ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ลงมติยื่นอุทธรณ์คดีสลายม็อบพันธมิตร เฉพาะ “พล.ต.ท. สุชาติ” คนเดียว “สมชาย-บิ๊กจิ๊ว-พัชรวาท” รอด!

ป.ป.ช. ลงมติยื่นอุทธรณ์คดีสลายม็อบพันธมิตร เฉพาะ “พล.ต.ท. สุชาติ” คนเดียว “สมชาย-บิ๊กจิ๊ว-พัชรวาท” รอด!

29 สิงหาคม 2017


ต่อกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อม. 2/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ อม. 154/2560 ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1, พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2, พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธ ปราบปรามประชาชนที่กำลังชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา (กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) เมื่อวันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 เป็นเหตุให้ประชาชนที่กำลังชุมนุมได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตายนั้น

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เฉพาะกรณี พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จำเลยที่ 4 เพียงรายเดียว โดยมติที่ประชุมเสียงข้างมากจำนวน 8 เสียง งดออกเสียงจำนวน 1 เสียง

ส่วนกรณีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1, พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 และ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 3 ที่ประชุม ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ให้ยกฟ้องคดี โดยมีเสียงข้างมาก 7 เสียง เสียงข้างน้อย 1 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง

ทั้งนี้เนื่องจากจำเลยที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจหน้าที่สั่งการ และบังคับบัญชาข้าราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ 48) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่สั่งการและบังคับบัญชานายตำรวจอื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยในการทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 4 ย่อมทราบถึงสถานการณ์การใช้แก๊สน้ำตาโดยตลอดในช่วงเวลาของการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ช่วงเช้า ช่วงบ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาค่ำ ขณะรักษาความปลอดภัยให้แก่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดเหตุ โดยเป็นผู้สั่งการหรือรู้เห็นยินยอมให้ผู้บังคับบัญชาระดับรองลงไปสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติยิงหรือขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์สมควรประเมินสถานการณ์ และระงับยับยั้งเหตุการณ์ เพื่อบรรเทาหรือป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมเพิ่มเติม

การที่จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีคำสั่งระงับยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้แก๊สน้ำตาต่อผู้ชุมนุม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาฯ เฉพาะจำเลยที่ 4 ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน นับจากวันที่ ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 195 วรรค 4 ต่อไป