ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมศุลฯ ประเมินภาษีรถหรู 124 คัน รัฐเสียหาย 1,838 ล้าน ชง DSI ฟ้องอาญา-ขยายผลสอบนักเรียนนอกนำเข้ารถเก่า 815 คัน

กรมศุลฯ ประเมินภาษีรถหรู 124 คัน รัฐเสียหาย 1,838 ล้าน ชง DSI ฟ้องอาญา-ขยายผลสอบนักเรียนนอกนำเข้ารถเก่า 815 คัน

2 สิงหาคม 2017


เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ท. กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร และนายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แถลงความคืบในการดำเนินคดีขบวนการนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมด้วย พ.ต.ท. กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร และนายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แถลงความคืบในการดำเนินคดีขบวนการนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท

พ.ต.อ. ไพสิฐ กล่าวว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการปราบปรามขบวนการนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักร ร่วมกับกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีหลีกเลี่ยงภาษีอากร สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง และรถยนต์จดประกอบผิดกฎหมาย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าตรวจค้นตามหมายค้นศาลอาญาเมื่อวันที่ 18 และ 24 พฤษภาคม 2560 และได้อายัดรถยนต์สมรรถนะสูง (Supercar) เพื่อตรวจสอบจำนวน 160 คัน ประกอบไปด้วยรถยนต์หรูหลายยี่ห้อ เช่น ลัมโบร์กีนี, โรลส์-รอยซ์, แม็คลาเรน, โลตัส รวมทั้งได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้ประเทศต้นทางจัดส่งข้อมูลราคาซื้อขายที่แท้จริงมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการสืบสวนสอบสวน

จากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งข้อมูลราคาซื้อขายรถยนต์หรูที่ได้รับจากประเทศต้น ลอตแรกจำนวน 32 คัน ให้กรมศุลกากรตรวจสอบและประเมินราคารถยนต์ในเบื้องต้น พบว่าการนำเข้ารถยนต์ลอตนี้สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้มีมูลค่าภาษีอากรขาดประมาณ 673 ล้านบาท ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้จัดส่งข้อมูลราคาซื้อขายรถยนต์หรูลอตที่ 2 อีก 302 คัน และล่าสุด กรมศุลกากรได้จัดส่งผลการตรวจสอบกลับมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเพิ่มเติมอีก 92 คัน พบว่ามีมูลค่าภาษีอากรขาด รวมประมาณ 1,165 ล้านบาท รวมยอดการนำเข้ารถยนต์หรูทั้ง 2 ลอตจำนวน 124 คัน มีมูลค่าภาษีอากรขาดทั้งสิ้น 1,838 ล้านบาท ขณะนี้คณะพนักงานสอบสวนได้รับกรณีของรถยนต์สมรรถนะสูงเป็นคดีพิเศษแล้ว จำนวน 43 คดี และได้เรียกกลุ่มผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาแล้วจำนวน 3 กลุ่มบริษัท ผู้ต้องหารวมจำนวน 16 คน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป สำหรับรถยนต์หรูที่ถูกอายัดขณะนเข้าซ่อมบำรุงรักษาในศูนย์บริการ ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เชิญผู้ที่ครอบครองรถยนต์ (เจ้าของรถ) มารับรถยนต์กลับไปดูแลรักษาแล้วจำนวน 59 คัน โดยให้ทำสัญญาประกันไว้กับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ

นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ เข้าตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์นั่งใช้แล้วที่คนไทยนำติดตัวมาจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 20 คันที่กรมการค้าต่างประเทศได้อนุญาตให้นำเข้าและออกหนังสือแจ้งการอนุญาตให้นำเข้าแล้ว โดยพบว่ารถดังกล่าวไม่เคยมีการจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น และพบว่ามีการออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายญี่ปุ่นให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้าเพียง 2 ราย จาก 20 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 18 ราย ไม่เคยมีประวัติการออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ให้แต่อย่างใด



จากกรณีดังกล่าว นำไปสู่การสืบสวนขยายผลเกี่ยวกับเอกสารที่ผู้ขออนุญาตนำรถยนต์ใช้แล้ว เพื่อใช้เฉพาะตัวที่นำเข้ามาจากสหราชอาณาจักร (กรณีคนไทย) ที่กรมการค้าต่างประเทศได้อนุญาตให้นำเข้าและออกหนังสือแจ้งการอนุญาตให้นำเข้าแล้ว พบว่ามีผู้นำเอกสารปลอมมาใช้แสดงประกอบการขออนุญาตนำรถยนต์นั่งที่ใช้แล้วจากสหราชอาณาจักรจำนวน 1 ราย จาก 32 ราย และปรากฏว่าการดำเนินการขออนุญาตนำเข้ารถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรนั้น มีผู้ขออนุญาตจำนวน 15 รายที่ได้มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกันเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการกระทำลักษณะนี้หากเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมายย่อมก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากเป็นการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้ารถยนต์ที่ใช้แล้วของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันปัญหาด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ภายในประเทศ โดยการยื่นคำขออนุญาตและได้ไปซึ่งใบอนุญาต/หนังสือแจ้งการอนุญาตให้นำเข้า ที่จะต้องปราบปรามจับกุม

จากการตรวจเอกสารย้อนหลังยังพบข้อเท็จจริงว่า ในช่วงระหว่างปี 2550 – ปัจจุบัน กรมการค้าต่างประเทศได้อนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัวรวมจำนวน 815 คัน ทั้งนี้ในการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วได้มีการควบคุมการนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ควบคุมการนำเข้ารถใช้แล้วจะมีหลักเกณฑ์การนำเข้า โดยไม่อนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ใช้แล้วทุกชนิด เว้นแต่เป็นกรณีที่มีระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการอนุญาตให้นำรถยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2549 กำหนดไว้ให้นำเข้าได้ การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการกระทำในลักษณะเป็นขบวนการ และอาจเป็นการสวมสิทธินำเข้ารถยนต์นั่งที่ใช้แล้ว เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นให้นำมาจำหน่ายในประเทศเชิงพาณิชย์ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้สิทธิในการนำเข้ารถยนต์เฉพาะผู้อยู่ในต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดสามารถนำรถยนต์เข้ามาใช้เพื่อเป็นการส่วนตัวได้

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีกลุ่มบุคคลอาศัยช่องทางดังกล่าวนี้ประกอบธุรกิจอันเป็นการหลีกเลี่ยงมาตรการการควบคุมการนำเข้าสินค้ารถยนต์ที่ใช้แล้วของกระทรวงพาณิชย์ หลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดตามที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อที่มีการนำเข้าที่ได้รับอนุญาต (Authorized Dealer) ได้รับความเสียหาย และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศได้ อีกทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีอากรการนำเข้ารถยนต์ของภาครัฐ

พฤติการณ์และการกระทำของเรื่องนี้ ในเบื้องต้นมีมูลเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด ในการนำเข้าหรือส่งออก อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 มาตรา 27 ทวิ และมาตรา 99 ประกอบกับพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16 และมาตรา 17 และพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการปลอมเอกสาร ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตามมาตรา 264 ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

กรณีข้างต้น เป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มีนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษโดยเฉพาะการปราบปรามกลุ่มขบวนการกระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร อันส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก