที่สะสมภาระหนี้มหาศาลอีกรอบ รวมทั้งภาระหนี้ครัวเรือนก้อนใหญ่ในเอเชีย หนี้ของธุรกิจทั่วโลก

หากวิกฤติเกิดขึ้นในประเทศเล็กก็สามารถควบคุมผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัดได้ แต่หากเกิดในประเทศใหญ่ นับเป็นวิกฤติที่ต้องตระหนักให้ดี และวิกฤติการเงินที่เพิ่งผ่านพ้นไปยังทำให้ประเทศยากจนในแอฟริกาไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หากว่าความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ท่ามกลางการกีดกันทางการค้า การชะลอตัวของการค้าโลก ประเทศเหล่านี้ก็ต้องได้รับผลกระทบอีก

สิ่งที่อังค์ถัดพยายามมาตลอดคือ ผลักดันการปฏิรูปการผูกขาดทางการเงินของโลกหรือ International Monopoly ที่ขณะนี้ IMF เป็นหัวเรือใหญ่ สิ่งที่ต้องการเห็นคือองค์กรชั้นนำของโลก 3 รายคือ WTO, IMF และ World Bank ร่วมกันเป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจ แทนที่จะแยกกันทำงานเป็นส่วนๆ เช่น WTO ทำเรื่องการค้า เนื่องจากว่าเงื่อนไขของการพัฒนานั้นยังคงอยู่ ส่วนในระบบ UN อังค์ถัดเองไม่ใช่เพียงแค่รับวาระการพัฒนาจาก UN แต่ควรนำในการพัฒนาการค้าด้วย

นอกจากนี้ วาระของกลุ่มประเทศ G-7 และ G-20 ไม่ควรที่จะถูกชี้นำโดยวาระของ IMF แต่ควรนำโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council หรือ ECOSOC) ของ UN ซึ่งอังค์ถัดควรเป็นส่วนหนึ่งของในการกำหนดวาระ

ขณะนี้กลุ่มประเทศในแอฟริกาที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยกว่า 10 กลุ่ม ได้ตกลงที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่คือ Pan-Africa ที่มีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคการค้าระหว่างกัน ซึ่งเอเชียก็สามารถแสวงหาความร่วมมือได้ แต่ไม่ควรเป็นในรูปทวิภาคี ควรที่จะเป็นระดับภูมิภาคในประเด็นใหญ่

การรวมตัวของภูมิภาคเอเชียมีความคืบหน้าอย่างมาก แต่ควรที่จะพิจารณาการรวมตัวทางการเงินด้วย ซึ่งแนวคิดที่ริเริ่มแล้วในช่วงวิกฤติการเงินเอเชีย มีการจัดตั้ง ASIAN Monetary Fund : AMF แต่ถูกล้มล้างจากประเทศชั้นนำและองค์กรระดับโลก แม้ประเทศเอเชียมีเงินทุนขนาดใหญ่กว่าภูมิภาคอื่นในโลก ตัวอย่างชัดคือ จีนที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ประเทศเล็กอย่างไทยยังมีทุนสำรองกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ 60-70% ของเงินทุนสำรองของโลกอยู่ในเอเชีย

เอเชียจึงควรเป็นแหล่งที่จะขยายวงความร่วมมือของความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiatives) ที่อังค์ถัดมีส่วนสนับสนุน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุมเพื่อหาความร่วมมือระหว่าง CMI และลาตินอเมริกาไปแล้ว

  • “ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตผู้อำนวยการ WTO วิเคราะห์สถานการณ์สงครามการค้าโลก – ชี้อำนาจบริษัทข้ามชาติใหญ่เกินอำนาจรัฐบาลต่างๆแล้ว